รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล
และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน) )
กล่าวได้ว่า กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม
ในวิกีพีเดียกล่าวถึง “กบฏพระยาทรงสุรเดช” ไว้ว่า “เมื่อพันเอกหลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พันเอกพระยาทรงสุรเดชขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนรบ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำนักศึกษาไปฝึกภาคสนามที่จังหวัดราชบุรี ได้ถูกคำสั่งให้พ้นจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งก็คือเขมรโดยทันที พร้อมด้วยร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ท.ส. ประจำตัว ได้มีการกวาดล้างโดย หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จับตายนายทหารคนสนิทของพระยาทรงสุรเดช 3 คน จับกุมผู้ที่ต้องสงสัย จำนวน 51 คน เมื่อเวลาเช้ามืดของวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481” และในการจับกุมผู้ต้องสงสัย 51 คนนั้น กรมขุนชัยนาทนเรนทรก็เป็นหนึ่งในนั้น
‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”
ความเป็นมาของการตกเป็นเหยื่อการเมือง
ในหนังสือ Siam becomes Thailand ของจูดิธ สโตว์ (Judith A. Stowe) กล่าวว่า ก่อนหน้าการกวาดล้างในปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2481 ช่วงกลางเดือนมกราคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จพระราชดำเนินกลับสวิสเซอร์แลนด์ หลังจากที่การเสด็จนิวัติประเทศไทยของพระองค์ได้รับการต้อนรับยินดีจากประชาชนชาวไทยอย่างยิ่งตลอดระยะเวลาที่ทรงพำนักอยู่ในประเทศไทย ถือเป็นการเสด็จนิวัติที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง (a very successful visit)
-------------
การเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เป็นการเสด็จนิวัตครั้งแรกภายหลังทรงราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2476 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ขณะที่ทรงเสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งแรก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระชนมายุได้ 14 พรรษา
----------------
ในหนังสือ the Revolutionary King ของวิลเลียม สตีเวนสัน (William Stevenson) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ว่า “…ก่อนที่พระราชชนนีศรีสังวาลย์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชาจะเสด็จพระราชดำเนินถึงพระนคร หลวงพิบูลสงครามได้ประกาศว่า มีการพยายามลอบสังหารตน โดยคนขับรถของเขาเอง ในขณะที่หลวงพิบูลฯกำลังสวมกางเกง แต่ด้วยทักษะและความมั่นใจในตัวเอง ทำให้เขาไม่เป็นอะไรมากนัก ต่อมาเขาได้กล่าวหาว่า คนครัวของเขาได้วางยาพิษในอาหารเย็นด้วย”
สตีเวนสันกล่าวต่อข่าวการลอบสังหารที่หลวงพิบูลฯเปิดเผยต่อสาธารณะชนว่า หลวงพิบูลฯสามารถเผยแพร่เรื่องราวที่ไม่น่าเชื่อถือนี้ โดยการใช้อำนาจครอบงำหรือข่มขู่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่างๆ
ขณะเดียวกัน สตีเวนสันยังกล่าวว่า การที่หลวงพิบูลฯยอมให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จนิวัติประเทศไทย เป็นเพราะเขาเชื่อบรรดาที่ปรึกษาของเขาที่ให้คำแนะนำว่า การยอมให้พระมหากษัตริย์เสด็จนิวัติกลับจะช่วมเสริมสร้างบารมีให้ตัวหลวงพิบูลฯ แต่สิ่งที่บรรดาที่ปรึกษาไม่ได้เตือนหลวงพิบูลฯไว้ก็คือ กระแสประชาชนทั่วประเทศที่พากันตื่นเต้นเมื่อเรือพระที่นั่งใกล้จะถึง
สตีเวนสันกล่าวว่า มันเป็นเรื่องประหลาดที่ประชาชนดูเหมือนจะรู้ว่าพระมหากษัตริย์ของพวกเขาจะมาถึงเมื่อไรและเสด็จที่ไหน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระราชอนุชา เสด็จนิวัติประเทศไทย พ.ศ. 2481
สภาพการณ์ที่ประชาชนทั่วประเทศพากันตื่นเต้นยินดีที่จะได้ชื่นชมพระมหากษัตริย์ของพวกเขานี้ สตีเวนสันให้ความเห็นว่า เป็นสิ่งที่น่าริษยาและน่าตระหนกสำหรับหลวงพิบูลฯ เพราะการเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยของสมเด็จอยู่หัวอานันทมหิดลสามารถดึงความสนใจที่ประชาชนเคยมีต่อหลวงพิบูลฯในฐานะที่เป็นวีรบุรุษแห่งชาติได้
ท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจจะไม่ทราบว่า ในปลายปี พ.ศ. 2476 หลวงพิบูลฯได้กลายเป็นวีรบุรุษของชาติจากการปราบกบฏบวรเดช
--------------------
ในหนังสือ Thailand’s Durable Premier ของ กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร (Kobkua Suwannathat-Pian) ได้กล่าวถึงการก้าวขึ้นเป็นวีรบุรุษแห่งชาติของหลวงพิบูลฯไว้ว่า เมื่อเกิดกบฏบวรเดชในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้แต่งตั้งหลวงพิบูลฯให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม มีหน้าที่ปราบผู้ก่อการกบฏ และเมื่อถึงวันที่ 26 ตุลาคม รัฐบาลก็เป็นฝ่ายชนะ ความสำเร็จของทหารฝ่ายรัฐบาลได้ทำให้หลวงพิบูลฯกลายเป็นวีรบุรุษของคณะราษฎรเพียงชั่วข้ามคืน และรัฐบาลได้ตอบแทนหลวงพิบูลฯโดยการแต่งตั้งให้เขาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ในปีต่อมา หลวงพิบูลฯได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนั้น สถานะของหลวงพิบูลฯจึงถือเป็นรองต่อจากพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ขณะนั้น หลวงพิบูลฯมีอายุเพียง 36 ปี จึงถือเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดในประเทศ
---------------
เมื่อพิจารณาตามลำดับเวลา จะพบว่าในช่วงที่เรือพระที่นั่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลใกล้จะถึงพระนครในกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 หลวงพิบูลฯได้ปล่อยข่าวเรื่องที่ตนถูกลอบสังหารขึ้น แต่ก็ดูจะไม่ได้รับความสนใจตามที่คาดหวังไว้ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินถึงพระนคร ก็ทำให้หลวงพิบูลฯได้ประจักษ์ถึงกระแสความนิยมของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
อีกหนึ่งเดือนต่อมา วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 หลวงพิบูลสงครามได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และแน่นอนว่า ในช่วงเวลาที่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกของเขา ความสนใจของประชาชนยังพุ่งไปที่การเสด็จกลับมาเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
-----------
สโตว์ได้บรรยายว่า ในการส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระราชชนนี พระเชษฐภคินี และพระราชอนุชากลับสวิสเซอร์แลนด์ในกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2482 (ปฏิทินใหม่) มีบุคคลสำคัญต่างๆได้ร่วมกันส่งเสด็จ แต่กลับไม่ปรากฏบุคคลสำคัญสองคน นั่นคือ หลวงพิบูลฯ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย และหลวงสินธุ์สงครามชัย รัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ โดยหลวงพิบูลฯได้ทำเรื่องลาป่วยเป็นเวลาสองสัปดาห์ ส่วนหลวงสินธุ์สงครามชัยได้ร่วมเดินทางไปกับกองเรือในการซ้อมรบในอ่าวไทย
ต่อปฏิกิริยาของหลวงพิบูลฯที่มีต่อการเสด็จนิวัติประเทศไทยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สโตว์มีความเห็นไปทางเดียวกันกับสตีเวนสัน โดยเธอได้กล่าวว่า
“With doubts still being expressed as to whether the reported assassination attempts were genuine or not, many attributed Pibul’s absence from the ceremonies marking the King’s departure to feelings of jealousy that someone else could easily attract the loyalty and affection of the people.”
แปล: “หลายคนตั้งข้อสงสัยว่ารายงานความพยายามลอบสังหารนั้นจริงหรือไม่ และมองว่า สาเหตุที่หลวงพิบูลฯ ไม่อยู่ในพระราชพิธีส่งเสด็จ (กลับสวิสเซอร์แลนด์/ผู้เขียน) เป็นเพราะความอิจฉาริษยาที่มีผู้ที่สามารถดึงดูดความจงรักภักดีและชื่นชอบของประชาชนไปได้อย่างง่ายดาย” สโตว์กล่าวว่า “ไม่นานหลังจากที่กษัตริย์เสด็จจากไป ความรู้สึกดังกล่าว (ที่หลายคนเห็นว่า หลวงพิบูลฯไม่พอใจสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความริษยา/ผู้เขียน) นั้นได้รับการยืนยันมากขึ้น นั่นคือ การปฏิบัติการต่อเนื่องของหลวงพิบูลฯ ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า ใครคือผู้ที่กำลังจะเป็นผู้ปกครองของสยาม”
----------------
สำหรับผู้เขียนเห็นว่า การที่หลวงพิบูลฯไม่ร่วมในพระราชพิธีส่งเสด็จ นอกจากอาจจะจะเป็นเรื่องความอิจฉาริษยาแล้ว ก็อาจจะเป็นเรื่องของการไม่ยอมรับหรือต้องการท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงมีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา อีกทั้งพระราชชนนี เดิมพระองค์ก็เป็นสามัญชน
การไม่ยอมรับและการท้าทายนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก โดยเฉพาะจากสมาชิกคณะราษฎรที่มีจุดยืนเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนอย่างหลวงพิบูลฯ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป
ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ
“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ
'วรชัย' ชี้ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่ได้รับความเป็นธรรม บอกกลับไทยตามกระบวนการไม่มีสิทธิพิเศษ
นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาบอกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กกต. มั่นใจเลือกตั้ง นายกอบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ระหว่างไปตรวจเยี่ยมการรับมอบวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเ
เลขาฯกกต.ยันคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างปกครองฯ ที่ศาลรธน.ยกคำร้องไม่เกี่ยว กกต.
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ข้อกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ว่า ศาล
'นิพิฏฐ์' ติดใจปมรพ.ชั้น 14 พร้อมให้กำลัง 'ธีรยุทธ'
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส. จังหวัดพัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กว่า เห่าหอนไปวันๆ