ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี
“5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม
“….ความเคลื่อนไหวอีกประการหนึ่ง ซึ่งบ่งบอกสภาพบรรยากาศในขณะนั้นเช่นเดียวกัน คือ การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 50 นาย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นการแถลงการณ์ที่รายงานสถานอัครราชทูตอังกฤษเห็นว่าเขียนด้วย ‘ภาษาที่รุนแรงและไร้เหตุผลที่สุด’ (most violent and unjustified language) ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1932 ก่อนวันที่จะมีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ 3 วัน เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ผู้ที่ทำหน้าที่อ่านคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งรายงานกล่าวว่า อาจเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างแถลงการณ์ฉบับนั้นมากที่สุด คำกราบบังคมทูลได้ท้าวความถึงการที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ได้ทรงมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าและได้ทรงนำพาสยามจนถึงกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบว่า ประกาศคณะราษฎรทำให้พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์รู้สึกโทมนัสอย่างยิ่ง แต่พระองค์ก็ได้ทรงพระราชทานอภัยโทษและทรงขอบใจที่ได้มาทำพิธีขอขมาต่อพระองค์และพระราชวงศ์จักรี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีธรรมในใจ มีความสุจริตใจ และมีน้ำใจนักกีฬา (sporting spirit ในพระราชดำรัสทรงใช้คำว่า ‘ใจเป็นนักเลง’)
อัครราชทูตอังกฤษมีความเห็นว่า การกระทำเช่นนี้ในส่วนของผู้นำการปฏิวัติที่ประสบความสำเร็จ นับว่าหาได้ยากยิ่งในประวัติศาสตร์ จึงสร้างความประทับใจอย่างมากต่อสาธารณชนและก็ควรจะมีผลไกลไปถึงการสร้างความกลมเกลียวและสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ในวันที่มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ อัครราชทูตอังกฤษได้รายงานเหตุการณ์โดยละเอียดโดยกล่าวว่า ‘เหตุการณ์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในตำนานแห่งสยามเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 [ธันวาคม 1932] เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญและพระราชทานแก่ประชาชน โหรหลวงประจำราชสำนักเป็นผู้เลือกวันดังกล่าว โดยระบุว่า ช่วงเวลาอันเป็นมงคลอยู่ระหว่างบ่าย 2 โมง 53 นาที และบ่าย 3 โมง 5 นาที
คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 เริ่มทำงานเกือบจะในทันที รัฐบาลได้พิมพ์เผยแพร่คำแถลงนโยบาย ซึ่งรายงานสถานทูตอังกฤษเห็นว่า ไม่มีอะไร ‘น่าแปลกใจหรือน่าตื่นเต้น’ (รายงานฉบับนี้สรุปสาระสำคัญของคำแถลงนโยบายไว้อย่างค่อนข้างละเอียด) เพียงแต่ประกอบด้วยความมุ่งหมายและหลักการที่จะใช้นำทางการทำงานของรัฐบาลต่อไป นอกจากนั้น รายงานยังระบุด้วยว่า คำแถลงนโยบายนี้มีร่องรอยของอิทธิพลของคนหนุ่มที่เป็นนักอุดมคติ (young idealists) เช่น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายประยูร ภมรมนตรี ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญในการยกร่าง อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัครราชทูตอังกฤษจะเห็นว่า รัฐบาลมีทั้ง ‘ความกระตือรือร้นและความตั้งใจที่ดีที่สุด’ (zeal and the best of intentions) แต่โครงการนโยบายที่ดูจะครบถ้วนสมบูรณ์จะนำไปปฏิบัติจริงได้แค่ไหน คงจะต้องดูกันต่อไป
ที่สำคัญก็คือ เมื่อถึงต้น ค.ศ. 1933 เค้าลางแห่งความยุ่งยากไม่ลงรอยก็เริ่มปรากฏ เหตุการณ์หนึ่งคือ ในช่วงต้นเดือนมกราคมปีนั้น มีผู้ยื่นขอจัดตั้ง ‘คณะชาติ’ (Nationalist Association) [1] ตามการรับรู้และความเข้าใจของสถานอัครราชทูตอังกฤษ ผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งองค์กรนี้ส่วนใหญ่คือ ข้าราชการระบอบเดิมที่สูญเสียตำแหน่งของตนภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนเหล่านี้ แม้ว่าจะมิได้มีความโดดเด่นในสังคมสยามสมัยนั้นเท่าใดนัก แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า เป็นผู้มีความคิดไม่รุนแรงและจงรักภักดีต่อรัฐ นโยบายของคณะชาติแทบมิได้แตกต่างไปจากของรัฐบาล แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ความมุ่งหมายหลักก็คือ การสร้างฐานสนับสนุนจากผู้มีความคิดแนวอนุรักษ์นิยมเพื่อให้เป็น ‘กลุ่มฝ่ายค้าน’ (the Opposition) ที่อยู่ตรงข้ามกับสมาคมคณะราษฎร และเพื่อจะได้สามารถล้มรัฐบาลได้ตามแนวทางรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี อัครราชทูตอังกฤษเห็นว่า เป็นการยากที่จะเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้จะสามารถก่อให้เกิดความมั่นใจใดๆ ได้มากนัก
ปัญหาสำหรับเรื่องนี้ก็คือ กลุ่มหัวไม่รุนแรงในรัฐบาลคณะราษฎร โดยเฉพาะพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา และพลเรือโท พระยาราชวังสัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็มิได้เห็นด้วยกับการจัดตั้งสมาคมคณะราษฎรขึ้น ให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า หากจะไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งสมาคมคณะชาติ เพื่อความยุติธรรม สมาคมคณะราษฎรก็ควรจะถูกยุบเลิกไปด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นด้วยกับบุคคลทั้งสามนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะให้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นในสยามขณะนั้น แม้ความเห็นดังกล่าวนี้จะได้รับการยอมรับในที่สุด แต่ก็ได้สร้างความไม่พอใจและถูกต่อต้านจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างรุนแรง
ในช่วงที่รัฐบาลยังมิได้มีมติจะให้มีการจัดตั้งคณะชาติขึ้นหรือไม่นั้น และกระแสสื่อมวลชนก็ค่อนข้างจะต่อต้านนั้น ก็มีความพยายามที่จะลอบสังหารพลตรี พระยาเสนาสงคราม ที่เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ร่วมก่อตั้งคณะชาติ บุคคลผู้นี้คือ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจาการขัดขืนการจับกุมในวันที่มีการยึดอำนาจในเดือนมิถุนายน 1932 เหตุการณ์นี้ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และทำให้สถานการณ์เริ่มยากลำบากสับสนและตึงเครียดขึ้นทันที จากนั้นในวันที่ 14 มกราคมก็มีการจับกุมชาย 2 คนที่แจกใบปลิวต่อต้านคณะชาติที่สะพานพุทธยอดฟ้า โดยความในใบปลิวระบุว่า จะเป็นอันตรายต่อสยามหากให้มีการจัดตั้งคณะชาติขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากถูกจับกุมแล้ว จึงปรากฏว่า ชายทั้งสองคนเป็นชาวจีนไหหลำ นอกจากนั้น ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ ก็มีการจับกุมผู้แจกใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์ด้วย
แม้จะมีการออกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 1933 [พ.ศ. 2475 ตามปฏิทินเดิมของไทย] แต่บรรยากาศทางการเมืองตามการรับรู้และความเข้าใจของตะวันตก ก็ดูจะค่อยๆ ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินมาในพระราชพิธีฉัตรมงคล [วันที่ 25 กุมภาพันธ์] เนื่องจากพระพลานามัยของพระองค์ทำให้ไม่ทรงสามารถเสด็จพระราชดำเนินมาได้ ประกอบกับการที่เป็นที่ทราบกันทั่วไปในขณะนั้นว่า มีความไม่ลงรอยกันในคณะรัฐบาล ก่อให้เกิดข่าวลือต่าง ๆ นานา ที่สร้างบรรยากาศตื่นเต้นตึงเครียดเหมือนช่วงก่อนที่จะมีการยึดอำนาจเดือนมิถุนายน 1932
ในเดือนต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งห้ามทหารประจำการทั้งในกองทัพบกและกองทัพเรือเข้าร่วมประชุมหรือให้การสนับสนุนสมาคมทางการเมืองใด ๆ คำสั่งนี้ครอบคลุมข้าราชการทุกคนด้วย ยกเว้นผู้ที่เป็นสมาชิกสมาคมคณะราษฎร บุคคลเหล่านี้ต้องตัดความเกี่ยวข้องกับสมาคมแห่งนี้ในทันทีที่หาผู้ที่เป็นสมาชิกแทนได้ รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิเสธสมาคมคณะราษฎรมิใช่เพราะไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมการดำเนินงานของสมาคมนี้ แต่เป็นเพียงเพราะจะได้มีเหตุผลที่ชอบธรรมในการปฏิเสธการรับรองคณะชาติ ซึ่งอาจกลายมาเป็นพรรคฝ่ายค้านได้ในอนาคต
รายงานอัครราชทูตอังกฤษชี้ให้เห็นว่า ขณะนั้น ประชาชนในกรุงเทพฯ พลอยวิตกกังวลจนประสาทเสียเป็นระยะ ๆ (periodic attacks of nerves) เพราะข่าวลือเหลวไหลไร้สาระต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยไม่เสด็จพระราชดำเนินจากหัวหินมาในการพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ดังได้กล่าวแล้ว การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนครนั้น รายงานอัครราชทูตอังกฤษยืนยันว่า เพราะพระพลานามัยไม่ดี และอาจจะไม่ทรงสามารถทนกับอากาศร้อนชื้นของกรุงเทพฯ ได้จริงๆ แต่รายงานก็ตั้งข้อสังเกตในขณะเดียวกันว่า
ดูเหมือนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงอยู่ในภาวะเครียดอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ทรงถูกกดดันมาตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา พระองค์ทรงวิตกจากการที่ต้องทรงอยู่โดดเดี่ยวที่หัวหิน และทรงเข้าใจไปเองว่า สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่จริง ๆ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
[1] ผู้ยื่นขอจัดตั้ง “คณะชาติ” คือ หลวงวิจิตรวาทการ เพื่อให้เป็นองค์กรทางการเมืองที่มีลักษณะเทียบได้กับ “คณะราษฎร” แต่เนื่องจากในขณะนั้น ยังไม่มีทั้งคำว่า “พรรคการเมือง” และพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรประเภทนี้ [นอกจากนั้น ในเดือนสิงหาคม 1932 ก็ได้มีการจัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” โดยพระยานิติศาสตร์ไพศาล (วัน จามรมาน)] องค์กรที่หลวงวิจิตรวาทการขออนุญาตจัดตั้งจึงมีฐานะเพียง “สมาคม” ตามชื่อ “Nationalist Association” ที่ต่างชาติเรียก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง
ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง
พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย
ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง