รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและยกระดับสินค้าชุมชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “สุราชุมชน หรือสุราพื้นบ้าน” ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้านเพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตชุมชน พร้อมทั้งยังผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว และต่อยอดให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว เกิดการกระจายรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนด้วย
กรมสรรพสามิต ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและจัดเก็บภาษีสินค้าสุรา ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยภาษีสรรพสามิต โดยมีนโยบายในการส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสุราชุมชนให้มีมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจชุมชน
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การออกกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 ที่ปลดล็อกกฎหมายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการของรัฐบาลในการปรับลดอัตราภาษีสุราแช่พื้นเมือง ประเภท อุ กระแช่ สาโท โดยปรับอัตราภาษีตามมูลค่า จากเดิม 10% เป็น 0% เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ได้ส่งผลให้สุราชุมชนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมายและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมสรรพสามิต ต่างก็มีการเติบโตและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด ซึ่ง “จังหวัดแพร่” ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างพื้นที่ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนและมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2566) พื้นที่แพร่จัดเก็บภาษีสุราชุมชนเฉลี่ย 443 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นกว่า 30% ของการจัดเก็บภาษีสุราชุมชนทั่วประเทศ จนทำให้มีการเรียกจังหวัดแพร่ว่าเป็น มหานครแห่งสุราพื้นบ้าน สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนภายในชุมชนเป็นจำนวนมาก
อีกทั้งยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้พี่น้องในชุมชนตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยผู้สูงอายุสามารถทำงานล้างขวดที่บ้าน ส่วนลูกหลานที่เรียนจบกลับมาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็ได้นำวิชาความรู้กลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งเป็นทั้งการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านให้คงอยู่สืบไป
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและกรมสรรพสามิต ส่งเสริมให้สุราชุมชนจังหวัดแพร่เติบโตขึ้นมากอย่างก้าวกระโดด หนึ่งในตัวอย่างวิสาหกิจชุมชนที่เติบโตอย่างมากคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุราสักทองแพร่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โดยปัจจุบันมีกลุ่มผลิตสุรานับร้อยกลุ่ม มีผลิตภัณฑ์สุราชุมชนหลากหลาย ซึ่งใช้วัตถุดิบข้าวเหนียวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และน้ำจากหล่มด้ง อุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งเป็นที่มาว่าแอ่งน้ำแห่งนี้รายล้อมด้วยความเขียวขจีของพันธุ์ไม้ต่างๆ ทำให้อุณหภูมิของน้ำที่นี่มีผลให้สุรามีรสชาติอร่อย
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวอีกว่า กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ “1 ชุมชน 1 สรรพสามิตแชมเปี้ยน” เพื่อประกวดความร่วมมือของสรรพสามิตพื้นที่และผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยภาษีสรรพสามิต ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างมาตรฐานสากล (สินค้าและกระบวนการผลิตสุราชุมชน) มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เดินหน้าชุมชนสู่ความยั่งยืน
“สรรพสามิตจะมีการผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและผู้ประกอบการ ในด้านการเข้าถึงแหล่งทุน แหล่งความรู้ด้านการตลาด พลังงาน สิ่งแวดล้อม คุณภาพสินค้า และการผลิต รวมถึงส่งเสริมและให้ความสำคัญในด้าน ESG เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และลดการใช้คาร์บอน เดินหน้าประเทศสู่ Net Zero”
และนอกจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนที่กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญแล้ว กรมยังให้ความสำคัญกับการเข้าสู่ระบบของผู้ประกอบการ เพราะสินค้าปลอมหรือไม่ได้มาตรฐานจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค และที่สำคัญการให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมในการลดการปล่อยคาร์บอน การใช้พลังงานทดแทน หรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นสิ่งที่กรมให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ สรรพสามิตพื้นที่จังหวัดแพร่ได้ร่วมกับผู้ประกอบการทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพที่เกิดจากการเก็บกักอุจจาระหมู โดยก๊าซชีวภาพนี้จะมีการใช้เป็นพลังงานในครัวเรือน พลังงานทดแทนในการผลิตสุรา รวมถึงพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ ต.สะเอียบประสบกับปัญหากระแสไฟฟ้าตกบ่อย ซึ่งการดำเนินการนี้นอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว ยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
ขณะที่มุมชุมชนในพื้นที่ก็มีการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับแรงสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ สมคิด ขอนขะแจะ ประธานวิสาหกิจชุมชนสุราม้าบัวเงิน จังหวัดแพร่ กล่าวว่า ในอดีตการต้มเหล้าเถื่อน ต้องทำแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพราะผิดกฎหมายและหลีกเลี่ยงการเสียภาษี แต่หลังจากภาครัฐปลดล็อกข้อกฎหมาย มีการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ทำให้วิสาหกิจชุมชนสุราม้าบัวเงิน จ.แพร่ หันมาทำสุราพื้นบ้านแบบถูกกฎหมายและเสียภาษีถูกต้อง
การเข้ามาอยู่ในระบบภาษีเป็นเรื่องที่ดี แต่ยอมรับว่าตลาดสุราพื้นบ้านมีการแข่งขันกันสูงมาก ทั้งผู้ที่อยู่ในระบบภาษีและตลาดสุราเถื่อน จึงอยากให้รัฐดูแลให้เป็นธรรมกับผู้ที่ปฏิบัติถูกต้อง เพราะก็ถือเป็นอาชีพที่สร้างงานในชุมชนได้
ด้าน กัญญาภัค ออมแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนสุราสักทอง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายกลาง ระบุว่า การปลดล็อกข้อกฎหมายเป็นการช่วยส่งเสริมชุมชนให้สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยกำหนดมาตรฐานการผลิต และทำให้สุราไทยกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ สร้างจุดขายที่แตกต่างให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
การเดินหน้ายกระดับสุราพื้นบ้าน หรือสุราชุมชนของภาครัฐผ่านการขับเคลื่อนและผลักดันในมิติต่างๆ รวมถึงการปลดล็อกข้อกฎหมายเพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตสุราชุมชนที่เคยอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบฐานภาษี พร้อมทั้งสนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ ทำให้อุตสาหกรรมสุราพื้นบ้าน หรือสุราชุมชนสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง ผู้ประกอบการสามารถยืนอยู่ได้ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นการเติบโตแบบคู่ขนานไปด้วยกันนั่นเอง!!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"มนตรี เดชาสกุลสม" ปักหมุดภารกิจเร่งด่วน เชื่อมโครงข่ายถนนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
หลังจาก “มนตรี เดชาสกุลสม” เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) คนที่ 11 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่บุคลากรกรมทางหลวงชนบท
จาก ‘ฉลากเบอร์5’ สู่ห้องเรียนสีเขียวเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้และสังคม
ที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริโภคหลายคนคงเริ่มเห็นหน้าตาของฉลากเบอร์ 5 โฉมใหม่ตามเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ กันบ้างแล้ว โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” ลุยเพิ่มศักยภาพ เร่งเครื่องดันสนามบินสมุยสู่ “Tourism Hub” อ่าวไทย
หากพูดถึงอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ปัจจุบันกลับเติบโตอย่างน่าสนใจหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการมากขึ้น
เส้นทาง ‘ไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป’กว่า 50 ปี สู่การนำทัพเจน2รีแบรนด์พลิกโฉมบุกตลาด
คงต้องบอกว่า “ไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป” หรือ White Crane BIOTEC Group นับเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดด้านนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ การจัดการน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการเกษตร
คลังเดินเครื่องปั้น“หวยเกษียณ” ปักธงปลุก“ การออม” แก้ปมคนไทยสูงวัยแต่ยากจน
สถานการณ์ “การออม” ของคนไทยเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตา โดยเฉพาะการออมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC
อนาคตแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน กับเป้าหมาย"ไม่สร้างขยะ"เปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นถนน
ในยุคที่โครงสร้างพื้นฐานเริ่มเสื่อมสภาพตามระยะเวลาการใช้งาน และวงการก่อสร้างถนนถูกท้าทายด้วยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Kao