ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

 

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว ซึ่งรายงานจากสถานทูตฝรั่งเศสเห็นว่าเป็นการทำรัฐประหาร ในขณะที่รายงานสถานทูตอังกฤษรายงานว่าเป็นการยุบสภาฯและเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ยกข้อความในรายงานสถานทูตที่เป็นภาษาอังกฤษต้นฉบับ ซึ่งจากรายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ทางสถานทูตอังกฤษเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาฉบับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉินของฝ่ายบริหาร โดยในรายงานสถานทูตใช้คำว่า  emergency decrees   ซึ่งข้อความในตัวพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเองก็มีคำว่า “ฉุกเฉิน” อยู่ด้วย (ดูภาพประกอบ)  และจากรายงานสถานทูตอังกฤษ อัครราชทูตอังกฤษนายซีซิล ดอร์เมอร์ยังแสดงความเห็นด้วยต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร การปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์

การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ปิดประชุมสภา ปรับคณะรัฐมนตรี และชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราว และการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงไม่ใช่การทำรัฐประหารในสายตาของอัครราชทูตอังกฤษ เพราะเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน ผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษต่อพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณา เพราะอังกฤษ เป็นประเทศต้นแบบการปกครองแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข     

ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเห็นของนักวิชาการต่างประเทศต่อกรณีการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ไปบ้างแล้ว เช่น ความเห็นของ เดวิด เค. วัยอาจ จากงาน Thailand A Short History, 1st edition 1982,  2nd edition, (Bangkok: Silkworm: 2003), กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียน (Kobkua Suwannathat-Pian) ในงานที่ชื่อว่า Thailand’s Durable Premier: Phibun through Three Decades 1932-1957, (Oxford: Oxford University Press: 1995), Judith A. Stowe ในงานที่ชื่อว่า  Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue, (Honolulu: University of Hawaii Press: 1991) และ B.J. Terweil, Thailand’s Political History: From the 13th century to recent times, (Bangkok: River Books: 2005)   ส่วนงานเขียนในภาษาไทยที่กล่าวถึงการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  ผู้เขียนได้กล่าวถึงหนังสือ  พระปกเกล้าฯ กับชาติไทย ของ เปรมจิตร วัชรางกูร (พ.ศ. 2489)   และ  ยี่สิบเจ็ดรัฐบาลใน 26 ปี ของ ดำริห์ ปัทมะศิริ (พ.ศ. 2505)

ในตอนนี้ จะขอกล่าวถึงความเห็นต่อมาในหนังสือ ประวัตินายกรัฐมนตรี ของ สงบ สุริยินทร์ (พ.ศ. 2514) กล่าวถึงการประกาศพระราชกฤษฎีกาฯ ไว้ว่า

“...วันที่ 1 เมษายน 2476 รัฐบาลพระยามโนฯ ก็ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร ยุบคณะรัฐมนตรี และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเสียด้วย ข่าวนี้เป็นประดุจสายฟ้าฟาดลงบนศีรษะของ ส.ส. และประชาชนผู้รักษาระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย คำประณามรัฐบาลพระยามโนฯ ว่าเป็น ‘ดิคเตเตอร์’ เมื่อวานนี้ในสภาผู้แทนราษฎรของบรรดา ส.ส. ทั้งหลายนั้นเป็นจริงขึ้นแล้ว….”                                  

แม้ว่า สงบ จะไม่ได้กล่าวว่าเป็นการรัฐประหาร แต่เขามีความเห็นว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตย และมีความเป็นเผด็จการ (ดิคเตเตอร์)

ต่อมาในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ หลวงบรรณกรโกวิท หลวงบรรณกรโกวิท ได้เขียนไว้ว่า

“..เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนากับพวกได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ความจริงเรื่องจะยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนฯ นี้ ผู้ก่อการคิดอยู่เสมอตั้งแต่วันที่พระยามโนฯ ได้ปิดสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ แม้แต่ข้าพเจ้าเองก็มีผู้มาชักชวนและหารือด้วย….”

จากข้อความข้างต้น อาจตีความได้ว่า ตัวหลวงบรรณกรโกวิทและคณะผู้ก่อการเห็นว่า การปิดประชุมสภาฯและการตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่นั้นมีความไม่ชอบธรรมมาตั้งแต่ต้นแล้ว

ต่อมาเป็นความเห็นของนักวิชาการไทยที่มีต่อการประกาศพระราชกฤษฎีกาฯ อาทิ       

พ.ศ. 2520: ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์, “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520) ได้วิเคราะห์ไว้ว่า

“การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี้เป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ในแง่ที่ว่าจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  จริงอยู่ แม้ในรัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทว่าถ้าคิดในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภา หากเกิดกรณีที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์ไว้ได้ รัฐบาลอาจยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามิได้เป็นการกระทำที่จะละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

พ.ศ. 2527: นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “กบฏบวรเดช การเมืองของประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของการเมือง” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มีนาคม 2527, และนำมารวมเล่มกับบทความอื่นๆ ใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, พิมพ์ครั้งที่ 1 สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 5 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, พ.ศ. 2560, หน้า 214.

แม้ว่า นครินทร์ จะเป็นนักวิชาการไทยคนแรกที่กล่าวว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นการทำรัฐประหาร แต่เขาไม่ได้อธิบายขยายความมากไปกว่าการกล่าวว่า “ในท้ายที่สุด ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ทำ ‘รัฐประหาร’ ด้วยการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2476” 

พ.ศ. 2534:  ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476, วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาประวัติศาสตร์) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ.2534, หน้า 290-316.         

วิทยานิพนธ์ของ ธำรงศักดิ์ แม้ว่าจะมาทีหลังจากบทความของนครินทร์ถึง 7 ปี แต่ในการกล่าวว่าการประกาศพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นการทำรัฐประหาร เขาก็มิได้อ้างอิงบทความของนครินทร์แต่อย่างใด  แต่นครินทร์เป็นหนึ่งในกรรมการวิทยานิพนธ์  แต่งานของธำรงศักดิ์ได้อธิบายขยายความและให้เหตุผลว่าการประกาศพระราชกฤษฎีกาฯเป็นการทำวิทยานิพนธ์ในความยาว 16 หน้า (ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป)                       พ.ศ. 2538: นรนิติ เศรษฐบุตร, เกิดมาเป็นนายกฯ, (พ.ศ. 2538), กล่าวว่า

“..เห็นได้ชัดว่า พระราชกฤษฎีกานี้เปิดโอกาสให้รัฐบาลพระยามโนฯ ยึดอำนาจจากสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเงียบๆ และในขณะเดียวกันก็ทำการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีได้ ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลที่จัดตั้งใหม่นั้นมีรัฐมนตรีเดิมที่หลุดตำแหน่งไป 5 นาย คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงเดชสหกรณ์ นายตั้ว ลพานุกรม นายแนบ พหลโยธิน และพระยาประมวลวิชาพูล

แต่โอกาสก็ไม่เปิดให้พระยามโนฯ มากนัก เพราะเพียง 80 วันต่อมา คือในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 รัฐบาลพระยามโนฯ ซึ่งเชื่อกันว่าได้รับการหนุนจากนายพันเอก พระยาทรงสุรเดชก็ถูกรัฐประหารโดยคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศที่มีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า และมีนายพันโทหลวงพิบูลสงคราม กับนายนาวาโท หลวงศุภชลาศัยเป็นผู้ร่วมทาง เมื่อยึดอำนาจแล้ว หัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจก็มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ลาออก โดยมีเหตุผลว่า “…เห็นว่าการบริหารราชการแผ่นดินเท่าที่รัฐมนตรีได้ปฏิบัติมานั้น ก็มีแต่จะนำให้ประเทศและชาติอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราดำเนินไปสู่ความหายนะในที่สุดเป็นเที่ยงแท้…”

พ.ศ. 2564: นรนิติ เศรษฐบุตร, บทบาทสภาผู้แทนราษฎรสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,  (พ.ศ. 2564), กล่าวถึงการประกาศพระราชกฤษฎีกาฯ แตกต่างไปจากที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2538 ไปและมีการวิเคราะห์ทางรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้น นั่นคือ

“การปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราครั้งนี้ น่าจะทำให้เกิดความแปลกใจมากแก่ผู้คนในแผ่นดินสยาม ในธรรมนูญการปกครองก็ไม่ได้บัญญัติในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง จะตีความว่าคงเป็นเสมือนการยุบสภา เพราะระบุว่าจะเปิดสภาเมื่อมีสมาชิกสภาฯ ชุดใหม่ แสดงว่าชุดนี้จะไม่กลับมาแล้ว แต่ก็มีปัญหาว่าถ้ายุบสภา น่าจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งออกไปให้แน่นอน ซึ่งก็ไม่ได้มีการกำหนดวันเลือกตั้ง จึงทำให้เข้าใจว่าอาจทำกันอย่างฉุกละหุก และคิดแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นไปตามกรณี จนมีการคิดกันว่าคงเป็นการรัฐประหารเงียบโดยนายกรัฐมนตรีและนายทหารผู้ก่อการฯ ในรัฐบาล แต่ที่แน่นอนคือ ทำให้เกิดความสับสนทางการเมืองในแผ่นดิน หลังจากการยึดอำนาจการปกครองฯ ที่คนคิดว่าราบเรียบมาได้ยังไม่ถึงปี

………..การที่รัฐบาลพระยามโนฯ ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภา จึงแสดงถึงการขัดแย้งที่ประนีประนอมกันไม่ได้ระหว่างรัฐบาลกับสภาฯ หากเจาะจงให้ลึกลงไป ก็น่าจะเป็นพระยามโนฯ กับรัฐมนตรีสายอนุรักษ์นิยมและคณะเป็นฝ่ายหนึ่ง กับหลวงประดิษฐ์ฯ และสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนที่ถูกเพ็งเล็งว่าหัวแข็ง หรือถึงขนาดว่าเป็นพวกที่แนวทางสังคมนิยม ทั้งนี้กลับกลายเป็นว่าคณะราษฎรสายทหาร เหมือนสนับสนุนการปิดสภาฯ และอยู่ข้างรัฐบาล เพราะร่วมลงนามด้วย”

จากข้างต้น แม้ว่า นรนิติจะไม่ได้กล่าวด้วยตนเองว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯเป็นการทำรัฐประหารเงียบ แต่ก็กล่าวว่า “…จนมีการคิดกันว่าคงเป็นการรัฐประหารเงียบ”  อีกทั้งยังกล่าวโดยนัยว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะ “..การปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราครั้งนี้ น่าจะทำให้เกิดความแปลกใจมากแก่ผู้คนในแผ่นดินสยาม ในธรรมนูญการปกครองก็ไม่ได้บัญญัติในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง….”  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.โรม ปูดมีหลักฐานซื้อเสียง อบจ. จี้ กกต.สอบปมป้าโยนถุงขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อไทย

ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงการเลือกตั้งองการบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ว่า การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ อาจจะ

'อนุทิน'​ ยัน​ เลือกตั้งอบจ.อีสานเดือด ไม่ทำพรรคร่วมรัฐบาลระส่ำ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน​ ชาญวีรกูล​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย​ กล่าวถึง ข้อสังเกต ที่นายอนุ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 45)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

'ทักษิณ' ขึ้นเหนือช่วยผู้สมัครนายกอบจ. เชียงราย-ลำพูน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกำหนดการของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงนายกอบจ.ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะมีก