ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 21)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  ) 

กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าเกี่ยวกับ ร.ท. ณ. เณร ตาละลักษม์ มีผู้เขียนถึงไว้พอสมควร ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงข้อเขียนของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ ซึ่งได้เขียนไว้ในบทที่สิบเอ็ด โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ‘บุรุษผู้ไม่รู้จักความตาย’                             

“…….ชื่อ ณ. เณร ก็แปลกอยู่ แถมยังพิสดารอะไรประหลาดๆอีกด้วย จึงเล่าลือกันในโรงเรียน ฯ แม้ว่า ณ. เณร จะออกรับราชการเป็นนายทหารไปแล้ว

ข่าวต่อมาได้ทราบว่า นักเรียนทำการนายร้อย ณ. เณร ตาละลักษม์ ประจำการที่มณฑลทหารบกปราจีนบุรี สร้างเรื่องตลกขบขันแกมโลดโผนอีกเรื่องหนึ่ง

ทูตทหารญี่ปุ่นจะเดินทางไปเยี่ยมค่ายทหารปราจีนบุรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกขณะนั้นดูเหมือนจะมียศสูงมาก ขนาดนายพลตรี บรรดาศักดิ์พระยา มีความหนักใจที่จะจัดหาตัวนายทหารติดต่อประจำคณะทูต ระหว่างดูงาน ณ กรมกองนั้น จึงเรียกประชุมนายทหารทั้งปวงประมาณ 30-40 คน  แจ้งเรื่องให้ทราบแล้วถามความสมัครใจว่า นายทหารผู้ใดจะอาสาทำหน้าที่นายทหารติดต่อ ท่านย้ำว่านายทหารติดต่อควรจะพูดภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นได้ตามสมควร

ที่ประชุมเงียบกริบ นายทหารต่างก็จ้องมองหน้ากันเป็นเวลานาน ไม่มีผู้ใดอาสา ทันใดนั้น นายทหารหนุ่มฟ้อ นามกรนักเรียนทำการนายร้อย ณ. เณร ลุกขึ้นขอรับทำหน้าที่นั้น ที่ประชุมคงพอใจ คาดหมายว่า นายทหารหนุ่มคนนี้มีท่วงทีอาจหาญ พึ่งสำเร็จการศึกษาใหม่ๆ คงจะเล่าเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นพิเศษมาแน่  แต่ผู้บัญชาการกองพลไม่แน่ใจนัก จำเป็นต้องทดสอบโดยเฉพาะภาษาญี่ปุ่นก่อน เพราะมันเป็นงานใหญ่สำคัญ จึงถามว่า

‘คุณ ณ. เณร ! คุณพูดภาษาญี่ปุ่นได้หรือ ?’

‘พูดได้ขอรับ’ นายทหารหนุ่มตอบ

‘เพื่อความมั่นใจ ขอให้คุณพูดสัก 2-3 ประโยค’                                                                                                  นายทหารหนุ่มยิ้มระรื่น แสดงความมั่นใจที่ประชุมเงียบกริบเงี่ยหูฟัง ดวงตาทุกดวงเพ่งจับใบหน้านักเรียนทำการนายร้อย ณ. เณร เป็นจุดเดียว  หลายคนคิดว่าเขาต้องพูดภาษาญี่ปุ่นได้แน่ อย่างน้อยก็แบบงูๆ ปลาๆ ขอข้าวขอน้ำกินได้ มิฉะนั้น คงไม่กล้ารับอาสาต่อผู้บัญชาการกองพล ซึ่งเป็นนายทหารชั้นสูงสุด ณ ที่นั้น

ด้วยท่วงทีองอาจ ปราศจากความหวาดหวั่น น้ำเสียงมั่นคงแจ่มใส ภาษาญี่ปุ่นได้หลั่งไหลออกมาจากลำคอนายทหารหนุ่ม ท่ามกลางที่ประชุมว่า

‘โตเกียว เกียวโต โกเบ โยโกฮามา โอซากา ฟูจิยามา นาโกย่า ซาไก...’                                 

ที่ประชุมตะลึง !  คำพูดญี่ปุ่นเหล่านั้น เป็นชื่อเมืองสำคัญของประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้น”

---------------

จากที่ สำรวจ กาญจนสิทธิ์เล่าเกี่ยวพฤติกรรมดังกล่าวนี้ของ ร.ท. ณ. เณร ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ร.ท. ณ. เณร น่าจะเป็นคนติดตลก อารมณ์ดี และกล้าทำอะไรแผลงๆ อย่างเช่นที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า เมื่อลูกน้องจีนฮงรับจ้างซักผ้าและเกิดทำเสื้อผ้าของเขาหายไป 2-3 ชิ้น เขาก็ลงโทษโดยการแกล้งวิ่งไล่เตะ “เป็นการกระเซ้าเล่นตามวิสัยคะนอง”  คำว่า คะนอง ที่สำรวจใช้น่าจะอธิบายอุปนิสัยของ ร.ท. ณ. เณรได้ดีกว่าแค่แผลง 

แต่อีกคำหนึ่งก็น่าจะเหมาะไม่น้อย นั่นคือ ระห่ำ     

----------------                                     

สำรวจ ได้เล่าวเรื่อง ร.ท. ณ. เณรต่อว่า เขา “เป็นนายทหารหนุ่มมีชีวิตการเมืองผาดโผน  แต่มิใช่แบบอาศัยความเป็น ‘ผู้ก่อการ ฯ 24 มิถุนายน 75’  ก้าวกระโดดขึ้นมามีชื่อเสียงเด่นในระบอบประชาธิปไตย เขาเป็นนักประชาธิปไตยเต็มตัว ในสมัยที่ราษฎรส่วนใหญ่ ยังคงงงงวยต่อคำรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย เมื่อปี 2476  ร.ท. ณ. เณร สมัครใจถอดเครื่องแบบทหาร ซึ่งใครๆ สมัยนั้นยังหลงใหลบูชาเป็นอย่างมากมาสวมใส่เสื้อพลเรือน  เป็นราษฎรเต็มขั้นด้วยความภาคภูมิใจ เขาเป็นนายทหารประจำการคนเดียวเท่านั้น ที่หาญเข้าสู่เกมการเมืองโดยเปิดเผย  และซื่อตรงต่อระบอบประชาธิปไตย โดยสมัครเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ในปี พ.ศ. 2476  ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นการเลือกผู้แทนฯ โดยราษฎร แต่ในปีนี้ เขาพลาดความหวัง เพราะชื่อเสียงยังไม่เด่นเป็นที่คุ้นหูแก่ประชาชนพอ แม้กระนั้นก็ได้รับความนิยมสูง โดยมีคะแนนเสียงเป็นที่ 4  ของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด ผู้ได้คะแนนเสียงสูงกว่า 3 คน ได้รับเกียรติเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร

การพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแรกอย่างหวุดหวิด ทำให้เกิดความมุมานะ จึงดำเนินการคบหาสมาคมกับประชาชนทั่วไป  ทั้งในวงสังคมชั้นสูง ชั้นกลางและชั้นธรรมดา ใช้ชีวิตคลุกคลีกับกรรมกร ชาวนา ชาวสวน ผู้ยากจนข้นแค้นเพื่อทราบชีวิตความเป็นอยู่แท้จริง

ในการเป็นนักการเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือในการโฆษณา แถลงนโยบาย รายงานการปฏิบัติตนแก่ผู้แทนราษฎรทั้งประเทศ ให้เข้าใจ และข้อสำคัญ ใช้เป็นสื่อสารกลางรายงานความเคลื่อนไหว การบริหารของรัฐบาลไปสู่ประชาชน พร้อมด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ตามระบอบประชาธิปไตย  ร.ท. ณ. เณร จึงหาทุนก่อตั้งหนังสือพิมพ์ขึ้นฉบับหนึ่ง ให้ชื่อว่า ‘ชุมชน’  โดยเป็นเจ้าของและบรรณาธิการพร้อมกัน

เขามิใช่เป็นผู้ร่ำรวยมั่งคั่ง  มีฐานะเหมือนชนชั้นกลาง พอมีอันจะกิน แต่จิตใจกว้างขวางเมตตาอารี และให้การช่วยเหลือแก่คนยากจนมิจำกัด ทำหน้าที่เป็นปากเสียงชนชั้นกรรมกร ชาวนา ชาวสวน โดยมิเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย บทความในหนังสือ ‘ชุมชน’ ส่วนใหญ่เป็นปากเสียงให้แก่กรรมกรผู้ใช้แรงงาน และราษฎรผู้ยากจน ยิ่งนานวัน เขายิ่งได้รับความนิยมจากบุคคลดังกล่าว นักศึกษาและผู้มีใจเป็นธรรมรักระบอบประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

การทำหนังสือพิมพ์เกือบทุกสมัย นับว่าเป็นการเสี่ยงภัยอย่างมาก ถ้าไม่คล้อยตามนโยบายของรัฐบาล แต่ถ้าจะเอาใจประจบประแจงรัฐบาลนัก ก็ขัดกับอุดมการณ์ของนักหนังสือพิมพ์  ซึ่งส่วนใหญ่จะยืนเคียงข้างประชาชน ร.ท. ณ. เณร สมัครใจเบนเข็มหนังสือพิมพ์ไปตามอุดมคติของเขาอย่างปราศจากความเกรงใจรัฐบาล  เขาสมัครเป็นฝ่ายค้านโดยเปิดเผย  สิ่งไรที่รัฐบาลดำเนินไปไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เขาจะเขียนวิจารณ์อย่างรุนแรง ตรงไปตรงมาอย่างกล้าหาญ ซึ่งแน่นอนทีเดียว ราษฎรโดยเฉพาะชาวพระนครธนบุรีย่อมจะต้องศรัทธานับถือเขาเพิ่มขึ้นทุกระยะเวลา

แต่ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลไม่พอใจ พวกนายทหารก่อการฯ ผู้กุมอำนาจการเมืองโกรธแค้นที่เห็นว่า ร.ท. ณ. เณร เคยเป็นนายทหารมาก่อน ควรจะร่วมมือกันสนับสนุนรัฐบาลมากกว่า จึงส่งเพื่อนนายทหารมาเกลี้ยกล่อม แต่มนุษย์อย่าง ร.ท. ณ. เณร ผู้รักอุดมการณ์ประชาธิปไตยเหนือสิ่งใดจึงไม่เห็นพ้องด้วย เป็นเหตุให้คณะก่อการทหารหมายหัวเป็นศัตรูตัวสำคัญ

การแสดงความคิดเห็นในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ‘ชุมชน’ ครั้งสำคัญเกี่ยวกับการคัดค้านพระราชบัญญัติงบประมาณของรัฐบาล ปี 2481  ซึ่งเป็นเรื่องเกรียวกราว ทำให้รัฐบาลเกิดความเกลียดชังอย่างหนัก  ถึงขนาดมีข่าวว่า ร.ท. ณ. เณร ถูกจี้พาตัวไปกรมทหารแห่งหนึ่ง และนายทหารรุ่นหลายคนรุมซ้อมได้รับบาดเจ็บ             

การบีบบังคับเช่นนั้น ไม่ทำให้หัวใจอันแข็งกร้าวของ ร.ท. ณ. เณร หวั่นไหวหวาดกลัวอำนาจนักเผด็จการ แต่เป็นการเพิ่มพลังในการต่อสู้ตามอุดมการณ์ยิ่งขึ้น เขาโจมตีการบริหารของรัฐบาลไม่หยุดยั้ง ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรปี 2481 เขาได้รับความนิยมจากประชาชนชาวพระนครอย่างสูงสุด ได้รับคะแนนเสียงอันดับหนึ่ง และเป็นผู้แทนราษฎรซึ่งประชาชนเลือกสมความตั้งใจที่ถอดเครื่องแบบทหารก้าวกระโดดออกมาเป็นนักการเมืองอย่างทรนงองอาจ”

------------------- 

แค่โดดเด่นขึ้นมาในฐานะผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครและไม่ยอมก้มหัวให้รัฐบาลยังไม่พอ ร.ท. ณ. เณรยังมีประเด็นที่สร้างความไม่พอใจและความหวาดระแวงให้แก่ พ.อ. หลวงพิบูลสงครามเป็นอย่างยิ่ง ประเด็นที่ว่านี้คืออะไร ? โปรดติดตามตอนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป

ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ

“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ

'วรชัย' ชี้ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่ได้รับความเป็นธรรม บอกกลับไทยตามกระบวนการไม่มีสิทธิพิเศษ

นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาบอกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

กกต. มั่นใจเลือกตั้ง นายกอบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ระหว่างไปตรวจเยี่ยมการรับมอบวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเ

เลขาฯกกต.ยันคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างปกครองฯ ที่ศาลรธน.ยกคำร้องไม่เกี่ยว กกต.

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ข้อกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ว่า ศาล