ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 31: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม

จากตอนที่แล้ว ที่ได้ยกรายงานสถานทูตต่างประเทศที่มีต่อพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยมีสาระสำคัญว่า ทางฝ่ายฝรั่งเศสเห็นว่า การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้นถือเป็น “การรัฐประหาร” ส่วนทางฝ่ายอังกฤษเห็นว่า ไม่ใช่ และเห็นด้วยกับ “การยุบสภาฯ” ครั้งนั้น นั่นคือ ทางอังกฤษเห็นว่าเป็นการยุบสภาฯ   ส่วนในแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและในพระราชกฤษฎีกาใช้คำว่า ปิดประชุมสภาฯ  และผู้เขียนได้ทิ้งคำถามท้ายบทความไว้ว่า “ท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวข้างต้นไปแล้ว ท่านเห็นว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นการทำรัฐประหารตามความเห็นของพันโทรูซ์ หรือไม่เป็นตามความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ?”             

------------------

ต่อประเด็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นี้  ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ได้ศึกษาไว้ใน “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520) ได้กล่าวไว้ว่า

“การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี้เป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ในแง่ที่ว่าจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  จริงอยู่ แม้ในรัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทว่าถ้าคิดในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภา หากเกิดกรณีที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์ไว้ได้ รัฐบาลอาจยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามิได้เป็นการกระทำที่จะละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”

--------------

ผู้เขียนขอยกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ที่กล่าวถึงการปิดและการยุบสภาผู้แทนราษฎร ไว้ดังนี้

“มาตรา 29 สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ ท่านว่ามีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่งในระหว่างเวลาเก้าสิบวัน จะโปรดเกล้าฯให้ปิดประชุมก็ได้

มาตรา 30 พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามสมัยประชุม และทรงเปิดปิดประชุม

พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิรมาทรงทำหรือจะโปรดเกล้าฯให้รัชชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือนายกรัฐมนตรีกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้

มาตรา 31 เมื่อเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรก็ได้”   

และ       

“มาตรา 35  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกใหม่ ในพระราชกฤษฎีให้ยุบสภาเช่นนี้ ต้องมีกำหนดให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน”             

ถ้าพิจารณาตามข้อความในพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 จะพบว่า เป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การยุบสภาฯ ดังนั้น การปิดประชุมสภาฯจึงเป็นไปตามมาตรา 29 ที่บัญญัติไว้ว่า

“สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ ท่านว่ามีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่งในระหว่างเวลาเก้าสิบวัน จะโปรดเกล้าฯให้ปิดประชุมก็ได้”

สภาผู้แทนราษฎรที่ปิดไปนี้ เปิดประชุมครั้งแรกวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475  

จากรูปภาพที่ 2 และ 3 จะเห็นได้ว่า ในการประชุมครั้งที่ 47 เป็นการให้นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้สภาลงมติไว้วางใจ เป็นสาระสำคัญของการเปิดประชุมสภาฯครั้งแรก

เมื่อเปิดประชุมสภาฯครั้งแรกวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ตามมาตรา 29 กำหนดให้สภาสมัยหนึ่งๆมีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน  ดังนั้น การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 จึงเป็นไปตามมาตรา 29 เพราะสมัยประชุมสภาฯได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกินเก้าสิบวันแล้วด้วย   ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯจึงมิไม่ถือว่าเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญและเป็นการทำรัฐประหาร

ขณะเดียวกัน ในตอนท้ายของรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้มีข้อความในหมายเหตุท้ายรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 59 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475  มีข้อความที่หน้า ๑๐๐๐ ว่า

หมายเหตุ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกประชุมวิสามัญตั้งแต่วันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ เป็นต้นไป...”                                 

จากรายงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ได้มีการประกาศในที่ประชุมสภาฯวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ว่าจะปิดประชุมสภาฯตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 และจะให้มีการเรียกประชุมวิสามัญในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476  เป็นที่เข้าใจกันในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าประชุมในวันที่ 31 มีนาคมฯ และไม่มีสมาชิกฯผู้ใดทักท้วงการปิดประชุมสภาฯ

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอย้ำอีกครั้งว่า การมีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ประเด็นต่อไปที่ผู้เขียนจะนำมาพิจารณาในตอนต่อไป คือ การปรับคณะรัฐมนตรีและการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ที่ปรากฏในประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476  เข้าข่ายเป็นการทำรัฐประหารหรือไม่ ?         

ป.ล. ขณะเดียวกัน ผู้เขียนอยากจะฝากให้ท่านผู้อ่านตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไมพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ถึงต้องทำการรัฐประหาร โดยนำกำลังทหารบีบให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาลาออกจากตำแหน่งในเวลาหัวค่ำของคืนวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476  หนึ่งวันก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญตามที่ได้ประกาศไว้ในรายงานการประชุมสภาฯวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ?”   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วางมือตรงหน้า ซ่อนไพ่ไว้ข้างหลัง: รัฐบาลที่ไม่กล้าชนภูมิใจไทย

กล้องทุกตัวจับภาพ ภูมิธรรม เวชยชัย ควงแขน อนุทิน ชาญวีรกูล เดินลงจากตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมรอยยิ้มและคำหยอกว่า “เดี๋ยวหอมแก้ม” ท่ามกลางเสียงแซวว่าจะจับมือกันถึงปี 70

‘เพื่อไทยดิ่งเหว ทักษิณมืดมน’ อดีตบิ๊กศรภ. ชี้ไม่เกิน 4 เดือน!

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ชี้พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญวิกฤตศรัทธา จากนโยบายกาสิโน-แจกเงินไม่ดูฐานะการคลัง เตือนบทบาททักษิณครอบงำรัฐบาลจนทุกอย่างมุ่งสู่จุดจบทางการเมืองและกฎหมาย