ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 25)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า           

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490                 

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ  หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก  สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  )

กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงเหยื่อใน “กบฏในจินตนาการ” ของพันเอก หลวงพิบูลสงครามในบทที่ 13 ที่มีชื่อว่า “ผู้รับกรรม” ที่ผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอดดังต่อไปนี้

“อันที่จริง จำเลยทั้งหมดในศาลพิเศษครั้งนั้นเป็นผู้ที่สมควรได้ชื่อว่ารับกรรมด้วยกันทุกคน ไม่มียกเว้น เพราะเป็นจำเลยในศาลพิเศษ ถูกปิดประตูรอบตัวในการต่อสู้เพื่อชีวิตรอด จำเลยทุกคนมีสภาพเหมือนสุกร ที่ถูกต้อนให้เข้าไปร่วมในคอกแข็งแรง ไม่มีสิ่งไรที่จะเกื้อกูลอวยประโยชน์ให้จำเลยแม้แต่น้อย จำเลยมิได้รับแสงแห่งความยุติธรรม มันมัวมืด เต็มไปด้วยกลิ่นไอการข่มขู่ บีบเค้น ใส่ร้าย ปั้นพยานเท็จใส่ความเท็จ

จำเลยทั้งหลายจึงควรได้ชื่อว่าเป็น ‘ผู้รับกรรม’ ทุกคนโดยถ้วนหน้า

ในที่นี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวถึง ‘ผู้รับกรรม’ เฉพาะบุคคลที่ข้าพเจ้ารู้จักดีพอเท่านั้น เพื่อความยุติธรรมและความจริงที่เป็นสัจจะ ข้าพเจ้าจะไม่อาจหาญเอ่ยถึงจำเลยทั้งหลายที่ไม่คุ้นเคย แม้ข้าพเจ้าจะเชื่อว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ผุดผ่อง แต่เผอิญเป็นที่เกลียดชังของผู้เผด็จการซึ่งครองประเทศไทย

ร.ท. สัย เกษจินดา เป็นนายทหารหนุ่มโสดแข็งแรงร่างเล็กค่อนข้างเตี้ย นิสัยร่าเริง ยิ้มแย้มตลอดเวลา ใบหน้ามีริ้วรอยเบิกบาน ปราศจากลับลมคมใน เป็นใบหน้าที่น่าไว้วางใจในความซื่อตรง เขาเป็นมิตรที่ดีของทุกคน แม้กับทหารรับใช้ประจำตัวนายทหาร มีจิตใจรักความยุติธรรม ไม่ชอบฝักใฝ่ทางการบ้านการเมือง แต่บางโอกาสเมื่อเข้าสังคม หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จะกล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองบ้าง โดยเฉพาะตามข่าวหนังสือพิมพ์รายวัน ร.ท. สัย มีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาของโรงเรียนรบ และมีผลการศึกษาในเกณฑ์ดีคนหนึ่ง   

ขณะที่มีการจับ ร.ท. สัย เกษจินดา เป็นจำเลยในคดีกบฏของศาลพิเศษนั้น ข้าพเจ้าพำนักอยู่ที่ไซ่ง่อนเมืองหลวงของญวณได้

อันที่จริง ข้าพเจ้าเองยังสงสัยอยู่เสมอว่า เหตุไร ร.ท. สัย เกษจินดา นายทหารหนุ่มโสดผู้ยิ้มแย้มร่าเริง ปราศจากอริกับมิตรสหายร่วมสำนัก และไม่ฝักใฝ่ต่อการบ้านการเมืองผู้นี้ จึงถูกรวบตัวเป็นจำเลยด้วยผู้หนึ่ง

พ.อ. พระยาทรงสุรเดชก็มีแนวคิดเช่นเดียวกับข้าพเจ้า

เมื่อข้าพเจ้ามีเวลาพิจารณาทบทวนเหตุการณ์ของโรงเรียนรบขณะนั้น และได้ทราบเหตุผลจากนายทหารใกล้ชิด ร.ท. สัย ขณะที่กลับมาสู่ประเทศไทยแล้ว จึงเข้าใจได้ว่า เขาถูกต้อนเป็นจำเลยสำคัญคนหนึ่ง เพราะเหตุสองประการ

เหตุประการแรกที่ข้าพเจ้า และ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช คาดหมายไว้ขณะที่อยู่ในไซ่ง่อน คือเป็นเพราะความสนิทสนมระหว่าง ร.ท. สัย และ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ ซึ่งสาเหตุนี้เพียงประการเดียว ก็ไม่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญในการต้องหาคดีร้ายแรงเช่นนั้น

เมื่อขุนคลี่พพพฤนท์ ถูกจับกุมคุมขังในบ้านพักนายทหารที่เชียงใหม่ พร้อมเอกสาร 2-3 ชิ้น จึงถูกควบคุมตัวมาสอบสวนในกรุงเทพฯ ร.ท. สัย เกษจินดา ผู้เสมือนเพื่อนรุ่นร้องของ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ จึงถูกสงสัยและจับกุมตัวในฐานตัวการกบฏด้วย

เหตุผลข้อนี้ฟังดูผิวเผินเห็นว่าอ่อนมาก ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นไปแล้วและเป็นจริง

เหตุผลลึกลับประการที่สองที่ข้าพเจ้าได้ทราบจากเพื่อนสนิทของ ร.ท. สัย เกษจินดา เมื่อกลับประเทศไทยปี พ.ศ. 2489 หรือหลังจาก ร.ท. สัยถูกประหารชีวิตแล้ว 7 ปี

ในระหว่างการศึกษาปีที่สองของโรงเรียนรบ ณ จังหวัดเชียงใหม่  มีนายทหารชั้น ร.ท. คนหนึ่งประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียศีลธรรมอย่างเงียบๆ เป็นที่รู้กันเฉพาะนายทหารชั้นผู้น้อย 3-4 คน  ร.ท. สัย เกษจินดา เป็นคนที่รักความยุติธรรมมาก ได้ตักเตือนว่ากล่าว ร.ท. ผู้นั้นให้สำนึกผิด และหันมาประพฤติตนในทางที่ควร เป็นการตักเตือนฐานพี่น้องและหวังดี โดยไม่คิดว่า ร.ท. ผู้นั้นจะถือเป็นเรื่องใหญ่ ผูกใจเจ็บแค้นตลอดเวลาต่อมา

ครั้นได้โอกาสสำคัญ เมื่อนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบถูกเรียกตัวมาสอบสวน ณ กระทรวงกลาโหม  ร.ท. ผู้นั้นก็ให้การปรักปรำ ร.ท. สัย เกษจินดา นานัปการ ซึ่งล้วนแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น แต่เป็นที่ถูกใจคณะกรรมการ เพราะเขาต้องการให้เรื่องเล็กน้อยเป็นเรื่องใหญ่โตอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ คนดีคนหนึ่งจึงกลายเป็นกบฏ ถูกตัดสินประหารชีวิต !

ในสายตาของข้าพเจ้า ร.ท. สัย เกษจินดา เป็นผู้ที่ตรงต่อเวลา เกือบสามปีที่เราศึกษาร่วมกัน ข้าพเจ้าไม่เคยเห็น ร.ท. สัยมาเรียนสายแม้เพียงครั้งเดียว แสดงว่าเขามุ่งมั่นในการเรียน พยายามหาความรู้เพิ่มเติมประดับสติปัญญาตลอดเวลา   

ร.ท. สัยนิยมกีฬากลางแจ้ง เช่น เทนนิส แบดมินตัน ตอนบ่ายเย็นจะเห็นเขาออกกำลังกายกลางสนามอย่างสนุกสนานร่าเริง

บรรยากาศในกองทัพบกเวลานั้น เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ระแวงภัยตลอดเวลา

นายทหารฝึกหัดราชการในโรงเรียนรบ ก็เช่นเดียวกัน พยายามที่จะรักษาตน และครอบครัวให้ดำรงอยู่โดยปกติ หมายความว่าให้ได้รับราชการในกองทัพบกต่อไป เพราะทุกคนมองเห็นแล้วว่า แม้แต่ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชเองยังต้องถูกออกจากราชการ ไร้เบี้ยหวัดบำนาญ แม้จะมีความรักผูกพันในตัว พ.อ. พระยาทรงสุรเดชเพียงไร ก็ไม่สมควรที่จะแสดงออกจนตัวเองได้รับเคราะห์กรรมด้วย

ด้วยเหตุนี้ พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพล และ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ จึงเป็นจำเลยที่สำคัญในคดีกบฏของศาลพิเศษ

ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ เป็นครูวิชายุทธวิธีของนักเรียนนายดาบ สมัยที่ข้าพเจ้าเริ่มเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก ปี พ.ศ. 2472 เป็นนักพูดตัวฉกาจ พร้อมด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง รูปร่างสูงใหญ่ อ้วนล่ำสันด้วยไขมันมากกว่าเนื้อกล้าม ใบหน้าอูมสี่เหลี่ยม ผมหยิก หน้าผากสั้น จมูกออกจะรั้นและแบน ปากกว้าง เสียงดัง กล้องยาเส้นจะแนบติดปากเกือบตลอดเวลา

ข้าพเจ้ารู้สึกสนิทสนมกับ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์เมื่อรับราชการร่วมกันในโรงเรียนรบ ณ จังหวัดเชียงใหม่เรียกท่านว่า ‘ครู’ ทุกคำ เพราะมีความรู้ความสามาระอื่นๆ สูงกว่า โดยเฉพาะศิลปะการพูด

ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์มีความนิยมเคารพรักในตัว พ.อ. พระยาทรงสุรเดช อย่างล้นเหลือ

ร.ท. พายัพ โรจนวิภาต ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ‘ยุคทมิฬ’  ของท่านเกี่ยวกับความรู้สึกของ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ มีต่อ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช อย่างจับจิตจับใจดังนี้ :-

‘ขณะที่เจ้าคุณทรงสุรเดช ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรบ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยเอก ขุนคลี่พลพฤนท์  ก็ได้ประจำอยู่ในโรงเรียนรบนั้นด้วย จึงนับได้ว่าขุนคลี่ฯ เป็นศิษย์เก่าแก่คนเดียวที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับเจ้าคุณทรงฯ  ตลอดเวลาที่ร่วมกันรับราชการที่เชียงใหม่ การอยู่ใกล้ชิดติดพันกันระหว่างมนุษย์เราเป็นสิ่งนำมาซึ่งผลหลายประการ อย่างน้อยที่สุด สิ่งแรกก็น่าจะได้แก่ความเข้าใจในกันและกัน แต่ขุนคลี่ฯ มีความเคารพในสติปัญญาของเจ้าคุณทรงฯ เยี่ยงศิษย์เคารพอาจารย์เป็นทุนเดิมอยู่ในใจ ยิ่งเมื่อได้ยินได้ฟังว่า เมื่อคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจารย์ของตนคือ ผู้ประสาทความสำเร็จในการยึดอำนาจ เจ้าคุณทรงฯ เป็นมันสมองของการปฏิวัติเป็นผู้จัดวางแผนการ นับแต่ลวงเอากำลังทหารทุกหน่วยทุกเหล่าออกมาควบคุมและใช้ทำงานตลอดจนป้องกันมิให้เกิดการขัดขวางหรือปะทะกันขึ้นด้วยนโยบายอันสุขุมฉลาดล้ำ อีกทั้งได้ยินได้ฟังต่อไปว่า ขณะนั้น หลวงพิบูลสงครามเป็นเพียงเสมอ ‘ลูกน้อง’ ของเจ้าคุณทรงฯ เท่านั้นแล้ว  ความเคารพในความสามารถอันขุนคลี่ฯ มีต่อเจ้าคุณทรงฯ  ก็กลายเป็นความเชื่อมั่นและเสื่อมศรัทธาขึ้นโดยลำดับ หวนกลับไปจินตนาการในศักดิ์แห่งความสามารถระหว่างเจ้าคุณทรงฯกับหลวงพิบูลฯ ตามลำดับเหตุการณ์ที่คลี่คลายออกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงพิบูลสงครามกระโดดจากตำแหน่งรองผู้บังคับทหารปืนใหญ่ขึ้นเป็นรัฐมนตรี เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้บัญชาการทหารบก และไต่เดียะๆ ขึ้นจนเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่ขณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงพิบูลฯ เป็นเสมอชั้น ‘ลูกน้อง’  ส่วนเจ้าคุณทรงฯ กลับปรากฏว่าไต่เดียะๆ ลงจากตำแหน่งผู้รักษาพระนครร่วมกับเจ้าคุณพหลฯ  และเจ้าคุณฤทธิ์อัคเนย์มาเป็นรัฐมนตรี ข้าราชการฝ่ายทหารที่ไม่มีตำแหน่งท่องเที่ยวไปพม่าบ้าง ไปจีนบ้าง ดังนั้น ความเลื่อมใสศรัทธาอันขุนคลี่ฯ มีอยู่ต่อเจ้าคุณทรงฯ อย่างเปี่ยมล้น  ชวนให้ขุนคลี่ฯ วาดภาพในใจอันเป็นปฏิกรรมต่อความเป็นจริงยิ่งขึ้นทุกชั่วโมงนาที ภาพในใจของขุนคลี่ฯ มีเจ้าคุณทรงฯ คนเดียวเท่านั้นเป็นวีรบุรุษ !  เจ้าคุณทรงฯ คนเดียวเท่านั้นที่ควรไต่ขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และนายกรัฐมนตรี !  ถึงเวลาล่วงไป ภาพในใจนั้นยิ่งเข้มหรือยิ่งเด่นชัดขึ้น จนกลายเป็นมโนอิษฐิ  เป็นเกียรติรมย์พร้อมบริบูรณ์อยู่ในกาย ในสายโลหิตและวิญญาณของขุนคลี่ฯ....

ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ แสดงความรักเคารพ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช อย่างลึกซึ้ง คุณค่าแห่งความยอมรับนับถือกลายเป็นบูชา เทิดทูนอย่างเงียบๆ ภายในดวงใจและหยั่งลึกลงในสายเลือด ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ได้ขอติดตาม พ.อ. พระยาทรงสุรเดช เดินทางร่วมไปประเทศพม่า ประเทศจีน และฮ่องกง ด้วยผู้หนึ่งในจำนวน 4 คน ความใกล้ชิดสนิทสนมมากเท่าใด ความนิยมบูชา พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ประดุจพระในดวงใจยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ระหว่างการศึกษาของนายทหารฝึกหัด ราชการโรงเรียนรบ 2 ปีเศษ ขุนคลี่ฯ มีเวลาว่างมาก เพราะมิได้สอนและรับการศึกษา จึงใช้เวลาว่างเหล่านั้นพิจารณาหตุการณ์ทางการเมืองประเทศไทยอย่างสนใจ  โดยเฉพาะเหตุการณ์ในสภาผู้แทนราษฎรที่แสดงทีท่าซวนเซ กรณีที่ดินพระคลังข้างที่อาจจะถึงขั้นเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนคณะรัฐบาล หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 หลายท่านแสดงความคิดเห็นว่า พ.อ. พระยาทรงฯ ควรจะได้เป็นายกรัฐมนตรี แทนพระยาพหลพลพยุหเสนา ระยะนี้เอง ร.อ. ขุนคลี่ฯ ได้วางแผนไว้ในใจ และจดลงสมุดบันทึก เป็นเหตุการณ์ที่ฝ่ายตน ควรจะดำเนินการในระบอบประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง มิได้มีการใช้กำลังทหารแม้แต่เพียงเล็กน้อย

จุดอ่อนในการที่บันทึกไว้ ตามนิสัยเคยชินที่เป็นครูบาอาจารย์ ทำให้ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์ตกเป็นผู้ต้องหาคนเดียวที่มีหลักฐานเจตนาจะล้มล้างรัฐบาล แม้หลักฐานนั้นจะไม่ใช่กำลังทำการปฏิวัติ อัยการศาลพิเศษมิได้สนใจ”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!

นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง

ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง

พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย

ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง