ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 40: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี 

-----------------

ในหลายตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475  ซึ่งสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. ความขัดแย้งตึงเครียดอันเกิดจากความเห็นต่างต่อร่างนโยบายเศรษฐกิจในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2475 และวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้ลงคะแนนเห็นชอบนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี 11 คน เห็นชอบนโยบายของหลวงประดิษฐ์ฯ 3 คน นอกจากนั้นไม่ลงมติ 5 นาย

2. หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรติดกัน 2 วันคือ วันที่ 30 และ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475  ในการประชุมสภาฯทั้งสองครั้งปรากฎประเด็นสำคัญที่แสดงถึงความขัดแย้งระหว่างสมาชิกฯฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯและสมาชิกฯที่ไม่ใช่ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ อันได้แก่

2.1 ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลประกาศห้ามมิให้ข้าราชการพลเรือนและทหารเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง และรวมทั้ง ส.ส.ที่เป็นข้าราชการพลเรือนและทหารด้วย ส่วน ส.ส. ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการสามารถเป็นสมาชิกสมาคมการเมืองได้

2.2  ในการประชุมสภาฯวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2475 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ “ได้พากันพกปืนมาประชุมสภากันด้วย” เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับสิทธิพิเศษให้พกอาวุธปืนไว้ป้องกันตัวได้

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องการทำร้ายในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้  รายงานของอุปทูตอังกฤษ นายจอห์น (J.F Johns) ระบุว่า “…ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ได้รับบาดเจ็บจากาการดำเนินการจับกุมของฝ่ายก่อการ....” และหนึ่งในผู้ที่ถูกยิงบาดเจ็บคือ พระยาเสนาสงคราม  และต่อมาในช่วงต้นปี พ.ศ. 2475 (ปฏิทินเดิม/ผู้เขียน)  พระยาเสนาสงครามผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับคณะราษฎร ได้ถูกดักยิงอีกครั้งหนึ่ง  ดังนั้น หากสมาชิกสภาหลายนายที่เป็นคณะราษฎรกลัวจะถูกลอบทำร้าย ก็น่าจะมาจากสาเหตุที่ใครบางคนในฝ่ายคณะราษฎรได้ไปลอบทำร้ายพระยาเสนาสงครามก่อน

2.3  ในการประชุมสภาฯวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้มีการสั่งให้นำทหารหนึ่งกองร้อยมาตรวจค้นอาวุธปืนของสมาชิกสภาฯ และห้ามมิให้นำอาวุธปืนเข้าประชุมสภาฯ  ทำให้สมาชิกสภาฯจำนวนหนึ่งคัดค้านการตรวจค้นอาวุธและการประกาศห้าม ส.ส. พกอาวุธปืนเข้าประชุมสภาฯ ด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐสภามีอำนาจสูงสุด หากจะมีการตรวจค้นและห้ามพกอาวุธ จะต้องให้ที่ประชุมสภาฯออกกฎมาควบคุมเอง รวมทั้งมีสมาชิกสภาฯคนหนึ่งยืนยันว่า ทหารห้ามมิให้ออกนอกที่ประชุมแม้ว่าจะขอไปปัสสาวะก็ตาม

2.4 มีสภาชิกสภาฯจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็น “ดิกเตเตอร์ชีพ” (Dictatorship) (เผด็จการ/ผู้เขียน) และมีผู้เขียนหนังสือให้ความเห็นว่า การกระทำของพระยามโนฯ  เป็นมีวัตถุประสงค์ที่จะข่มขู่สภาและสมาชิกเท่านั้น

2.5  พระยามโนฯ นายกรัฐมนตรีให้เหตุผลในที่ประชุมสภาฯว่า “เราไม่ปรารถนาที่จะเดินแบบดิกเตเตอร์ชีพ (Dictatorship) แต่การที่ต้องร้องขอค้นอาวุธปืน ก็เพราะเกิดมีความปรากฏว่ามีสมาชิกนำเอาปืนเข้ามาด้วย เราปรารถนาจะให้ความปลอดภัยไม่ให้มีเรื่องมีราว และในเรื่องนี้แม้แต่ข้าพเจ้าเองก็ถูกค้นในเมื่อเวลาเข้ามา แต่การทำเช่นนี้ ข้าพเจ้าขอยอมรับผิดชอบ และถ้าหากว่าการที่ทำไปนี้ไม่เป็นที่พอใจของสภา ตามรัฐธรรมนูญ สภาก็จะใช้อำนาจที่จะไม่ไว้วางใจให้ทำการต่อไปก็ได้ แต่ที่ทำไป ก็โดยความตั้งใจดี ที่จะให้ความเรียบร้อยที่สุดที่จะทำได้”

2.6 ในที่สุด ที่ประชุมสภาฯตกลงเห็นพ้องที่จะให้ที่ประชุมสภาฯออกระเบียบเกี่ยวกับการพกอาวุธขึ้น

3.  สถานการณ์ทางการเมืองที่ปรากฏในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและที่ประชุมสภาฯ ณ เวลานั้นถือว่าตรึงเครียดอย่างรุนแรง โดยสาเหตุหลักคือ ความขัดแย้งเกี่ยวกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

4.  ในวันที่ 1 เมษายน 2476 ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ชุดเดิมก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนภายในวันเดียวกันนั้น)  (แต่ผู้เขียนไม่พบต้นฉบับรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ในแฟ้มรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีที่เก็บไว้ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)  แต่ในหนังสือของ “วิเทศกรณีย์ (สมบูรณ์ คนฉลาด)” ได้กล่าวถึงการประชุมวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่า

“ในการประชุมครั้งนี้ ปรากฏว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม มิได้เข้าร่วมทำการประชุมด้วย...ในการประชุมวันนั้น พระยามโนฯ ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ รวมทั้งตัวคุณหลวงประดิษฐ์ฯด้วยนั้น มีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ถ้านำเอาโครงการนี้มาใช้กับประเทศ จะยังความหายนะให้เกิดขึ้นแก่ประเทศไทยด้วยประการต่างๆ จะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ และว่าโครงการนี้ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เหมือนประเทศรัสเซีย เพราะความอุดมสมบูรณ์ในประเทศไทยยังไม่ถึงกับจะต้องใช้ระบบคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้น พระยามโนฯ ยังกล่าวอีกว่า สภาผู้แทนราษฎรมีความอลเวงวุ่นวาย อันไม่น่าไว้วางใจต่อสถานการณ์อันจะมีการยิงกันขึ้นในสภา เพราะปรากฎอย่างชัดแจ้งว่า พรรคพวกหลวงประดิษฐ์ฯ เช่น นายเจริญ สืบแสง เป็นต้น ได้พกอาวุธปืนเข้ามาประชุมสภา พฤติการณ์ของพรรคพวกหลวงประดิษฐ์ฯ เช่นนี้ พระยามโนฯ กล่าวกับที่ประชุมว่า เป็นที่น่าหวาดเสียวแก่สมาชิกอย่างยิ่ง (เน้นโดยผู้เขียน)  นอกจากนั้น ยังจะทำให้สภาอันเป็นสถาบันอันสูงสุดของชาติ เสื่อมความนิยมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ท้ายที่สุด พระยามโนฯ ขอความเห็นว่า จะเป็นการสมควรประการใดหรือไม่ ที่จำเป็นจะต้องปิดสภาเสียเป็นการชั่วคราว แล้วจะมีการเลือกตั้งกันใหม่ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ”

4.1  ในหนังสือของ “วิเทศกรณีย์ (สมบูรณ์ คนฉลาด)”  ได้กล่าวไว้ด้วยว่า หลังจากที่พระยามโนฯ ได้ขอความเห็นที่จะปิดประชุมสภาชั่วคราว เพื่อจะให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ (เนื่องจาก ส.ส. ชุดนี้ ยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองและให้ทำหน้าที่ต่อหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475/ผู้เขียน)  “บุคคลที่ได้ลุกขึ้นคัดค้านอย่างแข็งขันคือ นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม โดยการกล่าวคัดค้านว่า การปิดสภาเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะปิดได้ก็โดยที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้ากระทำเช่นนั้น ก็เป็นการกระทำอย่างเผด็จการนั่นเอง แต่เสียงคัดค้านเหล่านี้ต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยินกับเสียงข้างมาก แต่อย่างไรก็ตาม หลวงพิบูลสงครามมีความรู้สึกอยู่ในใจว่า พฤติกรรมของพระยามโนฯ นั้น เป็นการกระทำไปอย่างผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพยายามตั้งตัวจะเป็นผู้เผด็จการอย่างมุสโสลินี หรือฮิตเลอร์นั่นเอง”  5. ผู้เขียนมีข้อสงสัยต่อข้อความข้างต้นดังนี้คือ

5.1 หากหลวงพิบูลสงครามไม่เห็นด้วยกับการปิดประชุมสภาฯ ทำไมหลวงพิบูลฯจึงยอมลงนามร่วมในพระราชกฤษฎีการปิดประชุมสภาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 และย่อมเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่พระยามโนฯปรับ                                                 

6.  ต่อประเด็นที่หลวงพิบูลฯกล่าวว่า การปิดประชุมสภาฯไม่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นผู้เขียนไม่เข้าใจว่าผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ที่กล่าวถึงการปิดและการยุบสภาผู้แทนราษฎร ไว้ดังนี้                                     

“มาตรา 29 สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ ท่านว่ามีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่งในระหว่างเวลาเก้าสิบวัน จะโปรดเกล้าฯให้ปิดประชุมก็ได้

มาตรา 30 พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามสมัยประชุม และทรงเปิดปิดประชุม     

พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิรมาทรงทำหรือจะโปรดเกล้าฯให้รัชชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือนายกรัฐมนตรีกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้

ถ้าพิจารณาตามข้อความในพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 จะพบว่า เป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การยุบสภาฯ ดังนั้น การปิดประชุมสภาฯจึงเป็นไปตามมาตรา 29 ที่บัญญัติไว้ว่า

“สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ ท่านว่ามีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่งในระหว่างเวลาเก้าสิบวัน จะโปรดเกล้าฯให้ปิดประชุมก็ได้”

สภาผู้แทนราษฎรที่ปิดไปนี้ เปิดประชุมครั้งแรกวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475  เมื่อเปิดประชุมสภาฯครั้งแรกวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ตามมาตรา 29 กำหนดให้สภาสมัยหนึ่งๆมีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน  ดังนั้น การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 จึงเป็นไปตามมาตรา 29 เพราะสมัยประชุมสภาฯได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกินเก้าสิบวันแล้วด้วย   ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯจึงมิไม่ถือว่าเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ

7. จากข้างต้นไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร  แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สถานการณ์ทางการเมืองที่ปรากฏในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและที่ประชุมสภาฯ ณ เวลานั้นถือว่าตรึงเครียดอย่างรุนแรง โดยสาเหตุหลักคือ ความขัดแย้งเกี่ยวกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

อันเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 ปิดประชุมสภาฯ ปรับคณะรัฐมนตรีและรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา                   

8. สถานทูตต่างประเทศได้รายงานกรณีการประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  ดังนี้

8.1 ทางฝ่ายฝรั่งเศสเห็นว่า การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้นถือเป็น “การรัฐประหาร”

8.2 ส่วนทางฝ่ายอังกฤษเห็นว่า ไม่ใช่ และเห็นด้วยกับ “การยุบสภาฯ” ครั้งนั้น นั่นคือ ทางอังกฤษเห็นว่าเป็นการยุบสภาฯ         

9. ในหนังสือชื่อ “ดร. ปรีดี พนมยงค์” ของ ไสว สุทธิพิทักษ์ เห็นว่า การที่พระยามโนฯและพระยาทรงสุรเดชสั่งให้ทหารหนึ่งกองร้อยเข้าตรวจค้นอาวุธปืนและห้ามมิให้สมาชิกที่เข้าสู่ที่ประชุมออกจากสภา ถือเป็นการยึดอำนาจจากสภา 

10.  ต่อประเด็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นี้  ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ได้ศึกษาไว้ใน “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520) ได้กล่าวไว้ว่า

“การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี้เป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ในแง่ที่ว่าจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  จริงอยู่ แม้ในรัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทว่าถ้าคิดในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภา หากเกิดกรณีที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์ไว้ได้ รัฐบาลอาจยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามิได้เป็นการกระทำที่จะละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”                           --------------                        ตกลง เราจะเข้าใจเหตุการณ์การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อย่างไร ?   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 30)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

สส.ธนกร หวั่นเจ้าหนี้นอกระบบ ข่มขู่รีดเงินหมื่นจากกลุ่มเปราะบาง

นายธนกร วังบุญคงชนะ   สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลคิกออฟ โอนเงินหมื่น ให้กับกลุ่มผู้มีบัตรสวัส

อดีตสว.วันชัย ให้จับตาการตีโต้นักร้อง แบบขุดมาเจอขุดไป เบื้องหลัง-โคตรเหง้าโดนหมด!

นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ‘นิติสงคราม..ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ระบุว่านิติสงคราม..ที่คนบางคนบางกลุ่มบางพวกกำลังทำอยู่จะทำก็ทำกันไป ต่อแต่นี้นิติสงคราม สงครามน้ำลาย

สะพัด 'สันติ-วราเทพ' ทิ้งพลังประชารัฐ กลับเพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานงานว่า จากกรณีที่ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผา สส.พรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผยว่า ยังมี สส.-แกนนำในกลุ่มพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ