ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว ซึ่งรายงานจากสถานทูตฝรั่งเศสเห็นว่าเป็นการทำรัฐประหาร ในขณะที่รายงานสถานทูตอังกฤษรายงานว่าเป็นการยุบสภาฯและเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ยกข้อความในรายงานสถานทูตที่เป็นภาษาอังกฤษต้นฉบับ ซึ่งจากรายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ทางสถานทูตอังกฤษเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาฉบับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉินของฝ่ายบริหาร โดยในรายงานสถานทูตใช้คำว่า emergency decrees ซึ่งข้อความในตัวพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเองก็มีคำว่า “ฉุกเฉิน” อยู่ด้วย (ดูภาพประกอบ) และจากรายงานสถานทูตอังกฤษ อัครราชทูตอังกฤษนายซีซิล ดอร์เมอร์ยังแสดงความเห็นด้วยต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร การปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์
การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ปิดประชุมสภา ปรับคณะรัฐมนตรี และชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราว และการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงไม่ใช่การทำรัฐประหารในสายตาของอัครราชทูตอังกฤษ เพราะเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน ผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษต่อพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณา เพราะอังกฤษ เป็นประเทศต้นแบบการปกครองแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
นักวิชาการต่างประเทศและของไทยมีความเห็นต่อกรณีการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ดังนี้
เริ่มจาก เดวิด เค. วัยอาจ จากงาน Thailand A Short History, 1st edition 1982, 2nd edition, (Bangkok: Silkworm: 2003)
วัยอาจได้อธิบายว่า “หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ความขัดแย้งและการแข่งขันที่ซ่อนอยู่ภายในกลุ่มผู้ปกครองที่ผสมหลายฝ่ายก็ได้ปะทุออกมา วัยอาจเปรียบกลุ่มต่างๆเสมือนกับจ๊อกกี้ที่ขี่มาแข่งเพื่อชิงอำนาจในระบอบการปกครองใหม่ และวัยอาจได้แบ่งกลุ่มอนุรักษ์นิยมเก่าออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรก คือ กลุ่มพลเรือนอาวุโสที่นำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
และกลุ่มที่สอง คือ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ปรากฎตัวเด่นชัดและไม่มีผู้นำกลุ่ม
ส่วนกลุ่มต่อมา ซึ่งวัยอาจเรียกว่ากลุ่มผู้ก่อการ (the Promoters) [1] แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม
กลุ่มแรกคือฝักฝ่ายนายทหารอาวุโสภายใต้พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งพลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังคือ พระยาทรงสุรเดช
กลุ่มที่สองคือ กลุ่มนายทหารบกและทหารเรือรุ่นหนุ่มที่นำโดยหลวงพิบูลสงคราม
และกลุ่มที่สามคือ พลเรือนที่นำโดยปรีดี พนมยงค์
และจากการวางแผนต่อสู้ที่สลับซับซ้อนอย่างต่อเนื่องโดยมีการเชื่อมโยงของฝักฝ่ายต่างๆ ได้เกิดวิกฤตสำคัญขึ้นสามครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่ทำให้ผลของการต่อสู้แข่งขันตกอยู่กับฝ่ายทหารรุ่นหนุ่ม
วิกฤตครั้งแรก เกิดขึ้นต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ผู้นำรัฐบาลได้สนับสนุนให้ปรีดีร่างแผนเศรษฐกิจชาติฉบับใหม่ โดยปรีดีได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจขึ้นโดยอิงกับคำบรรยายที่เขาได้ร่ำเรียนมาที่ปารีส ซึ่งในความเห็นของวัยอาจ เห็นว่าเป็นเค้าโครงเศรษฐกิจที่คลุมเครือไม่ชัดเจนและเป็นอุดมคติ โดยวัยอาจใช้คำว่า utopia ซึ่งมีความหมายหมายถึงสังคมในฝันหรือในอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง และเป็นแบบแผนอย่างสังคมนิยม (socialistic scheme) โดยปรีดีต้องการให้รัฐบาลนำที่ดินและแรงงานมาเป็นของรัฐ และทำให้ราษฎรทุกคนรวมทั้งชาวไร่ชาวนาในประเทศเข้าสู่ระบบราชการเป็นข้าราชการ และมีโครงการที่จะทำนาในระบบอุตสาหกรรม
กลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะส่วนใหญ่ของนายทหาร รีบโจมตีเค้าโครงเศรษฐกิจนั้นโดยทันทีว่าเป็นแผนเศรษฐกิจที่เป็นคอมมิวนิสต์ และถึงขนาดดึงความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯในการโจมตีเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี
เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (National Assembly ที่วัยอาจใช้คำนี้ ก็เพราะยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งให้เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ที่ฝักฝ่ายพลเรือนของปรีดีที่เป็นพลเรือนรุ่นหนุ่มและหัวรุนแรงมีเสียงครอบงำในสภาไม่อยู่ในความสงบ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการประชุมได้ จึงได้มีการปิดสภา (it was prologued) และมีการตราพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ (เน้นโดยผู้เขียน)
ภายใต้สถานการณ์ที่ร้อนแรงมากขึ้น ปรีดีได้ถูกขอร้องให้เดินทางออกไปลี้ภัยสักระยะเวลาหนึ่งและเขาได้เดินทางไปฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกาศไม่รับรองกลุ่มการเมืองต่างๆ เพื่อขัดขวางความพยายามที่จะสร้างพรรคการเมืองต่างๆโดยมีฐานมวลชนที่อาจจะท้าทายรัฐบาล”
จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า วัยอาจไม่ได้มองว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นการทำรัฐประหาร โดยเขาให้เหตุผลว่า “ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ฝักฝ่ายพลเรือนของปรีดีที่เป็นพลเรือนรุ่นหนุ่มและหัวรุนแรงมีเสียงครอบงำในสภาไม่อยู่ในความสงบ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการประชุมได้ จึงได้มีการปิดสภา (it was prologued) และมีการตราพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์”
แต่การที่วัยอาจใช้คำว่า prorogued ซึ่งหมายความถึง การปิดประชุมสภา จะแตกต่างจากรายงานของสถานทูตอังกฤษที่ใช้คำว่า dissolving ซึ่งหมายถึงการยุบสภา ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายความแตกต่างระหว่าง prorogation และ dissolution ในภายหลัง
----------
ต่อมาคือความเห็นของ กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียน (Kobkua Suwannathat-Pian) ในงานที่ชื่อว่า Thailand’s Durable Premier: Phibun through Three Decades 1932-1957, (Oxford: Oxford University Press: 1995)
กอบเกื้ออธิบายว่า “หลังกลับจากฝรั่งเศส 5 ปี หลวงพิบูลฯใช้เวลาไปกับการทำงานด้านวิชาการ บรรยาย เป็นบรรณาธิการวารสารกองพันทหารปืนใหญ่ เขียนตำราว่าด้วยปืนใหญ่และการฝึกอบรม และแสดงเทคนิคสมัยใหม่ในการฝึกภาคสนามของหน่วยรบปืนใหญ่ จากการสิ่งต่างๆที่เขาทำ หลวงพิบูลฯดูจะมุ่งมั่นที่จะสถาปนาตัวเขาในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านปืนใหญ่ของกองทัพ มีครั้งหนึ่ง แม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯยังทรงเสด็จมารับฟังคำบรรยายของเขาในหัวข้อดังกล่าว ดังนั้น การปฏิวัติและการเมืองดูจะเป็นสิ่งที่สุดท้ายในใจของนายทหารหนุ่มผู้นี้ เป็นความจริงที่เขายังคงติดต่อกับมิตรสหายในช่วงที่เขาอยู่ที่ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ไม่กี่เดือนก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ภริยาและครอบครัวของเขาพบว่า หลวงพิบูลฯและหลวงอดุลย์ฯกำลังจะ ‘ทำอะไรบางอย่าง’ มันยากที่ภริยาของเขา ซึ่งเป็นคนสนิทที่เขาไว้วางใจ จะไม่สังเกตเห็นบทบาทของเขาในการตระเตรียมที่จะล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งในช่วงเวลาสุดท้าย ถ้าหากหลวงพิบูลฯจะเข้าไปมีบทบาทสำคัญตั้งแต่เขากลับจากฝรั่งเศส จากแหล่งข้อมูลอื่นได้ยืนยันบทบาทรองของหลวงพิบูลฯในการระดมคนและในการปฏิบัติการอย่างแข็งขันในการทำการปฏิวัติ ตัวอย่างเช่น ควงก็ยืนยันเรื่องนี้ เมื่อเขากล่าวว่า หลวงพิบูลฯได้เข้าร่วมประชุมเพียงสองครั้งก่อนจะถึงวันก่อการ และในวันก่อการ แผนการปฏิวัติก็จะต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม
ในช่วงปฏิวัติ หลวงพิบูลฯไม่ได้มีกองกำลังภายใต้การบังคับบัญชาของเขา เป็นนายทหารที่ขึ้นอยู่กับแผนกที่ปรึกษาของกระทรวงกลาโหม ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน เขาและนายทหารอีกสองนาย ได้รับมอบหมายในนำตัวกรมพระนครสวรรค์ ผู้เข้มแข็งของระบอบเก่า เพื่อมาคุมตัวไว้เพื่อความปลอดภัย หลวงพิบูลฯเองก็ไม่ได้อ้างว่าตัวเขามีบทบาทสำคัญอะไร ในการปฏิบัติการตามแผนยึดอำนาจ เพราะเขาเองรู้ตัวว่าเขายังเป็นมือใหม่ในเกมการเมือง ในจดหมายที่เขาเขียนไปถึง ปรีดี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เขาสารภาพว่า ‘ผมยังอ่อนหัดทางการเมือง.....ผมไม่รู้อะไรในช่วงปฏิวัติ ๒๔๗๕ เพราะผมยังไม่รู้เรื่องการเมือง’
การทุ่มเทอย่างแท้จริงต่อสาเหตุการปฏิวัติของเขา อธิบายถึงกิจกรรมทางการเมืองบางอย่างของเขาไม่กี่เดือนก่อนปฏิวัติ ทั้งควงและประยูรเห็นตรงกันว่า หลวงพิบูลฯพยายามหานายทหารรุ่นหนุ่มๆในกองทัพมาสนับสนุนคณะราษฎรอย่างสม่ำเสมอ ควรจะตระหนักด้วยว่า เส้นทางอนาคตทางการทหารของเขาดูสดใสมาก มันไม่มีเหตุผลที่จะสงสัยว่า เขาจะไม่ได้เติบโตดี ถ้าเขาเลือกที่จะอยู่กับระบอบเก่า
หลังจากล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลวงพิบูลฯได้เริ่มเห็นความจริงในพัฒนาการทางการเมืองของประเทศ โดยเฉพาะในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ในช่วงนั้น ปีกเสรีนิยม (liberal wing / ในขณะที่ Wyatt ใช้คำว่า radical ) ของคณะราษฎร ซึ่งสนับสนุนเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยปรีดีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (กอบเกื้อ ไม่พูดถึงความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี) ถูกเลี่ยงรัฐบาลพระยามโนฯจากการสนับสนุนของผู้นำอาวุโสของคณะราษฎรเอง --- พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิ์อาคเนย์ และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ทั้งสามไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจ นำไปสู่การแตกกันระหว่างสมาชิกรุ่นหนุ่มของคณะราษฎร กับรัฐบาลที่พวกเขาเคยสนับสนุนมาก่อน รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะ ‘ใช้กำลังทั้งหมดเข้าปราบปรามการก่อความไม่สงบ ถ้าจำเป็นด้วยความช่วยเหลือจากทหารในต่างจังหวัด’ เห็นได้ชัด หลังจากที่รัฐบาลประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ผู้เข้มแข็งของคณะราษฎร พระยาทรงสุรเดช สนับสนุนแผนการระงับพวก ‘หัวรุนแรง” (radicals) และ “ทฤษฎีกึ่งคอมมิวนิสต์’ (half-communistic theories) ของพวกเขา
ในการป้องกันไม่ให้ สภานิติบัญญัติรับรองเค้าโครงเศรษฐกิจ ซึ่งเสียงข้างมากในสภาฯเป็นผู้สนับสนุนคณะราษฎร พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี (กอบเกื้อใส่ตำแหน่งด้วย) ได้ยุบสภาฯ (กอบเกื้อใช้คำว่า dissolved) โดยพระราชกฤษฎีกาวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ และระงับการใช้บางมาตราของรัฐธรรมนูญและปรับคณะรัฐมนตรี
กอบเกื้อกล่าวในอ้างอิงที่ ๒๖ ความว่า ตรงกันข้ามกับความเชื่อทั่วไป พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯไม่ทรงเห็นด้วยกับวิธีการของพระยามโนฯ ในการเผชิญหน้ากับ ‘พวกหัวรุนแรง” ของคณะราษฎร จริงๆแล้ว พระองค์ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาฯ แต่ที่ปรึกษาคือ นายสตีเวนส์ (Raymond Bartlett Stevens) นักกฎหมายและนักการเมืองชาวสหรัฐ ที่ปรึกษาราชการต่างประเทศในสยามช่วงรัชกาลที่ 7) ได้ “ขอให้พระยามโนฯยุบสภา (dissolve)” พระองค์เห็นว่า การตัดสินใจที่จะกำจัดพวกหัวรุนแรงทีเดียวให้หมดไป เป็นการทำความผิดพลาดมากขึ้น พลาดที่จะหามาตรการที่จำเป็นที่จะปกป้องสถานะของเขาเองหลังการยุบสภา (dissolve) FO 422/90, Note on Mr. Baxter’s Audience with HM the King of Siam, 26 December 1933) รัฐบาลพระยามโนฯได้ออกพระราชบัญญัติใหม่ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ ประกาศให้กิจกรรมคอมมิวนิสต์และผู้สนับสนุนผิดกฎหมาย ปรีดีถูกบังคับให้ออกนอกประเทศ บรรดาพวกหัวรุนแรงและหัวเสรีนิยมถูกทิ้งให้ไม่มีผู้นำ”
จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า กอบเกื้อก็ไม่ได้เห็นว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นการทำรัฐประหาร
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
[1] กลุ่มผู้ก่อการ (Promoters) นี้ วัยอาจหมายถึง กลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ประกอบไปด้วยนายทหารบกและทหารเรือ 49 นาย พลเรือน 65 คนที่นำโดยปรีดี พนมยงค์และหลวงพิบูลสงคราม ดู David K. Wyatt, Thailand A Short History, 2nd edition, (Bangkok: Silkworm: 2003), p. 230.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ดร.เสรี ฟาดพรรคขี้โม้-พรรควาทกรรม
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “พรรคหนึ่งมีแต่วาทกรรม ไม่เคยทำงาน
พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น
เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น