ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

 

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว ซึ่งรายงานจากสถานทูตฝรั่งเศสเห็นว่าเป็นการทำรัฐประหาร ในขณะที่รายงานสถานทูตอังกฤษรายงานว่าเป็นการยุบสภาฯและเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ยกข้อความในรายงานสถานทูตที่เป็นภาษาอังกฤษต้นฉบับ ซึ่งจากรายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ทางสถานทูตอังกฤษเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาฉบับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉินของฝ่ายบริหาร โดยในรายงานสถานทูตใช้คำว่า  emergency decrees   ซึ่งข้อความในตัวพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเองก็มีคำว่า “ฉุกเฉิน” อยู่ด้วย (ดูภาพประกอบ)  และจากรายงานสถานทูตอังกฤษ อัครราชทูตอังกฤษนายซีซิล ดอร์เมอร์ยังแสดงความเห็นด้วยต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร การปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์

การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ปิดประชุมสภา ปรับคณะรัฐมนตรี และชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราว และการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงไม่ใช่การทำรัฐประหารในสายตาของอัครราชทูตอังกฤษ เพราะเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน ผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษต่อพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณา เพราะอังกฤษ เป็นประเทศต้นแบบการปกครองแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข     

ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเห็นของนักวิชาการต่างประเทศต่อกรณีการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ไปบ้างแล้ว เช่น ความเห็นของ เดวิด เค. วัยอาจ จากงาน Thailand A Short History, 1st edition 1982,  2nd edition, (Bangkok: Silkworm: 2003), กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียน (Kobkua Suwannathat-Pian) ในงานที่ชื่อว่า Thailand’s Durable Premier: Phibun through Three Decades 1932-1957, (Oxford: Oxford University Press: 1995), Judith A. Stowe ในงานที่ชื่อว่า  Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue, (Honolulu: University of Hawaii Press: 1991) และ B.J. Terweil, Thailand’s Political History: From the 13th century to recent times, (Bangkok: River Books: 2005)   ส่วนงานเขียนในภาษาไทยที่กล่าวถึงการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  ผู้เขียนได้กล่าวถึงหนังสือ  พระปกเกล้าฯ กับชาติไทย ของ เปรมจิตร วัชรางกูร (พ.ศ. 2489)   และ  ยี่สิบเจ็ดรัฐบาลใน 26 ปี ของ ดำริห์ ปัทมะศิริ (พ.ศ. 2505) ซึ่งยังเล่าค้างไว้       

ในตอนนี้ จะขอกล่าวถึงความเห็นของดำริห์ต่อจากคราวที่แล้ว ดำริห์มีความเห็นต่อการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่า

“ในบรรดาผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ควรนับได้ว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคนสำคัญที่สุด เพราะเป็นคนที่ศึกษาและสนใจในวิชาการเมืองและเศรษฐกิจโดยเฉพาะ เป็นผู้ที่ได้ตั้งต้นชักชวนบรรดานักศึกษาที่ออกไปศึกษารยังยุโรป และกลับมาดำเนินการตระเตรียมในเมืองไทยโดยไม่หยุดยั้ง ทั้งเมื่อฝ่ายทหารได้ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ ก็มีร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ออกประกาศใช้ได้ทันที แม้ ‘ประกาศคณะราษฎร’ ในวันปฏิวัติ (24 มิถุนายน) ก็ปรากฏขึ้นโดยการจัดทำของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม การดำเนินกิจสำคัญๆ ต่อมา เช่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น หลวงประดิษฐ์ฯ จึงได้รับนับถือทั่วไปทั้งในหมู่ผู้ก่อการและมีชื่อเสียงเด่นอยู่ในความนิยมของประชาชนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยตามข้ออ้างที่เปิดเผยของคณะราษฎร ทั้งนโยบายเศรษฐกิจก็ว่าจะเป็นไปในทางช่วยคนยากจนให้ได้รับความสุข ให้คนมีงานทำตามประกาศของคณะราษฎร และระแคะระคายออกมาให้รู้กันแพร่หลายว่า หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นต้นคิดวางนโยบายหรือโครงการเศรษฐกิจดั่งกล่าวนั้น ส่วนคอมมิวนิสต์จะเป็นภัยต่อบ้านเมืองอย่างไรหามีผู้ใดล่วงรู้ไม่ ตรงข้าม บางคนกลับเข้าใจไปว่า คอมมิวนิสต์เป็นศาสนาพระศรีอารย์หรืออะไรทำนองนั้น ที่จะบันดาลความเท่าเทียมากันในหมู่มนุษย์ให้มีความสุขความสะดวกเหมือนๆ กัน

ฉะนั้น การปิดสภา การงดให้รัฐธรรมนูญ (บางมาตรา) และการ ‘เนรเทศ’ หลวงประดิษฐ์ฯ จึงเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจประชาชนให้รู้สึกว่าเป็นการผิดหวังอย่างใหญ่หลวง คำอ้างของรัฐบาลพระยามโนฯ ที่ว่าการปฏิบัติของสภาเป็น ‘ภาวะอันแสนสุดจะทนทานได้’ หรือที่ว่า หลวงประดิษฐ์ฯ มีความโอนเอียงเป็นคอมมิวนิสต์ และการปฏิบัติของรัฐบาลที่ต้องปิดสภา งดให้รัฐธรรมนูญ ตลอดถึงการเนรเทศหลวงประดิษฐ์ฯ และเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าเป็นการกระทำเพื่อความปลอดภัยของชาติ โดยที่ ‘ความปลอดภัยของชาติเป็นกฎหมายสูงสุด’  นั้น ไม่เป็นที่เชื่อถือของประชาชนอย่างใดเลย ประชาชนกลับเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลพระยามโนฯ ครั้งนั้นเป็นก้าวแรกของการจะกลับคืนสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นเหตุไม่พอใจโดยทั่วไป เป็นที่เสื่อมเสียต่อองค์พระมหากษัตริย์ เป็นที่สะดุ้งสะเทือนต่อผู้แสดงการสนับสนุนคณะราษฎร และสะดุ้งต่อคณะราษฎรเอง โดยแม้ว่าในคณะรัฐบาลพระยามโนฯ ยังมีผู้ก่อการชั้นผู้ใหญ่ เช่น พระยาพหลฯ   พระยาทรงสุรเดชร่วมอยู่ด้วยก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลพระยามโนฯ จะนำเอารายละเอียดข้อเท็จจริงออกแสดง หรือจะแถลงเหตุผลโดยละเอียดก็นับเป็นการผิดมรรยาท จึงกลายเป็นผู้ทำลายตนเองด้วยความจำเป็น ในทางตรงกันข้าม ถ้ารัฐบาลพระยามโนฯ ไม่เป็นห้ามล้อไว้ในครั้งนั้นด้วยการปิดสภาฯ แต่ไพล่จัดวางโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม  แล้วปฏิบัติต่อๆมา ประวัติศาสตร์ชาติไทยคงเปลี่ยนไปอย่างยากจะคาดถึงได้อยู่

เมื่อพฤติการณ์ของรัฐบาลพระยามโนฯ ชวนให้เห็นเป็นไปในทางละเมิดต่อระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ จึงมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นโดยทั่วไป สำแดงให้เห็นจากหนังสือพิมพ์ส่วนมาก แม้จะมีประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งการมิได้บ่งมาตราย่อมมีผลเสมือนได้งดใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประชาชนไม่มีเสรีภาพ ไม่มีสิทธิทางการเมือง เช่นเดียวกับในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตาม แต่เมื่อการงดใช้รัฐธรรมนูญไม่อยู่ในอำนาจที่รัฐบาลจะทำได้ และเป็นการฝืนจิตใจประชาชนพลเมืองอย่างร้ายแรง ก็ย่อมมีการต่อต้านคัดค้านเป็นธรรมดา ทั้งรัฐบาลพระยามโนฯ ก็ไม่มีการปฏิบัติอันใดเป็นที่น่าชื่นชมมากลบเกลื่อนความไม่พอใจนั้น เสถียรภาพของรัฐบาลพระยามโนฯ จึงทรุดลงโดยรวดเร็ว อนึ่ง ถ้าจะถือว่าการปิดประชุมสภาครั้งนั้นเป็นการยุบสภา ซึ่งอยู่ในวิสัยของรัฐบาลที่จะยุบสภาได้ แต่บังเอิญใช้คำว่า ‘ยุบ’ ผิดไปเป็นว่า ‘ปิด’ ก็ตาม รัฐบาลพระยามโนฯ ก็จะต้องประกาศเลือกตั้งผู้แทนราษฎรภายในกำหนด 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญ  แต่การณ์ก็มิได้เป็นเช่นนั้น รัฐบาลพระยามโนฯ อุบนิ่งเฉยอยู่เหมือนกับกระทำชอบแล้วทุกทาง หรือมีอำนาจกระทำได้ทุกทาง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด หรือมิฉะนั้นปฏิบัติการของรัฐบาลพระยามโนฯ เพื่อแก้ไขเหตุนี้ ก็นับเป็นการล่าช้าเกินไป

ฉะนั้น ภายหลังที่พระยาพหล ฯ พระยาทรง ฯ พระยาฤทธิ์ ฯ และพระประศาสน์ ฯ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้ลาออกจากราชการทหาร (ซึ่งแท้จริงก็เป็นการเปิดทางให้มีการปฏิบัติทางทหารต่อรัฐบาลพระยามโนฯ) ในราวกลางเดือนมิถุนายน 2476  ต่อมาในวันที่ 20 เดือนเดียวกัน หลวงพิบูลสงคราม นายทหารผู้ร่วมมือก่อการด้วยผู้หนึ่งเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ก็ได้นำทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนฯ พร้อมกันนั้นได้มีสมาชิกสภา (ประเภทที่ 2) เข้าชื่อกันกราบถวายบังคมทูลขอเปิดการประชุมตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลพระยามโนฯ จึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวาระนั้น โดยมีประการพระบรมราชโองการเปิดประชุมวิสามัญในวันที่ 21 มิถุนายน 2476”                                 

----

จากที่กล่าวไปข้างต้น ถึงแม้ว่าดำริห์จะไม่กล่าวว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 จะเป็นการทำรัฐประหาร (เงียบ) แต่ในความเห็นของเขา พฤติการณ์ของรัฐบาลพระยามโนฯ ชวนให้เห็นเป็นไปในทางละเมิดต่อระบอบประชาธิปไตย  การ ประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งการมิได้บ่งมาตราย่อมมีผลเสมือนได้งดใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประชาชนไม่มีเสรีภาพ ไม่มีสิทธิทางการเมือง เช่นเดียวกับในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น

พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม

นายทักษิณ​ ชิน​วัตร​ อดีต​นายก​รัฐมนตรี​ ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568​ ว่า​ การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น

เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น