ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 24: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

รายงานจากสถานอัครราชทูตอังกฤษ (นายดอร์เมอร์)

“…..ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลในระบอบเดิมนั้น รายงานสถานอัครราชทูตอังกฤษกล่าวถึงการปฏิบัติของคณะราษฎรต่อเจ้านายชั้นผู้ใหญ่บางพระองค์ ทำให้เราได้รับรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่เจ้านายเหล่านี้ทรงได้รับ เจ้านายที่ตกเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของคณะราษฎร คือ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า ทรงมีอำนาจมากในขณะนั้น พระองค์มิได้ทรงถูกนำตัวมาควบคุมไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ 24 มิถุนายน แต่ ‘ดูเหมือนจะไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เจ้าฟ้าบริพัตรฯ ทรงถูกกระทำในสิ่งที่เป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติ (indignity)’  ในวันต่อมา คณะราษฎรได้ดำเนินการให้ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้องเสด็จออกจากสยามด้วยรถไฟขบวนพิเศษ ซึ่งวิ่งตลอดโดยไม่หยุดพักจนถึงปีนังเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม (ต่อมาทรงย้ายไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุงในชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่นั่น)

ส่วนเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อื่นๆ นั้น รายงานสถานอัครราชทูตอังกฤษระบุว่า ‘….แม้กระทั่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ก็ทรงถูกปฏิบัติต่ออย่างรุนแรงและหยาบกระด้าง (harshly) ด้วยการถูกจำกัดให้ทรงอยู่ในห้องเล็กๆ ห้องเดียวกัน  ซึ่งมีเตียงนอนเตียงเดียว  เจ้านายอีกพระองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มิได้ทรงอยู่ที่วังที่ประทับเมื่อทหารไปถึงเพื่อจะจับกุมพระองค์ และเมื่อทรงทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ก็ได้เสด็จโดยรถไฟไปหัวหินเพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีเจ้านายอีกหลายพระองค์ประทับอยู่ที่นั่นแล้ว  (ในปีต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้เสด็จไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่นั่น)       

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งประการหนึ่งในรายงานสถานอัครราชทูตอังกฤษในช่วงนี้ คือ สถานะของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและพระยาศรีวิศาลวาจา นายดอร์เมอร์ (Cecil Dormer) อัครราชทูตอังกฤษรายงานจากปากคำของพระยาศรีวิศาลวาจาว่า ‘….เขา [พระยาศรีวิศาลวาจา] และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นเพียง 2 คนในคณะกรรมการชุดนี้ที่เป็นคนนอกขบวนการ และตัวเขาเองก็ถูกเชิญให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ‘ด้วยปลายดาบปลายปืน’ (at the point of the bayonet)  นอกจากนั้น สิ่งที่พระยาศรีวิศาลวาจาเปิดเผยแก่อัครราชทูตอังกฤษ ก็ช่วยยืนยันความเข้าใขของเราในเวลาต่อมาว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรงมีพระราชดำริในเรื่องนี้อยู่ก่อน ดังที่ได้กล่าวแล้ว) มีส่วนสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ อัครราชทูตอังกฤษรายงานปากคำของพระยาศรีวิศาลวาจา ดังนี้

………การที่การปฏิวัติเกิดขึ้นโดยสันติเป็นผลมาจากท่าที (attitude) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมี [ต่อการปฏิวัติครั้งนี้] พระองค์จึงทรงเป็นผู้ที่ได้ช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นมาได้ หากพระองค์ไม่ทรงยอมมอบอำนาจ หรือทรงหนีไป อันเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสามารถจะกระทำได้ หรือหากมีปฏิกิริยาที่ต่างไปจากที่ทรงมี ก็จะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นแล้ว ข้าพเจ้า [นายดอร์เมอร์] ได้รับการบอกกล่าวมาว่า เหตุผลหลักที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับข้อเรียกร้องของคณะปฏิวัติ และเสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร ก็เพราะทรงพระวิตกกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่เจ้านายในราชวงศ์ที่ถูกควบคุมไว้เป็นตัวประกัน”

------------

“รายงานของนายโมกราส์ (Roger Maugras) อัครราชทูตฝรั่งเศสยืนยันตรงกันว่า ‘อีกเหตุผลหนึ่งที่คงจะผลักดันให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมตามคำเรียกร้องของคณะผู้ก่อการปฏิวัติ คือ พระราชประสงค์ที่จะคลี่คลายสถานการณ์ให้กับบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกจับกุมอยู่”  การยึดอำนาจครั้งนี้จึงเกิดขึ้นโดยไม่มีการต่อต้าน   และไม่มีการเสียเลือดเนื้อใดๆ ทั้งสิ้น   มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าจับกุมเพียง 2-3 คนเท่านั้นดังได้กล่าวแล้ว   นักวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งมองว่า ‘การปฏิวัติทางการเมืองครั้งแรกนี้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยและโรแมนติกมาก มีเพียงชาวสยามเท่านั้นที่จะสามารถทำเช่นนี้ได้’

การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นอย่างสงบสันติและความเรียบร้อยของสถานการณ์หลังจากนั้น มีผลทำให้คณะราษฎรสามารถผ่อนคลายท่าทีของตนลง รายงานอัครราชทูตของอังกฤษได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ‘เมื่อสถานะของพวกเขา [คณะราษฎร] มั่นคงแล้ว บรรดาผู้นำก็แสดงสำนึกที่ดีของตนด้วยการเชิญบุคคลผู้มีความสามารถ คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้เข้ามาร่วมคณะกรรมการราษฎร และยินยอมตามข้อเรียกร้องของพระยามโนปกรณ์ฯ ที่ให้นำบุคคลอื่นเข้ามาร่วมงานด้วยการเป็นผู้เลือกเอง ในลักษณะนี้เองที่ทำให้พระยาศรีวิศาลวาจาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนั้น ความหวั่นเกรงการแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ก็น่าจะมีผลต่อท่าทีของคณะราษฎรอยู่ไม่น้อย”

--------------

“ในกรณีนี้ รายงานของอัครราชทูตอังกฤษช่วยให้เราเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นด้วยว่า นอกจากคณะราษฎรต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เข้ามาร่วมขบวนการแล้ว ‘ดูจะเป็นไปได้ว่าคามกลัว การแทรกแซงจากต่างชาติ มีส่วนในการทำให้มีการลดความแข็งกร้าวลง เพราะคำๆ นี้ [การแทรกแซงจากต่างชาติ] ได้มีการนำมาใช้โดยผู้นำระบอบปกครองมากกว่า 1 ครั้งในช่วงสัปดาห์แรกๆ [ภายหลังการยึดอำนาจ]… การแสดงให้เห็นว่า ระบอบปกครองใหม่ไม่มีแนวทางแบบสุดขั้ว (extremist)  จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ชาติตะวันตกยอมรับ และวิธีการแสดงออกอย่างหนึ่งถึงการมีท่าทีไม่รุนแรง (moderation) ก็คือ การนำเอาบุคคลในระบอบเดิม เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและพระยาศรีวิศาลวาจา [และยังมีอีกผู้หนึ่ง คือ พลเรือโท พระยาราชวังสัน ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเวลาต่อมา] เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการราษฎร

ในประเด็นเรื่องการแทรกแซงจากต่างชาตินั้น อัครราชทูตอังกฤษได้อ้างนายสตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศชาวอเมริกัน ว่า ‘..เขา [นายสตีเวนส์] มั่นใจว่า ทั้งอินโดจีนของฝรั่งเศสและมลายาของอังกฤษคงจะไม่ยอมปล่อยให้มีความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง [ในสยาม]’ ดังนั้น แม้จะเป็นไปไม่ได้ที่ชาติมหาอำนาจทั้งสองจะเข้าแทรกแซงเพื่อฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม  แต่หากมีความไม่สงบเช่นนั้นเกิดขึ้น ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อดินแดนในปกครองของตน โอกาสที่จะเข้ามาแทรกแซงก็เป็นไปได้สูง

ผู้นำของคณะราษฎรย่อมจะตระหนักในเรื่องนี้ดี ดังนั้น เมื่อประกอบกับการที่ได้เห็นว่า สถานะของตนมั่นคงแล้ว จึงยินยอมผ่อนปรนและไม่ต้องการให้ชาวสยามและต่างชาติเห็นว่า ‘ระบอบปกครองใหม่’ มีท่าที ‘ซ้ายจัด’ หรือ ‘หัวรุนแรง’ [รายงานของสถานอัครราชทูตอังกฤษเรียกผู้ที่มีความคิดแนวนี้ว่า พวกที่ ‘มีความคิดสุดขั้ว’ (extremists)  ซึ่งเข้าใจว่า มีอยู่ไม่น้อยในคณะราษฎร) การมีทีท่าผ่อนปรนมีส่วนอย่างมากในการก่อให้เกิด ‘การประนีประนอม’ ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

ประเด็นสุดท้ายที่จะพิจารณาในส่วนนี้ คือ ประเด็นเกี่ยวกับสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบปกครองใหม่…..”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร