ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 54)

 

ไชยันต์ ไชยพร

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490  เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และฉบับที่ 3 คือฉบับ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489  ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่ใช้อยู่ระหว่าง พ.ศ. 2475-2489 เป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ระบอบคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร ได้แก่

1. การเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีสิทธิ์รับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับ

2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง

3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี และมีวาระอยู่ยาวตราบที่ยังบังคับใช้บทเฉพาะกาลอยู่

4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ชุดแรกที่แต่งตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร

5. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร แต่งตั้งตัวเองและพวกพ้องซึ่งส่วนเป็นสมาชิกคณะราษฎรให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่

6. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 รับรองตัวเองให้เป็นคณะรัฐมนตรี

จาก 1-5 บรรดาสมาชิกคณะราษฎรต่างแต่งตั้งตัวเองกลับไปกลับมาหมุนเวียนกันเป็นคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นระยะเวลาถึง 13 ปี จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ แม้จะยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และให้มีสมาชิกพฤฒสภาขึ้นแทน แต่ก็ยังกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามีสิทธิ์ในการรับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง  และแม้ว่าจะกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ได้กำหนดไว้ว่า ในช่วงแรกให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จากสมาชิกพฤฒสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้นมาเป็นจำนวน 80 คน พบว่า เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นจำนวน 50 คน  และเป็นสมาชิกคณะราษฎร 56 คน

หมายความว่า กว่าครึ่ง (50/80 คน) ของสมาชิกพฤฒสภาสืบต่อมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และกว่าครึ่ง (56/80) ของสมาชิกพฤฒสภาเป็นสมาชิกคณะราษฎร  นั่นคือ มีสมาชิกสภาพฤฒสภาที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 70 %

ภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

และเมื่อเทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476  จำนวน 78 คน พบว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 46 คน  นั่นคือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร 58.9 % ภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

จะเห็นได้ว่า สัดส่วนของสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกพฤฒสภากลับเพิ่มมากขึ้นกว่าสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรก

และคนในสมัยนั้นเรียกพฤฒสภาว่าเป็น “สภาปรีดี”

ส่วนสมาชิกพฤฒสภาที่เหลือที่ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมี 30 คน  ในตอนก่อนๆ ได้กล่าวถึงประวัติของสมาชิกพฤฒสภาไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมี 30 คนไปบ้างแล้ว ได้แก่ คุณพึ่ง ศรีจันทร์   คุณแก้ว  สิงหะคเชนทร์  คุณเขียน กาญจพันธุ์ และพันโท เจือ  สฤษฎิ์ราชโยธิน คุณจินดา พันธุมจินดา (จินดา จินตเสรี) คุณจำลอง ดาวเรือง  คุณไต๋ ปาณิกบุตร คุณถวิล อุดล คุณทัน พรหมิทธิกุล มหาอำมาตย์ตรี พระยานลราชสุวัจน์  (ทองดี  นลราชสุวัจน์)  พระนิติการณ์ประสม  (สงวน  ชัยเฉนียน) คุณปพาฬ  บุญ-หลง และหลวงประสิทธิ์นรกรรม

ต่อไปจะขอกล่าวถึงคุณประทุม  รมยานนท์

คุณประทุมเป็นคนจังหวัดตราด เกิดปี พ.ศ. 2441 เป็นบุตรของหลวงรามทิพรจน์ (เหี้ยม รมยานนท์)  เริ่มต้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ที่จังหวัดจันทบุรี พ.ศ. 2459 เริ่มรับราชการที่กรมชลประทาน พ.ศ. 2460 ในตำแหน่งเสมียนตรี เงินเดือน 30 บาท ระหว่างนั้นได้ขวนขวายหาความรู้โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ มีความชำนาญสามารถพูดโต้ตอบกับชาวต่างประเทศได้เป็นอย่างดี  ต่อมาปี พ.ศ. 2466 ได้สมัครเข้าเรียนวิชากฎหมายเป็นเนติบัณฑิตสยาม ในระหว่างรับราชการ ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับกฎหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และโรงเรียนช่างชลประทาน รับราชการในตำแหน่งสุดท้ายคือเจ้าพนักงานควบคุมการชลประทานราษฎร์  กรมชลประทาน  จากนั้นได้ลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพส่วนตัวทางทนายความ จากนั้นในปี พ.ศ. 2489 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกพฤฒสภา

ผู้เขียนไม่สามารถหาข้อมูลของคุณประทุมได้มากนัก และไม่อยากจะตีขลุมว่า ท่านเป็นฝ่ายปรีดี เพียงแค่ท่านเรียนวิชากฎหมายและได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนวิชาทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เพียงแต่สันนิษฐานถึงความเป็นไปได้ในความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับปรีดีและการที่พฤฒสภาถูกตีตราว่าเป็น “สภาปรีดี”

ต่อไปจะขอกล่าวถึงพันตำรวจเอก พระพิจารณ์พลกิจ

พระพิจารณ์พลกิจ (เดิมชื่อ ยู่เซ็ก ต่อมาใช้ชื่อ พิจารณ์) เกิดที่จังหวัดตราด พ.ศ. 2435 เป็นบุตรคนที่เจ็ดของขุนนราพานิช (บ๊วย ดุละลัมพะ) เริ่มเรียนหนังสือที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดตราด  ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ได้อพยพติดตามมารดาและพี่น้องมาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี และย้ายเข้าจังหวัดพระนคร เรียนต่อที่โรงเรียนวัดประทุมคงคาแล้วลาออก โดยมารดาได้นำเข้าฝากตัวต่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศ  ต่อมาได้เข้าศึกษาวิชาการตำรวจ สำเร็จการศึกษาได้รับบรรจุแต่งตั้งให้เป็นว่าที่นายหมวดตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2456 ได้ครองยศนายพันตำรวจโทในปี พ.ศ. 2472 และพันตำรวจเอกในปี พ.ศ. 2477  หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภาในกลางปี พ.ศ. 2489 ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น ได้เลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี และได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ในสมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี

ผลงานของท่านในปี พ.ศ. 2476 คือได้กระทำการช่วยเหลือในการปราบกบฏ (กบฏบวรเดช) ได้เลื่อนเงินเดือน 1 ขั้นและเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 1 เหรียญ

ท่านได้ลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2490         

จากการที่ท่านพันตำรวจเอก พระพิจารณ์พลกิจมีผลงานในการปราบกบฏบวรเดช และได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจในสมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และลาออกในปี พ.ศ. 2490 ที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจจากหลวงธำรงฯและกลุ่มปรีดี  จึงสันนิษฐานได้ว่าท่านน่าจะเป็นหนึ่งในสมาชิกพฤฒสภาที่มีส่วนทำให้พฤฒสภาได้รับการตีตราว่าเป็น “สภาปรีดี”  (และเมื่อผู้เขียนย้อนตรวจสอบอีกครั้งพบว่า ท่านเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ในปี พ.ศ. 2478 ด้วย)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วางมือตรงหน้า ซ่อนไพ่ไว้ข้างหลัง: รัฐบาลที่ไม่กล้าชนภูมิใจไทย

กล้องทุกตัวจับภาพ ภูมิธรรม เวชยชัย ควงแขน อนุทิน ชาญวีรกูล เดินลงจากตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมรอยยิ้มและคำหยอกว่า “เดี๋ยวหอมแก้ม” ท่ามกลางเสียงแซวว่าจะจับมือกันถึงปี 70

‘เพื่อไทยดิ่งเหว ทักษิณมืดมน’ อดีตบิ๊กศรภ. ชี้ไม่เกิน 4 เดือน!

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ชี้พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญวิกฤตศรัทธา จากนโยบายกาสิโน-แจกเงินไม่ดูฐานะการคลัง เตือนบทบาททักษิณครอบงำรัฐบาลจนทุกอย่างมุ่งสู่จุดจบทางการเมืองและกฎหมาย