ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีแลชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว ซึ่งรายงานจากสถานทูตฝรั่งเศสเห็นว่าเป็นการทำรัฐประหาร ในขณะที่รายงานสถานทูตอังกฤษรายงานว่าเป็นการยุบสภาฯและเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยอัครราชทูตอังกฤษรายงานว่า
“การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ ผู้นำรัฐบาลมิได้ดำเนินการเร็วเกินไป สภาแห่งนี้มิได้ตอบสนองวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ และก็มิได้ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นใดๆ แทบจะไม่มีคนในในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง……..ในระยะหลังๆ มานี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและกลุ่มผู้สนับสนุน 3-4 คนในคณะรัฐบาล เมื่อเห็นว่าฝ่ายตนเป็นเสียงข้างน้อย ก็เริ่มกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านขึ้นในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ที่พวกเขาเสนอแต่งตั้งเข้ามาเมื่อมีการจัดตั้งสภาแห่งนี้ พวกเขาไม่มีกลุ่มผู้สนับสนุนนอกสภา แต่ในสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกประมาณ 25-30 คนจากทั้งหมด 70 คนที่พวกเขาพึ่งพาได้ ในเดือนมิถุนายนจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้มีสมาชิกทั้งจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งรวมกัน 240 คน (น่าจะผิดพลาด เพราะตัวเลขที่ถูกต้องคือ ประมาณ 140 คน/ผู้เขียน) สภาผู้แทนราษฎรก็คงจะกลายเป็นสภาฝูงชน (mob assembly) และก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ลู่ทางเช่นนี้จะทำให้พวกหัวไม่รุนแรงเกิดความวิตกหวาดผวา ข้าพเจ้าเห็นว่าแถลงการณ์ของรัฐบาล [ที่อธิบายเรื่องการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา] เป็นการแถลงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา” [1]
ส่วนนักวิชาการไทยคนแรกที่กล่าวชัดเจนว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นการทำรัฐประหาร คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ในบทความเรื่อง “กบฏบวรเดช การเมืองของประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของการเมือง” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มีนาคม 2527 ได้ถูกนำมารวมเล่มกับบทความอื่นๆ ในหนังสือชื่อ ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, พิมพ์ครั้งที่ 1 สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 5 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, พ.ศ. 2560) นครินทร์เพียงแต่กล่าวว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯเป็นการทำรัฐประหาร แต่ไม่ได้อธิบายความอะไร หลังจากนั้น 7 ปี ในวิทยานิพนธ์ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์เรื่อง รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ได้อธิบายความไว้ 16 หน้าว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯนั้นเป็นการทำรัฐประหาร ประเด็นการให้เหตุผลที่น่าสนใจของธำรงศักดิ์อีกส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากที่กล่าวไปในตอนก่อนๆคือ
(ธำรงศักดิ์กล่าวไว้ในวิทยานิพนธ์หน้า 310-312)
“สิ่งที่เราต้องวิเคราะห์ถึงความซับซ้อนในการใช้พระราชกฤษฎีกาทำรัฐประหาร โดยกลุ่มนักกฎหมายสำเร็จจากอังกฤษและเป็นนักกฎหมาย ‘มือหนึ่ง’ ของประเทศ คือ
1) กลุ่มพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเกือบทั้งหมดคือผู้เป็นอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญย่อมทราบดีว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หากกฎหมายอื่นใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมถือว่าเป็นโมฆะ แต่พระยามโนปรกณ์นิติธาดาใช้ ‘พระราชกฤษฎีกา’ อันเป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารออกได้โดยไม่ขัดกับกฎหมายทั่วไป ‘ให้รอการใช้บทบัญญัติต่าง ๆในรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย’ เห็นได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายที่กลับตาลปัตรกันหรือกลับหน้ามือเป็นหลังมือ ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ ได้วิเคราะห์ถึงมาตรารัฐธรรมนูญที่เหลือใช้จากข้อกำหนดของพระราชบัญญัติที่ให้ ‘งดใช้’ รัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตราว่า เหลือแต่มาตรา ‘ที่ไม่เป็นสาระอันสำคัญยิ่ง’ จากทั้งหมด 68 มาตาเหลือใช้เพียง 18 มาตรา ได้แก่ มาตราที่ 1,3,4,5,7,8,11, 12-15, 53-60 กล่าวคือ เมื่อพระราชกฤษฎีกาให้ ‘ยุบ’ สภาผู้แทนราษฎร (ในพระราชกฤษฎีกา ใช้คำว่า ปิดประชุม/ผู้เขียน) และให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนด้วย ดังนั้น จึงทำให้หลักสำคัญของรัฐธรรมนูญมาตราที่ 2 ที่ว่า ‘อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม…’ หายไป จึงย่อมทำให้มาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกับสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีหายไปด้วย คงเหลือมาตราที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หน้าที่ของชนชาวสยาม และในหมวดศาล ซึ่งโดยนัยของการรัฐประหารครั้งนี้ก็คือ รัฐธรรมนูญได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
2) พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ‘ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี้เสีย และห้ามมิให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เมื่อได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร…..’ การใช้พระราชกฤษฎีกาในแง่มุมนี้ไม่ผิดหลักการอย่างแน่นอน เพราะการ ‘ปิด’ หรือ ‘ยุบ’ สภาผู้แทนราษฎรนั้นกระทำโดยใช้พระราชกฤษฎีกา การ ‘ปิด’ สภาผู้แทนราษฎร คือ การที่สภาหมดสมัยวาระการประชุมหรือครบกำหนดอายุตามวาระของสมาชิกสภาซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกันใหม่ ส่วนการ ‘ยุบ’ สภาผู้แทนราษฎร คือ การที่รัฐบาลได้ขัดกันกับสภาอย่างรุนแรง ฝ่ายรัฐบาลจึงใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ แต่ความซับซ้อนก็เกิดขึ้นเพราะถ้า ‘ปิด’ สภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดชั่วคราวนี้ก็จะเป็น ‘รัฐบาลรักษาการ’ ด้วย แต่พระราชกฤษฎีกานี้ให้ตั้ง ‘คณะรัฐมนตรีชุดใหม่’ นั่นหมายความว่าสภาผู้แทนราษฎรถูก ‘ยุบ’ นอกจากนั้น หลังการรัฐประหารครั้งนี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็หาได้ประกาศกฎหมายให้มีการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 อย่างทันทีทันใดไม่ จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ‘4 ทหารเสือลาออก’ จึงประกาศให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2476 หรืออีก 75 วันหลังการรัฐประหาร
3) พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้ตั้งให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ของคณะรัฐบาลซึ่งถูก ‘ยุบ’ โดยพระราชกฤษฎีกาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงของรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนรัฐมนตรีลอยอื่นๆ พระยามโนปรกรณ์นิติธาดาได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ‘ประกาศตั้งรัฐมนตรี’ ลอยชุดใหม่ต่างหากออกไป สิ่งสำคัญคือ พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี ‘ชุดใหม่’ เป็นทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวได้ว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและกลุ่มอนุรักษนิยมยังแสดงเจตนาให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ดังปรากฏความในพระราชกฤษฎีกา แต่เป้าหมาหรือผลในท้ายที่สุดของการที่รัฐธรรมนูญจะ ‘สมบูรณ์’ อีกครั้งคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและกลุ่มอนุรักษนิยมก็จะเป็น ‘กลุ่มอำนาจใหม่’ ของประเทศ ขณะที่คณะราษฎรจะถูกขจัดออกไปจากศูนย์อำนาจนี้ ขณะเดียวกัน พระมหากษัตริย์หรือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งทรงให้ความร่วมมือและสนับสนุนในการทำรัฐประหารของกลุ่มพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็จะทรงได้รับพระราชอำนาจเพิ่มขึ้นในรัฐธรรมนูญตามที่พระองค์ทรงหวังไว้ กล่าว ตามบทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกา รัฐธรรมนูญจะมีความสมบูรณ์ได้ 3 ประการคือ
ประการที่ 1 จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนรำร ซึ่งเห็นได้ว่ามีความเกี่ยวพันอย่างสำคัญกับการล้มสมาคมคณะราษฎรที่มุ่งหวังส่งสมาชิกเข้ารับสมัครการเลือกตั้ง เมื่อล้มสมาคมนี้แล้ว คณะราษฎรย่อมไม่มีเสียงสนับสนุนหรือไม่ได้กุมเสียงข้างมากในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ส่งจดหมายมายังสภาผู้แทนราษฎรหลังการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โดยโจมตีพระยามโนปกณณ์นิติธาดาว่า พระยามโนปกรณ์ฯ ‘ได้จัดการวางแผนในการหาเสียงข้างมากไว้’ โดยวิธีให้พระยาจ่าแสนยบดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ‘กระซิบ’ เจ้าเมืองและนายอำเภอให้จัดการให้บุคคลที่สนับสนุนฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ ได้รับเลือกตั้ง’ นอกจากนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดายังได้ใช้อำนาจตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 กล่าวคือ เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นั้น โดยประกาศกฎหมายพร้อมกัน 3 ฉบับ ได้แก่ ‘พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2476’ ‘พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 พ.ศ. 2476’ และ ‘พระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดเพื่อการเลือกตั้งตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2476’ การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 3 ฉบับนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวว่าเป็นการแก้ ‘ในข้อความสำคัญ โดยที่พระยามโนปฯกับพวกได้นำเอาข้อความที่ตนเถียงแพ้ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ กับที่ตนจำนนในทางปฏิบัติมาไว้เกือบทั้งสิ้น’”
ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะได้นำความที่ธำรงศักดิ์ได้กล่าวถึง สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปในกฎหมายเลือกตั้งของพระยามโนฯ มานำเสนอต่อไป
[1] ธีระ นุชเปี่ยม, ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์, เพิ่งอ้าง, หน้า 182-183 ( [F 3113/42/40] “Mr. Dormer to Sir John Simon, 4 April 1933”. British Documents, pp. 97-98.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
ดร.เสรี ซูฮก ‘ทักษิณ’ ใหญ่จริงๆไม่มีใครกล้าทำอะไร
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่าฟังปร
'จิรายุ' ตีปาก 'สส.โรม' อย่าพูดให้ประเทศเสียหาย ปมยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจาก พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีมีอดีต สส. ของกัมพูชา ถูกยิงเสียชีวิตในประเทศไทยแล้ว
นายกฯ ยันไร้แผนปรับครม. ตอนนี้พรรคร่วม-รมต.ไม่มีใครดื้อ ไม่เสียใจ 'ทักษิณ' พูดนำก่อน
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายปรับลดค่าไฟตรงนี้ถือเป็นหลักประกันเก้าอี้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานด้วยหรือไม่ ว่า อันนี้ไม่ทราบเลยว่าทำไม
‘สรวงศ์’ โต้รัฐบาลรับลูกพ่อนายกฯ อ้างเป็นแค่วิสัยทัศน์อดีตผู้นำ
ทำเนียบรัฐบาล นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร การกา