ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว ซึ่งรายงานจากสถานทูตฝรั่งเศสเห็นว่าเป็นการทำรัฐประหาร ในขณะที่รายงานสถานทูตอังกฤษรายงานว่าเป็นการยุบสภาฯและเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ยกข้อความในรายงานสถานทูตที่เป็นภาษาอังกฤษต้นฉบับ ซึ่งจากรายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ทางสถานทูตอังกฤษเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาฉบับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉินของฝ่ายบริหาร โดยในรายงานสถานทูตใช้คำว่า emergency decrees ซึ่งข้อความในตัวพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเองก็มีคำว่า “ฉุกเฉิน” อยู่ด้วย (ดูภาพประกอบ) และจากรายงานสถานทูตอังกฤษ อัครราชทูตอังกฤษนายซีซิล ดอร์เมอร์ยังแสดงความเห็นด้วยต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร การปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์
การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ปิดประชุมสภา ปรับคณะรัฐมนตรี และชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราว และการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงไม่ใช่การทำรัฐประหารในสายตาของอัครราชทูตอังกฤษ เพราะเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน ผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษต่อพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณา เพราะอังกฤษ เป็นประเทศต้นแบบการปกครองแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเห็นของนักวิชาการต่างประเทศต่อกรณีการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ไปบ้างแล้ว เช่น ความเห็นของ เดวิด เค. วัยอาจ จากงาน Thailand A Short History, 1st edition 1982, 2nd edition, (Bangkok: Silkworm: 2003), กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียน (Kobkua Suwannathat-Pian) ในงานที่ชื่อว่า Thailand’s Durable Premier: Phibun through Three Decades 1932-1957, (Oxford: Oxford University Press: 1995), Judith A. Stowe ในงานที่ชื่อว่า Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue, (Honolulu: University of Hawaii Press: 1991) และ B.J. Terweil, Thailand’s Political History: From the 13th century to recent times, (Bangkok: River Books: 2005) ส่วนงานเขียนในภาษาไทยที่กล่าวถึงการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ผู้เขียนได้กล่าวถึงหนังสือ พระปกเกล้าฯ กับชาติไทย ของ เปรมจิตร วัชรางกูร (พ.ศ. 2489), ยี่สิบเจ็ดรัฐบาลใน 26 ปี ของ ดำริห์ ปัทมะศิริ (พ.ศ. 2505) ประวัตินายกรัฐมนตรี ของ สงบ สุริยินทร์ (พ.ศ. 2514), ความเห็นของหลวงบรรณกรโกวิท จากอนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ หลวงบรรณกรโกวิท (พ.ศ. 2535)
ส่วนความเห็นของนักวิชาการที่กล่าวไป ได้แก่ ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์, “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520)
ส่วนของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ( “กบฏบวรเดช การเมืองของประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของการเมือง” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มีนาคม 2527, และนำมารวมเล่มกับบทความอื่นๆ ใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, พิมพ์ครั้งที่ 1 สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 5 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, พ.ศ. 2560) เป็นนักวิชาการคนแรกที่กล่าวชัดเจนว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นการทำรัฐประหาร แต่ไม่ได้อธิบายความอะไร และหลังจากนั้น 7 ปี ในวิทยานิพนธ์ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์เรื่อง รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ได้อธิบายความไว้ 16 หน้าว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯนั้นเป็นการทำรัฐประหารอย่างไร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2538: นรนิติ เศรษฐบุตร, เกิดมาเป็นนายกฯ, (พ.ศ. 2538), กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกานี้เปิดโอกาสให้รัฐบาลพระยามโนฯ ยึดอำนาจจากสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเงียบๆ และในปี พ.ศ. 2564 ในหนังสือ บทบาทสภาผู้แทนราษฎรสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นรนิติได้กล่าวว่า
“การปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราครั้งนี้ น่าจะทำให้เกิดความแปลกใจมากแก่ผู้คนในแผ่นดินสยาม ในธรรมนูญการปกครองก็ไม่ได้บัญญัติในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง จะตีความว่าคงเป็นเสมือนการยุบสภา เพราะระบุว่าจะเปิดสภาเมื่อมีสมาชิกสภาฯ ชุดใหม่ แสดงว่าชุดนี้จะไม่กลับมาแล้ว แต่ก็มีปัญหาว่าถ้ายุบสภา น่าจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งออกไปให้แน่นอน ซึ่งก็ไม่ได้มีการกำหนดวันเลือกตั้ง จึงทำให้เข้าใจว่าอาจทำกันอย่างฉุกละหุก และคิดแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นไปตามกรณี จนมีการคิดกันว่าคงเป็นการรัฐประหารเงียบโดยนายกรัฐมนตรีและนายทหารผู้ก่อการฯ ในรัฐบาล แต่ที่แน่นอนคือ ทำให้เกิดความสับสนทางการเมืองในแผ่นดิน หลังจากการยึดอำนาจการปกครองฯ ที่คนคิดว่าราบเรียบมาได้ยังไม่ถึงปี” ที่น่านำมาพิจารณาศึกษาอย่างยิ่งคือ คำอธิบายของ ธำรงศักดิ์
ธำรงศักดิ์ จั่วหัวไว้ในหน้า 290 ว่า “รัฐประหาร” โดยพระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน พ.ศ. 2476 และได้อธิบายขึ้นต้นว่า
“ ‘การรัฐประหาร’ ครั้งนี้กล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่พิเศษสุดครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองสยาม เพราะเป็นการยึดอำนาจของรัฐบาลตนเองโดยผู้นำรัฐบาลที่เป็นพลเรือน และเป็นการที่ผู้นำรัฐบาลพลเรือนชุดชั่วคราวยึดอำนาจเพื่อขจัดและลดทอนอำนาจและอิทธิพลของคณะปฏิวัติ หรือคณะราษฎรที่มีอยู่ในคณะรัฐบาลออกไปจากศูนย์อำนาจการปกครองของประเทศ ทั้งให้ ‘งดใช้’ รัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตรา ให้ ‘ยุบ’ สภาผู้แทนราษฎร ให้บุคคลที่เป็น ‘นายกรัฐมนตรี’ และ ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวง’ ต่างๆ ทั้ง 7 กระทรวงในรัฐบาลชุดเก่ายังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมในรัฐบาลชุดใหม่ แต่ให้ ‘รัฐมนตรี’ ลอยอื่นๆ จำนวน 13 นายพ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีลอยชุดใหม่ ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจ ‘บริหาร’ และอำนาจ ‘นิติบัญญัติ’ คือสามารถตราพระราชบัญญัติบังคับใช้ได้เองหรือเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น อำนาจสูงสุดของประเทศจึงอยู่ในมือของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี แต่การใช้อำนาจใดๆ ยังคงอ้างอิงพระบรมเดชานุภาพและพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ทั้งหมดนี้เป็นการทำรัฐประหารโดยใช้อำนาจของ ‘พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่’ ที่ลงพระปรมาภิไธยโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 หรือวันขึ้นปีใหม่ของสยาม หนังสือพิมพ์สมัยนั้นได้เรียกชื่อคณะรัฐบาลชั่วคราวทั้ง 2 ชุดที่มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎรและนายกรัฐมนตรีว่า ‘รัฐบาล’ หรือ ‘รัฐบาลคณะราษฎร’ แต่เมื่อถึงยุครัฐบาลใหม่ที่มาโดยการรัฐประหารที่มีอายุอยู่ 81 วัน (ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476) หนังสือพิมพ์สมัยนั้นได้เรียกชื่อว่า ‘รัฐบาลพระยามโนฯ’ หรือ ‘รัฐบาลเจ้าคุณมโนฯ’ ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ให้ความหมายสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ ชุด 81 วันนี้ว่ายุค ‘มโนเครซี’ หรือเป็น ‘นักเผด็จการคนแรกแห่งประเทศไทย’”
ประเด็นที่น่าสนใจในคำอธิบายของธำรงศักดิ์ในย่อหน้าข้างต้น ได้แก่
1. ธำรงศักดิ์กล่าวว่า จากพระราชกฤษฎีกาฯ นำไปสู่การให้ ‘งดใช้’ รัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตรา แต่ข้อความในพระราชกฤษฎาฯกล่าวว่า งดใช้บางมาตรา ชั่วคราว จึงน่าสนใจที่จะศึกษาว่า รัฐบาลพระยามโนฯงดใช้บางมาตรา หรือเกือบทุกมาตรา
2. ธำรงศักดิ์กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกาฯ ให้ “ยุบ” สภาผู้แทนราษฎร แต่ในพระราชกฤษฎีกาฯใช้คำว่า “ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร”
น่าสนใจที่จะศึกษาว่า ตกลงแล้ว ปิดประชุม หรือ ยุบสภาฯ กันแน่
3. ถ้ายุบสภาผู้แทนราษฎร การปรับคณะรัฐมนตรีย่อมไม่ถูกต้อง แต่ถ้าปิดประชุมสภาฯ สามารถปรับคณะรัฐมนตรีได้หรือไม่ ?
4. ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจ ‘บริหาร’ และอำนาจ ‘นิติบัญญัติ’ คือสามารถตราพระราชบัญญัติบังคับใช้ได้เองหรือเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น อำนาจสูงสุดของประเทศจึงอยู่ในมือของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี คำถามคือ กระทำได้หรือไม่ ?
5. การใช้อำนาจใดๆ ยังคงอ้างอิงพระบรมเดชานุภาพและพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ใช่หรือไม่ ?
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คนเสื้อแดงแห่รับ 'ทักษิณ' เตรียมปราศรัยหาเสียงนายกอบจ. วันเดียว 3 เวที
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ของนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครนายก
ย้อนวิบาก...3ป.67 ปิดฉาก...ก้าวไกล เปลี่ยน...นายกฯ เปิด...ระบอบทักษิณ I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 04 มกราคม 2568
'วันนอร์' ชี้นักการเมืองไม่ใช่อาชญากร บทลงโทษไม่ควรรุนแรงถึงขั้นตัดสิทธิ-ยุบพรรค
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีสถานการณ์การเมืองปี 2568 มีโอกาสเกิดคดีความที่นำมาสู่การยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิ สส. ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัย
'ชูศักดิ์' ดักคอฝ่ายค้านยื่นซักฟอก บอกปม 'ชั้น14-MOU44' คุยนานแล้วไม่มีน้ำหนัก
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบมีการลงมติตามมาตรา 151 ในสมัยประชุมนี้ว่า ถือเป็นสิทธิของฝ่ายค้าน แต่ตนคิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นขึ้นอยู่กับประเด็น
เชือดนิ่มแต่เจ็บจี๊ด! 'นิพิฏฐ์' ตอกกลับ 'เด็จพี่-พายัพ' ตำหนิ 'ชวน หลีกภัย'
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ โพสต์เฟซบุ๊กว่า สันดานเดียวกัน คบกันได้ ผมอ่านข่าว นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ และ นายพายัพ ปั้นเกตุ ออกมาวิจารณ์ท่านชวน
'ภูมิธรรม' มั่นใจรัฐบาลอยู่ครบเทอม 4 ปีแน่!
'ภูมิธรรม' มั่นใจรัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี เชื่อปี 68 ไม่มีเหตุวุ่นวายนำสู่รัฐประหาร ชี้ ปชต.ไม่ควรสะดุดขาดตอน ย้ำสัมพันธ์ทหารดีมาก มอง 'ยิ่งลักษณ์' กลับไทยธรรมดาของคนอยู่ ตปท.