ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว ซึ่งรายงานจากสถานทูตฝรั่งเศสเห็นว่าเป็นการทำรัฐประหาร ในขณะที่รายงานสถานทูตอังกฤษรายงานว่าเป็นการยุบสภาฯและเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ยกข้อความในรายงานสถานทูตที่เป็นภาษาอังกฤษต้นฉบับ ซึ่งจากรายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ทางสถานทูตอังกฤษเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาฉบับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉินของฝ่ายบริหาร โดยในรายงานสถานทูตใช้คำว่า emergency decrees ซึ่งข้อความในตัวพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเองก็มีคำว่า “ฉุกเฉิน” อยู่ด้วย (ดูภาพประกอบ) และจากรายงานสถานทูตอังกฤษ อัครราชทูตอังกฤษนายซีซิล ดอร์เมอร์ยังแสดงความเห็นด้วยต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร การปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์
การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ปิดประชุมสภา ปรับคณะรัฐมนตรี และชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราว และการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงไม่ใช่การทำรัฐประหารในสายตาของอัครราชทูตอังกฤษ เพราะเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน ผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษต่อพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณา เพราะอังกฤษ เป็นประเทศต้นแบบการปกครองแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเห็นของนักวิชาการต่างประเทศต่อกรณีการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ไปบ้างแล้ว เช่น ความเห็นของ เดวิด เค. วัยอาจ จากงาน Thailand A Short History, 1st edition 1982, 2nd edition, (Bangkok: Silkworm: 2003), กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียน (Kobkua Suwannathat-Pian) ในงานที่ชื่อว่า Thailand’s Durable Premier: Phibun through Three Decades 1932-1957, (Oxford: Oxford University Press: 1995), Judith A. Stowe ในงานที่ชื่อว่า Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue, (Honolulu: University of Hawaii Press: 1991) และ B.J. Terweil, Thailand’s Political History: From the 13th century to recent times, (Bangkok: River Books: 2005) ส่วนงานเขียนในภาษาไทยที่กล่าวถึงการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ผู้เขียนได้กล่าวถึงหนังสือ พระปกเกล้าฯ กับชาติไทย ของ เปรมจิตร วัชรางกูร (พ.ศ. 2489)
ต่อไปก็จะเป็นงานเขียนในภาษาไทยชิ้นต่อไป คือ ยี่สิบเจ็ดรัฐบาลใน 26 ปี ของ ดำริห์ ปัทมะศิริ (พ.ศ. 2505) ดำริห์กล่าวถึงการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 ไว้ว่า
“การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ (รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476/ผู้เขียน) เป็นไปอย่างปรกติเช่นที่แล้วมา สมาชิกซึ่งส่วนมากเป็นบุคคลในคณะราษฎรที่ร่วมมือกันทำการปฏิวัติยังคงเคร่งครัดในหน้าที่อยู่ แต่มีข้อสังเกตว่า ไม่มีการเร่งรัดให้จัดการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ทั้งๆ ที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งก็ได้เป็นที่รับรองแล้วในสภาให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม ในสมัยพระยามโนปกรณ์ฯ ชุดแรก ระหว่างนั้นได้มีสมาชิกตั้งกระทู้ถามถึงโครงการเศรษฐกิจอยู่เนืองๆ ในทำนองเร่งรัด กับได้มี พ.ร.บ. จัดการเก็บภาษีอีกบางอย่างและงดเว้นบางอย่าง และตัดรายจ่ายในราชการอันจะมีผลรวมให้บังเกิดดุลยภาพในงบประมาณ ซึ่งยังขาดแคลนรายได้ไม่ต่างจากรัฐบาลเก่า อนึ่ง เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ได้จัดตั้งสมาคมคณะราษฎรขึ้นเป็นทำนองสมาคมการเมือง หรือมีผลในการเมือง ปรากฏว่า มีข้าราชการไปลงชื่อเป็นสมาชิกมากรายด้วยกัน รัฐบาลชุดนั้นเห็นทางเสื่อมในวงราชการ จึงได้ออกคำสั่งห้ามมิให้ข้าราชการไปเป็นสมาชิกสมาคมคณะราษฎร ข้อนี้ย่อมเป็นที่ขัดใจคณะราษฎรส่วนหนึ่ง และได้มีการโต้เถียงกันในสภา
กล่าวโดยทั่วไป การปฏิวัติและการรัฐประหารนั้น ย่อมมีการชุมนุมปรึกษากันเป็นความลับ การชุมนุมไม่อาจกระทำได้อย่างพร้อมเพรียง และข้อที่ปรึกษาก็ย่อมไม่เป็นไปโดยละเอียดถี่ถ้วน เช่น การประชุมอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกระทำได้โดยเปิดเผย ความมุ่งหมายของผู้ร่วมปฏิวัติรัฐประหารมีที่ตรงกันข้อเดียว คือ การโค่นล้มอำนาจรัฐบาลเท่านั้น จึงปรากฏทุกหนทุกแห่งว่า เมื่อทำการปฏิวัติรัฐประหารแล้ว ผู้ร่วมคิดแต่แรกมักมีการแตกร้าวกัน บังเกิดเหตุน้อยใหญ่บ้างแล้วแต่กรณี ประการหนึ่ง ผู้ที่ร่วมคิดปฏิวัติต่างก็อาจมีความคิดซ่อนเร้นตามอุดมคติหรือความเพ้อฝันของตนบ้าง หรือความคิดเห็นแก่ตัวด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูงบ้าง ฉะนั้น เมื่อได้อำนาจ และดำเนินการบริหาร ข้อคิดอันซ่อนเร้นต่างๆ จึงเผยออก เป็นความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกันบ้าง เป็นความเห็นแก่ตัวอันน่ารังเกียจบ้าง แล้วและนำความเสื่อมมาสู่คณะปฏิวัติให้มีการเป็นไปด้วยประการต่างๆ คณะราษฎรก็เช่นเดียวกัน และก็เช่นเดียวกันกับคณะปฏิวัติอื่นๆ ทั่วโลก ที่การแตกแยกและความเสื่อมของคณะปฏิวัติได้นำความเสียหายเศร้าหมองมาสู่ชาติบ้านเมืองเสมอ
อาจกล่าวได้ว่า ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อันมีจำนวนประมาณ 100 คน ที่ร่วมลงมือปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น มีความคิดแตกกลุ่มออกเป็นสามฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการประชาธิปไตยบริสุทธิ์ ไม่ปรารถนาแม้กระทั่งบทเฉพาะกาล (ให้มีการเลือกตั้งทางอ้อม/ผู้เขียน) ปรารถนาเพียงความเจริญยั่งยืนของชาติบ้านเมืองในทางสงบและมีความเที่ยงธรรมในการปกครอง ความคิดปฏิวัติของคนหมู่นี้ต้องการเพียงเปลี่ยนอำนาจการปกครองมาเป็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยและมีพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะตามประเพณีดั้งเดิม มีความคิดในทางสงบและชอบด้วยคติชาตินิยมเป็นพื้น อีกฝ่ายหนึ่งต้องการปฏิวัติอย่างตัดต้นโค่นราก ปฏิวัติอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนระบบสังคมอันถือเป็นรากฐานการเมืองการเศรษฐกิจนั้น กล่าวว่าการปฏิวัติเช่นนี้เป็นการปฏิวัติที่สมบูรณ์ บุคคลในหมู่นี้บางคนมักจะกล่าวอยู่เนืองๆ ว่า เมื่อเราจะกินไข่เราจะต้องต่อยไข่ (ให้แตก) หมายถึงการปฏิวัติที่เข้มงวดรุนแรง เพื่อดำเนินไปสู่ผลการปฏิวัติตามความใฝ่ฝันของเขา
อีกกลุ่มหนึ่ง มุ่งหมายจะใช้เผด็จการฝ่ายทหาร เช่นที่ประเทศเตอรกีได้กระทำมาแล้ว ภายใต้การนำของเคมาล อะตาเตอร์ก (ซึ่งเป็นอัจฉริยบุรุษ)
ความคิดและการกระทำของฝ่ายต่างๆ เหล่านี้ ได้ปรากฏให้เห็นเป็นลำดับ และมีเหตุการณ์ต่างๆ สืบต่อมา
ฉะนั้น รัฐบาลพระยามโนฯ (ชุดที่ 2) จึงพบความยุ่งยากในอาการแสดงความรุนแรงต่างๆ ของสมาชิกสภาฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะที่เร่งรัดให้รัฐบาลจัดการโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งระหว่างนั้น หลวงประดิษฐ์ฯ ได้จัดร่าง และอยู่ในระหว่างประชุมของกรรมการ บรรดารัฐมนตรีส่วนมากเห็นว่า การจัดวางโครงการเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ สมควรจะได้ปรึกษาพร้อมเพรียงกันกับผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ซึ่งราษฎรออกเสียงเลือกตั้งเข้ามา ไม่ควรจะด่วนตกลงกันเองในหมู่ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งแต่งตั้งกันขึ้นเพียงในหมู่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นส่วนมาก (แต่คนเหล่านั้นที่เร่งรัดให้จัดวางโครงการเศรษฐกิจก็มิได้เร่งรัดให้จัดการเลือกตั้งผู้แทนประเภทที่ 1) อนึ่ง โดยที่โครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่ร่างขึ้นไว้นั้นโน้มเอียงไปทางระบบคอมมิวนิสต์อันขัดต่อระบอบประชาธิปไตย และประเพณีบ้านเมืองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือหากจะเป็นการสมควร ส่วนใดที่ไม่ขัดต่อภาวะดั่งกล่าวแล้ว ก็ชอบที่จะส่งคนไปดูผลงานในรัสเซียก่อนที่จะกำหนดจัดทำขึ้นเอง ความขัดกันดังกล่าวนี้ได้ทำให้บังเกิดความไม่พอใจต่อกันถึงขีดสุ ปรากฏว่าในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2475 ได้เกิดต่อว่าต่อขานกันขึ้น ในกรณีที่ทหารทำการตรวจค้นสมาชิกสภา (ขณะนั้นยังไม่มีตำรวจสภา ได้ใช้ทหารรักษาการณ์มาตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนการปกครอง) สมาชิกบางนายได้พูดก้าวร้าวถึงกับว่าจะยิงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางนาย ซึ่งรัฐบาลพระยามโนฯ เห็นว่าเป็น ‘ภาวะอันแสนสุดจะทนทานได้’ ฉะนั้น ในวันรุ่งขึ้น (1 เมษายน 2476) จึงมีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และต่อจากนั้น ภายในสัปดาห์เดียวกัน ก็ได้ให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกไปพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส”
ในตอนต่อไป จะได้กล่าวถึงความเห็นของดำริห์ ต่อการประการพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายนพ.ศ.2476
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ดร.เสรี ฟาดพรรคขี้โม้-พรรควาทกรรม
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “พรรคหนึ่งมีแต่วาทกรรม ไม่เคยทำงาน
พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น
เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น