ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 31: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม    

“รายงานของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารประจำสถานทูตฝรั่งเศส.....

ในท่ามกลางสถานการณ์สับสนตึงเครียดนี้ ‘การรัฐประหาร’ ครั้งใหม่ (ด้วยการประกาศยุบสภา) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 1933 (พ.ศ. 2476) จึงเป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกได้คาดการณ์ไว้แล้ว  รายงานของ พันโท รูซ์ ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวต่างๆ  ก่อนหน้านั้น เช่น การกล่าวสุนทรพจน์ของพันเอก พระยาทรงสุรเดช ต่อกลุ่มนายทหารที่มาชุมนุมกัน ซึ่ง พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้ถือโอกาสนี้แถลงปกป้องตนเองในกรณีที่ว่า ประสงค์จะปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้น ยังมีการเคลื่อนย้ายรถบรรทุกของทหารให้วิ่งไปตามถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ  โดยอ้างว่า ขาดสถานที่ซ้อมรบ จนทำให้ผู้คนยิ่งพากันหวั่นวิตก และเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างกว้างขวาง ไปถึงย่านธุรกิจ  ในส่วนของการรัฐประหารนั้น รายงานระบุว่า ‘ดำเนินการโดยฝ่ายขวาของคณะรัฐบาลปัจจุบัน’ และกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ ดังนี้

…คงต้องรับรู้ว่าการรัฐประหารครั้งนี้ ฝ่ายขวาได้ดำเนินการอย่างแยบยลยิ่ง

บรรดาพลพรรคของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมต่างก็แยกตัวตีจาก ผู้ช่วยที่ซื่อสัตย์ที่สุดของเขา 2 คน คือ นายประยูร [ภมรมนตรี] (ลูกครึ่งเยอรมัน) และ พันเอกพระยาทรงสุรเดช ก็ทอดทิ้งเขาไปอย่างไม่ใยดี  และยังเข้าไปร่วมกับฝ่ายขวา หลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้นถูกหลอกให้ดำเนินการทำแผนพัฒนา ‘เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติอันเป็นที่กล่าวขวัญ โดยรัฐบาลจะเป็นเจ้าของที่ดิน ในขณะที่ราษฎรจะเป็นผู้ออกแรงงานและได้ค่าจ้างให้มีอยู่มีกิน และยังเป็นผู้นำแผนดังกล่าว กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กอปรกับมีการโฆษณาว่า เค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวนี้มี ‘ลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน’ ทำให้เกิดการต่อต้านไม่เห็นด้วยโดยทั่วไป รัฐบาลได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้บังคับใช้กฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์อันเข้มงวดเพื่อขับไล่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม...ความตั้งใจของรัฐบาลก็คือ จัดการให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมสมัครใจเดินทางออกนอกราชอาณาจักรสยามสัก 2-3 เดือน....’

-------------------

ข้อสังเกต: ในความเห็นของพันโท รูซ์ การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราตามในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ถือเป็น “การรัฐประหาร”  

ข้อความในราชกิจจานุเบกษามีดังนี้ คือ

และรัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลในการปิดสภาผู้แทนราษฎรและรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา มีข้อความดังนี้

“รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบเพื่อเป็นที่เข้าใจทั่วกันในเหตุผลอันสำคัญยิ่งซึ่งบังเกิดขึ้น กระทำให้เป็นความจำเป็นที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดแตกแยกกันเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกันและไม่สามารถที่จะคล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสม์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม  และเป็นที่เห็นได้ โดยแน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร  และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ

ในคณะรัฐมนตรีซึ่งมีรัฐมนตรีถึง 20 คน จะหวังให้มีความเห็นเหมือนกันไปทุกสิ่งทุกอย่างเสมอไปนั้นไม่ได้ ก็จริงอยู่  แต่ว่าถ้ารัฐบาลจักดำรงอยู่ในความสามารถบริหารราชการแผ่นดินโดยเรียบร้อยแล้ว  เป็นความจำเป็นยิ่งที่รัฐมนตรีทุกคนจักต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นไปในทางเดียวกันในนโยบายอันสำคัญๆ  ความเป็นไปของคณะรัฐมนตรีในเวลานี้เป็นภาวะอันแสนสุดจะทนทานได้  ไม่ว่าจะเป็นอยู่หรือจะเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองใด และไม่ว่าจะมีรูปรัฐบาลเป็นอย่างไร

สมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้เล่า ก็ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ สภานี้มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ จนกว่าจะได้มีสภาใหม่โดยราษฎรเลือกตั้งสมาชิกขึ้นมา สภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นชั่วคราวเช่นนี้ หาควรไม่ที่จะเพียรวางนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเก่าอันมีอยู่ใช้อยู่ประดุจเป็นการพลิกแผ่นดิน ส่วนสภาในเวลานี้จะอ้างว่าไม่ได้ทำหรือยังไม่ได้ทำกฎหมายอันมีลักษณะไปในทางนั้นก็จริงอยู่ แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมากคนมีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อรัฐมนตรีอันมีจำนวนข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี                 

ความแตกต่างกันในสภา ซึ่งมีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติกับคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในทางบริหารดั่งนี้ เป็นที่น่าอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ โดยกระทำให้ราชการชักช้า เกิดความแตกแยกกันในรัฐบาล ก่อให้เกิดความหวาดเสียวและความไม่แน่นอนแก่ใจประชาชนทั่วไป

ฐานะแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้ จะปล่อยให้คงเป็นต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายอันสูงสุดไม่ว่าในบ้านเมือง และโดยคติเช่นนั้นเท่านั้นที่บังคับให้รัฐบาลต้องปิดสภาและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่

รัฐบาลขอย้ำความข้อหนึ่งว่า  พระราชกฤษฎีกานี้ให้รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา และเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2476

-----------------

และข้อความในหมายเหตุท้ายรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 59 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475  มีข้อความที่หน้า ๑๐๐๐ ว่า

หมายเหตุ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกประชุมวิสามัญตั้งแต่วันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ เป็นต้นไป

หนังสือเล่มนี้ได้ลงรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อนวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ เท่านั้น ตอนต่อไปจะได้จัดพิมพ์ภายหลัง”       

แต่อัครราชทูตอังกฤษกลับมิได้เห็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๑ เมษายน ฯ  ว่าเป็น “การรัฐประหาร”   แต่กลับเห็นว่า 

“การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ ผู้นำรัฐบาลมิได้ดำเนินการเร็วเกินไป สภาแห่งนี้มิได้ตอบสนองวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ และก็มิได้ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นใดๆ แทบจะไม่มีคนในในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่ตราบใดที่ยังคงมีบทบาทในลักษณะของสำนักทะเบียน (registry office) ก็จะไม่มีพิษมีภัยอะไร อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ มานี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและกลุ่มผู้สนับสนุน 3-4 คนในคณะรัฐบาล เมื่อเห็นว่าฝ่ายตนเป็นเสียงข้างน้อย ก็เริ่มกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านขึ้นในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ที่พวกเขาเสนอแต่งตั้งเข้ามาเมื่อมีการจัดตั้งสภาแห่งนี้ พวกเขาไม่มีกลุ่มผู้สนับสนุนนอกสภาแต่ในสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกประมาณ 25-30 คนจากทั้งหมด 70 คนที่พวกเขาพึ่งพาได้ ในเดือนมิถุนายนจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้มีสมาชิกทั้งจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งรวมกัน 240 คน (น่าจะผิดพลาด เพราะตัวเลขที่ถูกต้องคือประมาณ 140 คน/ผู้เขียน) สภาผู้แทนราษฎรก็คงจะกลายเป็นสภาฝูงชน (mob assembly) และก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ลู่ทางเช่นนี้จะทำให้พวกหัวไม่รุนแรงเกิดความวิตกหวาดผวา ข้าพเจ้าเห็นว่าแถลงการณ์ของรัฐบาล [ที่อธิบายเรื่องการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา] เป็นการแถลงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา”

แต่มีข้อสังเกตว่า ในขณะที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวรวมทั้งคำแถลงการณ์ของรัฐบาล ใช้คำว่า “ปิดประชุมสภาฯ”  แต่ในเอกสารคำแปลความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ใช้คำว่า “ยุบสภาฯ” การปิดประชุมสภาฯ ในภาษาอังกฤษ คือ prorogation ส่วนการยุบสภาฯ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า dissolution  ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่า ตกลงแล้ว ต้นฉบับรายงานของอัครราชทูตอังกฤษใช้คำว่าอะไรแน่ระหว่าง prorogation กับ dissolution !

หลังจากที่ท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวข้างต้นไปแล้ว ท่านเห็นว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นการทำรัฐประหารตามความเห็นของพันโทรูซ์ หรือไม่เป็นตามความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ?

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!

นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง

ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง

พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย

ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง