รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล
และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน) )
กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม
ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงการเสียชีวิตจากการเป็น “กบฏในจินตนาการ” ของพันเอก หลวงพิบูลสงครามในบทที่ 12 ที่มีชื่อว่า “ผู้บริสุทธิ์” ไว้ดังนี้
“ สามชีวิตนายพันตรี สูญสิ้นเพราะคาวปืนตำรวจ สองชีวิตนายร้อยโท เจ็บป่วยระหว่างคุมขัง ถูกทอดทิ้งให้ตายเหมือนสุนัข สิบแปดชีวิตถูกประหารชีวิตด้วยปืนกลแบล็คมัน เบ็ดเสร็จ 23 ชีวิต ต่อเป็นบันได้ 23 ขั้นสำหรับผู้แสวงหาอำนาจป่ายปีนขึ้นไปครองเมือง เขาสร้างอิทธิพลด้วยชีวิตมนุษย์
ข้าพเจ้ารู้จักร้อยโทแสง วัณณศิริ ตั้งแต่มีชีวิตเป็นนักเรียนนายร้อย เมื่อต้นปี 2474 เขารักนับถือข้าพเจ้าดุจพี่ชายร่วมสายโลหิต ยินดีรับใช้เอาอกเอาใจ เมื่อข้าพเจ้าหม่นหมอง ข้าพเจ้าไม่มีญาติพี่น้องใกล้ชิดอยู่ในกรุงเทพฯ จึงสมัครกันนอนในโรงเรียนนายร้อยตลอดสัปดาห์ทั้งวันเสาร์-อาทิตย์ ร.ท. แสงดำเนินตามทั้งๆ ที่บิดาของเขา ร้อยเอก หลวงพินัยการโกวิท มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุง เขาต้องการอยู่ใกล้ชิดข้าพเจ้าตลอดเวลา 24 ชั่วโมง มิยอมคลาดด้วยน้ำใจรักอันแท้จริงดูดดื่ม เขารักข้าพเจ้าเพราะเหตุใดไม่อาจทราบความรู้สึกในส่วนลึกของเขาได้ มันอาจจะเป็นเพราะชาติก่อนเราเคยอุปการะรักใคร่กัน หรือเป็นญาติสืบสายโลหิตเดียวกัน
ในเวลาจากการเรียนการฝึก แสงจะมาหาข้าพเจ้าทันที เราเดินเล่นภายในโรงเรียนหลังอาหารเย็นด้วยกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกันในยามยาก แบ่งเงินกันใช้ตามแต่จะพึงมี เมื่อข้าพเจ้าหนีเที่ยวตอนกลางคืน แสงจะตามติดออกไปด้วยมิเกรงนายทหารเวรจะจับได้ เขายอมเสี่ยงภัยทุกประการเพียงเพื่อขอให้ได้อยู่เคียงข้างข้าพเจ้าทุกวินาที
แสงมีนิสัยรื่นเรง ชอบร้องเพลงทั้งไทยและสากล ฉลาดปราดเปรียวและคึกคะนอง เรียนเก่ง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ได้แต้มสูงเป็นพิเศษ ถ้าเราไม่ใช้ชีวิตแบบนกขมิ้นเหลืองอ่อน ร่าเริงกับสังคมเกินไป เขาอาจสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ก่อนสมัครเป็นนักเรียนนายร้อย
เมื่อข้าพเจ้าออกรับราชการเป็นนายทหารช่าง 1 รักษาพระองค์ แสงก็จะมาหาที่กรม ฯ สะพานแดง บางซื่อ ทุกวันเสาร์อาทิตย์ ข้าพเจ้ามีเงินเดือน จึงแบ่งปันให้เขาไว้ใช้พอสมควร เราพากันไปดูภาพยนตร์ที่โรงหนังพัฒนากร สิงคโปร์ ฯลฯ หย่อนอารมณ์ที่ลุมพินี เขาดิน และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สนุกรื่นเริงตามประสาหนุ่ม ปราศจากข้อคิดทางการเมืองโดยสิ้นเชิง
ข้าพเจ้าถูกโอนมาเป็นผู้บังคับหมวดรถถัง กองร้อยปืนกลหนัก กองพันทหารราบที่ 8 บางซื่อ แสงสำเร็จการศึกษา สมัครเป็นนายทหารร่วมหมวดกองร้อยเดียวกัน เพราะความรักข้าพเจ้าเป็นเดิมพัน
ณ ทีนี้ – กองพันทหารราบที่ 8 แสงใช้ชีวิตหนุ่มสนุกสนานร่าเริงเต็มที่ หลังจากฝึกทหารใหม่แล้ว เขาจะเดินวนรอบโต๊ะบิลเลียด ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าจนตลอดคืน ในหน้าก่ำด้วยฤทธิ์แมคคัลลัม บางคืนจะเที่ยวตามบาร์มีชื่อสมัยนั้นร่วมกับเพื่อนนายทหารหนุ่ม ผู้รักความสำราญแห่งราตรี
ชีวิตของเขาในวันหนึ่งๆก็คือ ฝึกอบรมทหารใหม่ สุรา บิลเลียด และนารี ไม่เคยนิยมไม่เคยแยแสกับการบ้านการเมืองแม้แต่น้อย เขาทำงานด้วยความตั้งใจ เข้มแข็ง แม้บางคืนจะอดนอนเพราะเที่ยวดึก แต่ไม่เคยขาดการฝึกทหารตอนเช้าเลย
เมื่อข้าพเจ้าถูก พ.อ. หลวงอดุลย์เดชจรัส โอนไปรับราชการตำรวจ จังหวัดนนทบุรี และกำลังขออนุมัติกระทรวงกลาโหมไปศึกษาวิชาเคมี ณ ประเทศฟิลิปปินส์นั้น แสงอยู่โดดเดี่ยวร่วมกับมิตรสนิท 2 คน คือ ร.ท. นักรบ บิณษรี (พล.อ.อ.) และ ร.ท. อ่อง โพธิกนิษฐ (พล.ท.) จึงได้ชักชวนกันสมัครเป็นศิษย์การบิน ผลการสอบ ตรวจโรค ปรากฏว่า ร.ท. นักรบ และ ร.ท. แสงผ่านทั้ง 2 นาย กำลังเตรียมตัวจะโอนไปสังกัดกองทัพอากาศ
ระหว่างนั้น พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ได้ตั้งโรงเรียนรบขึ้น และข้าพเจ้าถูกแต่งตั้งให้เป็นนายทหารคนสนิทของผู้อำนวยการโรงเรียนรบ ไม่ได้ไปเรียนต่างประเทศตามที่ตั้งความมุ่งหมายไว้ ร.ท. แสงเห็นว่าข้าพเจ้าอยู่ในเมืองไทย สามารถติดตามไปรับราชการร่วมกันได้ จึงสละสิทธิการเป็นศิษย์การบินทันที ทั้ง ๆที่มีใจรักชีวิตนักบินอย่างเหลือล้น แล้วหันมาสมัครเป็นนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบ ซึ่งได้รับการคัดเลือกสมความมุ่งหมายของเขา
ร.ท. แสง แสดงความจงรักภักดี ติดตามข้าพเจ้าไปทุกแห่งหน เรามีความผูกพันทางจิตใจกันอย่างเหนียวแน่นลึกซึ้ง ข้าพเจ้าไม่เคยเอ่ยวาจาชักชวนเขาแม้แต่คำเดียว แต่เขาเข้าใจ และสมัครที่จะใช้ชีวิตใกล้ชิดข้าพเจ้า มันเป็นความปรารถนาสุดยอดของเขาอย่างแท้จริงและอิสระ
น้ำรักระหว่างข้าพเจ้าและแสงเป็นน้ำรักอมตะ บริสุทธิ์ เหนียวแน่น
แสงเป็นชายโสด ไม่มีความสนใจในการเมืองเท่าๆกับหญิงสาว สตรีหลายคนในจังหวัดเชียงใหม่พยายามทอดสะพานให้เขาเดิน แต่เขาไม่ใยดี สิ่งที่เขาพึงใจและขาดไม่ได้ คือ สุรา และบิลเลียดเท่านั้น
……..
พล. ท. พระยาเทพหัสดิน ได้กล่าวว่า ความผิดฉกรรจ์ของนายทหารหนุ่มทั้ง 5 คน ก็มีเพียงเพราะเคยเป็นศิษย์ใกล้ชิดสนิทสนมกับ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชเท่านั้น
นายทหารหนุ่มทั้ง 5 นั้น คือ:-
1. ร.ท. แสง วัณณศิริ 2. ร.ท. เสริม พุ่มทอง 3. ร.ท. สัย เกษจินดา 4. ร.ท. บุญลือ โตกระแสร์ 5. ร.อ. จรัส สุนทรภักดี
ข้าพเจ้ารู้จัก ร.ท. เสริม พุ่มทอง เมื่อสามปีก่อนที่เขาจะถูกศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิต คือ ในขณะโรงเรียนรบเปิดรับสมัครนายทหาร เพื่อนำมาฝึกอบรมที่จังหวัดเชียงใหม่
ร.ท. เสริม พุ่มทอง เป็นผู้มีนิสัยเงียบขรึม พูดน้อย แต่ละคำพูดมีสารประโยชน์ ทำงานจริง ขยันหมั่นเพียร และชอบช่วยเหลือนายทหารอื่นๆ เช่น รับอาสาขับรถยนต์ประจำตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนรบ แทนข้าพเจ้า เขาเป็นชายโสด จึงขอร่วมรับประทารอาหารที่บ้านข้าพเจ้าทุกมื้อ เหมือน ร.ท. แสง
ร.ท. เสริม เกลียดข่าวการเมืองในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน เขาไม่ชอบไม่สนใจ ชอบอ่านแต่สารคดีความรู้และตำราทหารเท่านั้น
ทั้ง ร.ท. แสง และ ร.ท. เสริม ต่างเป็นโสดด้วยกัน จึงพักอาศัยในบ้านนายทหารหลังหนึ่งร่วมกัน เมื่อถึงเวลารับประทานอาหารทั้งสามมื้อ เขาจะมาร่วมกับข้าพเจ้า เรามีเวลาสนทนาใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นพิเศษมากกว่านายทหารอื่นๆ ข้าพเจ้าจึงทราบชีวิตจิตใจและความเป็นไปของเขาดี แม้ในส่วนลึกแห่งความนึกคิดของเขา
ร.ท. เสริม ชอบแต่งกายสวยงาม สะอาด และรักการกีฬากลางแจ้ง เช่น เทนนิส ฟุตบอล ตรงข้ามกับ ร.ท. แสง ผู้ซึ่งบูชาสุราเมรัยและบิลเลียด มากกว่าอาหาร แต่ทั้งสองก็เป็นเพื่อนรักซึ่งกันและกัน เพราะเขารักนับถือข้าพเจ้าเสมือนพี่ชายร่วมอุทร
ทั้ง ร.ท. แสง และ ร.ท. เสริม มักจะทำหน้าที่รับใช้ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช และครอบครัวแทนข้าพเจ้า ซึ่งติดราชการในกองบังคับการ ฯ บ่อยๆ สิ่งนี้เองเป็นสาเหตุแห่งความตายของเขา พยานเท็จให้การปรักปรำบุคคลทั้งสองว่า มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้อำนวยการโรงเรียนรบเป็นพิเศษกว่านายทหารอื่น แม้ว่า ร.ท. เสริม และข้าพเจ้าจะมีเวลาใกล้ชิดสนิทสนมกันเพียงสองปีเศษ แต่ความรักของข้าพเจ้าที่เคยมีต่อเขาไม่น้อยไปกว่าที่ข้าพเจ้ารักและวางใจใน ร.ท. แสง วัณณศิริ
ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ร.ท. เสริม ฯ เป็นบุคคลที่รักใครแล้วรักจริง มั่นคงเหมือนเสาหิน ความคิดข้อนี้แสดงปราฏชัดในเวลาสามปีต่อมา ขณะที่ทางราชการกลาโหมเรียกตัวนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบมาสอบสวนในกระทรวงที่กรุงเทพฯ และยิ่งมั่นคงขึ้นไปอีก ตลอดเวลาที่ต้องหาเป็นกบฏอยู่ในคุกจนถึงวันประหารชีวิต”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง
ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง
พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย
ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง