ธอส.กาง 7 เคล็ดลับ ผ่อนบ้านหมดไว! ชู “ชำระเกิน-รีบโปะ-อย่าสร้างหนี้เพิ่ม” ช่วยลดภาระลูกหนี้

ช่วงที่ผ่านมา มีประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันบนโซเชียลมีเดียพอสมควร นั่นคือเรื่อง “การผ่อนบ้าน” ขณะเดียวกันในฝั่งสถาบันการเงินเองก็มีการแข่งขันกันออกโปรโมชั่นในการ Refinance (รีไฟแนนซ์) อย่างดุเดือดเพื่อดึงดูดใจลูกค้า ซึ่งต้องยอมรับว่าในภาวะปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น บางรายยังมีปัจจัยกดดันจากรายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน ภาระหนี้สินต่างๆ ที่แบกรับอยู่จึงอาจจะหนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้น การมีทริกหรือเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยลดภาระ ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาวของลูกหนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

เมื่อลองมาดูข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 2/2566 ซึ่ง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ระบุว่า มีหนี้เสียรอการแก้ไขกลับมาแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง โดยมีปริมาณหนี้ในระบบรวมอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.7% จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งมีหนี้เสียรวมอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท นั่นหมายถึงในไตรมาส 2 มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว!!

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ระบุว่า แนวโน้มของตัวเลขหนี้เสียในประเทศยังมีทิศทางการปรับตัวต่อ เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือตามแผนจากรัฐบาล และการกลับมาใช้มาตรการแก้หนี้ตามปกติจะทำให้ตัวเลขหนี้เสียยังคงเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าตัวเลขหนี้เสียจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงนัก

และเมื่อลงมาดูรายละเอียด หนี้เสียในระบบจะแบ่งออกเป็น หนี้ NPL สินเชื่อเงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ 2 แสนล้านบาท, หนี้ NPL จากสินเชื่อเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย 1.8 แสนล้านบาท, หนี้ NPL จากสินเชื่อส่วนบุคคล 2.5 แสนล้านบาท, หนี้ NPL จากสินเชื่อบัตรเครดิต 5.6 หมื่นล้านบาท และหนี้ NPL จากสินเชื่อเพื่อการเกษตรอีกกว่า 7.2 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงและน่าจับตาคือ หนี้ NPL จากการขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ ซึ่งระดับหนี้เสียในกลุ่มดังกล่าวมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 18%

แน่นอนว่า สถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ของเศรษฐกิจยังคงส่งผลกระทบและกดดันความสามารถของผู้กู้ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะหนี้ก้อนใหญ่อย่าง “หนี้บ้าน” ดังนั้นวันนี้ อาทิตย์เอกเขนก มี 7 เคล็ดลับดีๆ เกี่ยวกับการผ่อนบ้านอย่างไรให้เงินต้นหมดไว หมดปัญหาหนี้คงค้าง จาก ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มาฝาก

เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า การผ่อนบ้านเป็นเหมือนการแบกภาระหนี้สินก้อนใหญ่ แต่ไม่ว่าใครก็อยากที่จะปลดภาระนี้ทิ้งให้เร็วที่สุด แต่ด้วยความที่หนี้นั้นมีขนาดใหญ่มาก ไหนจะเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีในแต่ละเดือนก็ไม่มีเหลือมากพอที่จะนำมาโปะ การจะจัดการหนี้ส่วนนี้ให้หมดไปโดยเร็วจึงเป็นไปได้ยากมาก

มาเริ่มทำความเข้ากันกันก่อนว่า ต้องผ่อนบ้านอย่างไรเงินต้นถึงจะหมดเร็วขึ้น โดยปกติแล้วค่างวดที่เราส่งให้กับธนาคารในทุกๆ เดือนนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.เงินต้น และ 2.ดอกเบี้ย ซึ่งในช่วงแรกจะหนักไปที่ดอกเบี้ยเสียมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น กู้ซื้อบ้านราคา 2 ล้านบาท มีดอกเบี้ย 7% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนทั้งหมด 30 ปี งวดละ 14,000 บาท โดยเงินจำนวนนี้จะหักเงินต้นไปทั้งหมด 2,075 บาท แต่นำไปหักดอกเบี้ยมากถึง 11,925 บาทเลยทีเดียว แต่ดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้านนั้นเป็นแบบลดต้นลดดอก ยิ่งคุณผ่อนจนเงินต้นลดน้อยลง ดอกเบี้ยก็จะยิ่งน้อยลงตาม นั่นหมายความว่า หากคุณสามารถจัดการกับเงินต้นได้คุณก็ยิ่งผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้น

สำหรับ 7 เคล็ดลับดีๆ ในการผ่อนบ้านจาก ธอส. เริ่มจาก 1.จ่ายเกินทุกงวด โดยเงินในแต่ละงวดที่คุณจะต้องจ่ายนั้นประกอบไปด้วย เงินต้น+ดอกเบี้ย ซึ่งจะหนักไปที่ดอกเบี้ยเสียส่วนมาก แต่ถ้าคุณจ่ายเงินเกินกว่าจำนวนที่ทางธนาคารกำหนดให้คุณจ่ายมาในแต่ละเดือน เงินส่วนที่เกินมานั้นก็จะไปหักกับเงินต้นเดิม ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถ่อนได้หมดไวขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ในแต่ละงวดคุณต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านให้กับธนาคาร 10,000 บาทเป็นระยะเวลา 30 ปี แต่ถ้าหากคุณโปะเพิ่มไปอีก เป็นจ่ายเดือนละ 20,000 บาท จะช่วยลดระยะเวลาในการผ่อนจาก 30 ปีเหลือเพียง 9-10 ปีเท่านั้น แต่ถ้าหากไม่ได้มีเงินโปะทีละมากๆ ทุกเดือน คุณอาจเลือกโปะเพิ่มทีละน้อยๆ ประมาณ 10-20% ก็ช่วยลดเงินต้นลงไปได้มากเช่นกัน อีกทั้งยังไม่กระทบกับภาระทางการเงินของคุณด้วย

2.จ่ายเพิ่มปีละครั้ง โดยการจ่ายค่างวดเพิ่มปีละครั้งจะคล้ายกับการเพิ่มเงินจ่ายในทุกๆ งวด แต่ต่างกันที่การจ่ายเพิ่มปีละครั้งนั้นจะเป็นการจ่ายเพิ่มอีกงวดหนึ่งแทน จึงกลายเป็นว่าจากเดิมที่คุณผ่อนจ่าย 12 ครั้งต่อปี ก็กลายมาเป็น 13 ครั้งต่อปี แม้ที่จ่ายเพิ่มจะไม่ได้เป็นเงินจำนวนมาก แต่ก็ช่วยลดจำนวนเงินต้นลงไปได้ในระดับหนึ่ง

3.รีบโปะเพิ่มช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยในช่วง 3 ปีแรกของการผ่อนบ้าน ธนาคารจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำตามเงื่อนไขหรือโปรโมชั่นของธนาคาร หากในช่วงนั้นคุณพยายามโปะเงินเพิ่มจะทำให้เงินต้นลดลงไปได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้สินเชื่อบ้านนั้นเป็นรูปแบบการกู้ที่ลดต้นลดดอก การโปะเงินเพิ่มเพื่อลดเงินต้นจะทำให้ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายในช่วงหลังจากนี้ลดลงไปอีกด้วย โดยอาจเพิ่มเป็นเงินจำนวนน้อยๆ ในแต่ละเดือนตามกำลังทรัพย์ที่ไหวก่อน แล้วค่อยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พยายามโปะเพิ่มให้ได้มากที่สุดในช่วงนี้ เพื่อที่ตอนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วจะได้ไม่ลำบาก

4.มีเงินก้อนต้องโปะ หากคุณเป็นพนักงานบริษัทและได้โบนัสทุกๆ ปี ถ้าอยากให้หนี้สินหมดไวก็ต้องทนกัดฟันยอมนำเงินก้อนนี้ไปโปะค่าบ้าน ซึ่งนอกจากเงินต้นที่จะลดลงไปเป็นจำนวนมากแล้ว ดอกเบี้ยที่คุณจะต้องเสียก็ยังลดลงอีกด้วย 

5.ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ อย่างที่ทราบกันดีว่าการผ่อนบ้านจะมีรูปแบบดอกเบี้ยแบบ MRR ซึ่งในปีต่อๆ ไปจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เช่น จากเดิม 3% แต่เมื่อผ่านไป 3 ปีกลับเป็น 6.5% ซะอย่างนั้น ทำให้คุณต้องจ่ายเพิ่มอีกจำนวนมาก แถมที่ต้องจ่ายก็เป็นดอกเบี้ยเสียส่วนใหญ่ไม่ใช่เงินต้น แต่คุณสามารถปรับโครงสร้างหนี้ใหม่เพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้

ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ Refinance (รีไฟแนนซ์) โดยการรีไฟแนนซ์นี้เป็นวิธีที่จะย้ายหนี้เดิมของคุณจากธนาคารหนึ่งไปอีกธนาคารหนึ่ง ซึ่งธนาคารใหม่จะเสนออัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ทำให้คุณสามารถปิดหนี้ได้เร็วขึ้น จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดภาระการผ่อนบ้านให้กับคุณได้เป็นอย่างมาก

และอีกวิธีหนึ่ง คือ Retention (รีเทนชั่น) โดยการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องย้ายไปธนาคารอื่นซะทีเดียว เนื่องจากธนาคารหลายๆ แห่งก็มีโปรโมชั่นในการปรับอัตราดอกเบี้ยกับที่เดิม เรียกว่า Retention (รีเทนชั่น) ซึ่งจะมีความยุ่งยากน้อยกว่าการย้ายไปรีไฟแนนซ์กับธนาคารอื่น โดยเฉพาะถ้าคุณมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีมาโดยตลอด ธนาคารจะยิ่งอนุมัติการรีเทนชั่นเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ต้องอ่านสัญญาให้ดีก่อนว่าคุณสามารถทำการปรับโครงสร้างหนี้ได้ตอนไหน ซึ่งปกติแล้วจะสามารถทำได้เมื่อมีอายุสินเชื่อตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป หากคุณทำไม่ตรงตามเงื่อนไขสัญญาและรีไฟแนนซ์ก่อน คุณอาจจะเสียค่าปรับจากธนาคารเดิมเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป

6.ติดตามข่าวสาร มองหาโปรโมชั่นเสมอ เพราะแต่ละธนาคารมักจะมีโปรโมชั่นสินเชื่อเพื่อการผ่อนบ้านเฉพาะของแต่ละช่วงเวลาออกมา เช่น โปรลดดอกเบี้ย 3 ปี หรือโปรยืดระยะเวลาผ่อน แต่คุณก็ต้องติดตามข่าวสารเอาไว้ให้ดีๆ เพราะโปรโมชั่นเหล่านี้เป็นที่ต้องการมาก หากคุณไม่ได้ติดตามข่าวสารตลอดเวลาและติดต่อช้าเกินไปล่ะก็ คุณอาจจะพลาดโอกาสดีๆ ที่จะลดภาระทางการเงินของคุณได้

7.อย่าสร้างหนี้สินเพิ่ม โดยนอกจากวิธีการผ่อนบ้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว คุณจะต้องมีวินัยในตัวเอง โดยการ “ไม่สร้างหนี้สินเพิ่ม” เพราะแค่หนี้จากการผ่อนบ้านก็เป็นภาระที่ใหญ่มากพออยู่แล้ว หากคุณยังเลือกที่จะผ่อนนั่นผ่อนนี่เพิ่มภาระให้กับตัวเองอีก หนี้สินของคุณก็ยิ่งทับซ้อนกัน

เพราะฉะนั้นควรสร้างวินัยให้กับตัวเอง หากมีอะไรที่จำเป็นแนะนำว่า จ่ายเป็นเงินสดจะดีที่สุด มิฉะนั้นคุณอาจต้องแบกรับภาระการผ่อนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปไม่จบไม่สิ้น

จากวิธีการทั้งหมดที่ได้กล่าวมา เพียงแค่คุณวางแผนให้ดี พิจารณาสภาพคล่องทางการเงินอย่างรอบคอบ ประกอบกับการมีวินัยในการผ่อนชำระให้ตรงเวลา เท่านี้การเป็นเจ้าของบ้านในฝันก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"มนตรี เดชาสกุลสม" ปักหมุดภารกิจเร่งด่วน เชื่อมโครงข่ายถนนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

หลังจาก “มนตรี เดชาสกุลสม” เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) คนที่ 11 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่บุคลากรกรมทางหลวงชนบท

จาก ‘ฉลากเบอร์5’ สู่ห้องเรียนสีเขียวเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้และสังคม

ที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริโภคหลายคนคงเริ่มเห็นหน้าตาของฉลากเบอร์ 5 โฉมใหม่ตามเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ กันบ้างแล้ว โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” ลุยเพิ่มศักยภาพ เร่งเครื่องดันสนามบินสมุยสู่ “Tourism Hub” อ่าวไทย

หากพูดถึงอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ปัจจุบันกลับเติบโตอย่างน่าสนใจหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการมากขึ้น

เส้นทาง ‘ไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป’กว่า 50 ปี สู่การนำทัพเจน2รีแบรนด์พลิกโฉมบุกตลาด

คงต้องบอกว่า “ไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป” หรือ White Crane BIOTEC Group นับเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดด้านนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ การจัดการน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการเกษตร

คลังเดินเครื่องปั้น“หวยเกษียณ” ปักธงปลุก“ การออม” แก้ปมคนไทยสูงวัยแต่ยากจน

สถานการณ์ “การออม” ของคนไทยเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตา โดยเฉพาะการออมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC