เยือนญี่ปุ่นด้วยประสบการณ์ใหม่‘หมู่บ้านในลูกแก้วหิมะกับวิวฟูจิหลักล้าน’

เชื่อว่าใครที่ติดตาม "อาทิตย์เอกเขนก" อยู่เป็นประจำ ก็น่าจะเคยอ่านเนื้อหาที่เกี่ยวกับการพาไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นมาแล้วหลายครั้ง และคงเห็นถึงความสวยงาม แปลกใหม่ และความสนุกสนานมาไม่น้อย โดยอาจจะมีหลายคนเคยแพ็กกระเป๋าไปเที่ยวแบบที่เราเคยนำเสนอมาบ้างแล้ว และในปีนี้ญี่ปุ่นก็ยังเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเช่นเคย แต่กับผู้อ่านเองถ้ายังไม่มีโอกาสไป หรือยังไม่ถึงช่วงที่วางแผนไว้ เราก็อยากเชิญชวนให้มารับชมและเพลิดเพลินไปกับการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งในเอกเขนกฉบับนี้

ต้องยอมรับเลยว่าครั้งนี้แม้จะไม่ใช่การไปญี่ปุ่นครั้งแรกของผู้เขียน แต่เป็นการไปญี่ปุ่นที่ประทับใจและเปิดประสบการณ์กับการเจอหิมะครั้งแรก ทำให้รู้เลยว่าความหนาวระดับไหนที่จะสามารถทำให้หิมะตกได้ และค่อนข้างจะมั่นใจว่ามันไม่น่าเกิดขึ้นที่ไทยแน่นอน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ล่าสุดอุณหภูมิจะแตะ 40 องศาเซลเซียสแล้ว

การเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับคณะของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ได้นำคณะผู้บริหารและผู้สื่อข่าวเดินทางไปร่วมงานลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับบริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น ที่เป็นบริษัทวิศวกรรมของญี่ปุ่น และบริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในงาน

แต่ก่อนที่จะถึงเนื้องานนั้น การเดินทางเริ่มต้นด้วยการไปสัมผัสหิมะ แม้จะเป็นหลายครั้งของคนอื่นแล้วแต่กับผู้เขียนยอมรับเลยว่าเป็นครั้งแรก จากการไปเยือนหมู่บ้านชิราคาวาโกะ หมู่บ้านมรดกโลกที่ญี่ปุ่น ตั้งอยู่กลางหุบเขาในจังหวัดกิฟุ เก่าแก่และมีอายุกว่า 250 ปี จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโกในปี ค.ศ.1995 อีกด้วย และแน่นอนว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เป็นจุดมุ่งหมายของผู้เขียนเช่นเดียวกัน จากเมื่อก่อนที่ได้แต่ดูในรูป ตามอ่านเพจรีวิวท่องเที่ยว และคิดว่าอยากจะไปสักครั้ง

เพราะหมู่บ้านนี้น่ารักมาก เหมือนบ้านในนิทาน และวันที่ได้ไปนั้นหิมะตกลงมา บ้านแต่ละหลังเป็นบ้านทรงโบราณ หลังคาหนาๆ มีหิมะเกาะเป็นชั้นสีขาวเหมือนกับบ้านที่อยู่ในลูกแก้วหิมะที่สมัยเด็กๆ เราชอบหยิบขึ้นมาเขย่าและนั่งมองเกล็ดหิมะวิทยาศาสตร์ร่วงลงมาใส่หลังคาบ้านในลูกแก้ว ในสมัยเด็กๆ ก็ได้รับรู้แค่ความสวยงาม แต่พอมาอยู่ในสถานที่จริง สถานการณ์จริงมันมีความหนาวเย็นเข้ามาด้วย หนาวในชนิดที่ว่าไม่อยากเอามือออกมาจากกระเป๋าเสื้อเลยด้วยซ้ำ หน้าและจมูกเย็นจนเกือบชา แต่ว่าด้วยความสวยงามบางทีเราก็มองข้ามความไม่สะดวกสบายไปเลย

แต่เราเป็นแค่นักท่องเที่ยว ก็เลยได้แค่เยี่ยมเยือน สุดท้ายก็ต้องลาจาก เราได้เดินเที่ยวในหมู่บ้านหนึ่งรอบก็ต้องกลับมาขึ้นรถเพื่อกลับโรงแรมที่พักแล้ว ส่วนหมู่บ้านมรดกโลกแห่งนี้นอกจากจะได้ภาพความสวยงามมาแล้ว ก็จะเก็บไว้เป็นความทรงจำต่อไป แต่เขาว่าหมู่บ้านแห่งนี้ไม่ใช่ท่องเที่ยวได้แค่หน้าหนาว เพราะสามารถมาเที่ยวได้ทั้งปี และความสวยงามก็จะแตกต่างกัน...

ระหว่างการเดินทางไปยังโรงแรมอิเคโนทาอิระ โฮเต็ล (Ikenotaira Hotel) ที่ตั้งอยู่บนภูเขานั้น เราก็ได้รับการต้อนรับของหิมะอย่างเต็มที่ นอกจากวิวระหว่างทางที่มีหิมะปกคลุม ต้นไม้เกือบทุกต้นเหมือนถูกหิมะตกแต่งคล้ายติดไฟประดับระยิบระยับแล้วนั้น เรายังต้องเผชิญกับพายุหิมะที่ทำให้การเดินทางล่าช้าลงไปกว่ากำหนดการเดิม และใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงอยู่บนรถเพื่อกลับไปขึ้นพักที่โรงแรม แต่เมื่อถึงโรงแรมแล้วก็อุ่นใจได้ทันที เพราะเป็นโรงแรมที่สวยงาม ครบครัน และยังอยู่ที่จุดที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองเลยก็ว่าได้ อาหารเย็นเป็นบุฟเฟต์ในห้องอาหารของโรงแรมที่มีเสิร์ฟอาหารญี่ปุ่นเกือบทุกชนิด แถมยังมีขาปูยักษ์ให้ลองลิ้มชิมรสอีกด้วย

วันที่สองของการเดินทาง คณะเราได้มุ่งหน้าสู่จังหวัดยามานาชิ ไปเยือนอีกหนึ่งหมู่บ้านที่สร้างความประทับใจให้เราอย่างไม่รู้ลืม ก็คือหมู่บ้านโอชิโนะฮัคไค (Oshino Hakkai Village) หรือหมู่บ้านน้ำใสที่เลื่องชื่อ นอกจากสถานที่แห่งนี้จะมีจุดเด่นที่มีบ่อน้ำและลำธารที่มีน้ำใสมากจนเห็นก้นบ่อ แถมยังมีวิวสวยๆ และอลังการหลักล้านของจริงอย่างวิวของภูเขาไฟฟูจิที่โด่งดัง ภายในยังเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ มีลำธารตัดผ่านอยู่หลายสาย และความโดดเด่นคือความใสของน้ำซึ่งเป็นน้ำที่มาจากภูเขา แม้จะมีบ่อน้ำหลักที่ลึกกว่า 8 เมตรก็ยังสามารถมองเห็นได้ทุกส่วนของบ่อ ปลาทุกตัว แม้กระทั่งเหรียญที่มีคนโยนลงไปยังสามารถสะท้อนแสงขึ้นมาให้เห็นได้

เป็นหมู่บ้านที่สวยและเหมาะกับการไปเดินเล่นชิลๆ ได้ทั้งวัน แถมในหมู่บ้านมีโซนสำหรับขาช็อปให้ซื้อทั้งของฝาก ของกิน ของใช้ที่มีเฉพาะในหมู่บ้านแห่งนี้อีกด้วย แน่นอนว่าผู้เขียนเองก็ต้องควักกระเป๋าหยิบของฝากและขนมติดไม้ติดมือกลับมาเช่นเดียวกัน...

แต่ไฮไลต์ของหมู่บ้านนี้อีกด้านก็คือ ฟูจิซัง หรือภูเขาไฟฟูจิ ที่แทบจะเป็นตราประจำให้กับประเทศญี่ปุ่นอีกหนึ่งสิ่งเลยก็ว่าได้ ด้วยโลเกชันของหมู่บ้านนี้ใกล้กับฟูจิมากจึงทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าแบบไม่ต้องใช้กล้องซูมเข้าไปเลย และเป็นความโชคดีของผู้เขียนที่วันที่เดินทางไปนั้นอากาศปลอดโปร่งทำให้ฟูจิซังเผยยอดเขาอันสวยงามและยิ่งใหญ่มาให้เห็น สร้างความว้าวและประทับใจให้กับท่องเที่ยวอย่างมาก

จบจากหมู่บ้าน เป็นการจากลาอีกครั้งกับสถานที่ที่ติดตาตรึงใจ แต่ค่ำคืนนี้เราก็ยังได้ว้าวกับโรงแรมที่เราไปพัก ซึ่งก็คือฟูจิ คาวากุจิโกะ รีสอร์ต โฮเต็ล (Fujikawaguchiko Resort Hotel) ที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านน้ำใสมากนัก และที่ต้องว้าวก็คือวิวของที่พักนั้นเปิดหน้าต่างห้องนอนออกไป ก็จะได้พบกับฟูจิซังอย่างใกล้ชิด เป็นวิวส่วนตัวมากๆ เหมือนอย่างกับเปิดประตูหลังบ้านก็เห็นฟูจิเลย

การเดินทางมาญี่ปุ่นครั้งนี้ประทับใจมาก แม้ว่าในหลายสถานที่จะมีเวลาอยู่ร่วมด้วยไม่นาน แต่สร้างประสบการณ์และความทรงจำดีๆ ไว้ทั้งสิ้น และจะยังคิดถึงตลอดไปจนกว่าจะได้พบกันใหม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มองภาพสะท้อนการออกแบบ เมือง‘ไต้หวัน’ผ่าน‘ไทจง-ไทเป’

“ไต้หวัน” หนึ่งในจุดมุ่งหมายที่ใครหลายคนอยากมาสัมผัส เพราะเป็นประเทศที่เหมาะกับการท่องเที่ยว ผู้คนเป็นมิตร มีวินัย เดินทางง่าย อากาศกำลังสบาย สะดวก ปลอดภัย

สรรพสามิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ชู “แพร่โมเดล” ต้นแบบ โครงการ1ชุมชน1สรรพสามิตแชมเปี้ยน

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและยกระดับสินค้าชุมชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “สุราชุมชน หรือสุราพื้นบ้าน” ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้านเพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้ได้มาตรฐาน

TSBถอดโมเดลระบบคมนาคม 'ไต้หวัน’ ปรับใช้กับ HOP Card ต่อยอดเพิ่มระบบชำระค่าสินค้า-บริการ

‘ไต้หวัน’ เมืองใหม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยว หนึ่งในประเทศที่มีลักษณะโครงสร้างการคมนาคมขนส่งใกล้เคียงกับประเทศไทย ที่ในปัจจุบันก็มีการพัฒนาระบบรุดหน้าเป็นอย่างมาก

‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’หวังกระทรวงอุตฯเป็นที่พึ่งของทุกคนอย่างแท้จริง

การเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวงต่างๆ ในประเทศไทยนั้นต้องผ่านด้านการบริหารงานมาเข้มข้น และยังต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์อย่างจริงจัง

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ลุยบิ๊กอีเวนต์ปลุกกระแสท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง

หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายเพิ่มศักยภาพจังหวัดท่องเที่ยว 55 จังหวัด (เมืองน่าเที่ยว) แก่ผู้ราชการจังหวัด 55 จังหวัดและผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยส่วนภูมิภาค

เชฟรอนชู4กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างพันธมิตร-พัฒนาชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

จังหวัดสงขลา เป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ และมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้