ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 45: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

 

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว ซึ่งรายงานจากสถานทูตฝรั่งเศสเห็นว่าเป็นการทำรัฐประหาร ในขณะที่รายงานสถานทูตอังกฤษรายงานว่าเป็นการยุบสภาฯและเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ยกข้อความในรายงานสถานทูตที่เป็นภาษาอังกฤษต้นฉบับ ซึ่งจากรายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ทางสถานทูตอังกฤษเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาฉบับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉินของฝ่ายบริหาร โดยในรายงานสถานทูตใช้คำว่า  emergency decrees   ซึ่งข้อความในตัวพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเองก็มีคำว่า “ฉุกเฉิน” อยู่ด้วย (ดูภาพประกอบ)  และจากรายงานสถานทูตอังกฤษ อัครราชทูตอังกฤษนายซีซิล ดอร์เมอร์ยังแสดงความเห็นด้วยต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร การปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์

การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ปิดประชุมสภา ปรับคณะรัฐมนตรี และชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราว และการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงไม่ใช่การทำรัฐประหารในสายตาของอัครราชทูตอังกฤษ เพราะเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน ผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษต่อพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณา เพราะอังกฤษ เป็นประเทศต้นแบบการปกครองแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเห็นของนักวิชาการต่างประเทศต่อกรณีการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ไปบ้างแล้ว เช่น ความเห็นของ เดวิด เค. วัยอาจ จากงาน Thailand A Short History, 1st edition 1982,  2nd edition, (Bangkok: Silkworm: 2003), กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียน (Kobkua Suwannathat-Pian) ในงานที่ชื่อว่า Thailand’s Durable Premier: Phibun through Three Decades 1932-1957, (Oxford: Oxford University Press: 1995) โดยทั้ง วัยอาจ และ กอบเกื้อ ไม่ได้เห็นว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นการทำรัฐประหาร      ส่วน Judith A. Stowe ในงานที่ชื่อว่า  Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue, (Honolulu: University of Hawaii Press: 1991) ก็ไม่ได้กล่าวว่าเป็นการทำรัฐประหาร แต่ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าต่อการปิดประชุมสภา (เธอใช้ว่า prorogation) ว่า  “หนึ่งปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการทำในสิ่งที่อาจเป็นตัวอย่างสำหรับอนาคต ( precedent) นั่นคือ การงดการมีสภาชั่วคราว บนเหตุผลที่กล่าวอย่างสุภาพว่า เป็นเหตุผลที่คลุมเครือ

ต่อไปเป็นงานของ B.J. Terweil, Thailand’s Political History: From the 13th century to recent times, (Bangkok: River Books: 2005) แทร์วิลได้อธิบายความก่อนจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่  1 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่า

“ในตอนต้นปี พ.ศ. 2476 เริ่มเกิดความแตกแยกรุนแรงขึ้นในหมู่สมาชิกสภา (Assembly)  ระหว่างพวกหัวรุนแรงที่มีความคิดที่เป็นอุดมคติอย่างรุนแรง (more radical idealists) และสมาชิกที่เป็นอนุรักษ์นิยม เป็นความขัดแย้งต่อร่างนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติของปรีดีที่จะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างกว้างขวางมาก  ปรีดีอธิบายว่า รัฐบาลจะจ่ายค่าจ้างรายเดือนให้พลเมืองทุกคน ชาวนาจะไม่ได้ทำนาของตัวเองอีกต่อไป แต่จะทำนาในฐานะสมาชิกของชุมชนสหกรณ์ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล และรัฐบาลจะควบคุมที่ทำนาทั้งหมด รวมทั้งเครื่องจักรและการงานต่างๆ โดยมุ่งสู่การขจัดการประกอบกิจการส่วนตัว  ปรีดีเรียกเค้าโครงเศรษฐกิจของเขาว่าเป็น ‘แบบแผนสังคมนิยมที่ผสมเสรีนิยม (the socialist pattern with an admixture of liberalism)  เค้าโครงเศรษฐกิจนี้ได้ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมาธิการโดยมีเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ พระยามโน พระยาทรงสุรเดช    เมื่อเค้าโครงเศรษฐกิจที่เป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การถกเถียงต่อในสภาอย่างรุนแรง  ทำให้เห็นชัดถึงความแตกต่างในฐานคิดของแต่ละฝ่าย

ในตอนปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476  พระยามโนปรณ์นิติธาดาได้ปิดการประชุมสภา (แทร์วิลใช้คำว่า prologued)  และจากนั้นไม่นาน สภาก็ถูกยุบ (dissolved) )  และมีการตั้งคณะบริหารราชการแผ่นดินชุดใหม่  โดยไม่มีปรีดี และเขาถูกส่งให้ไปลี้ภัยที่ยุโรป  ในเวลาเดียวกัน มีการออกกฎหมาย “ต่อต้านคอมมิวนิสต์” ทำให้การสนับสนุนลัทธิใดๆที่ยึดทรัพย์สินกิจการมาเป็นของรัฐ หรือ ละเมิดสิทธิทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย  และในการตอบโต้คำวิจารณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน จึงมีการตั้งสภาเศรษฐกิจขึ้น รวมทั้งที่ปรึกษาต่างประเทศ”

ต่อการประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภา แทร์วิลTerwiel ได้กล่าวถึง สาเหตุที่มีการปิดสภาและเพราะสภาไม่มีระเบียบและไม่สามารถควบคุมได้  (unruly Assembly) 

-----------------

ต่อไปจะขอกล่าวถึงงานเขียนในภาษาไทยที่กล่าวถึงการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  เริ่มจากหนังสือ  พระปกเกล้าฯ กับชาติไทย ของ เปรมจิตร วัชรางกูร (พ.ศ. 2489) เปรมจิตร ได้กล่าวว่า

“เมื่อได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแก่ปวงชนชาวไทยแล้วไม่กี่วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ สวนไกลกังวลอีกวาระหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลานานถึง 10 เดือนเศษ             

การไม่เปิดให้ตั้งสมาคมการเมืองคณะชาติขึ้นเป็นกรณีที่กระทำให้นักการเมืองบรรดาที่ฝักใฝ่การเมืองอยู่ทั้งหลายรู้สึกคุอยู่ในใจ แต่เป็นกระแสร์พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทุกคนต้องเชื่อฟังและหยุดยั้งไว้ด้วยความจงรักภักดี   

การที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) สมัยนั้น ก็ด้วยคณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติได้ถวายคำแนะนำให้ทรงตั้ง ซึ่งควรจะขอบคุณคณะราษฎรเป็นอันมาก ที่ไม่มีใครยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันมีเกียรตินี้

หากพระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว การยึดอำนาจครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ก็อาจจะไม่บังเกิดขึ้น (เน้นโดยผู้เขียน)                               

ดูเหมือนเป็นชะตากรรมของประเทศชาติเสียมากกว่าอื่น จึงทำให้การเมืองไทยยุ่งเหยิงอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้จักจบสิ้น พระยามโนปกรณ์ฯ ออกคำแถลงการณ์อ้างเหตุว่า คณะรัฐมนตรีสมัยนั้น (ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476/ผู้เขียน) แตกแยกออกเป็น 2 พวก มีความเห็นไม่ตรงกัน ฝ่ายข้างน้อยนั้นปรารถนาจะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมูนิสต์ ฝ่ายข้างมากว่า นโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทย เป็นที่เห็นได้โดยแน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งหายนะแก่ประชาราษฎร์ และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ

พระยามโนปกรณ์ฯ ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรเสียเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 และประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเสียชั่วคราว จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ซึ่งเป็นเวลานานถึง 81 วัน (เน้นโดยผู้เขียน) พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา  พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม  น.ต. หลวงศุภชลาสัย และหลวงนฤเบศร์มานิตพร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารบกทหารเรือ และพลเรือนได้ยึดอำนาจการปกครองอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 2”

จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้ว่าเปรมจิตรจะไม่ได้กล่าวว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นการทำรัฐประหาร แต่เขาเห็นว่า พระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีไม่ได้บริหารราชการแผ่นดินไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเปรมจิตรน่าจะหมายถึง การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯ ปิดประชุมสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนฯ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นสาเหตุให้เกิดการยึดอำนาจการปกครองเป็นครั้งที่สอง หลังจากยึดอำนาจครั้งแรกในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น

พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม

นายทักษิณ​ ชิน​วัตร​ อดีต​นายก​รัฐมนตรี​ ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568​ ว่า​ การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น

เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น