ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 27: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี “5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม    

…………อุปทูตสหรัฐสรุปสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้อย่างสั้นๆว่า รูปแบบระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในร่างนี้มิได้ต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเท่าใดนัก สถานะของพระมหากษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูให้ดีขึ้นด้วยการมีพระราชอำนาจในการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกคณะกรรมการราษฎรและในการยุบสภาหากมีพระราชประสงค์เช่นนั้น แต่พระราชอำนาจในการยับยั้ง (veto power) เป็นเพียงการยับยั้งชั่วคราวเท่านั้น (suspensive) เหมือนเดิม แต่ข้อจำกัดในพระราชอำนาจนี้ก็ได้รับการทดแทนระดับหนึ่งโดยพระราชอำนาจในการยุบสภา ความไม่ชัดเจนประการหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการมีระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ สถานะของราชวงศ์ ก็ได้รับการคลี่คลายให้ชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ พระบรมวงศานุวงศ์ [ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้า] จะทรงอยู่เหนือการเมืองด้วยการไม่ทรงเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ รายงานระบุว่า เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการแล้ว บุคคลในรัฐบาล ซึ่งได้แก่ คณะกรรมการราษฎรและสภาผู้แทนราษฎร ส่วนใหญ่ก็จะยังคงเหมือนเดิม โดยที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 70 คนจะมีขึ้นเมื่อสภาวการณ์เอื้ออำนวย ซึ่งจะกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งที่ยังมิได้ประกาศใช้ อุปทูตสหรัฐสรุปความสำคัญส่วนหนึ่งในเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

แม้จะเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า ท่าทีของประชาชนต่อรัฐธรรมนูญใหม่เป็นอย่างไร แต่ก็มีเครื่องบ่งชี้ว่า ได้รับความเห็นชอบจากชนทุกชั้น ลักษณะเสรีนิยมของรัฐธรรมนูญ และข้อเท็จจริงที่ว่า พระราชอำนาจและพระเกียรติ (power and dignity) ของพระมหากษัตริย์ กลับมามีมากขึ้นนั้น คาดหมายได้ว่าจะเป็นที่ชื่นชมของประชาชนทั่วไป เชื่อกันว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะส่งผลสำคัญต่อการเสริมสร้างสถานะของรัฐบาลด้วย               

รายงานอัครราชทูตอังกฤษได้เห็นความสำคัญของประเด็นเรื่องพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน โดยได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

…มีการจัดทำบทบัญญัติอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาพระเกียรติและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์บนพื้นฐานแห่งรัฐธรรมนูญ” นอกจากนั้น อัครราชทูตอังกฤษเห็นว่า รัฐธรรมนูญใหม่เป็นผลงานที่สร้างความดีความชอบให้แก่คณะกรรมการยกร่าง โดยเฉพาะแก่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและพระยาศรีวิศารวาจา จากที่ข้าพเจ้าได้ยินมานั้น สองคนนี้ก็สำนึกอีกทอดหนึ่งว่าเป็นหนี้บุญคุณนายเรมอนด์ สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า ได้อุทิศพลังกายทั้งหมดให้แก่ภารกิจนี้

ในขณะเดียวกัน อัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ก็ได้ให้ความเห็นและข้อมูลบางประการที่น่าสนใจยิ่ง ดังนี้

หนังสือพิมพ์ยุโรปและอเมริกันรับรู้เรื่องรัฐธรรมนูญใหม่อย่างเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ (sympathy) และเห็นว่า มีค่าคู่ควร (worthy) เป็นเสรีนิยมและอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักการประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญที่มิได้ขัดแย้งกับความน่ายกย่อง (worthiness) ของพระมหากษัตริย์ เพราะที่พระองค์ทรงให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มิได้เป็นเพียงพิธีการตามธรรมเนียมเท่านั้น

ดูเหมือนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ และผลงานชิ้นนี้ก็นับเป็นชัยชนะของปีกหัวไม่รุนแรงในคณะราษฎร ซึ่งจะร่วมใช้อำนาจกับพระมหากษัตริย์ 

กล่าวกันว่า พระองค์จะทรงมีพระราชอำนาจมากกว่าพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนมาก พระองค์ทรงมีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการราษฎร

อย่างไรก็ดี พระราชอำนาจในการยับยั้ง ซึ่งมิได้เป็นพระราชอำนาจแท้จริงนั้น ยังเป็นไปตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง พระราชอำนาจนี้สามารถหยุดยั้งไว้ได้โดยสภาผู้แทนราษฎร และก็เป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่เรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในหน้าหนังสือพิมพ์

----------------------

ในทัศนะของผู้เขียน เห็นว่า การที่อัครราชทูตเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า “…พระองค์จะทรงมีพระราชอำนาจมากกว่าพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญส่วนมาก”  น่าจะเป็นการเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญของประเทศที่ปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในขณะนั้น (พ.ศ. 2475/ ค.ศ. 1932)  ที่มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เช่น ในกรณีของสวีเดน มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1809 ถ้านับถึง ค.ศ. 1932 ก็เป็นเวลา 123 ปี หรือในกรณีของเนเธอร์แลนด์เองที่เปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ ค.ศ. 1814 ก็เป็นเวลา 118 ปี หรือในกรณีของเบลเยี่ยมก็เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้วเป็นเวลา 101 ปี และกรณีของเดนมาร์กเป็นเวลา 83 ปี  เพราะถ้าพิจารณาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญบับแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศในยุโรปที่กล่าวมาจะพบว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมาก แต่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงลดลงไปตามวิวัฒนาการของสถาบันทางการเมืองอื่นๆรวมทั้งภาคประชาชนด้วย

ซึ่งในรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ฉบับเริ่มแรกของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ได้กำหนดเงื่อนไขการเปิดและปิดประชุมสภาไว้ในมาตรา 64 และ 65 โดยในมาตรา 64 กล่าวว่า การประชุมสภาจะมีขึ้นอย่างน้อยปีละหนึ่ง และจะมากกว่านั้นก็อยู่ในพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ตามที่พระองค์เห็นจำเป็น (64: Frequency of meetings The States General meet at least once a year, and more frequently at the discretion of the Sovereign Prince, as often as He deems necessary.)  ในการเปิดและปิดประชุมสภา มาตรา 65 กำหนดไว้ว่า การเปิดประชุมสภา (States General) จะกระทำโดยพระมหากษัตริย์หรือคณะกรรมาธิการที่กระทำในนามของพระองค์ และในการปิดประชุมก็เช่นเดียวกัน หากพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าให้ปิดประชุมสภาเมื่อการประชุมสภาไม่จำเป็นต่อผลประโยชน์ของประเทศ (65: Opening and closing meeting The meeting of the States General is opened by the Sovereign Prince or by a committee on his behalf, and closed in the same manner when He judges that the interests of the Country no longer require the meeting to be held together.)  และในระยะแรกเริ่ม รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ไม่ได้กำหนดให้มีการยุบสภา แต่ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกจำนวนหนึ่งใหม่ทุกๆสามปี โดยสมาชิกที่เคยเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นสมาชิกสภาได้หากได้รับเลือก

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร