ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 32: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม   

จากตอนที่แล้ว ที่ได้ยกรายงานสถานทูตต่างประเทศที่มีต่อพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยมีสาระสำคัญว่า ทางฝ่ายฝรั่งเศสเห็นว่า การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้นถือเป็น “การรัฐประหาร” ส่วนทางฝ่ายอังกฤษเห็นว่า ไม่ใช่ และเห็นด้วยกับ “การยุบสภาฯ” ครั้งนั้น นั่นคือ ทางอังกฤษเห็นว่าเป็นการยุบสภาฯ   ส่วนในแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและในพระราชกฤษฎีกาใช้คำว่า ปิดประชุมสภาฯ  และผู้เขียนได้ทิ้งคำถามท้ายบทความไว้ว่า “ท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวข้างต้นไปแล้ว ท่านเห็นว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นการทำรัฐประหารตามความเห็นของพันโทรูซ์ หรือไม่เป็นตามความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ?”

------------------

ต่อประเด็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นี้  ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ได้ศึกษาไว้ใน “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520) ได้กล่าวไว้ว่า

“การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี้เป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ในแง่ที่ว่าจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  จริงอยู่ แม้ในรัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทว่าถ้าคิดในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภา หากเกิดกรณีที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์ไว้ได้ รัฐบาลอาจยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามิได้เป็นการกระทำที่จะละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”

--------------

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า การที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯมิไม่ถือว่าเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญและเป็นการทำรัฐประหาร เพราะเป็นไปตามมาตรา 29 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  Ffpสมัยประชุมสภาฯได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกินเก้าสิบวันแล้วด้วย ขณะเดียวกัน ในตอนท้ายของรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้มีข้อความในหมายเหตุท้ายรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 59 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475  มีข้อความที่หน้า ๑๐๐๐ ว่า “หมายเหตุ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกประชุมวิสามัญตั้งแต่วันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ เป็นต้นไป...”     จากรายงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ได้มีการประกาศในที่ประชุมสภาฯวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ว่าจะปิดประชุมสภาฯตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 และจะให้มีการเรียกประชุมวิสามัญในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476  เป็นที่เข้าใจกันในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าประชุมในวันที่ 31 มีนาคมฯ และไม่มีสมาชิกฯผู้ใดทักท้วงการปิดประชุมสภาฯ

ประเด็นต่อไปที่ผู้เขียนจะพิจารณาในตอนนี้  คือ การปรับคณะรัฐมนตรีและการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ที่ปรากฏในประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  เข้าข่ายเป็นการทำรัฐประหารหรือไม่ ?

ต่อประเด็นการปรับคณะรัฐมนตรี ผู้เขียนขอกล่าวถึงความเป็นมาของคณะรัฐมนตรีคณะนี้ก่อนที่จะมีการปรับตามพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475  คณะรัฐมนตรีคณะนี้ถือเป็นคณะที่สอง  หลังจากที่พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีได้เสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรีต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (เจ้าพระยาพิชัยญาติ [ดั่น บุนนาค]) ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กราบบังคมทูลฯถวายรายชี่อคณะรัฐมนตรี และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  อันเป็นไปตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฯที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามข้อความในมาตรา 46: “พระมหากษัตริย์ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกนายหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อยสิบสี่นาย อย่างมากยี่สิบสี่นาย ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานแห่งสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ส่วนการตั้งคณะรัฐมนตรีก็เป็นไปตามประเพณีการปกครองระบอบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั่นคือ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรีด้วย ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาในประเทศไทยจนปัจจุบัน

การปรับคณะรัฐมนตรีแตกต่างจากการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีครั้งแรกตรงที่ผู้รับสนองพระบรมราชโองการไม่ใช่ประธานสภาฯ แต่เป็นนายกรัฐมนตรี

ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 มาตรา 158 กำหนดไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี..”

ดังในพระบรมราชโองการแต่งตั้งคุณเศรษฐา ทวีสินเป็นนายกรัฐมนตรีวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เราจะเห็นว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร  คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่หนึ่งของคุณเศรษฐาตามพระบรมราชโองการประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรีวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567  คุณเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ 

ดังนั้น ในการปรับคณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ที่มีคณะรัฐมนตรีคณะใหม่ทั้งคณะเป็นผู้รับสนองฯเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14 คน ดังรายชื่อต่อไปนี้       

พระยามโนปกรณนิติธาดา, เจ้าพระยาวงษา, เจ้าพระยาธรรมศักดิ์, พระยาเทพวิทุร, พ.ร.ท. พระยาราชวังสัน, พระยาจ่าแสนยบดี, พระยาศรีวิสารวาจา, พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา, พ.อ. พระยาทรงสุรเดช, พ.อ. พระยาฤทธิ์อัคเนย์, พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ์, พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม, น.ต. หลวงสินธุสงครามชัยและนายประยูร ภมรมนตรี

ดังนั้น นอกจากการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญและไม่ถือเป็นการรัฐประหารแล้ว การปรับคณะรัฐมนตรีก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและไม่ถือเป็นการทำรัฐประหารด้วยเช่นกัน                   

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะรัฐมนตรีทั้งสิบสี่คนจะไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน  แต่ตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 กำหนดไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกสิบสี่นายต้องเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกนั้นจะเลือกจากผู้ที่เห็นว่ามีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ แม้มิได้เป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่อาจดำรงตำแหน่งการเมืองได้”   คณะรัฐมนตรีทั้งสิบสี่คนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เพราะคณะรัฐมนตรีทั้งสิบสี่คนนี้เคยดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีคณะที่สองมาก่อนแล้ว

ถ้าการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการปรับคณะรัฐมนตรีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและไม่ถือเป็นการทำรัฐประหาร ที่เหลือที่จะอาจจะเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญและเข้าข่ายการทำรัฐประหาร (เงียบ) ก็คือ การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั่นเอง 

คำถามคือ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราหรือไม่ ? และในช่วงที่มีการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 จนถึงกำหนดประชุมวิสามัญวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ได้มีการงดใช้มาตราอะไรหรือไม่ และอย่างไร  ? 

ป.ล. ขณะเดียวกัน ผู้เขียนอยากจะกล่าวซ้ำอีกครั้งว่า ขอฝากให้ท่านผู้อ่านตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไมพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ถึงต้องทำการรัฐประหาร โดยนำกำลังทหารบีบให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาลาออกจากตำแหน่งในเวลาหัวค่ำของคืนวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476  หนึ่งวันก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญตามที่ได้ประกาศไว้ในรายงานการประชุมสภาฯวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ?”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!

นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง

ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง

พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย

ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง