ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี
“5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม
ภายใต้บรรยากาศที่สับสนตึงเครียดตั้งแต่ต้น ค.ศ. 1933 เมื่อถึงช่วงปลายเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้น (พ.ศ. 2475 ตามปฏิทินเดิมของไทย) รัฐบาลก็ต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งสำคัญ อันเป็นผลมาจากการที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอ ‘ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ’ และมีร่างโครงการแบบเดียวกันของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเสนอเข้ามาแข่งด้วย อัครราชทูตอังกฤษ ซึ่งรับรู้เรื่องนี้จากทั้งพระยาศรีวิสารวาจาและนายแบกซ์เตอร์ (James Baxter) ที่ปรึกษาด้านการเงินชาวอังกฤษ รายงานว่า ในการพิจารณาเรื่องนี้ในคณะรัฐบาลเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ‘….ที่อาศัยหลักการแบบโซเวียต คือการให้รัฐเป็นเจ้าของที่ดิน แรงงาน และกิจการอุตสาหกรรม ถูกปฏิเสธด้วยมติ 17 ต่อ 3 จึงมีการขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมลาออก หรือมิฉะนั้นก็ให้ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะลาออก แต่ในเรื่องนี้ พระยาศรีวิสารวาจาเองก็ดูจะไม่มีความชัดเจนนัก...’ ([F 3109/42/40] ‘Mr. Dormer to Sir John Simon, 3 April 1933”, British Documents, p. 95-96)
พระยาศรีวิสารวาจายังได้แจ้งแก่อัครราชทูตอังกฤษด้วยว่า ได้มีการขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและกลุ่มผู้สนับสนุน เมื่อไปสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งจะมีการพิจารณางบประมาณ ปลดอาวุธที่เชื่อกันว่าบุคคลเหล่านี้พกพาอยู่ไว้ที่ประตู และหากมีการขัดขืนหรือสภาผู้แทนราษฎรมีท่าทีขัดขวาง (หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีสมาชิกให้การสนับสนุนอยู่ประมาณ 25-30 คนจากทั้งหมด 70 คน) ก็จะให้มีการยุบสภาโดยทันที รวมทั้งจะมีการออกพระราชกฤษฎีการะงับการใช้รัฐธรรมนูญ พระยาศรีวิสารวาจาอ้างแก่อัครราชทูตอังกฤษว่า มาตรการเข้มงวดเช่นนี้มีความจำเป็นยิ่งหากจะให้รัฐบาลทำงานต่อไปได้ และร้อยละ 90 ของกองทัพบกและกองทัพเรือทั้งหมดอยู่ข้างฝ่ายหัวไม่รุนแรงในคณะรัฐบาล
ในบ่ายวันที่พระยาศรีวิสารวาจาได้พบกับอัครราชทูตอังกฤษ (วันที่ 29 มีนาคม) พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพลเรือโท พระยาราชวังสัน ก็เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่หัวหิน ซึ่งก็คงเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาฉุกเฉิน สภาผู้แทนราษฎรซึ่งประชุมกันในวันรุ่งขึ้น ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในการห้ามข้าราชการและทหารบกและทหารเรือเข้าร่วมในกิจกรรมของสมาคมคณะราษฎร อัครราชทูตอังกฤษได้รายงานตามข่าวหนังสือพิมพ์ว่า ในที่สุด มีการลงมติว่า คำสั่งดังกล่าวอยู่นอกเหนืออำนาจ (ultra vires) ของรัฐบาล และหากจะให้คำสั่งมีผลบังคับใช้ จะต้องออกพระราชบัญญัติพิเศษเพื่อวัตถุประสงค์นี้ การถกเถียงในประเด็นนี้และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ที่ตามมา ทำให้ไม่มีเวลาพอทีจะพิจารณางบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้เลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ไปในวันที่ 31 มีนาคม อัครราชทูตอังกฤษได้บรรยายสถานการณ์วันนี้ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
การประชุมในวันที่ 31 มีนาคม ดูตื่นเต้นเร้าใจอย่างมาก ภายนอกพระที่นั่งอนันตสมาคมอันเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีทหารเรือกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่รักษาการณ์อยู่ แต่ภายในมีทหารเรียงรายอยู่ตามผนังทุกด้าน หลังที่นั่งที่จัดไว้สำหรับคณะรัฐมนตรีมีพลแม่นปืน (sharpshooters) จำนวนหนึ่ง ที่ได้รับคำสั่งให้ยิงผู้ใดก็ตามที่แสดงท่าทีคุกคามประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ไม่ได้เข้าประชุมโดยอ้างว่าป่วย (indisposition) ข้ออ้างเดียวกันนี้ คงจะเป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนกลุ่มหัวไม่รุนแรงคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมประชุมด้วย กลุ่มความคิดสุดขั้วจึงเป็นฝ่ายครองสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเข้าประชุม แต่ได้มอบภาระในการแถลงงบประมาณแก่พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามาระ) อธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งไม่ได้เป็นทั้งรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นผู้มีสิทธิที่จะไปปรากฏตัวในสภาแห่งนี้ได้ เมื่อพระยาไชยยศสมบัตแถลงงบประมาณเสร็จแล้ว เขาก็ได้ถามสมาชิก ซึ่งได้ฟังคำแถลงอย่างเงียบๆ ว่า สมควรจะให้ผ่านหรือไม่.....แม้ที่ปรึกษาด้านการเงินจะได้เตือนมาก่อนหน้านี้แล้วว่าควรจะใช้เวลา 1 หรือ 2 วันสำหรับการถกเถียงพิจารณาเรื่องสำคัญเช่นนี้ในรายละเอียด แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลับต้องการให้ผ่านเลยในทันที อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรให้ความสนใจมาก และเริ่มซักถามแต่ละประเด็นตามลำดับ กลุ่มผู้สนับสนุนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมคงจะได้เค้ามาแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล จึงได้จำกัดตนเองอยู่ที่การซักถามข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายเท่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิที่พวกเขาจะทำได้ และในที่สุด รัฐบาลก็ยอมตกลงที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมมาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้นพิจารณาและจัดทำรายงานงบประมาณ....เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่มความคิดสุดขั้วต้องการที่จะขัดขวางมาตการใดๆ ก็ตามที่มิใช่ของตน งบประมาณจึงดูจะไม่มีทางผ่านได้ เพราะจากการที่กลุ่มหัวไม่รุนแรงไม่เข้าร่วมประชุม จึงทำให้คณะกรรมาธิการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นนั้นมีแต่กลุ่มความคิดสุดขั้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเองด้วย
ช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น อัครราชทูตอังกฤษได้พบกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่บ้านของนายสตีเวนส์ ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ และได้สนทนาว่า
“ข้าพเจ้าเห็นว่าเขาเป็นคนฉลาด เป็นมิตร และมีเหตุผลโดยสมบูรณ์ เขามีท่าทีสุภาพอ่อนน้อมแต่ประหม่าขัดเขินแบบชาวสยามโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าพอจะเข้าใจได้ว่า เขาจะรุดหน้าไปในทางที่เขาได้ตัดสินใจแล้วด้วยความกระตือรือร้นและมุ่งมั่น นอกจากนั้น ก็เป็นที่น่าสนใจด้วยว่า ข้าพเจ้าไม่พบร่องรอยของท่าทีต่อต้านอังกฤษ ท่าทีเช่นนี้ เราคาดหมายไว้ว่าจะได้พบหากคนผู้นั้นเป็นคอมมิวนิสต์”
ในวันพรุ่งนี้ คือ วันที่ 1 เมษายน นายสตีเวนส์ ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศก็ได้มาแจ้งแก่อัครราชทูตอังกฤษว่า ในช่วงเวลา 2 ทุ่มของวันนั้น จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาฉุกเฉิน และถ้าหากมีการก่อกวนสร้างความวุ่นวาย รัฐบาลก็จะส่งทหาร 2-3 คนไปประจำนอกสถานทูตแต่ละแห่ง รัฐบาลได้ประกาศยุบสภาในวันนี้ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ประกอบด้วยบุคคลชุดเดิม ยกเว้นกลุ่มที่มีความคิดสุดขั้ว ได้แก่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงเดชสหกรณ์ (หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์) นายตั้ว ลพานุกรม นายแนบ พหลโยธิน และพระยาประมวลวิชาพูล (วงษ์ บุญ-หลง) นอกจากนั้น รายงานอัครราชทูตอังกฤษยังระบุด้วยว่า พันเอก พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเคยอยู่ในกลุ่มความคิดสุดขั้ว ได้มาเข้าร่วมกับฝ่ายหัวไม่รุนแรง
ตามรายงานอัครราชทูตอังกฤษ ไม่มีความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้นหลังการประกาศยุบสภา โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปรับรู้เรื่องราวน้อยมากหรือแทบไม่รู้อะไรเลย แม้กระทั่งหลังจากเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว 24 ชั่วโมง หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและผู้สนับสนุนคนสำคัญๆ ยังมิได้ถูกจับ แต่นอกบ้านของหลวงประดิษฐ์ฯ ก็มีรถยนต์คันหนึ่งและนักสืบ 3 คน ซึ่งมีอาวุธครบมือเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ เพื่อเป็นการเตือนว่า บุคคลเหล่านี้กำลังถูกจับตามองบรรยากาศโดยทั่วไปอยู่ในภาวะตึงเครียด พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา และ พลเรือโท พระยาราชวังสัน ได้ย้ายไปพำนักอยู่ในวังปารุสกวัน (หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเพิ่งจะย้ายออกไปจากสถานทีนี้)
ในการรับรู้และความเข้าใจของอัครราชทูตอังกฤษ หากกลุ่มหัวไม่รุนแรงสามารถจะเสริมฐานะทางอำนาจของกลุ่มให้เข้มแข็งได้ ‘….ก็จะมีความหวังสำหรับอนาคตของสยามมากกว่าที่เคยมีมาแล้ว ไม่ว่าจะในช่วงใดหลังการปฏิวัติเมื่อเดือนมิถุนายนที่แล้ว’
นอกจากนั้น เขายังมีทัศนะที่ค่อนข้างเป็นลบต่อสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นด้วย”
อัครราชทูตอังกฤษมองสภาผู้แทนราษฎรค่อนข้างเป็นลบอย่างไร โปรดติดตามในตอนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดิเรกฤทธิ์ : ปัญหาประชาธิปไตยสุจริตวันนี้
ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊กว่าปัญหาประชาธิปไตยสุจริตวันนี้(11 มกรา
แม่หมอ..มองทะลุ ปี 68 เปลี่ยนนายกฯ ..ยุบสภา-ลาออก!!.. I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
หนาว! คำร้องยุบพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงคำร้องยุบ 6 พรรคการเมืองว่
'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ