รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ
หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์
สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก
สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา
สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล
และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน) )
กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม
ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ที่ถูกเรียกขานว่า “กบฏพระยาทรงสุรเดช” ไว้ในบทที่เจ็ด ที่เขาตั้งชื่อบทว่า “อาณาจักรแห่งความหวาดกลัว”
ผู้เขียนจะได้หยิบยกสาระสำคัญของบทที่เจ็ดมาเล่าไปแล้ว ในตอนนี้จะขอกล่าวถึงบทที่แปด อันเป็นบทที่ว่าด้วย “เหยื่อการกวาดล้าง”
“การจับกุมยังคงดำเนินต่อไป เหยื่อแห่งการกวาดล้างครั้งนี้มาจากหลากแหล่งหลายพรรค หลายกลุ่ม เป็นการจับกุมเบ็ดเสร็จแบบสงครามเบ็ดเสร็จ รวบหัวรวบหางผู้สงสัยไว้หมดและกวาดล้างพร้อมกันในคราวเดียว เป็นการปราบปรามครั้งใหญ่มโหฬารของรัฐบาลที่อ้างว่า กระทำไปเพื่อชาติบ้านเมืองยังความหวาดหวั่นกลัวเกรงให้แก่ประชาชนอย่างมาก
เหยื่อรายสำคัญๆ คือ
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว. ประยูร อิศรศักดิ์) ในความอำนวยการจับของ ร.ต.ท. แสวง วงษ์ลิขิต นำกำลังตำรวจหน่วยหนึ่ง อาวุธครบมือล้อมบ้านอดีตรัฐมนตรีมหาดไทยที่ถนนพญาไท เชิงสะพานราชเทวีไว้อย่างแน่นหนา ตอนใกล้สว่าง แล้วเชิญตัวท่านเจ้าของบ้านไปสอบสวน ณ ที่ทำการตำรวจสันติบาล แล้วฝากขังไว้ที่สถานีตำรวจศาลาแดง
พล ท. พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน) อดีตแม่ทัพทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นเหยื่อสำคัญยิ่ง ฉะนั้น ผู้ที่รับผิดชอบการจับกุม จึงเป็นหน้าที่ของ พ.ต.ต. บรรจง ชีพเป็นสุข ผู้กำกับการตำรวจสันติบาลที่สอง กองสืบราชการลับฝ่ายการเมือง นำกำลังตำรวจประมาณหนึ่งหมวด (20 คน) ล้อมบ้านตำบลมักกะสัน ปลายถนนศรีอยุธยาไว้ตั้งแต่ 04.00 น. ยังไม่จับกุม แต่ห้ามผู้คนออกนอกบ้าน รอจนกระทั่ง ร.ท. เผ่าพงศ์และนายดาบผุดพันธ์ เทพหัสดิน บุตรชายทั้งสองมาเยี่ยมบิดา จึงได้ลงมือจับกุมทั้ง 3 คน ไปขังไว้ ณ ที่ทำการกองตำรวจสันติบาล
พระสิทธิเรืองเดชพล อดีตผู้บังคับทหารราบและอดีตรัฐมนตรี เป็นเหยื่อรายสำคัญอีกคนหนึ่ง นับแต่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับทหารราบ คุมกำลังทหารราบทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ไว้ถึงเก้ากองพัน พอถึงระยะนี้ สบโอกาสกวาดล้าง จึงรวบเป็นเหยื่อตัวใหญ่อีกคนหนึ่ง
เหยื่อรายต่อไปคือ นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้แทนฯ กระเดื่องนาม คัดค้านการกระทำมิชอบของฝ่ายบริหาร เป็นที่เกลียดชังของผู้ก่อการทั้งทหารและพลเรือนยิ่งนัก ถูกค้นบ้าน แต่มิได้หลักฐานแต่อย่างใด ระหว่างตรวจค้น นายเลียง ไชยกาลกำลังไปทำธุระการงานที่จังหวัดนครราชสีมา
ร.ท. ณ เณร ตาละลักษณ์ ถูกค้นบ้าน ตามข่าวว่า ได้ขวดหมึกสีแดง สงสัยว่าจะเป็นยาพิษที่ใช้ในการทำอันตราย พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ระหว่างค้นบ้าน ร.ท. ณ เณร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครได้เดินทางไปจังหวัดภาคใต้
ร.ท. ณ เณร ทราบข่าวการจับตายพันตรีสามคนทางวิทยุกระจายเสียง (พ.ต. หลวงราญรณกาจ พ.ต. หลวงวรณสฤช และ พ.ต. หลวงสงครามวิจารณ์ โดยทางการอ้างว่า ทำลายชีวิตตัวเองบ้าง โดนลูกหลงบ้าง/ผู้เขียน) จึงรีบเดินทางเข้าพระนครเพราะเกรงการยิงทิ้ง เขาต้องการต่อสู้คดีในศาลยุติธรรม เมื่อถึงพระนคร ก็ถูกควบคุมตัวโดยสันติบาลตลอดเวลาและในที่สุดถูกจับ ณ บ้าน ตำบลผ่านฟ้าลีลาศ ถนนนครสวรรค์ ตามข่าวกล่าวว่า ตำรวจที่เชิญตัวผู้แทนราษฎรคนนี้ได้ไส่กุญแจมือเหมือนผู้ร้ายฉกรรจ์ นำไปขังไว้ที่สถานีตำรวจบุปผาราม บางแห่งว่า สถานีตำรวจบางกอกน้อย ธนบุรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร โอรสพระมหากษัตริย์ ก็ถูกเป็นเหยื่ออันเหี้ยมหาญนี้ด้วย เริ่มโดยการตรวจค้นวังหาหลักฐานว่าเป็นกบฏ ขณะตรวจค้น พระองค์ประทับ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้นทรงทราบว่ารัฐบาลสงสัยในพระองค์ ก็รีบเสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยด่วน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2481 ตำรวจเชียงใหม่คงจะส่งข่าวให้กรมตำรวจทราบการเคลื่อนไหวโดยตลอด ฉะนั้น เมื่อรถไฟด่วนสายเหนือเทียบชานชาลาหัวลำโพง พ.ต.ต. บรรจง ชีพเป็นสุข นายตำรวจสันติบาล นายตำรวจสันติบาลตัวฉกรรจ์จึงไปต้อนรับแบบจับกุม เชิญเสด็จที่ทำการสันติบาลสอบสวน แล้วเชิญพระองค์ไปฝากขังไว้ ณ สถานีตำรวจพระราชวัง ห้ามเยี่ยม ห้ามแม้กระทั่งบุคคลอื่นเดินผ่านห้องที่ประทับเด็ดขาด ตามข่าวกล่าวว่า พระองค์ทรงยิ้มแย้มและทรงพระสรวลตลอดเวลา แม้จะถูกกล่าวหารุนแรง และปฏิบัติแก่พระองค์อย่างไม่มีเยื่อใยให้พระเกียรติในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูง
การกระทำทั้งนี้ เป็นข่าวยังความขมขื่นแก่พระบรมวงศานุวงศ์ทั่วไปอย่างมาก
เหยื่อรายใหญ่ชิ้นต่อมาคือ พ.อ. หลวงชำนาญยุทธศิลป์ อดีตรัฐมนตรีผู้ก่อการคนสำคัญ สาย พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ขณะนั้น ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษโดยทางการส่งไปดูการทหาร และถูกปลดออกจากประจำการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2481 รัฐบาลแถลงเหตุผลว่าเป็นคนหนึ่งที่ร่วมมือในแผนการกบฏครั้งนี้ พ.อ. หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้เดินทางกลับประเทศไทยทันที โดยหวังจะเจรจาพาทีกับนายทหารก่อการด้วยกัน เพราะสนิทสนมรู้ตื้นลึกหนาบางซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี เชื่อมั่นตนเองว่า มีเหตุผลจะอ้างอิงในความบริสุทธิ์ของท่าน โดยหารู้ไม่ว่าขณะนี้ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม และ พ.ต.อ. หลวงอดุลย์เดชจรัส วางแผนกำจัดกวาดล้างแบบถอนรากถอนโคน ไม่ว่าใครก็ตามที่ยังแสดงความจงรักภักดีต่อ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช เป็นจับหมด ไม่มีข้อหาอะไรก็ปั้นเท็จขึ้นใส่ร้าย ตั้งข้อหาจนได้
เมื่อเดินทางกลับสิงคโปร์ พ.อ. หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ก็ได้พบกับญาติมิตรผู้หวังดี เดินทางจากประเทศไทยไปต้อนรับ หวังจะยับยั้งมิให้ท่านก้าวเท้าเหยียบเมืองไทย เพราะมรสุมร้ายแรง ไม่มีทางจะเจรจาปรองดองกับมิตรสหายได้แน่นอน แต่ พ.อ. หลวงชำนาญยุทธศิลป์ เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ใจของตนเองมากเกินไป ไม่ฟังคำทัดทานห้ามปรามผู้หวังดี ฉะนั้น เมื่อเหยียบผืนแผ่นดินไทยก้าวแรก ก็เผชิญหน้ากับ พ.ต.ต. บรรจง ชีพเป็นสุขทันที และถูกควบคุมตัวโดยปริยายตลอดเวลาที่นั่งมาในขบวนรถไฟด่วนสายใต้จนถึงสถานีหัวลำโพง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2481 แล้วถูก ร.ต.อ. เนื่อง อาขุบุตร เชิญตัวไปกรมตำรวจ ในฐานะผู้ต้องหากบฏ”
โปรดติดตามตอนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
หนาว! คำร้องยุบพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงคำร้องยุบ 6 พรรคการเมืองว่
'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร