6 ธ.ค. 64-การขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน หรืออีอีซี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็น-ทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับพื้นที่และในภาพรวมของประเทศ เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงเกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน
ขณะที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและระบบสาธารณสุขที่พร้อมให้บริการอย่างเต็มศักยภาพ ช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน หรือ สกพอ. ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดแผนบูรณาการอีอีซี เพื่อบูรณาการการพัฒนาเชิงพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นระบบ โดยโครงการในงานแผนบูรณาการเป็นแผนภาพรวมเพื่ออีอีซี ในกรอบระยะ 5 ปี ตามเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนปฏิรูปประเทศ ที่เป็นต้นแบบการสร้างการมีส่วนร่วม รัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมลงทุน ร่วมพัฒนา”
สำหรับที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2561-2565 ได้มีการขับเคลื่อนงานร่วมกันกว่า 14 กระทรวง 43 หน่วยงาน ได้รับอนุมัติงบประมาณถึง พ.ศ.2567 แล้ว 82,000 ล้านบาท หรือ 5% ของงบลงทุนที่ได้อนุมัติ ปัจจุบันได้รับจัดสรรไปแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกิดมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 924,734 ล้านบาท เกิดมูลค่าลงทุนจริงในพื้นที่อุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 728,838 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คมนาคม ขนส่ง และการท่องเที่ยว นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนคนในพื้นที่อีอีซี โดยแผนงานในปี 2566 เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งกำหนดเป้าหมายการลงทุน 500,000 ล้านบาทต่อปี เป็นไปตามแผนการลงทุนอีอีซีในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2569) ของ สกพอ.ที่ปรับเป้าหมายการลงทุน เป็น 2.2 ล้านล้านบาท
สำหรับแผนงานบูรณาการ 4 แนวทางตามภารกิจที่สำคัญที่เชื่อมโยงส่งต่อการดำเนินงานร่วมกันในลักษณะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้แก่ การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภคและระบบดิจิทัลเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับพื้นที่เศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อ ควบคู่การวางโครงข่ายดิจิทัลเพื่อดึงทุนเอกชน รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, พัฒนาและยกระดับบุคลากร การศึกษา วิจัย และนวัตกรรม หลอมรวมการศึกษา พัฒนาทักษะบุคลากรสู่การปฏิบัติงานจริงในภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมรองรับการวิจัยชั้นนำ พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และสร้างระบบนิเวศเมืองด้วย รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เกษตรอัจฉริยะ สาธารณสุข เมืองน่าอยู่และสิ่งแวดล้อม และดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการลงทุนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกันคือ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หรือ คพ. กล่าวว่า อนาคตของอุตสาหกรรมไทยต้องเปปลี่ยนแปลงเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว พลังงานสะอาด เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เกิดมลพิษ และต้องทำให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับและดึงดูดการลงทุน โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายเริ่มดำเนินการบ้างแล้ว
ทั้งนี้ เทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำคือ การลงทุน รวมถึงต้องปลดล็อกพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยองออกจากการเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะจะแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยส่งเสริมอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กับการให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม และเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรื่อนนกระจก ควบคุมคาร์บอนให้เป็นกลางได้ ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัทได้จัดทำแผนดำเนินการเพื่อทำให้คาร์บอนเป็นกลางอย่างไร เช่น บมจ.ปตท., บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือจีซี ที่ประกาศแล้วจะเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050
“การปลดล็อกอีอีซีปลอดเขตควบคุมมลพิษนั้น เพื่อเป็นเครดิตและให้เห็นว่าเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสีเขียว ไม่อยู่ในแบล็กลิสต์ เดิมในช่วงที่มีการพัฒนามาบตาพุดที่ระยองนั้นมีปัญหาเรื่องมลพิษมาก ทุกหน่วยงานพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหา แต่ก็ต้องยอมรับว่ามลพิษในพื้นที่ระยองนั้นมีบางตัวที่จะไม่ได้มาตรฐาน เช่น มีน้ำที่ยังไม่ได้ค่ามาตรฐาน คุณภาพอากาศบางตัว เช่น สารอินทรีย์ระเหยง่าย ยังมีบางจุดซึ่งเราพยายามที่จะเข้าไปแก้ไข” นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าวว่า ช่วงที่สถานการณ์โควิดช่วยให้ปัญหามลพิษดีขึ้นบ้าง แต่ที่น่ากังวลคือถ้าการพัฒนาประเทศกลับขึ้นมาต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย BCG ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญเรื่องของสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์ชาติ เราต้องผลักดันเรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งเแวดล้อม
ดังนั้น ถ้าจะเริ่มส่งเสริมใหม่ก็ต้องแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป สอดรับกับนโยบายซึ่งรัฐบาลได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะต้องร่วมมือในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมมือในการควบคุมการกักเก็บคาร์บอนเป็นกลางรวดเร็วที่สุดภายใต้โรดแมปพลังงานโลกที่ประกาศไว้ จึงเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลต้องทำให้ได้
“การที่จะทำให้ได้นั้นไม่ใช่แค่กระทรวงทรัพย์ แต่ต้องเป็นทุกกระทรวงที่ต้องดำเนินการ กระทรวงทรัพย์จะเป็นเรกูเลเตอร์ เป็นผู้ติดตามและประสานงานให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงหลักๆ รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมาย ต้องเป็นกฎหมายที่เข้ามากำกับควบคุมการแก้ไขปัญหามลพิษได้ด้วย ปัจจุบันเรามีกฎหมายอยู่ฉบับเดียว คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อมปี 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกไปทางส่งเสริม ไม่ได้กำหนดหน้าที่ที่จะควบคุมกำกับดูแลการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเลย ทั้งเรื่องการดำเนินคดี การชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ในเรื่องการเยียวยาประชาชน”
นายอรรถพลกล่าวว่า เรากำลังผลักดันกฎหมายใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ซึ่งอยากให้เพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น ที่ผู้ประกอบการหรือผู้ที่เป็นแหล่งกำเนินมลพิษจะต้องรับผิดชอบมากขึ้น ชดใช้ค่าเสียหายให้หนักมากขึ้น เพราะตราบใดที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่แข็งแรง ไม่เด็ดขาด จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการที่จะไม่เคารพกฎหมาย
“ปัจจุบันเราต้องใช้กฎหมายอื่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น พ.ร.บ.โรงงาน พ.ร.บ.สาธารณสุข หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น ซึ่งมีบทลงโทษที่เบามาก และอำนาจในการทำงานของเจ้าหน้าที่มีข้อจำกัด เช่น พ.ร.บ.โรงงาน ปรับสูงสุด 2 แสนบาท โทษจำไม่มี แต่ในด้านมูลค่าความเสียหายของผลกระทบสิ่งแวดล้อมยากจะประเมินคุณค่า หลายพันล้าน เป็นหมื่นล้านบาทก็มี เช่น ที่ระยองค่าเสียหาย 3 พันล้าน หรือที่แปดริ้วเป็นหมื่นล้านบาท เราจำเป็นต้องมีดาบเพื่อให้ผู้กระทำผิดเกรงกลัว”
นายอรรถพล กล่าวว่า หลังจากที่จบจากกฤษฎีกาแล้วก็จะมาที่คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. และสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีก็น่าจะเรียบร้อย ในระหว่างที่รอกฎหมายเจ้าหน้าที่ก็ต้องเอาจริงเอาจังในอำนาจหน้าที่ตัวเอง และต้องบูรณาการร่วมกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตามกฎหมายใหม่นั้นจะให้อำนาจเราในการปิดโรงงาน เพราะที่ผ่านมายากมากที่จะสั่งปิดโรงงานหรือปรับปรุง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 รายพื้นที่ทั่วไทย
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
รัฐบาลโอ่ผลงานยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเชื่อมโยงอีอีซี
รัฐบาลยกระดับเส้นทางสู่ภาคตะวันออก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เชื่อมโยงอีอีซี ล่าสุดกรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.3481 ตอน บ้านหัวไผ่ - การเคหะฯ จังหวัดปราจีนบุรี แล้วเสร็จ
'พิชัย' ชวนนักธุรกิจ นักลงทุน สหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี - แลนด์บริดจ์
'พิชัย' เปิดเวทีชวนนักธุรกิจ นักลงทุนสหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี แลนด์บริดจ์ พร้อมเจรจาปักหมุดให้ไทยอยู่ในโฟกัสชาวโลก
ศาลสั่ง'วินโพรเสส'ชดใช้ 1.7 พันล้าน ฟื้นฟูมลพิษ
3 ก.ย.2567 - นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และโฆษก คพ. เปิดเผยว่า จากกรณีบริษัท วิน โพรเสส จำกัด มีการรับและลักลอบเก็บของเสียเคมีวัตถุจากโรงงานต่างๆ มาเก็บไว้ในพื้นที่ของบริษัทเป็นจำนวนมาก เพื่อส่งไปกำจัด ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องยาวนาน 10 ปี โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาเมื่อปี 2560 คพ.