คนไทยจำนวนหนึ่งยังขาดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้าง นำไปสู่การละเลย เพิกเฉย และปฏิเสธการเข้ารับบริการสุขภาพจิต อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่างๆ ที่หลากหลายทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเครียด การเกิดโรคซึมเศร้า และในบางกรณีนำมาซึ่งการสูญเสียจากการทำร้ายตนเอง
สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น โดยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2 เท่าในระยะ 6 ปี ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษามากถึง 2.5 ล้านคน และตัวเลขมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งสอดรับกับผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกเช่นกัน
พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH เล่าว่า จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เราตระหนักดีว่าความเจ็บป่วยทางจิตมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิต ความสัมพันธ์ และความเป็นอยู่โดยรวมของบุคคล ครอบครัว และสังคม จึงได้ก่อตั้งโรงพยาบาล BMHH ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางสุขภาพจิตและจิตเวช และเป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงพยาบาลเวชธานี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพชั้นนำที่มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับระดับมาตรฐานสากล
โรงพยาบาล BMHH ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ระหว่างซอย 39 และ 41 บนพื้นที่ 2 ไร่ เป็นอาคาร 8 ชั้น และมีห้องพักผู้ป่วยจำนวน 30 เตียง ให้บริการด้านสุขภาพจิตทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน การรักษาและฟื้นฟูสุขภาพจิต ทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์เฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ และสาขาที่เกี่ยวข้องจากหลายสถาบันการแพทย์ในประเทศไทย รวมถึงแพทย์เฉพาะทางที่จบจากต่างประเทศที่มาร่วมทีมรักษา
บริการที่สำคัญของโรงพยาบาล BMHH ที่แตกต่างจากโรงพยาบาลด้านสุขภาพจิตและโรงพยาบาลทั่วไปคือ “การรักษาเฉพาะบุคคล” โดยนำเสนอบริการที่ครอบคลุมเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้รับบริการแต่ละราย มีการรักษาโดยสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล เภสัชกร นักกิจกรรมบำบัด และเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง เราเชื่อในการรักษาว่าไม่เพียงแค่อาการดีขึ้นหรือหาย แต่ยังป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วยวิธีการแบบองค์รวม รวมถึงความตั้งใจในการให้บริการด้วยเจตคติที่ดี ให้การรักษาทั้งสุขภาพกายและจิตใจ เพื่อพัฒนาแผนการรักษาที่เหมาะกับผู้รับบริการแต่ละราย ได้กลับมาดำเนินชีวิตในครอบครัว และสังคมได้อย่างมีความสุข
“จะเห็นได้ว่า BMHH มีกลยุทธ์สร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นจากโรงพยาบาลทั่วไป ทั้งเรื่องบริการรักษาเฉพาะบุคคล และการออกแบบโรงพยาบาลที่อาศัยประสบการณ์ของทีมบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชเพื่อให้เหมาะกับผู้รับบริการ ทั้งห้องกลุ่มกิจกรรมบำบัด ห้องสันทนาการ ห้องกายภาพบำบัด ห้องสำหรับฝึกผ่อนคลายความเครียด โดยมีการลงรายละเอียด นับตั้งแต่อุปกรณ์เครื่องใช้ในห้องพัก การจัดวางเรียงเฟอร์นิเจอร์ โทนสี เสื้อผ้าผู้รับบริการ เพื่อให้เหมาะสมและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ตลอดจนเครื่องมือทางการแพทย์และยาใหม่ๆ มาช่วยเสริมความชำนาญของทีมแพทย์ที่เป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย จึงมั่นใจว่าจะดูแลและรักษาสุขภาพจิตใจให้แข็งแรงสมบูรณ์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ทั้งนี้ BMHH ได้เปิดให้บริการมาเกือบ 4 เดือน พบว่า ตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ามารับการรักษามีจำนวนกว่า 1,000 ราย โดย อันดับ 1 ของโรคทางจิตเวชที่เข้ารับการรักษาคือ โรคซึมเศร้า อันดับ 2 คือ โรควิตกกังวล อันดับ 3 คือ ผู้ที่มีความเครียดสูงและต้องการคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ปัญหาคู่ครอง ปัญหาเรื่องการทำงาน ส่วนอันดับ 4 และ 5 ได้แก่ โรคแพนิก และโรคไบโพลาร์ ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ช่วงอายุของผู้เข้ารับการรักษาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25-40 ปี ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เริ่มวางแผนชีวิตจริงจัง มีความคาดหวังในการทำงาน แต่งงาน มีลูก มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตค่อนข้างมาก รวมถึงสิ่งแวดล้อมปัจจุบันที่มีความเครียด ความกดดัน มีการแข่งขัน และมีความคาดหวังสูง
“โรคทางจิตเวชเป็นโรคที่รักษาได้ เป็นโรคของความรู้สึก พฤติกรรม ความคิด แตกต่างจากโรคทางกายทั่วไป ต้องสังเกตให้ลึกซึ้ง มองหาต้นเหตุของการป่วยว่ามีปัจจัยอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น สิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่เป็นอย่างไร มีพฤติกรรมบางอย่างที่ผู้ป่วยทำเป็นประจำและส่งผลไม่ดีต่อตัวเองหรือไม่ การวินิจฉัยโรคและการรักษาต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง นอกจากการรับประทานยาแล้วอาจจะต้องปรับความคิด ปรับพฤติกรรมบางอย่าง เวลาดูแลผู้ป่วยไม่ใช่แค่มาหาจิตแพทย์ ได้ยาไปรับประทานแล้วจบ แต่ต้องดูแลชีวิตว่าเขาจะอยู่ต่ออย่างไร จะกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้หรือไม่ ญาติพี่น้องมีความเข้าใจ ช่วยเหลือผู้ป่วยได้แค่ไหน”
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต เราจึงควรหมั่นสำรวจและทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเอง บริหารจัดการอารมณ์ ความเครียด หากต้องการความช่วยเหลือควรรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อขอคำแนะนำ หาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดสะสม จนส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจหากมีปัญหาสุขภาพจิต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ARTSTORY' ออทิสติกกับชีวิตที่มีคุณค่า
ในงาน ARTSTORY EVENT AND “ALEX & THE GANG” เราได้พบความอัจฉริยะผ่านผลิตภัณฑ์น่ารัก สดใส ที่ออกแบบโดยศิลปินเด็กพิเศษ นำโดยอเล็ก - ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ และเพื่อนๆ ทั้ง 5 คน น้องทิว น้องมิกว์ น้องเอ น้องออกัส และน้องบิ๊ก จาก ARTSTORY วิสาหกิจเพื่อสังคมภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิออทิสติกไทย