‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’หวังกระทรวงอุตฯเป็นที่พึ่งของทุกคนอย่างแท้จริง

การเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวงต่างๆ ในประเทศไทยนั้นต้องผ่านด้านการบริหารงานมาเข้มข้น และยังต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์อย่างจริงจัง เพราะไม่เช่นนั้นการผลักดันนโยบายระดับประเทศก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ หรืออาจจะไม่ได้สร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้อย่างที่สมควรจะเป็น แน่นอนว่าที่ผ่านมาการทำงานของกระทรวงเศรษฐกิจหลายกระทรวงตั้งแต่เปลี่ยนขั้วทางการเมืองก็อาจจะมีบ้างที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แต่ก็มีอีกหลายผลงานที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้จริงๆ

“อาทิตย์เอกเขนก” ฉบับนี้จึงอยากจะฉายภาพการทำงานของหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจที่แม้จะเป็นกระทรวงที่เก่าแก่ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าบทบาทนั้นถูกแบ่งไปยังหน่วยงานอื่นๆ ซะมากกว่า รวมถึงเป็นกระทรวงที่ก่อให้เกิดหน่วยงานที่จะพัฒนาประเทศ หรือเป็นชิ้นส่วนหลักในการเดินหน้าเศรษฐกิจหลายรูปแบบมาตลอดอย่าง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันผู้ที่คุมบังเหียนอยู่นั้นเป็นนักการเมืองหญิงที่มาจากแดนใต้อย่าง “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล”

แม้จะทำงานมาหลายเดือนแล้วและเริ่มเห็นผลงานบางอย่างที่ถูกผลักดันอย่างจริงจัง หรือบางอย่างกำลังรอความชัดเจนอยู่นั้น แต่ล่าสุดได้เปิดนโยบายผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดย ‘พิมพ์ภัทรา’ ได้เป็นประธานการประชุมสัมมนามอบนโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ และเปิดเผยว่า ช่วงเวลากว่า 8-9 เดือน จากวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้ามาขับเคลื่อนงานของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้เป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนอย่างแท้จริง

พร้อมมอบนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ปฏิบัติงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้นำไปปรับใช้ ในการเร่งรัดสนับสนุนและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ พร้อมสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยมีเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และอยู่คู่กับประชาชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินภารกิจให้สำเร็จต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับพื้นที่ต้องมีบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนเกิดผลอย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย ‘รื้อ’ ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ‘ลด’ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ ซึ่งต้องพิจารณาทั้งระบบตั้งแต่ก่อนการอนุญาตไปจนถึงการกำกับดูแลและการปราบปรามผู้กระทำความผิด ‘ปลด’ ภาระให้ผู้ประกอบการโดยปรับลดกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบการ และ ‘สร้าง’ อุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก พร้อมสร้างเครือข่ายการทำงานอย่างบูรณาการ

‘พิมพ์ภัทรา’ กล่าวว่า จากความมุ่งมั่นและตั้งใจปฏิบัติงาน ส่งผลให้หลายเรื่องเริ่มเกิดผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากผลงานสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งในระดับภาพรวมและในเชิงพื้นที่ อาทิ การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงาน ยกเลิกการยื่นเอกสารที่ไม่จำเป็น การแก้ไขกฎหมายโรงงาน เพื่อปลดล็อกเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) การกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค พร้อมกำหนดมาตรฐานเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย

นอกจากนี้ ‘พิมพ์ภัทรา’ ยังได้เข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอนาคต สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล เร่งผลักดันให้สินค้าและบริการฮาลาลไทยเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดโลกได้มากขึ้น ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ทั้งซัพพลายเชนครบวงจร พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อให้มีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งให้ SME และวิสาหกิจชุมชน สนับสนุนองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำผ่าน SME D Bank และกองทุนฯ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม

ผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยภายในประเทศ การช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แก้ปัญหา PM 2.5 จากการเผาอ้อย การสนับสนุนพลังงานสะอาด และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรม ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เน้นการพัฒนานิคมฯ Smart Park เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม เป็นต้น

‘พิมพ์ภัทรา’ กล่าวต่อไปว่า เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เดินหน้าสู่อนาคตที่ดีขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมผลักดันโครงการใหม่ๆ เช่น การขับเคลื่อน Green Productivity เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิจัยมาใช้พัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ การจัดตั้งนิคมเซอร์คูลาร์แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน

การเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยจากแร่โพแทช ส่งเสริมการใช้แร่ลิเทียมผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมโกโก้ ยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมเกษตรไทย อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ รองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ

“ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องปรับสู่การเป็นหน่วยงานที่ “สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เจ้าหน้าที่ อก.ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ได้ในทุกเรื่องอย่างทันท่วงที ตลอดจนขจัดอุปสรรคต่างๆ โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง” พิมพ์ภัทรากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย

'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท

"มนตรี เดชาสกุลสม" ปักหมุดภารกิจเร่งด่วน เชื่อมโครงข่ายถนนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

หลังจาก “มนตรี เดชาสกุลสม” เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) คนที่ 11 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่บุคลากรกรมทางหลวงชนบท

จาก ‘ฉลากเบอร์5’ สู่ห้องเรียนสีเขียวเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้และสังคม

ที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริโภคหลายคนคงเริ่มเห็นหน้าตาของฉลากเบอร์ 5 โฉมใหม่ตามเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ กันบ้างแล้ว โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)