ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 36: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม  

จากตอนที่แล้ว ที่ได้ยกรายงานสถานทูตต่างประเทศที่มีต่อพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยมีสาระสำคัญว่า ทางฝ่ายฝรั่งเศสเห็นว่า การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้นถือเป็น “การรัฐประหาร” ส่วนทางฝ่ายอังกฤษเห็นว่า ไม่ใช่ และเห็นด้วยกับ “การยุบสภาฯ” ครั้งนั้น นั่นคือ ทางอังกฤษเห็นว่าเป็นการยุบสภาฯ   ส่วนในแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและในพระราชกฤษฎีกาใช้คำว่า ปิดประชุมสภาฯ  และผู้เขียนได้ทิ้งคำถามท้ายบทความไว้ว่า “ท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวข้างต้นไปแล้ว ท่านเห็นว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นการทำรัฐประหารตามความเห็นของพันโทรูซ์ หรือไม่เป็นตามความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ?”             

------------------

ต่อประเด็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นี้  ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ได้ศึกษาไว้ใน “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520) ได้กล่าวไว้ว่า

“การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี้เป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ในแง่ที่ว่าจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  จริงอยู่ แม้ในรัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทว่าถ้าคิดในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภา หากเกิดกรณีที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์ไว้ได้ รัฐบาลอาจยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามิได้เป็นการกระทำที่จะละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”

--------------

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า การที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯมิไม่ถือว่าเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญและเป็นการทำรัฐประหาร เพราะเป็นไปตามมาตรา 29 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีก็เป็นไปตามระบบรัฐสภาที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรี

ประเด็นที่เหลือที่น่าจะเป็นเหตุผลให้เป็นการทำรัฐประหารเงียบ คือ การกำหนดให้รอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา  ซึ่งข้อความในข้อ 5 ในพระราชกฤษฎีกาฯจะสัมพันธ์กับหัวข้อและข้อความในแถลงการณ์ของรัฐบาล วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยหัวข้อคือ  “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลในการปิดสภาผู้แทนราษฎรและรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

โดยความในข้อ 5 กล่าวว่า “ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่นๆในรัฐธรรมนูญนั้นให้เป็นอันคงใช้อยู่ต่อไป”

ส่วนข้อความในแถลงการณ์ที่มีใจความเดียวกัน ได้แก่ ข้อความในย่อหน้าแรก:  “รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบเพื่อเป็นที่เข้าใจทั่วกันในเหตุผลอันสำคัญยิ่งซึ่งบังเกิดขึ้น กระทำให้เป็นความจำเป็นที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

และ ข้อความในย่อหน้าสุดท้าย:  “รัฐบาลขอย้ำความข้อหนึ่งว่า  พระราชกฤษฎีกานี้ให้รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา และเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

การงดหรือรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่ว่านี้ คือ มาตรา 6 และมาตรา 36

มาตรา 6 มีความว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”

มาตรา 36 มีความว่า “บรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลาย จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”           

สาเหตุที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องกำหนดให้มีการรอการใช้มาตรา 6 หรืองดใช้มาตรา 6 ชั่วคราว  เพราะความในข้อ 4 ในพระราชกฤษฎีกาฯขัดกับมาตรา 6

เพราะความในข้อ 4 ในพระราชกฤษฎีกาฯ กล่าวว่า “ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี”  ซึ่งขัดกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฯที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”  และมาตรา 36 ที่กำหนดไว้ว่า บรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลาย จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”

การประกาศดึงอำนาจนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหารนี้ มิได้กระทำในขณะที่ยังมีการเปิดประชุมสภาฯอยู่ แต่กระทำหลังจากที่ปิดประชุมสภาฯแล้วหนึ่งวัน และการปิดประชุมสภาฯก็เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรา 29  การตราพระราชกฤษฎีกาดึงอำนาจนิติบัญญัติในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯมาไว้ที่ฝ่ายบริหาร ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า  ผู้รับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิบสี่คน อันได้แก่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่กราบบังคมทูลฯ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ มีอำนาจที่จะให้มีการ “รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา…เป็นการชั่วคราว”  นั่นคือ รอการใช้มาตรา 6 เป็นการชั่วคราวหรือไม่ ?  ซึ่งชั่วคราวที่ว่านี้ก็คือในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476  และมีอำนาจในการ “ดึงอำนาจนิติบัญญัติในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯมาไว้ที่ฝ่ายบริหาร” หรือไม่ ?

ในทางนิติศาสตร์ การดึงอำนาจนิติบัญญัติมาไว้ที่ฝ่ายบริหารเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องเป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475   ได้กำหนดไว้แล้วในมาตรา 29 และในมาตรา 52 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

กลับมาที่คำถามข้างต้นที่ว่า “ผู้รับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิบสี่คน อันได้แก่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่กราบบังคมทูลฯ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ มีอำนาจที่จะให้มีการ “รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา…เป็นการชั่วคราว”  นั่นคือ รอการใช้มาตรา 6 เป็นการชั่วคราวหรือไม่ ?

คำตอบตามหลักนิติศาสตร์ที่ปรากฏในมาตรา 29 ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และมาตรา 52 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

ต่อกรณีที่เป็นเหตุฉุกเฉิน นอกจากที่รัฐบาลได้แถลงการณ์แล้ว (ดูตอนที่แล้ว) ในพระราชกฤษฎีกาฯ เองก็มีข้อความว่า “….สภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้คงประกอบด้วยสมาชิกซึ่งตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรตั้งผู้แทนขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึ่งไม่เป็นการสมควรที่สภาจะพึงดำริการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจอันเป็นรากเหง้าแห่งความเป็นความอยู่ของประเทศมาแล้วแต่โบราณกาล ณ บัดนี้ ปรากฏว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมากแสดงความปรารถนาแรงกล้าเพียรที่จะทำการเปลี่ยนแปลงไปในทางนั้นโดยวิธีการอันเป็นอุบายในทางอ้อมที่จะบังคับข่มขู่ให้สภาต้องดำเนินการไปตามความปรารถนาของตนเป็นการไม่สมควรเป็นที่เห็นได้ชัดแล้วว่า จะประชุมกันบัญชาการของประเทศไทยโดยความสวัสดิภาพไม่ได้แล้ว สามารถจะนำมาซึ่งความไม่มั่นคงต่อประเทศ ทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นเวลาฉุกเฉินแล้ว สมควรต้องจัดการป้องกันความหายนะอันจะนำมาสู่ประเทศและอาณาประชาราษฎรทั่วไป จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ขึ้น...”

จากย่อหน้าข้างต้น สะท้อนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งในรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับความเห็นต่างในเค้าโครงเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ร่างและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นนโยบายเศรษฐกิจฉบับแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ปฏิทินเดิม) มีความเห็นต่างต่อร่างนโยบายเศรษฐกิจ รายงานการประชุมบันทึกไว้ว่า หลวงประดิษฐ์ฯได้กล่าวว่า

“…ความเห็นทางเศรษฐกิจของเราต่างกันดั่งนี้ ก็จะได้ต่างคนต่างดำเนินไป ในส่วนทางการปกครองรัฐธรรมนูญนั้น เราร่วมกันเสมอ มีทางอยู่ 2 อย่างสำหรับข้าพเจ้า               

1. ขอให้ข้าพเจ้าออกจากรัฐมนตรี 2. จะรวม (โคลีชั่น) (coalition รัฐบาลผสม/ผู้เขียน) แต่ขอให้ความเห็นทางเศรษฐกิจของข้าพเจ้าปรากฎโดยทางใดทางหนึ่ง

พระยาทรงสุรเดช: ขอร้องว่า ให้รอ พ.อ. พระยาพหลฯ เสียก่อนจึ่งค่อยพูดกันใหม่ วันนี้เอาเพียงเท่านี้ก่อน 

หลวงประดิษฐ์ฯ – ในเรื่องโครงการณ์นี้ ข้าพเจ้าได้พยายามฝืนและลดหย่อนลงจนถึงที่สุดแล้ว ข้าพเจ้าได้ยอมประนีประนอมโดยตลอดมา บัดนี้ ถึงขีดที่สุดแล้ว ที่ว่ายังไม่เหมาะหรือรอไว้ก่อนนั้นเท่าพูด ‘โน’ (No-ไม่/ผู้เขียน) อย่างสุภาพ ข้าพเจ้าจึ่ขอประกาศของข้าพเจ้าบ้าง ซึ่งไม่เห็นจะเสียหายอย่างไรเลย คือว่าของรัฐบาลมีโปลีซี (policy-นโยบาย/ผู้เขียน) ส่วนของคนอื่น (คือข้าพเจ้า) มีอย่างนี้

พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ์:  ถ้าแม้ว่ารัฐบาลไม่เอาอย่างโครงการของคุณหลวง คุณหลวงจะลาออกไหม ?

หลวงประดิษฐ์ฯ – ข้าพเจ้าต้องลาออกทีเดียวและข้าพเจ้าขอถามว่า ถ้าเอาอย่างของข้าพเจ้าจะมีใครลาออกบ้างไหม ?

นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ข้าพเจ้าก็ต้องลาออก

หลวงประดิษฐ์ฯ - ถ้าเช่นนั้น ก็เหมือนกัน

พ.อ. พระยาทรงสุรเดช: ไม่ใช่เหมือนกัน นายกรัฐมนตรีนั้นอย่างหนึ่ง เพราะรับผิดชอบมาก ส่วนสำหรับพวกเรานั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง     

หลวงประดิษฐ์ฯ - ข้าพเจ้าชอบ ไอเดีย ของผู้พิพากษา (หมายถึงพระยามโนฯ/ผู้เขียน) คือว่า เมื่อมีความเห็นแย้งกัน ก็ให้มีความเห็นแย้งปรากฏด้วย ที่จะบังคับให้ลงนามทั้งที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องลาออก

นายกรัฐมนตรี รับรองว่า ถ้าเช่นนั้นก็อยุตติธรรมเกินไปที่ไม่เห็นด้วยแล้วจะบังคับให้ลงชื่อ

หลวงประดิษฐ์ฯ - จะทำอย่างไรก็ตามใจ ขอให้ของข้าพเจ้าได้ประกาศก็แล้วกัน

นายกรัฐมนตรี – ชื่อของหลวงประดิษฐ์ มี เพอซันนาลิตี้ (personality - โดดเด่นเป็นที่รู้จัก/ผู้เขียน) อย่างสำคัญในรัฐบาล จะให้ลาออกไม่ได้

หลวงประดิษฐ์ฯ - ตอบว่า จริงแต่ว่า มี เพอซันนาลิตี้ อย่างชนิดคอมมิวนิสต์หรืออะไรทำนองนั้น ตามที่ข้าพเจ้าเคยอ่านในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ แม้ความเห็นต่างกันก็อยู่ร่วมรัฐบาลเดียวกันได้

นายกรัฐมนตรี - ถ้าให้ทำอย่างนั้น ก็จะขาดความเชื่อถือในรัฐบาลไป

หลวงประดิษฐ์ฯ รับรองว่า ไม่ต้องกลัว ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นอะไร

พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ขอให้รอเจ้าคุณพหลฯ ก่อน จึ่งค่อยพูดกันให้เด็ดขาด วันนี้เอาเพียงเท่านี้ก่อน เพราเจ้าคุณพหลฯ เป็นหัวหน้าในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะไม่ให้รู้ในเรื่องสำคัญ ฯ เช่นนี้ ไม่เหมาะ ข้าพเจ้าขอถามว่า โครงการกระทรวงทบวงการต่างๆ นั้น เวลานี้ดำเนินไปได้เพียงไรแล้ว

หลวงประดิษฐ์ฯ – เวลานี้อยู่ที่ข้าพเจ้า ที่ช้าอยู่ก็เพราะมัวแต่ติดขลุกขลักในเรื่องโครงการเศรษฐกิจ”

หลังจากนั้น อีกไม่นาน ก็ปิดประชุม และมีการประชุมต่อจากครั้งนี้ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งมีการลงมติในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ เป็นเวลา 3 วันก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

(โปรดติดตามตอนต่อไป)                                                         

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!

นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง

ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง

พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย

ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง