ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 11)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ 

สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก

สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา

สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478 จากหนังสือ ความเป็นมาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย (ตีพิมพ์ พ.ศ. 2511) ของผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า “วิเทศกรณีย์ (สมบูรณ์ คนฉลาด)”  กล่าวว่า คณะกบฏนายสิบมีจุดมุ่งหมายที่จะนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมา ถวายคืนราชบัลลังก์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และใช้ความรุนแรงจัดการสังหารแกนนำบางคนในรัฐบาลขณะนั้น อันได้แก่ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม,  หลวงอดุลย์เดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ,  พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์,   พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี และ  และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

แต่ “สำหรับเจ้าคุณพหลฯ นายกรัฐมนตรีนั้น คณะปฏิวัติสังหารโหดมีแผนแต่เพียงว่า จะจับกุมเอาตัวไว้เป็นประกัน ไม่ปรารถนาจะคิดสังหารโหดแก่พระยาพหลฯ เพราะถือว่าเป็นบุคคลผู้ที่ไม่มีความสำคัญมากมายนักในกลุ่มพวกคณะราษฎร์”

น่าสนใจว่า ทำไม พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี” จึงถูกรวมอยู่ในกลุ่มบุคคลสำคัญที่อยู่ในแผนการสังหารโหดของคณะกบฏนายสิบ และถูกมองว่าเป็นพวกคณะราษฎร ในขณะที่ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา กลับถูกมองว่า   “เป็นบุคคลผู้ที่ไม่มีความสำคัญมากมายนักในกลุ่มพวกคณะราษฎร์” ทั้งๆ ที่พระยาพหลฯเป็นหนึ่งในแกนนำคณะราษฎรสายทหารและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ?   เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาลตามรายนามที่กล่าวไปข้างต้น   

จากข้อเขียนเรื่อง  “ ‘กบฏนายสิบ’ หรือ ‘กบฏน้ำลาย’ พังตั้งแต่ยังไม่เริ่ม แต่ไร้เอกสารเอาผิด” ( https://www.silpa-mag.com/history/article_91579) กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “การกบฏครั้งนี้ยังมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า กบฏน้ำลาย เนื่องจากรัฐบาลไม่มีหลักฐานเพียงพอในการเอาผิดคณะนายสิบ เพราะไม่ปรากฏเอกสารหรือรายงานการประชุมใด ๆ ในการเอาผิดเลยนอกจากพยานบุคคลและข้อมูลจากหน่วยสืบของกองทัพ แต่ด้วยอำนาจศาลพิเศษที่จัดตั้งเพื่อพิจารณาและตัดสินความในครั้งนี้ (ศาลนี้ไม่มีทนาย ไม่มีอุทธรณ์ ไม่มีฎีกา รัฐบาลตั้งผู้พิพากษาได้ตามใจ) ทำให้ไม่มีกลุ่มการเมืองใด ๆ มีพลังพอจะขัดขวางหรือโต้แย้งรัฐบาลได้)”   และลงเอยด้วยการที่คณะตุลาการศาลพิเศษอ่านคำพิพากษาว่า ให้ประหารชีวิต สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด นอกนั้นให้จำคุกตลอดชีวิตและมีหนึ่งรายให้จำคุก 16 ปี 

อีกทั้งยังมีข้อน่าสังเกตว่า บรรดานายทหารชั้นประทวนที่ถูกกล่าวหาว่าก่อการกบฏนั้นล้วนเป็นผู้ที่ “ผูกพันกับราชวงศ์และระบบเจ้าขุนมูลนายมาช้านาน มีความผูกพันทางจิตใจกับระบบเก่าและผู้บังคับบัญชาเก่าที่เคยอุปการะเลี้ยงดูกันมานาน เมื่อมาเปลี่ยนระบบด้วยวิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่าของผู้คุมอำนาจชุดใหม่ชั่วเวลา 2 ปีเศษ ความเข้าใจและความเคารพเห็นอกเห็นใจจึงมีน้อย และผู้บังคับบัญชาที่มาใหม่มาจากนอกวงทหารราบเป็นส่วนมาก คือมาจากฝ่ายเสนาธิการและหน่วยอื่น ไม่มีความผูกพันทางใจ” (จากหนังสือ  “กบฏนายสิบ 2478 / บันทึกและสัมภาษณ์โดย นายหนหวย” กรุงเทพฯ : มติชน, 2543)

และในกระบวนการพิจารณาคดีกบฏนายสิบโดยศาลพิเศษ มีความพยายามที่จะได้คำตอบจากจำเลยทุกคนที่ถูกถามหลายครั้งว่า “พระยาทรงสุรเดชเป็นหัวหน้าใช่ไหม” (: https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1370

ในความเห็นของผู้เขียน  ในสายตาของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม  นายทหารชั้นประทวนเหล่านั้นคือ นายทหารที่ผูกพันและเคารพพระยาทรงสุรเดช และการจับกุมกบฏนายสิบครั้งนั้น ก็อาจจะเป็นเพียงการหาเรื่องจับกุมนายทหารชั้นประทวนที่เคยเป็นลูกน้องของพระยาทรงสุรเดช และต้องการให้มีการซัดทอดไปถึงพระยาทรงสุรเดชที่พันเอก หลวงพิบูลสงครามมีความระแวงต่ออำนาจอิทธิพลของพระยาทรงสุรเดช  เพื่อหาทางกำจัดพระยาทรงสุรเดชให้สิ้นซาก

เมื่อไม่สามารถให้จำเลยในคดีกบฏนายสิบซัดทอดไปถึงพระยาทรงสุรเดชได้  ต่อมาในที่สุด  ก็เกิดกบฏพระยาทรงสุรเดช หรืออีกชื่อหนึ่งคือ กบฏ 18 ศพ ขึ้นจนได้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2482   และไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ  “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  )

ดังนั้น จึงน่าจะกล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

และถึงแม้ว่า การทำรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 พลโทผิน ชุณหะวัณ จะออกหน้า แต่จริงๆแล้ว  พันเอก หลวงพิบูลสงคราม ที่ได้กลายเป็น จอมพล แล้วน่าจะมีส่วนอยู่ไม่น้อยเลย เพราะเขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งชาติในวันที่ 9 พฤศจิกายน หนึ่งวันหลังรัฐประหาร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 20)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'นิพิฏฐ์' จะเสียภาษีให้น้อยที่สุด หวั่นถูกนำไปสร้างความเข้มแข็งให้นักการเมือง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีคำกล่าวว่า “หากต้องการรู้ว่าประชาชนเป็นอย่างไรให้เป็นนักการเมือง หากต้อง