ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี
“5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม
จากตอนที่แล้ว ที่ได้ยกรายงานสถานทูตต่างประเทศที่มีต่อพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยมีสาระสำคัญว่า ทางฝ่ายฝรั่งเศสเห็นว่า การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้นถือเป็น “การรัฐประหาร” ส่วนทางฝ่ายอังกฤษเห็นว่า ไม่ใช่ และเห็นด้วยกับ “การยุบสภาฯ” ครั้งนั้น นั่นคือ ทางอังกฤษเห็นว่าเป็นการยุบสภาฯ ส่วนในแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและในพระราชกฤษฎีกาใช้คำว่า ปิดประชุมสภาฯ และผู้เขียนได้ทิ้งคำถามท้ายบทความไว้ว่า “ท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวข้างต้นไปแล้ว ท่านเห็นว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นการทำรัฐประหารตามความเห็นของพันโทรูซ์ หรือไม่เป็นตามความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ?”
------------------
ต่อประเด็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นี้ ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ได้ศึกษาไว้ใน “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520) ได้กล่าวไว้ว่า
“การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี้เป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ในแง่ที่ว่าจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จริงอยู่ แม้ในรัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทว่าถ้าคิดในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภา หากเกิดกรณีที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์ไว้ได้ รัฐบาลอาจยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามิได้เป็นการกระทำที่จะละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”
------------------
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นความขัดแย้งตึงเครียดอันเกิดจากความเห็นต่างต่อร่างนโยบายเศรษฐกิจในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2475 และวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 ปิดประชุมสภาฯ ปรับคณะรัฐมนตรีและรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 มีนาคมนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ยื่นคำขาดว่า
“…ความเห็นทางเศรษฐกิจของเรา (ระหว่างของหลวงประดิษฐ์ฯกับของพระยามโนฯ) ต่างกันดั่งนี้ ก็จะได้ต่างคนต่างดำเนินไป ในส่วนทางการปกครองรัฐธรรมนูญนั้น เราร่วมกันเสมอ มีทางอยู่ 2 อย่างสำหรับข้าพเจ้า 1. ขอให้ข้าพเจ้าออกจากรัฐมนตรี 2. จะรวม (โคลีชั่น) (coalition รัฐบาลผสม/ผู้เขียน) แต่ขอให้ความเห็นทางเศรษฐกิจของข้าพเจ้าปรากฎโดยทางใดทางหนึ่ง” แต่ที่ประชุมฯขอให้รอพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเข้าประชุมในคราวต่อไป นั่นคือ การประชุมฯวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475
และในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่คิดจะทั้งงานเลย จะช่วยทำทุกอย่าง แต่มีผู้หาว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์ แม้ในหลวงเองก็ทรงเห็นเช่นนั้น ความเสียหายของข้าพเจ้ามีดั่งนี้ จึ่งคิดที่จะแยกออกและแสดงความจริงว่า ข้าพเจ้าไม่เป็นคอมมิวนิสต์เลย”
และพ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวว่า ขอผลัดจนกว่าจะได้ตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อนในสมัยที่สอง แล้วจึ่งค่อยคิดขยับขยายต่อไป เพลานี้กำลังยุ่งอยู่ ถ้าเราจะมาคิดอ่อนแอต่างๆ คิดถึงส่วนตัวมากไปแล้วจะทำให้คนตำหนิได้
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวว่า ข้าพเจ้าทำทุกอย่างคิดทุกอย่าเพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่เพื่อส่วนตัวเลย ถ้าอยู่ร่วมในคณะรัฐมนตรีเดียวกัน ก็ไม่ได้มีโอกาสจะแสดงความบริสุทธิ์ อนึ่ง ประกาศวันที่ 24 มิถุนายน ก็มีอยู่และยังไม่ได้จัดการดำเนินไปตามคำประกาศนั้นเลย อำนาจบริหารราชการแผ่นดินเป็นการสำคัญมาก เมื่อในหลวงไม่ทรงรับรองข้าพเจ้าแล้ว ก็เป็นการจำเป็นและสมควรที่ข้าพเจ้าจะต้องลาออก แต่อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้ามีทางที่จะช่วยประเทศได้อยู่ เพราะเหตุว่าข้าพเจ้าก็ยังคงเป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรอยู่
พ.อ. พระยาพหลกล่าวว่า การจัดตั้งสภาเศรษฐกิจ อย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว เพราะดูๆ ก็พอจะลงรอยกันไปได้ แล้วจะได้วางโครงการแน่นอนสืบต่อไป
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าววว่า ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยอย่างเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนาว่า เราจะได้เอาคนสามจำพวกพิจารณา
พระยาประมวญวิชาพูล กล่าวว่า เมื่อกรรมการเขาทำกันไว้อย่างไร ก็จะต้องผ่านเรามาอีกทีหนึ่งเหมือนกัน
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกล่าววว่า เรื่องโครงการนี้ จะให้สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยนั้น ไม่งดงาม เพราะเป็นโครงการของรัฐบาล จะต้องตกลงกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนี้
พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวว่า กรรมการที่จะตั้งนี้เป็นเพียงที่ปรึกษาของเรา เราจะไม่เอาตามก็ได้ ถ้าเห็นว่าเป็นภัยแก่ประเทศ ความเห็นของข้าพเจ้ามีอย่างนี้
1. ไม่ประกาศโครงการโครงการของผู้ใดทั้งสิ้นในระหว่างนี้ สิ่งใดที่ควรทำก็ทำไปก่อน
2. ส่งคนไปดูการในที่ต่างที่เขาทำกันหลาย ๆคน แล้วออกความเห็นกันมา
3. เมื่อถึงสมัยที่สองแล้ว ตั้งบุคคลสามจำพวก คือ คนมีทรัพย์ พ่อค้า และกรรมกรขึ้นเป็นกรรมการพิจารณา
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวว่า ตามโครงการณ์ของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นลิเบอร์ราลลิสต์ (Liberalist-เสรีนิยม/ผู้เขียน) ส่วนของข้าพเจ้านั้น เป็นโซเชียลลิสต์ผสมกับแคปิตาลิสต์ (Socialist – Capitalist สังคมนิยม ทุนนิยม/ผู้เขียน) ฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจึ่งต่างกัน แต่อย่างไรก็ดี ที่จะทำไปตามนโยบายบางส่วนของนายกรัฐมนตรีนั้น ข้าพเจ้าไม่ว่ากระไร แต่ส่วนที่จะลาออกหรือไม่นั้น ขอเวลาไปตรึกตรองดู โครงการณ์ที่ข้าพเจ้าทำนั้น ได้คิดล่วงหน้าไว้ ป้องกันคำทำนายภัยแห่งเศรษฐกิจซึ่งจะมีมาในภายหน้า เราจะปล่อยให้เปลี่ยนแปลงไปเองทีละเล็กละน้อย (อีโวลูชั่น/Evolution-วิวัฒนาการ/ผู้เขียน) แล้วก็จะเป็นประโยชน์อย่างใด ในการที่เราคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง การที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เพราะจะเปลี่ยนแปลงหลักการต่างๆ ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมอย่างของเก่า
ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเลยอย่างแน่นอน เพราะว่าตรงกันข้ามกับโครงการณ์ของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าจะนิ่งไม่ลงมติให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัยกันเอง
ที่ประชุมได้ลงคะแนนเห็นชอบนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี 11 คน เห็นชอบนโยบายของหลวงประดิษฐ์ฯ 3 คน นอกจากนั้นไม่ลงมติ 5 นาย
หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรติดกัน 2 วันคือ วันที่ 30 และ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่แสดงถึงความขัดแย้งระหว่างสมาชิกฯฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯและสมาชิกฯที่ไม่ใช่ฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2475 มีประเด็นที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองฝ่าย โดยพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ได้ตั้งกระทู้ถามขึ้นเกี่ยวกับการที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ลงมติวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2475 “ให้ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนไม่ว่าประเภทใดๆรวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทรงเลือกตั้ง..ลาออกจากสมาชิกของสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ส่วน..ข้าราชการที่จะเข้าเป็นสมาชิกสมาคมใดๆต่อไปนี้ทางข้าราชการได้วางระเบียบ..ในระหว่างที่ยังมิได้มีระเบียบ....ให้ข้าราชการทั้งปวงงดการทั้งปวงงดการเข้าเป็นสมาชิกสมาคมใดๆทั้งสิ้น และขอให้เป็นที่เข้าใจว่า สำหรับสมาคมคณะราษฎรนั้นมิใช่ให้ข้าราชการต่างๆ ต้องลาออกหมดในเวลานี้ ข้าราชการผู้มีหน้าที่อยู่ในสมาคมนี้ ให้คงรออยู่ไปจนกว่าสมาคมจะหาตัวเปลี่ยนได้ก่อน แล้วจึ่งให้ออกก็ได้ ฉะนั้นให้ท่านสั่งข้าราชการในศาลปฏิบัติตามที่กล่าวนี้จงทั่วกัน..” โดยผู้ลงนามท้ายหนังสือคำสั่งนี้คือ พระยาโหสถศรีพิพัฒน์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
กล่าวได้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นข้าราชการส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สนับสนุนของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม การออกคำสั่งห้ามมิให้ข้าราชการพลเรือนและทหารเป็นสมาชิกสมาคมการเมืองส่งผลกระทบต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นข้าราชการพลเรือนและทหาร ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้เป็นข้าราชการสามารถเป็นสมาชิกสมาคมการเมืองได้ การออกคำสั่งดังกล่าวต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นข้าราชการต้องเลือกระหว่างจะดำรงตำแหน่งอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่ประชุมสภาฯได้มีการอภิปรายถกเถียงกัน โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งให้เหตุผลว่า คำสั่งดังกล่าวนี้ “เป็นการทำลายรัฐธรรมนูญมาตรา 14” โดยมาตรา 14 มีข้อความว่า “ภายในบังคับแห่งบทกฎหมาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ”
ฝ่ายที่ไม่เห็นว่า คำสั่งขัดกับมาตรา 14 ให้เหตุผลว่าที่ “รัฐธรรมนูญ..ว่ามีเสรีภาพในการเข้าสมาคมต่างๆ ในการที่บุคคลใดจะเข้ารับราชการ ก็จะต้องอยู่ในราชการและปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนด จะทำอันใดนอกเหนือไปมิได้ แต่อย่างใดก็ดีในเรื่องที่รัฐบาลห้ามมิให้ข้าราชการประจำเข้าสมาคมการเมืองใดๆ นี้ ไม่ใช่เป็นการตัดสิทธิอย่างใด....ถ้าผู้ใดอยากเข้าการเมืองก็ควรลาออก เพราะข้าราชการประจำนั้นก็ทำงานเพื่อหวังในความมั่นคง และถ้าหากว่าข้าราชการประจำเกี่ยวข้องกับการเมืองเสียแล้ว ก็ไม่มีประเทศใดดำรงอยู่ได้ เพราะพอเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนข้าราชการ...” นั่นคือ ถ้าเป็นข้าราชการแล้ว ให้งดการเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หากต้องการเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการเมืองก็ทำได้ตามมาตรา 14 แต่ต้องพ้นจากการเป็นข้าราชการ
ฝ่ายที่ต่อต้านคำสั่งได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า “มีผู้มาร้องว่าทางกระทรวงสั่งให้ถอนใบสมัครและลาออกทันที ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่จ่ายเงินเดือนให้” และตั้งคำถามว่า การสั่งเช่นนั้น อาศัยอำนาจอะไร
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการได้ปฏิเสธว่า ไม่เคยทราบว่ามีการสั่งเช่นนั้น และขอให้แจ้งมา แต่ก็ไม่มีผู้ใดให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้ว่ามีการสั่งแบบนั้นในกระทรวงใด โดยใครและสั่งกับใคร
ขณะเดียวกัน ฝ่ายต่อต้านคำสั่งได้ให้เหตุผลอีกว่า การออกคำสั่งเช่นนั้น “ดูแล้ว (รัฐบาล/ผู้เขียน) ยิ่งกลับใช้อำนาจ absolute ขึ้นเรื่อย ๆ
ในที่สุด ที่ประชุมสภาฯได้ลงมติเห็นชอบด้วยเสียง 38:11 ว่า การออกคำสั่งดังกล่าวจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อต้องออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ นั่นคือ ต้องเป็นกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของเสียงข้างมากในสภาฯ
ขณะเดียวกัน ในการประชุมสภาฯวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2475 ยังเกิดปรากฏการณ์บางอย่าง นั่นคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯ “ได้พากันพกปืนมาประชุมสภากันด้วย” เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับสิทธิพิเศษให้พกอาวุธปืนไว้ป้องกันตัวได้
นักเขียนที่เขียนหนังสือบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับหลวงประดิษฐ์ฯอย่าง เสทื้อน ศุภโสภณ ผู้ที่มีความนิยมในพระยาทรงสุรเดช ได้บรรยายพฤติกรรมการพกปืนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯไว้ในหนังสือ “ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช” ว่า สมาชิกสภาฯที่พกปืนเข้ามาประชุมสภาฯเหล่านั้น “..ทำราวกับว่าจะไปรบทัพจับศึกที่ไหน บางคนปล่อยให้ด้ามปืนโผล่ออกมานอกเสื้อ เป็นที่สะดุดตาสะดุดใจ บางทีก็มีการควักปืนออกมาอวดกันในสภาด้วย ซึ่งพฤติการณ์เหล่านี้ ได้สร้างความหวาดเสียวให้แก่บรรดาสมาชิกอาวุโสฝ่ายกลางเป็นอันมาก (ฝ่ายกลางหมายถึง ไม่ได้เข้าข้างหลวงประดิษฐ์ฯและไม่ได้เข้าข้างรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา/ผู้เขียน) ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่กำลังประชุมกัน ดาวบางดวง (สมาชิกฯกลุ่มดาว หมายถึง สมาชิกที่แวดล้อมหลวงประดิษฐ์ฯ ประดุจดาวล้อมเดือน/ผู้เขียน) ก็ได้ออกโคจรเพ่นพ่านไปมาอย่างน่าเกลียด ไม่มีการเคารพหรือให้เกียรติแก่สถาบันอันสุงสุดของชาติเสียเลย บางคนก็ไปยืนทำคุมเชิงอยู่ข้างหลัง ที่ซึ่งรัฐมนตรีของพระยามโนฯนั่งอยู่ จนเป็นที่หมั่นไส้แก่บรรดารัฐมนตรีขุนนางเก่าไปตาม ๆกัน พฤติการณ์ของสมาชิกกลุ่มนี้ ได้ทำให้เป็นที่เอือมระอาแก่พระยามโนฯเป็นอย่างยิ่ง บรรดาสมาชิกอาวุโสฝ่ายกลางก็เบื่อหน่ายไม่น้อยไปกว่าพระยามโนฯ และหลายคนได้เกิดความหวาดเสียวในการที่ได้เห็นสมาชิกหัวรุนแรงเหล่านั้นพกปืนเข้ามาประชุมด้วย เกรงว่าจะเกิดท้าทายถึงกับใช้อาวุธกันขึ้น ประเหมาะเคราะห์ร้ายจะพลอยโดนลูกหลงเข้า การไปประชุมสภาก็จะกลายเป็นไปหายมบาล ดังนั้น สมาชิกกลุ่มเป็นกลางเหล่านี้ ก็พากันหลีกเลี่ยงหายหน้าหายตาขาดประชุมไปตาม ๆ กัน จำนวนสมาชิกที่เข้าประชุมจึงโหรงเหรงบางตา คราใดที่มองไป ก็มีแต่กลุ่มลูกน้องของหลวงประดิษฐ์ฯ นั่งหน้าสลอนอยู่ทั้งนั้น”
ในตอนต่อไป ผู้เขียนได้กล่าวถึงบันทึกของผู้ใช้นามปากกาว่า “วิเทศกรณีย์ (สมบูรณ์ คนฉลาด)” ที่พยายามจะเขียน “เพื่อให้ผู้อ่านได้ศึกษาประวัติศาสตร์แห่งการเมือง” ว่า เขาได้มองเห็นเหตุการณ์ช่วงนั้นอย่างไร ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ดร.เสรี ซูฮก ‘ทักษิณ’ ใหญ่จริงๆไม่มีใครกล้าทำอะไร
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่าฟังปร
'จิรายุ' ตีปาก 'สส.โรม' อย่าพูดให้ประเทศเสียหาย ปมยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจาก พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีมีอดีต สส. ของกัมพูชา ถูกยิงเสียชีวิตในประเทศไทยแล้ว
นายกฯ ยันไร้แผนปรับครม. ตอนนี้พรรคร่วม-รมต.ไม่มีใครดื้อ ไม่เสียใจ 'ทักษิณ' พูดนำก่อน
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายปรับลดค่าไฟตรงนี้ถือเป็นหลักประกันเก้าอี้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานด้วยหรือไม่ ว่า อันนี้ไม่ทราบเลยว่าทำไม