รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล
และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน) )
กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม
ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงเหยื่อใน “กบฏในจินตนาการ” ของพันเอก หลวงพิบูลสงครามในบทที่ 13 ที่มีชื่อว่า “ผู้รับกรรม” ที่ผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอดดังต่อไปนี้
“พ.อ. พระยาสิทธิเรืองเดชพล ผู้บังคับทหารราบแห่งกองทัพไทยเป็นเป้าหมายแรกที่จะถูกกำจัดให้ออกจากแนวทาง เพราะถือว่าพระสิทธิ์ฯ เป็นมิตรสนิทใต้บังคับบัญชา พ.อ. พระยาทรงสุรเดช และมีอำนาจในวงการทหารราบอย่างยิ่ง
จึงไม่มีปัญหาอันใดเมื่อถูกจับและพิพากษาคดีในศาลพิเศษ 2482 พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพลจะต้องได้รับโทษหนัก คือ ประหารชีวิตประการเดียว
ร.ท. บุญลือ โตกระแสร์
ข้าพเจ้ารู้จักสนิทสนมกับ ร.ท. บุญลือ โตกระแสร์ในขณะที่เขารับราชการในกองพันทหารราบที่ 7 บางซื่อ ส่วนข้าพเจ้าประจำการในกองพันทหารราบที่ 8 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกัน
ร.ท. บุญลือ โตกระแสร์ รูปร่างอ้วนล่ำสันเป็นมะขามข้อเดียว แข็งแรงทรหดอดทน เป็นนักฟุตบอลมีชื่อคนหนึ่ง พูดจาห้าวหาญ มีนิสัยรักความยุติธรรม ตรงไปตรงมาแบบขวานผ่าซาก มีความนิยมรักเคารพและเชื่อถือในตัว พ.อ. พระยาทรงสุรเดชมาก จึงสมัครเป็นนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบ เมื่อปี พ.ศ. 2479 โดยประสงค์จะได้รับความรู้ความสามารถในการนำทหารรบในสมรภูมิเท่านั้น มิได้มีเจตนาอื่นแอบแฝง
ร.ท. บุญลือ โตกระแสร์ ก็เหมือนนายทหารบกทั่วๆไป คือ มีความสนใจในทางการเมืองบ้างจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อสารมวลชนชนิดเดียวที่จะหาได้ในขณะนั้น แต่ไม่เคยสนใจในการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะอายุราชการยังน้อยปี และไม่มีหัวทางการเมือง มุ่งแต่จะใฝ่หาความรู้วิชาทหาร ประดับสติปัญญาตนให้ก้าวหน้าในราชการ โดยมิได้คิดคาดคะเนไว้ล่วงหน้าว่า การสมัครเป็นนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบนั้น เสมือนหนึ่งได้เดินทางไปสู่ความตายอย่างเงียบๆ
ขณะรับราชการในโรงเรียนรบ จังหวัดเชียงใหม่ ร.ท. บุญลือ โตกระแสร์และคุณละออผู้เป็นภรรยาได้มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับครอบครัว พ.อ. พระยาทรงสุรเดชเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยคุณละออมีความสัมพันธ์เคารพคุณหญิงทรงสุรเดชก่อนการแต่งงานร่วมชีวิตกับ ร.ท. บุญลือ
ด้วยเหตุนี้เองที่เป็นสาเหตุสำคัญในการต้องหาเป็นจำเลยในคดีกบฏของศาลพิเศษปี 2482 บุคคลใดก็ตามที่มีความใกล้ชิด คุ้นเคยกับครอบครัว พ.อ. พระยาทรงสุรเดชจะเคราะห์ร้ายทุกคน
ร.ท. บุญลือ โตกระส์เป็นนายทหารที่ขยันเอาใจใส่ต่อการศึกษา มีความสนใจสูงและแน่วแน่ ผลการศึกษาในเกณฑ์ดี ชอบการกีฬากลางแจ้ง โดยเฉฑาะฟุตบอลและเทนนิส จิตใจเมตตาอารีต่อเพื่อนมนุษย์ ปรารถนาช่วยเหลือผู้อื่นโดยเฉพาะในเรื่องใช้พละกำลังขนย้ายสิ่งของหรือแบกหาม โดยมิคำนึงถึงยศศักดิ์ ชอบการแต่งกายง่ายๆ เช่นใช้กางเกงขายาวทหาร ตัดขาออกให้เป็นกางเกงกีฬา และสวมใส่เล่นเทนนิสเป็นประจำ
ร.ท. นายแพทย์ผ่อง มีคุณเอี่ยม (ปัจจุบัน พล. ท.) ได้เคยกระเซ้าเย้าหยอกหาว่า ร.ท. บุญลือ ไปขโมยกางเกงทหารรับใช้มานุ่ง ทำให้บรรยากาศในสนามเทนนิสนั้น เต็มไปด้วยความครื้นเครง
แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาแล้วถึง 37 ปี ข้าพเจ้าก็ยังมองเห็นภาพ ร.ท. บุญลือ โตกระแสร์ ผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ห่างเหินจากการเมือง การปฏิวัติรัฐประหาร สนใจแต่การศึกษาวิชาทหารจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นเอกในแขนงนี้ ใบหน้าซื่อๆ มีความเคารพรักครูบาอาจารย์แฝงด้วยรอยยิ้มและความทระนง เป็นใบหน้าของผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่ใบหน้าของนักโทษการเมืองตามที่ถูกกล่าวหา
ในระหว่างที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำบางขวาง เขาได้รับเชื้อมาลาเรียอย่างแรง และถูกทอดทิ้งจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ ปราศจากนายแพทย์เยียวยา เชื้อมาลาเรียขึ้นสมองและสิ้นชีวิตอย่างน่าอนาถใจ
ร.อ. จรัส สุนทรภักดี
ร.อ. จรัส สุนทรภักดี รับราชการในกองพันทหารราบที่ 7 เป็นหนุ่มโสดนักดื่ม รื่นเริงและคะนองปากจนบางคราวมิตรสหายเบื่อหน่ายในวาจาแสบถึงใจของเขา โดยเฉพาะในเวลาเมามาย แต่อย่างไรก็ดี บุคคลผู้นี้ไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง ไม่เคยมั่วสุมกับเพื่อนฝูงอื่น ข้าพเจ้ารู้จัก ร.อ. จรัส สุนทรภักดี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 ซึ่งเป็นปีแรกในโรงเรียนนายร้อยทหารบก เนื่องด้วย ร.อ. จรัส เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเก่า เขาจึงได้รับมอบหน้าที่จากผู้บังคับบัญชาให้เป็นครูพี่เลี้ยงฝึกหัดนักเรียนนายร้อยใหม่
ร.อ. จรัส สุนทรภักดี และ ร.อ. สังเวียน โพธิอาศน์ เป็นมิตรสหายสนิทสนมกันมาก ถ้าเห็นหน้าจรัสก็ต้องพบตัว ร.อ. สังเวียนด้วยพร้อมกัน เพื่อนคู่นี้ไม่เคยแยกจากกันแม้แต่น้อย ไม่ว่าในการกระทำกิจใดๆ ฉะนั้น เมื่อโรงเรียนรบเปิดรับสมัครนายทหารคู่หูทั้งสองจึงพร้อมใจกันเป็นนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบ ณ จังหวัดเชียงใหม่
ร.อ. จรัส สุนทรภักดี มีรูปร่างสูงโปร่ง จึงได้ฉายาจากเพื่อนว่า ‘นกยาง’ ส่วน ร.อ.สังเวียน โพธิอาศน์ร่างเตี้ย ช่างพูดเหมือนสตรี เพื่อนสนิทจึงให้ชื่อว่า ‘แม่เวียน’
ร.อ. หนุ่มทั้งสอง มีความเอาใจใส่ต่อการศึกษาในโรงเรียนนายรบเป็นอย่างดี มีความรู้ความสามารถสมศักดิ์ศรี ทั้งคู่ใช้ชีวิตอย่างสำราญนอกเวลาเรียน เที่ยวเตร่ หาความรื่นรมย์ตามประสาชายหนุ่ม และเดินรอบโต๊ะบิลเลียดตลอดรุ่งในคืนวันเสาร์ กินอยู่หลับนอนบนสโมสร ร่วมกับนายทหารหนุ่มอื่นๆ เช่น ร.ท. แสง วัณณศิริ ร.อ. สงวน คงคาสวัสดิ์
ร.อ. จรัส สุนทรภักดี ได้แต่งงานกับคุณเฉลิม ปัจฉิมนันท์ หลานสาวคุณหญิงทรงสุรเดช ในปีที่ 2 ของการศึกษาโรงเรียนรบ และนี่เองเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดในการต้องหาเป็นกบฏของศาลพิเศษ ข้าพเจ้ามั่นใจว่าถ้า ร.อ. จรัส สุนทรภักดี มิได้แต่งงานกับคุณเฉลิม ร.อ. จรัส จะไม่ถูกประหารชีวิตแน่นอน
ผู้กุมอำนาจสมัยนั้น ได้วางบทบัญญัติไว้ตายตัวในการที่จะลิดรอนอิทธิพลของ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชทุกวิถีทาง โดยประหัตประหารญาติ มิตร และศิษย์ใกล้ชิดทุกคน
การกระทำดังกล่าวเป็นการถอนรากโคนอิทธิพล พ.อ. พระยาทรงสุรเดช เพื่อพวกเขาจะได้ไต่เต้าขึ้นครองอำนาจในประเทศไทยได้อย่างราบรื่น และเขาก็ได้ปฏิบัติสำเร็จตามปรารถนาทุกประการ
สาเหตุที่สอง ที่ ร.อ. จรัส สุนทรภักดี ถูกต้องหาเป็นกบฏของศาลพิเศษ 2482 ก็เพราะเขาได้สร้างศัตรู ซึ่งเป็นนายทหารโรงเรียนรบด้วยกันไว้อย่างเงียบๆ เพราะความปากามากของเขา ชอบยุ่งเกี่ยวกับความประพฤติไม่ดีงามบางประการของผู้อื่น ก่อให้เกิดความเกลียดชังภายในใจ”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอาแล้ว 'อิ๊งค์' มีสิทธิ์หลุดเก้าอี้นายกฯ เซ่นตั้ง 'เลี้ยบ' นั่งรองประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า “รัดแน่นกว่าเดิม”
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 43)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
'วิสุทธิ์' วอน สว. 80-90 เสียง หนุนร่างแก้รธน. ตัดอำนาจวุฒิสภาให้ประเทศเป็นปชต.
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์กรณีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น
'วรชัย' พูดเต็มปาก! 'ชวน' ไม่ควรว่าทักษิณ ถ้ายังกวาดบ้านตัวเองไม่สะอาด
นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำนองว่า ตัวเองเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกง
ดิเรกฤทธิ์ : ปัญหาประชาธิปไตยสุจริตวันนี้
ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊กว่าปัญหาประชาธิปไตยสุจริตวันนี้(11 มกรา
แม่หมอ..มองทะลุ ปี 68 เปลี่ยนนายกฯ ..ยุบสภา-ลาออก!!.. I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568