หากพูดถึงอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ปัจจุบันกลับเติบโตอย่างน่าสนใจหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการมากขึ้น ทำให้ธุรกิจสายการบินและท่าอากาศยานกลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่งผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไทยนั้นเป็นหมุดหมายปลายทางของนักเดินทางจากทั่วโลก
ถือเป็นเรื่องราวดีๆ อาทิตย์เอกเขนก ได้มีโอกาสจับเข่าพูดคุยกับ พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ หรือกัปตันเต๋ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA หนึ่งในผู้ประกอบการสายการบินรายใหญ่อย่าง “บางกอกแอร์เวย์ส” และธุรกิจสนามบิน ซึ่งประกอบด้วยสนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด ได้วางแผนรองรับการเติบโตของธุรกิจรอบใหม่อีกครั้ง ล่าสุดเตรียมลุยแผนโครงการขยายสนามบินสมุยเพื่อเพิ่มศักยภาพของสนามบิน และอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารพร้อมเติมเต็มประสบการณ์การเดินทาง และยังผลักดันเกาะสมุยสู่ Tourism Hub การท่องเที่ยวของอ่าวไทย
สมุย เป็นเส้นทางหลักที่สามารถทำรายได้ให้บางกอกแอร์เวย์ส โดยปัจจุบันสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 70% จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 50-60% ซึ่งผู้โดยสารโดยเฉพาะชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาสมุยมาก โดยบริษัทได้จัดทำแผนรองรับการเติบโตดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ได้จัดส่งเอกสารรายละเอียดต่างๆ ไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อพิจารณาอนุมัติเรื่องการขอเพิ่มเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุย จาก 50 เที่ยวบิน เป็น 73 เที่ยวบินต่อวัน คาดว่าไม่น่ามีปัญหาใด และน่าจะจบภายในปี 2567 เพราะผ่านกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
กัปตันเต๋ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันสนามบินสมุยมีเที่ยวบินให้บริการกว่า 40 เที่ยวบินต่อวัน ยังไม่เต็มขีดความสามารถในการรองรับ เมื่อ กพท.เห็นชอบจะทยอยเพิ่มเที่ยวบิน คงไม่ได้เพิ่มทีเดียว 73 เที่ยวบิน ต้องค่อยๆ เพิ่ม เนื่องจากต้องปรับปรุงสนามบินรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งอาคารผู้โดยสาร เคาน์เตอร์เช็กอิน สายพานรับสัมภาระ และพื้นที่ใช้สอยโดยรอบ โดยเริ่มดำเนินการแล้วและคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2570 รองรับผู้โดยสารได้ 6 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้หากสามารถให้บริการครบ 73 เที่ยวบินคาดว่าจะมีผู้โดยสารเข้า-ออกสนามบินสมุยประมาณ 4 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันประมาณ 2 ล้านคนต่อปี
เพื่อผลักดันอ่าวไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) บริษัทจึงเตรียมเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินสมุยเพื่อขยายศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางบินจากสนามบินสมุยไปยังต่างประเทศ อาทิ ฮ่องกง จีน และสิงคโปร์ จึงต้องมีแผนการปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสาร จากเดิม 7 อาคาร เพิ่มเป็น 11 อาคาร แผนการขยายจำนวนเคาน์เตอร์เช็กอินเพิ่มอีก 10 เคาน์เตอร์
ขณะเดียวกันยังนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร โดยจะติดตั้งระบบ CUSS: Common Use Self-Service พร้อมกันนี้ยังรวมถึงแผนการก่อสร้างพื้นที่เชิงพาณิชย์ จากปัจจุบันที่มี 1,800 ตร.ม. เพิ่มเป็น 4,000 ตร.ม. ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการสำหรับร้านค้าชั้นนำ สินค้าของฝากจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน คาเฟ่-ร้านอาหาร รวมถึงสถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพ ฯลฯ โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการปรับปรุงประมาณ 3 ปี
เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการบิน บริษัทจึงเดินหน้าเชื่อมโยงสายการบินพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ โดยปัจจุบันมีสายการบินพันธมิตรแบบข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ Codeshare รวมทั้งสิ้น 30 สายการบิน โดยสายการบินพันธมิตรล่าสุด ได้แก่ สายการบินลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa) และสายการบินสวิสอินเตอร์แนชนัลแอร์ไลน์ (Swiss International Airlines) ซึ่งเมื่อรวมกับสายการบินออสเตรียนแอร์ไลน์ (Austrian Airlines) ซึ่งเป็นสายการบินพันธมิตรแบบข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ Codeshare ตั้งแต่ปี 2559 ถือว่าบริษัทมีสายการบินพันธมิตรที่อยู่ในกลุ่มลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa Group) ถึง 3 สายการบินด้วยกัน พร้อมกันนี้บริษัทยังมีพันธมิตรสายการบินข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ Interline มากกว่า 70 สายการบิน
“บริษัทจึงให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการฝูงบินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีฝูงบินทั้งสิ้น จำนวน 23 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินไอพ่นแอร์บัส เอ320 จำนวน 2 ลำ แอร์บัส เอ 319 จำนวน 11 ลำ และเครื่องบินใบพัดเอทีอาร์ 72-600 จำนวน 10 ลำ โดยในปี 2567 นี้จัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมได้อีกจำนวน 2 ลำสำหรับเครื่องบินประเภทแอร์บัส เอ 319ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาเงื่อนไขของการรับมอบเครื่องบินซึ่งหากเป็นไปตามแผนการดังกล่าวก็จะสามารถให้บริการเครื่องบินเพิ่มรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 25 ลำ และบริษัทยังมีแผนที่จะออกร่างข้อเสนอ (RFP) เพื่อที่จะทำการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงประเภทฝูงบินในอนาคตอีกด้วย” กัปตันเต๋ กล่าวปิดท้าย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"มนตรี เดชาสกุลสม" ปักหมุดภารกิจเร่งด่วน เชื่อมโครงข่ายถนนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
หลังจาก “มนตรี เดชาสกุลสม” เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) คนที่ 11 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่บุคลากรกรมทางหลวงชนบท
จาก ‘ฉลากเบอร์5’ สู่ห้องเรียนสีเขียวเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้และสังคม
ที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริโภคหลายคนคงเริ่มเห็นหน้าตาของฉลากเบอร์ 5 โฉมใหม่ตามเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ กันบ้างแล้ว โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
เส้นทาง ‘ไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป’กว่า 50 ปี สู่การนำทัพเจน2รีแบรนด์พลิกโฉมบุกตลาด
คงต้องบอกว่า “ไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป” หรือ White Crane BIOTEC Group นับเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดด้านนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ การจัดการน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการเกษตร
คลังเดินเครื่องปั้น“หวยเกษียณ” ปักธงปลุก“ การออม” แก้ปมคนไทยสูงวัยแต่ยากจน
สถานการณ์ “การออม” ของคนไทยเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตา โดยเฉพาะการออมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC
อนาคตแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน กับเป้าหมาย"ไม่สร้างขยะ"เปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นถนน
ในยุคที่โครงสร้างพื้นฐานเริ่มเสื่อมสภาพตามระยะเวลาการใช้งาน และวงการก่อสร้างถนนถูกท้าทายด้วยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Kao
‘ทัศวรินทร์ กาญจนฉายา’ ภารกิจปั้นโรงพยาบาลสัตว์ เดินหน้าสู่ Pet Healthcare ครบวงจรในอาเซียน
ตลาดสัตว์เลี้ยงนับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ จากเดิมที่การดูแลสัตว์เลี้ยงก็ได้รับความนิยมมากอยู่แล้ว แต่เทรนด์ปัจจุบันจากพฤติกรรมหลายอย่างของผู้คนที่เปลี่ยนไป