ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 18)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490                 

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก  สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  ) 

กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึง บทที่สิบ อันเป็นบทที่ว่าด้วย “ยุคทมิฬ ศาลพิเศษ” หลักการสำคัญในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 คือ ให้สิทธิรัฐบาลตั้งกรรมการศาล จ่าศาล และอัยการศาลได้ตามแต่รัฐบาลจะแต่งตั้งบุคคลใดก็ได้  ให้ทำหน้าที่ฟ้องร้อง พิจารณาคดี และพิพากษาตัดสิน คำตัดสินของศาลพิเศษให้ถือเป็นเด็ดขาด ไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา และผู้ต้องหาหรือจำเลยจะจัดหาทนายช่วยแก้ต่างมิได้ การให้อำนาจศาลพิเศษอย่างมากมายล้นเหลือและเด็ดขาดเช่นนั้น ผู้รับมอบอำนาจคือ รัฐบาล กรรมการศาลจะกระทำการใดๆได้ทั้งสิ้น แม้ว่าจะผิดกระบวนความยุติธรรมของโลกนี้ เช่น จำเลยจะขอคัดสำนวนฟ้องเพื่อทราบความผิด จะได้คิดหาเหตุผลความจริง แถลงหักล้าง ก็กระทำมิได้ ถ้ากรรมการปฏิเสธ กรรมการจะไม่เชื่อฟังคำพยานจำเลย แม้ว่าจะมีเหตุผลหักล้าง พยานโจทก์แตกสิ้นเชิงก็ได้ ทั้ง ๆ ที่ธรรมดาสามัญชนเห็นว่า ปราศจากความจริงต่อการตั้งศาลพิเศษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยทรงทักท้วงเรื่องการตั้งศาลพิเศษตั้งแต่ครั้งที่รัฐบาลได้ตั้งศาลพิเศษขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 ไว้แล้วว่า

“…นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคล ซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก  คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย  ซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ในเมื่ออำนาจสิทธิ์ขาดยังอยู่ในมือข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าได้ขอร้องให้เลิกใช้วิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม...”

ในการฟ้องคดีกบฏตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 นี้ เป็น “การฟ้องเป็นรูปคดีเดียว” นั่นคือ คดีมี 14 สำนวน ศาลพิเศษพิพากษารวมกันทั้งหมด โดยมีใจความสำคัญในคำฟ้องว่า

“นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นเวลาที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนระบอบการปกครองจากราชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย เป็นประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญเป็นต้นมา ได้มีบุคคลคณะหนึ่งประกอบด้วยข้าราชการทหาร, พลเรือน, ตำรวจ, และราษฎรบางคน ได้สมคบกันเป็นกบฏ ส้องสุมผู้คนและศาสตราวุธโดยเจตนาล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบรัฐธรรมนูญให้เป็นอย่างอื่น..”

และในคำฟ้องนี้ ได้รวมคำฟ้องบุคคลต่างๆตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 จนถึงมกราคม พ.ศ. 2481

พลโท พระยาเทพหัสดิน อดีตแม่ทัพไทยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หนึ่งในจำเลยศาลพิเศษ พ.ศ 2481 ได้กล่าวบางตอนว่า                 

“การสู้คดีครั้งนี้ ฝ่ายเราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่แรกเริ่มตั้ง 99 ในส่วน 100 เพราะนอกจากว่า พวกเราไม่มีใครเป็นนักกฎหมายแล้ว เราไม่มีเครื่องมือใดๆ ที่จะแก้คดี นอกจากกฎหมายอาญาเล่มเดียว เราติดต่อกับใครไม่ได้ แม้จะขอสมุดพกเข้าไปตรวจสอบว่า วันใดเราไปไหน เวลาใดทำอะไร พระขจรเนติยุทธ กรรมการศาลก็ปฏิเสธ  ส่วนทางฝ่ายโจทก์นั้น เนติบัณฑิตเป็นแถว เขามีโอกาสเรียกระดมพยานได้เต็มที่....                     

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่เรือนจำกองลหุโทษก็ได้พยายามให้ความช่วยเหลือและความสะดวกแก่ฝ่ายโจทก์ในทุกสถาน  เช่น ให้โจทก์แอบดูตัวจำเลย มีนางเสงี่ยมนั่งเล่นตากับ ร.ท. ณ เณร ตาละลักษณ์อยู่หลายวัน เรารู้ตัวกัน ต่อเมื่อได้เห็นเขาเข้าไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ในศาล ที่บนศาลเองระหว่างห้องพักพยานกับศาลก็มีรู....

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราขอร้องตามสิทธิของเรา เช่น การขอตรวจสอบดูสำนวนหรือขอให้ได้คัดสำนวนและอื่นๆ ก็ได้ถูกพระขจรเนติยุทธปฏิเสธโดยสิ้นเชิง...”

ในคำฟ้องต่อพลโท พระยาเทพหัสดิน  มีความว่า “ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2478 จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2481 นายพลโท พระยาเทพหัสดิน, นายร้อยโทเผ่าพงษ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, นายดาบผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา....ได้เกลี้ยกล่อมทหารและพลเรือนเพื่อใช้กำลังบังคับรัฐบาล และได้จัดหาบุคคลเพื่อลอบทำร้ายบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล ต่อมาในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2481เวลากลางวัน นายร้อยโทเผ่าพงษ์,  นายดาบผุดพันธ์....ได้มอบอาวุธปืนพร้อมกระสุนให้แก่นายชลอ ฉายกระวี ที่หน้าวัดมกุฏกษัตริย์ เพื่อไปทำการดักยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ที่เชิงสะพานมัฆวาฬ จังหวัดพระนคร ในวันที่ 25 เดือนเดียวกันนั้น เวลากลางคืน นายชะลอ กับ นายดาบผุดพันธ์ ได้นำอาวุธปืนซึ่งบรรจุกระสุนพร้อมแล้วไปคอยดักยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ณ สถานที่ดังกล่าวแล้ว หากมีเหตุสุดวิสัยมาขวางเสีย โดยรถยนต์คันที่นายพลตรี หลวงพิบูลสงครามนั่งไปนั้นแล่นเร็วมาก นายชะลอจึงยิงไม่ทัน ต่อมาระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกดาว ได้ใช้ให้นายชั้น แซ่โง้ว จัดหาจีน เพื่อทำการยิ่งนายพลตรี หลวงพิบูลสงครามกับพวกอีก แต่นายชั้นไม่สามารถจะจัดหาคนรับจ้างยิงนายพลตรี หลวงพิบูลสงครามได้”

ในการต่อสู้คดี พลโท พระยาเทพหัสดินได้บันทึกไว้ว่า

“ข้าพเจ้าคิดว่า เท่าที่ได้ซักพยานแตกหมด และเท่าที่ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ และ ฯพณฯ ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์ พยานโจทก์ ได้ตอบคำถามของข้าพเจ้าอย่างสุภาพบุรุษผู้มีเกียรตินั้น ก็เป็นการเพียงพอแล้วที่ศาลน่าจะต้องยกฟ้อง เว้นเสียแต่ ‘เขา’ จะเอาชีวิตให้จงได้ไซร้  ถึงจะไปเชิญเทวดาองค์ไหนมาเบิกความช่วยข้าพเจ้า ก็ไม่มีประโยชน์อย่างใด...ศาลรับพิจารณาแต่คำให้การของพยาน (โจทก์) ซึ่งโดยมากเป็นพยานอาชีพหรือมีความจำเป็นอย่างอื่น แต่ศาลไม่ได้ให้ความพิจารณาคำให้การของท่านผู้มีเกียรติ เช่น ฯฯพณฯ ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์ และ พ.ต. หลวงไกรสรสิทธิ เป็นต้นเลย

…จะขอแต่เพียงฝากความสังเกตไว้ว่า หลังจากการพิพากษาพวกข้าพเจ้าแล้ว ได้มีการให้ยศ ให้ตำแหน่งสูงแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มากมายเพียงใด...

ส่วนพยานอาชีพ ซึ่งเดิมเป็นผู้ร้ายฆ่าคน ผู้ซึ่งให้การปรักปรำนำพระยาธรณีนฤเบศร์ไปเข้าคุกครั้งหนึ่งแล้วนั้น ในคราวนี้ ก็ได้มาเป็นพยานโจทก์อีกและได้นำนายทหารหนุ่มผู้ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่า ความผิดของเขาก็มีเพียงการเคยเป็นศิษย์ของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช และยังมีความนับถือครูบาอาจารย์ของเขาอยู่เท่านั้น ต้องถูกประหารชีวิตอีก 5 คน นับว่าเป็นผลงดงามในความสำเร็จของการเป็นพยานของเขา..

..ถ้าศาลมีเสรีภาพจริงตามรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาคดีไปตามความยุติธรรม และตามกฎหมายแล้ว เหตุไฉน จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จึงมีเสียงต่อรองที่จะให้ฆ่าใคร และงดเว้นชีวิตใครได้เล่า ?...”                           

ต่อประเด็นที่ พลโท พระยาเทพหัสดินชวนให้ติดตามว่า “หลังจากการพิพากษา…. ได้มีการให้ยศ ให้ตำแหน่งสูงแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มากมายเพียงใด”  ปรากฏว่า หนึ่งในผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้กลายเป็นตำรวจที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และก่อนเสียชีวิตในต่างแดน นิตยสารต่างประเทศได้จัดอันดับให้บุคคลคนนี้มีทรัพย์สินติดหนึ่งในสิบของมหาเศรษฐีของโลกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จี้ 'เศรษฐา-วันนอร์' รับผิดชอบ 'บัตรเบ่ง' ปลิวว่อนทำเนียบ-สภาฯ

เรื่องการวิ่งเต้นหาตำแหน่งทางการเมือง เพื่อนำไปพิมพ์นามบัตร และใช้บัตรประจำตำแหน่ง ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

เตือน 'ทักษิณ' มีบทบาทการเมืองมากเกิน จะกระทบภาวะผู้นำของ 'เศรษฐา'

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ยอมรับว่า สาเหตุที่ไปถอนฟ้องนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตามความผิด ม.157 กรณีเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศั

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 30: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ