“ทีทีบี”ตอกย้ำการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ปักธงภารกิจองค์กรสู่การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย

การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน เรื่อง “เทคโนโลยีดิจิทัล” กลายมาเป็นไม้เด็ดของหลากหลายธุรกิจ ด้วยความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัย การพัฒนากลยุทธ์ที่อิงกับเทคโนโลยีดิจิทัล จึงเป็นประเด็นสำคัญที่อาจจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ไม่ว่าจะในธุรกิจใด โดยเฉพาะ “สถาบันการเงิน” ที่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการแข่งขันกันพัฒนาในแง่ของความทันสมัยในโลกยุคดิจิทัล เพื่อให้มีบริการที่ก้าวล้ำตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เป็นสิ่งที่หลายสถาบันการเงินกำลังขับเคี่ยวกันอยู่ในขณะนี้

หนึ่งในสถาบันการเงินที่น่าจับตามองในแง่ของการพัฒนาบริการต่างๆ ที่ทันยุคทันสมัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในยุคเทคโนโลยีก้าวล้ำ คงหนีไม่พ้น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) เพราะที่ผ่านมาไม่เคยหยุดพัฒนาบริการที่ทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ซึ่ง เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการทีเอ็มบีธนชาต ได้มาเปิดแผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรปี 2567 โดยปักหลักมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการผ่าน Ecosystem Play ด้วยการมุ่งเน้นการใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นแพลตฟอร์มหลักในการพัฒนาความสัมพันธ์ และดูแลลูกค้าในระดับบุคคลตลอดทุกช่วงเวลา

เอกนิติ กล่าวว่า ผลสำเร็จจากการรวมกิจการทำให้ทีทีบีแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเพิ่มความสามารถในการช่วยเหลือลูกค้าได้รอบด้าน พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้แนวคิด The Bank of Financial Well-being โดยต่อยอดจากฐานลูกค้าที่มีมากขึ้นและเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัล ผ่านการเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ ttb touch ในปี 2565 เพื่อยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และเพื่อสร้างความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการผ่านกลยุทธ์การทำ Ecosystem Play บนกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารมีความชำนาญและมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่อ เช่น กลุ่มพนักงานเงินเดือน คนมีรถ คนมีบ้าน สอดรับกับกลยุทธ์ระยะกลางถึงระยะยาวที่ธนาคารได้วางเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลและเพิ่มประสบการณ์ทางการเงินของลูกค้า เพื่อให้ธนาคารสามารถพัฒนาความสัมพันธ์และดูแลลูกค้าได้ในระดับบุคคลตลอดทุกช่วงเวลาท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้า และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อลูกค้า

“ทีทีบี ในฐานะ D-SIBs Bank ยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจภายใต้พันธกิจหลักในการช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ โดยธนาคารได้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพราะเรื่องหนี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยที่ต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ลูกค้าธุรกิจก็ต้องการความช่วยเหลือในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Transition Finance) เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคตและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ธนาคารจึงได้นำหลักคิดเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนากลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น และสิ่งแวดล้อม”

เอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การช่วยลดภาระหนี้ของประชาชนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อสานต่อการแก้หนี้ครัวเรือน ยกระดับการบริหารจัดการด้านสินเชื่อให้มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมให้ลูกค้าที่มีความจำเป็นก่อหนี้ใหม่อย่างมีคุณภาพ และมีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น

 ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทีทีบีได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับพันธกิจในการช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น โดยในปี 2566 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านสินเชื่อสำหรับรวบหนี้/โอนยอดหนี้/สวัสดิการ มากกว่า 17,000 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 6.7 พันล้านบาท ช่วยลูกค้าประหยัดดอกเบี้ยไปได้กว่า 1.2 พันล้านบาท       สำหรับความโดดเด่นของทีทีบีในด้าน Responsible Lending คือ การจัดทีม Loan Specialist มากกว่า 900 คนที่สาขา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์สินเชื่อแบบครอบคลุม จึงสามารถแนะนำสินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าได้ตรงความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อส่วนบุคคล หรือโซลูชันรวบหนี้ เป็นต้น และมีโปรแกรมสวัสดิการพิชิตหนี้เพื่อมนุษย์เงินเดือน และเครื่องมือวัดระดับสุขภาพทางการเงินฟรีให้กับลูกค้าที่ใช้บัญชีเงินเดือนทีทีบี

โดย ปัจจุบันมีลูกค้าที่สามารถเข้าถึงสินเชื่ออเนกประสงค์ทีทีบี (ttb welfare loan) ได้มากกว่า 350,000 ราย และสำหรับลูกค้าทีทีบีที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ ธนาคารจะแนะนำให้ลูกค้ามาปรึกษากับทีมงานผู้เชี่ยวชาญของทีทีบี เพื่อปรับเทอมการจ่ายและค่างวดให้เหมาะสมกับความสามารถปัจจุบัน หรือปรับโครงสร้างหนี้ และในอนาคตทีทีบีจะมีทีมโค้ชปลดหนี้ที่จะช่วยให้คำปรึกษากับกลุ่มลูกค้าบัญชีเงินเดือนของธนาคารต่อไป

ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนของโลก ซึ่งทีทีบีได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังมานานแล้ว และในปี 2567 คณะกรรมการธนาคารมีมติประกาศเป้าหมายสำคัญ ปักหมุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อให้สอดรับตามเป้าหมายของประเทศไทย โดยความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารสะท้อนผ่านการดำเนินกิจกรรมภายในองค์กร (Scope 1 and 2) รวมไปถึงการให้สินเชื่อในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Scope 3) และธนาคารเล็งเห็นถึงความรับผิดชอบและความสามารถในการสร้างโซลูชันทางการเงินที่จะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน เพราะบทบาทของธนาคารไม่ใช่การนำพาตัวเองไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจต่างๆ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านการให้สินเชื่อ ให้คำปรึกษา และสนับสนุนลูกค้าบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านนี้

โดยในส่วนของการให้สินเชื่อ และการให้คำปรึกษาลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ธนาคารได้ตั้งวงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ในปี 2567 สำหรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจ หรือโครงการที่ต้องการมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนกลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับตัว และธนาคารยังคงสานต่อโครงการเสริมสร้างความรู้ความสามารถให้กับลูกค้าธุรกิจ ผ่านการจัดสัมมนาที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับความท้าทายของภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ในการเผชิญหน้ากับกฎระเบียบใหม่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมช่วยให้คำปรึกษาและวางแผนให้กับธุรกิจที่มีความประสงค์ที่จะมุ่งสู่ Net Zero

“นอกจากความแข็งแกร่งและความพร้อมของธนาคารในการเดินหน้าสร้างประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นผ่านกลยุทธ์ Ecosystem Play แล้ว ทีทีบียังได้ผนวกเรื่องความยั่งยืนเป็นเนื้อเดียวกันกับการดำเนินธุรกิจ พร้อมยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ทั้งด้านธุรกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี ตอกย้ำการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) และมุ่งสู่ Net-zero Commitment” เอกนิติ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มองภาพสะท้อนการออกแบบ เมือง‘ไต้หวัน’ผ่าน‘ไทจง-ไทเป’

“ไต้หวัน” หนึ่งในจุดมุ่งหมายที่ใครหลายคนอยากมาสัมผัส เพราะเป็นประเทศที่เหมาะกับการท่องเที่ยว ผู้คนเป็นมิตร มีวินัย เดินทางง่าย อากาศกำลังสบาย สะดวก ปลอดภัย

สรรพสามิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ชู “แพร่โมเดล” ต้นแบบ โครงการ1ชุมชน1สรรพสามิตแชมเปี้ยน

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและยกระดับสินค้าชุมชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “สุราชุมชน หรือสุราพื้นบ้าน” ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้านเพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้ได้มาตรฐาน

TSBถอดโมเดลระบบคมนาคม 'ไต้หวัน’ ปรับใช้กับ HOP Card ต่อยอดเพิ่มระบบชำระค่าสินค้า-บริการ

‘ไต้หวัน’ เมืองใหม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยว หนึ่งในประเทศที่มีลักษณะโครงสร้างการคมนาคมขนส่งใกล้เคียงกับประเทศไทย ที่ในปัจจุบันก็มีการพัฒนาระบบรุดหน้าเป็นอย่างมาก

‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’หวังกระทรวงอุตฯเป็นที่พึ่งของทุกคนอย่างแท้จริง

การเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวงต่างๆ ในประเทศไทยนั้นต้องผ่านด้านการบริหารงานมาเข้มข้น และยังต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์อย่างจริงจัง

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ลุยบิ๊กอีเวนต์ปลุกกระแสท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง

หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายเพิ่มศักยภาพจังหวัดท่องเที่ยว 55 จังหวัด (เมืองน่าเที่ยว) แก่ผู้ราชการจังหวัด 55 จังหวัดและผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยส่วนภูมิภาค

เชฟรอนชู4กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างพันธมิตร-พัฒนาชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

จังหวัดสงขลา เป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ และมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้