รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนักสาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล
และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน) )
กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม
ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึง บทที่สิบ อันเป็นบทที่ว่าด้วย “ยุคทมิฬ ศาลพิเศษ” หลักการสำคัญในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 คือ ให้สิทธิรัฐบาลตั้งกรรมการศาล จ่าศาล และอัยการศาลได้ตามแต่รัฐบาลจะแต่งตั้งบุคคลใดก็ได้ ให้ทำหน้าที่ฟ้องร้อง พิจารณาคดี และพิพากษาตัดสิน คำตัดสินของศาลพิเศษให้ถือเป็นเด็ดขาด ไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา และผู้ต้องหาหรือจำเลยจะจัดหาทนายช่วยแก้ต่างมิได้ การให้อำนาจศาลพิเศษอย่างมากมายล้นเหลือและเด็ดขาดเช่นนั้น ผู้รับมอบอำนาจคือ รัฐบาล กรรมการศาลจะกระทำการใดๆได้ทั้งสิ้น แม้ว่าจะผิดกระบวนความยุติธรรมของโลกนี้ เช่น จำเลยจะขอคัดสำนวนฟ้องเพื่อทราบความผิด จะได้คิดหาเหตุผลความจริง แถลงหักล้าง ก็กระทำมิได้ ถ้ากรรมการปฏิเสธ กรรมการจะไม่เชื่อฟังคำพยานจำเลย แม้ว่าจะมีเหตุผลหักล้าง พยานโจทก์แตกสิ้นเชิงก็ได้ ทั้ง ๆ ที่ธรรมดาสามัญชนเห็นว่า ปราศจากความจริง
สำรวจ กาญจนสิทธิ์ กล่าวว่า
“การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างปกปิดอำพรางประชาชนมิให้สนใจ เป็นเวลานานเดือนแล้วเดือนเล่า แต่ภายในคุก ผู้ต้องหาซึ่งกลายเป็นจำเลยได้รับความทุกข์ทรมานสาหัสสากรรจ์
………..จำเลยทุกคนมีความทุกข์ระทมใจ เศร้าหมองสุดกำลัง ใบหน้าแห้งเหี่ยวเหลืองคล้ำ กิริยาเงื่องหงอยอิดโรย แม้จะมีกำลังใจเข้มแข็งเพียงไร แต่ท่ามกลางความเศร้าสลดของจำเลยทั้งหมด มีจำเลยอยู่คนหนึ่งที่แสดงกิริยาท่าทีผิดแปลกไปกว่าคนอื่นอย่างตรงกันข้าม เขาคือ นายลี บุญตา....” (คนงานในบ้านของหลวงพิบูลสงครามเองที่พยายามลอบสังหารหลวงพิบูลสงคราม/ผู้เขียน) [1]
นายลี บุญตา มีความหวังที่จะรอดพ้นความตาย เขาประกาศเปิดเผยว่าจะได้กลับบ้าน เขาพูดหลายครั้งหลายหนอย่างเชื่อแน่ มั่นใจ
‘ท่านจะมารับผมกลับบ้านแล้ว ท่านต้องช่วยผมแน่’ ‘อีกหน่อย ท่านก็จะมารับผมกลับบ้าน’ เขาพูดซ้ำซากอย่างนั้น เพราะมีเงื่อนงำอะไรทำให้เขากล่าวอย่างกล้าหาญ เขากล่าวเพราะมีความหวัง เขาหวังว่า ‘ท่าน’ จะโปรดจะช่วยได้
จำเลยทั้งปวงในตอนแรกหวังว่า จะถูกปลดปล่อยพ้นข้อหา เพราะเชื่อมั่นเหลือเกินว่า ตนมิได้ทำความผิดอะไรเลย จะมีข้อกล่าวหาฟ้องร้องพร้อมพยานได้อย่างไร
ต่อมา เหตุการณ์ในศาลพิเศษสอนให้สำนึกว่าถูกพยานเท็จปรักปรำ มัดเสียแน่น เห็นจะถูกเสวยตะรางกันทั่วทุกจำเลยคนละ 5 ปี 10 ปี และต่างก็สิ้นหวัง จึงวาดแผนชีวิตให้ครอบครัว ตนเองอยู่ในคุกไม่เป็นไร วันหนึ่งต้องได้รับอิสรภาพ พบเห็นบุตรภรรยา
………..จำเลยทุกคนมั่นใจว่า จะไม่มีคำพิพากษาขนาดหนักถึงจะคิดตัวหัวขั้วแห้ง เมื่อเปรียบเทียบกับศาลพิเศษรุ่น 2476
ในที่สุด…..ศาลพิเศษระบุชะตาชีวิตจำเลยไว้ดังนี้
ประหารชีวิต 18 คน (เป็นที่มาของคำว่า กบฏสิบแปดศพ/ผู้เขียน) จำคุกตลอดชีวิต 25 คน ปล่อยตัวพ้นข้อหา 7 คน
หนึ่งในสิบแปดนักโทษประหาร คือ นายลี บุญตา
และนักโทษประหารอีกคนหนึ่งที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไปคือ ร.ท. ณ. เณร ตาละลักษม์
ส่วนผู้ที่ศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับความปรานี เพราะเคยทำความดีมาก่อน คงให้จำคุกตลอดชีวิต 3 ท่าน คือ
พลโท พระยาเทพหัสดิน
กรมขุนชัยนาทนเรนทร
พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์
และในสองท่านกับหนึ่งพระองค์นี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงกรมขุนชัยนาทนเรนทรในรายละเอียดต่อไป
-------------
เกี่ยวกับ ร.ท. ณ. เณร ตาละลักษม์ มีผู้เขียนถึงไว้พอสมควร ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงข้อเขียนของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ ซึ่งได้เขียนไว้ในบทที่สิบเอ็ด โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ‘บุรุษผู้ไม่รู้จักความตาย’
“เมื่อข้าพเจ้ามีชีวิตเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกปี 2482 ก็เคยได้ยินชื่อเสียง ร.ท. ณ. เณร ตาละลักษม์ สมัยที่เขาเป็นนักเรียนนายร้อย จากเพื่อนนักเรียนเก่าหลายคน เพราะเขาเป็นคนอารมณ์รื่นเริง และนิยมสร้างเรื่องขบขันแกมหวาดเสียวกระเซ้าเย้าแหย่ระเบียบวินัยและผู้บังคับบัญชาอยู่เนืองๆ
ในโรงเรียนนายร้อยทหารบก มีจีนไหหลำพวกหนึ่งสมัครเป็นพนักงานเดินโต๊ะ จัดเลี้ยงอาหารนักเรียนนายร้อย และใช้เวลาว่างงานประจำซักรีดเสื้อผ้านักเรียนนายร้อย คิดค่าจ้างเป็นเดือน นักเรียนนายร้อยสบอัธยาศัยจีนไหหลำคนใด ก็ว่าจ้างกันเป็นประจำส่วนตัว ความผูกพันระหว่างนักเรียนนายร้อยและจีนไหหลำเป็นไปอย่างคุ้นเคยสนิทชิดชอบแรมปี บางคนว่าจ้างซักรีดติดต่อกันตั้งแต่เริ่มต้นมีชีวิตเป็นนักเรียนนายร้อย จนออกรับราชการทหาร เป็นเวลา 4-6 ปี
วันหนึ่ง ปรากฏว่านายฮง จีนไหหลำ ผู้รับจ้างซักรีดเสื้อผ้าประจำของนักเรียนนายร้อย ณ. เณร วิ่งหน้าเชิดลงจากโรงที่พัก ไปหานายทหารเวรละล่ำละลักพูดอย่างรวดเร็วแทบจะหายใจหายคอไม่ทันว่า
‘ควน-ควน ณ เนี่ยน เตี้ยะเดี้ยกโขงผม เตี้ยะเอา เตี้ยะเอา’
นายทหารเวรโรงเรียนนายร้อย งงงวยอยู่นาน ฟังไม่ได้ศัพท์ แต่พอสรุปคำพูดเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘คุณ-คุณ, คุณ ณ. เณร เตะเด็กของผม’
ความจริง ณ. เณร แหย่เย้าวิ่งไล่เตะลูกน้องนายฮง ฐานที่เอาเสื้อผ้าไปซักและทำหาย 2-3 ชิ้น ให้ไปค้นหาในห้องของนายฮงก็ไม่ได้คืน จึงโทษด้วยพละกำลังเล็กน้อย เป็นการกระเซ้าเล่นตามวิสัยคะนอง ไม่บาดเจ็บอะไร แต่ลูกน้องคนจีนไหหลำเห็นท่าทาง ณ. เณา เหมือนยักษ์ ก็ตกใจร้องไห้ไปฟ้องนายฮง
ชื่อ ณ. เณร ก็แปลกอยู่ แถมยังพิสดารอะไรประหลาดๆอีกด้วย จึงเล่าลือกันในโรงเรียน ฯ แม้ว่า ณ. เณร จะออกรับราชการเป็นนายทหารไปแล้ว
ข่าวต่อมาได้ทราบว่า นักเรียนทำการนายร้อย ณ. เณร ตาละลักษม์ ประจำการที่มณฑลทหารบกปราจีนบุรี สร้างเรื่องตลกขบขันแกมโลดโผนอีกเรื่องหนึ่ง”
เรื่องเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
[1] เหตุเกิดวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เป็นวันที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกลอบสังหารอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยการใช้ปืนยิง ขณะนั้นนายพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี และวันที่ถูกยิงก็เป็นช่วงเวลาหลังการยุบสภาและก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง
ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง
พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย
ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง