บุกเมืองโคโลญจ์ส่องมหาวิหารสูงเสียดฟ้า ตะลุยปราสาทกลางหุบเขาและวังมังกร

ช่วงที่อากาศประเทศไทยร้อนจนต้องร้องขอชีวิตแบบนี้ ไม่ต่างกับการเอาตัวเองไปอยู่ในตู้อบ เพราะอุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียสเกือบทุกวัน หลายคนคงวางแผนหาวิธีดับร้อนกันหลากหลายวิธี อย่างในช่วงวันหยุดยาวอย่างสัปดาห์นี้สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งน้ำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำจากธรรมชาติหรือแหล่งน้ำเทียมที่สร้างขึ้นมา คงแน่นไปด้วยผู้คนที่อยากจะพาตัวเองไปแช่น้ำดับร้อนกันอย่างแน่นอน แน่นอนว่าไม่ต้องพูดถึงการเดินเล่นในสถานที่ที่ติดแอร์อย่างห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งมินิมาร์ททั้งหลายที่คนก็แห่แหนเข้าออกแต่ละวันเป็นร้อยเป็นพันคน

แต่หากใครที่มีงบหน่อย การเลือกเดินทางไปต่างประเทศในช่วงนี้ก็ถือเป็นแนวคิดที่ดี เพราะยังมีอีกหลายโซนที่อากาศเย็นพอที่จะทำให้เราสบายตัว สบายใจ และยังเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิตได้อีก ถือได้ว่าเป็นการหนีร้อนไปพึ่งเย็นของแท้ แต่หากใครยังคิดไม่ออกว่าจะไปไหนดีในช่วงวันหยุดยาวถัดไป หรือใครที่จะแพลนล่วงหน้าไว้สำหรับหน้าร้อนปีหน้านั้น “อาทิตย์เอกเขนก” ก็มีสถานที่ปังๆ มาป้ายยากันให้ได้ร่วมซึมซับบรรยากาศที่สวยงาม แถมยังยิ่งใหญ่อลังการแบบติดระดับโลกอีกด้วย

และหนึ่งในประเทศที่อาจจะไกลหน่อย แต่เป็นจุดมุ่งหมายของนักเดินทางทั่วโลกก็คือ ‘เยอรมนี’ เพราะนอกจากจะเป็นประเทศที่กว้างขวาง มีธรรมชาติที่สวยงาม มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานแล้ว ยังมีสถาปัตยกรรม โบราณสถานที่มีความสำคัญทางศาสนาและสวยงามตระการตามากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ แถมมีอุณหภูมิเย็นเฉลี่ยทั้งปีอีกด้วย และหนึ่งในสถานที่ที่อยากแนะนำให้ไปชมให้เห็นกับตาตัวเองจริงๆ ก็คือ มหาวิหารโคโลญจ์ (Kölner Dom) ซึ่งเป็นโบสถ์โรมันคาทอลิกระดับอาสนวิหารในเมืองโคโลญจ์ เป็นวิหารประจำมุขนายกแห่งโคโลญจ์

สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1248 หรือมากกว่า 770 ปีมาแล้ว โดยตัวโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์กอธิค เป็นหอคอยแฝด สูง 157.38 เมตร กว้าง 86 เมตร ยาว 144 เมตร และปัจจุบันถูกยกให้กลายเป็นอันดับ 4 ของวิหารที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งต้องยอมรับเลยว่าสูงมากจริงๆ แบบต้องแหงนคอมอง แถมยังมีประวัติและเรื่องเล่าที่น่าสนใจอย่างมาก โดยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเมืองโคโลญจ์ถูกทิ้งระเบิดทางอากาศทั้งหมด 14 ลูก แต่วิหารแห่งนี้กลับไม่โดนลูกหลงใดๆ เลย แต่วิหารแห่งนี้ต้องมีการปรับปรุงบูรณะอยู่ตลอดเวลาจากเรื่องเล่าที่กล่าวว่า...

ในยุคที่สร้างโบสถ์แห่งนี้มีปีศาจที่เข้ามาขอให้ผู้สร้างและผู้ออกแบบนั้นสร้างสถานที่แบบนี้ให้กับปีศาจด้วย แต่ผู้สร้างนั้นปฏิเสธเพราะต้องการจะสร้างโบสถ์เพื่อถวายให้กับศาสนาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ปีศาจตนนั้นได้สาปให้วิหารแห่งนี้จะไม่มีวันสร้างเสร็จสมบูรณ์ ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแม้วิหารแห่งนี้จะสร้างเสร็จและเปิดใช้มาเป็นเวลากว่าหลายร้อยปีแล้ว แต่ก็ต้องมีเหตุที่ทำให้ต้องซ่อมแซมบำรุงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหลังจากนี้หากใครไปเยือนมหาวิหารแห่งนี้แล้วไม่เห็นการต่อเติมซ่อมแซมหรือไม่เจอจุดที่คลุมผ้าปิดปรับปรุงนั้น อาจจะถือว่าโชคดีสุดๆ ในชีวิตเลยก็ว่าได้ โดยปัจจุบันมหาวิหารแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก ปี ค.ศ.1996 ที่ผ่านมา

ออกจากเมืองโคโลญจ์แล้วก็มีอีกหนึ่งแห่งที่เมื่อเดินทางไปแล้วก็อยากไปให้ไปสัมผัสกับบรรยากาศที่สุดแสนจะพิเศษ และถือว่ายังไม่เป็นที่นิยมหรือเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวแถบเอเชียสักเท่าไหร่ ไม่อย่างนั้นอาจจะเจอกองทัพทัวร์ไทย จีน เวียดนาม หรืออีกหลายประเทศแห่ไปเยือน อย่างปราสาทเอ็ลทซ์ (Burg Elz) ที่เป็นปราสาทเก่าที่ผ่านยุคสงครามมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น แต่ยังสามารถคงอยู่ได้โดยปราศจากการถูกทำลาย โดยประวัติของปราสาทแห่งนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ซึ่งเป็นปราสาทที่พำนักของท่านเคานต์แห่งเอ็ลทซ์ ก่อนที่ได้เริ่มบูรณะต่อเติมจนกลายเป็นปราสาทหลังใหญ่ของตระกูลและส่งต่อมาหลายรุ่นนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1157 เป็นต้นมา

ถือเป็นปราสาทใหญ่กลางปีลึกที่มีทัศนียภาพที่สวยงามอย่างมาก ตั้งอยู่กลางหุบเขา ล้อมรอบไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด มีทั้งความยิ่งใหญ่ สวยงาม แถมน่าขนลุกนิดหน่อยเพราะลักษณะคล้ายปราสาทในหนังของฝรั่งหลายๆ เรื่อง โดยใครที่จะไปเยี่ยมชมนั้นต้องซื้อทัวร์เข้าไป โดยจะมีพนักงานพาเดินชมเป็นรอบๆ เพื่อเข้าไปดูลักษณะการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในอดีต ดูสถาปัตยกรรม การตกแต่ง และการก่อสร้างด้านในตัวปราสาท ทำให้เห็นถึงความซับซ้อนและความแตกต่างของคนในอดีตกับปัจจุบันเป็นอย่างดี และที่สำคัญคือเขาห้ามถ่ายรูปภายในตัวปราสาทเด็ดขาด ทำให้เราไม่สามารถเอารูปสวยๆ ห้องแปลกๆ มาอวดผู้อ่านได้

ปิดท้ายการเดินทางด้วยอีกหนึ่งสถานที่ที่สวยงามราวกับอยู่ในปราสาทเจ้าหญิงหรือเทพนิยายหลายๆ เรื่อง โทนของสถานที่ก็แตกต่างจากปราสาทเอ็ลทซ์อย่างสิ้นเชิง ก็คือปราสาทดราเคินบูร์ก (Schloss Drachenburg) หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ปราสาทมังกร” ตั้งอยู่ในเมืองนิกส์วินเทอร์ (Königswinter) ที่ได้ชื่อว่าปราสาทมังกรเนื่องจากที่ตั้งของปราสาทเป็นเนินเขาที่มีชื่อว่า Drachenfels (Dragon Rocks) หรือ เขามังกรนั่นเอง รูปทรงและสีสัน แถมสถานที่ตั้งของปราสาททำให้หลงคิดไปว่าเป็นปราสาทของเจ้าหญิงในนิทานเลยก็ว่าได้

แต่ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นโดยคนธรรมดา เป็นนายธนาคารชื่อว่า นายสตีเฟน ซาร์เตอร์ (Stephan Sarter) หลังจากที่นายธนาคารท่านนี้เสียชีวิตลงจนถึงปัจจุบันกรรมสิทธิ์ในปราสาทหลังนี้เป็นของรัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลิน โดยการเดินทางขึ้นไปบนปราสาทก็เก๋ไก๋ ต้องขึ้นรถไฟสถานีรถไฟโบราณที่เรียกว่า Drachenfels Railway นั่งขึ้นเขาไปไม่เกิน 500 เมตรก็จะพบกับที่ตั้งปราสาท โดยวิวด้านบนนั้นยังมองลงมาเห็นโค้งวิวแม่น้ำไรน์ที่สวยงามอีกด้วย เป็นอีกหนึ่งสถานที่อันซีนที่ไม่อยากให้พลาดเลยจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจ้าภาพ 'เยอรมนี' รัว 2 เม็ดครึ่งหลัง เชือด 'เดนมาร์ก' 2-0 ลิ่วรอบ 8 ทีม

"อินทรีเหล็ก" เยอรมนี เข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ หลังเอาชนะ "โคนม" เดนมาร์ก 2-0 ศึกยูโร 2024 ที่สนามเบเฟาเบ สตาดิโอน คืนวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน

‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’หวังกระทรวงอุตฯเป็นที่พึ่งของทุกคนอย่างแท้จริง

การเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวงต่างๆ ในประเทศไทยนั้นต้องผ่านด้านการบริหารงานมาเข้มข้น และยังต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์อย่างจริงจัง

'เยอรมนี'พร้อมโชว์ทีเด็ด มีดีพอไล่ถล่ม'เดนมาร์ก' รอบ16ทีมตี2คืนนี้

ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป "ยูโร 2024" เดินทางมาถึงการแข่งขันในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ค่ำคืนวันที่ 29 มิถุนายน มีลงสนามกัน 2 คู่ เกมที่น่าสนใจ เจ้าภาพ "อินทรีเหล็ก" เยอรมนี แชมป์กลุ่ม เอ พบกับ "โคนม" เดนมาร์ก รองแชมป์ของกลุ่ม ซี แข่งขันในเวลา 02.00น. (เช้าตรู่ 30 มิ.ย.เวลาไทย) พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 และทรู พรีเมียร์ ฟุตบอล 3 ถ่ายทอดสด

รัฐบาลชื่นชม 'ลิซ่า' สำนึกรักบ้านเกิด โปรโมต 'เยาวราช' หนุนท่องเที่ยวไทย

รัฐบาลชื่นชม 'ลิซ่า' แบบอย่างที่ดีของเยาวชนไทย ใช้เยาวราชในผลงานล่าสุด แสดงออกสำนึกรักบ้านเกิด ชูศักยภาพ ส่งเสริม Soft Power ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมไทย

แคมป์ 'เยอรมนี 'ป่วน ถูกยุงรบกวน ก่อนลุยรอบน็อกเอาท์ 'ยูโร 2024'

ขุนพล "อินทรีเหล็ก" ทีมชาติเยอรมนี เจอปัญหายุงชุม ที่เทรนนิง แคมป์ ในศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป "ยูโร 2024" ตามการเปิดเผยของ ยูเลียน นาเกลส์มันน์ กุนซือหนุ่มไฟแรง