ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี
รายงานจากสถานอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
“…..อัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ก็ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ภายหลังการยึดอำนาจ โดยกล่าวถึงพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงยอมรับข้อเรียกร้องของคณะราษฎร เพราะทรงมี ‘ความปรารถนาที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยและหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อ และให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างสงบเท่าที่จะเป็นไปได้ จะได้ไม่มีความปั่นป่วนรุนแรงอันจะเป็นผลร้ายต่อประเทศชาติ’ และนอกจากนั้น ยังทรงระบุด้วยว่า ทรงมีพระราชประสงค์อยู่แล้วที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงทรงยอมที่จะให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ด้วยการเป็น ‘หุ่น’ (puppet)……………
การจัดตั้งคณะกรรมการราษฎร (Executive Committee) จำนวน 14 คน รายงานกล่าวถึงบุคคลบางคนในระบอบปกครองใหม่ บุคคลที่กล่าวถึงจริงๆ แล้ว เป็นคนในระบอบเดิมที่เคยมีบทบาทสำคัญในการปกครองและบริหารราชการแผ่นดิน คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร พลตรี พระยาอินทรวิชิต รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร และพระยาศรีวิศาลวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ”
ทรรศนะของอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ที่มีต่อการแต่งตั้งข้าราชการในระบอบเดิมให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในระบอบใหม่ คือ
“เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นผู้ที่ ‘หัวไม่รุนแรง’ (moderate) ส่วนพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็เป็นนักกฎหมายที่ดีและมีความซื่อตรงไม่เคยมีความด่างพร้อย (incorruptible) รัฐมนตรีคนเดียวที่รายงานฉบับนี้กล่าวถึง คือ พระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่ง ‘….เป็นคนหนุ่มเชื้อสายจีน เคยศึกษาในอังกฤษ และฝรั่งเศส และหลังจากนั้น ก็ได้เข้ารับราชการในกระทรวงต่างประเทศ [จนได้เป็นปลัดทูลฉลองแห่งกระทรวงนี้] บุคคลอีกคนหนึ่งที่รายงานกล่าวถึงในรายละเอียดไว้มากกว่าบุคคลอื่นๆ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งรายงานระบุว่าเป็นผู้นำในการก่อการปฏิวัติ บุคคลผู้นี้เป็น ‘…นักกฎหมายหนุ่ม เขาและสมาชิกคนอื่นๆ ของคณะราษฎรเป็นคนหนุ่มที่ได้รับการศึกษาในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา บางคนเป็นข้าราชการพลเรือน บางคนเป็นทหาร’ รายงานให้ภาพรวมของบุคคลสำคัญในระบอบการปกครองใหม่ของสยามขณะนั้นได้ดังนี้
‘…คณะรัฐบาลและครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการราษฎร
ไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
คณะราษฎรพยายามหาบุคคลผู้ที่มีประสบการณ์ [เข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์นี้]……..
…องค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎรและคณะรัฐบาลให้
ความหวังว่า ระบอบใหม่จะไม่ทำสิ่งที่เป็นอันตราย ไม่มีเจ้านายพระองค์ใดทรง
ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาร่วมในคณะรัฐบาล เพราะรัฐบาลมิได้สนับสนุนสถานะ
ของเจ้านายในราชวงศ์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่จะไม่สามารถทำอะไรได้มากไป
กว่าบรรดาเจ้านายในการพัฒนาสยาม สถานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยัง
ดำรงไว้ตามเดิม’
ท้ายที่สุด รายงานชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์หลังการยึดอำนาจเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ได้รับการปล่อยตัวแล้วทั้งหมด ยกเว้น สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต ซึ่งทรงมีอิทธิพลมากในกองทัพบก นอกจากนั้น คณะราษฎรได้เริ่มไต่สวน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่มีต่อพระองค์ในเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง [ในเวลาต่อมาก็ปรากฏว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่มีมูลทั้งสิ้น] ส่วนนายทหารที่สถานอัครราชทูตเคยรายงานไปก่อนหน้านี้ว่าเสียชีวิต ก็ยังคงมีชีวิตอยู่และกำลังได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ช่วงนี้มีข่าวลือเกี่ยวกับกับปรากฏของทหารอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งรายงานระบุว่าไม่มีมูลความจริง’
รายงายของอุปทูตอังกฤษ คือ นายจอห์นส์ (J.F. Johns) ก็ระบุแช่นเดียวกับรายงานอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ว่า ‘การปฏิวัติเกิดขึ้นอย่างที่มิได้อยู่ในการคาดหมายของทุกคนโดยสิ้นเชิง’ นอกจากนี้ หลังการยึดอำนาจ ชีวิตในกรุงเทพฯ ก็ดำเนินไปตามปกติโดยไม่มีความปั่นป่วนวุ่นวายหรือเหตุการณ์รุนแรงใดๆ
รายงานอังกฤษยืนยันว่า ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ได้รับบาดเจ็บจากการดำเนินการจับกุมของฝ่ายก่อการ รายงานถึงกับระบุว่า ‘จริงๆ แล้ว หากไม่มีทหารเรือและกำลังทหารประจำอยู่รอบๆ พระที่นั่งอนันตสมาคม เราก็คงต้องถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพปกติโดยแท้’
รายงานสถานอัครราชทูตอังกฤษกล่าวถึงบุคคลในระบอบการปกครองใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร [ในรายงานใช้คำว่า People’s Senate] และคณะกรรมการราษฎร ‘…มีการประกาศรายชื่อของผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวานนี้ [29 มิถุนายน 1932] และก็ได้รับการขานรับด้วยความโล่งใจ เพราะปรากฏว่า มีชื่อข้าราชการที่มีประสบการณ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปเป็นที่ยอมรับกันว่า ไม่ใช่พวกหัวรุนแรง และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไม่แต่ในบรรดาชาวสยามเท่านั้น แต่รวมถึงชุมชนชาวต่างชาติ [ในสยาม] ด้วย แต่ ‘สิ่งแรกที่สะดุดตาคนทั่วไป คือ ในรายชื่อเหล่านั้น ไม่ปรากฏพระนามของเจ้านายรวมอยู่ด้วย’
ในขณะเดียวกัน รายงานก็ชี้ให้เห็นด้วยว่า จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นทหารบกและทหารเรือมีรวมกันเพียง 15 คนเท่านั้นจากทั้งหมด 70 คน
ในบรรดาบุคคลในระบอบการปกครองใหม่เหล่านี้ รายงานของอุปทูตอังกฤษให้ความสนใจเป็นพิเศษอยู่เพียงไม่กี่คน รายงานกล่าวถึง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส ว่าเป็น ‘มันสมองที่อยู่เบื้องหลังขบวนการ’ ส่วนคนอื่นๆ ในคณะกรรมการราษฎรที่รายงานฉบับแรกๆ ของสถานอัครราชทูตอังกฤษภายหลังการยึดอำนาจกล่าวถึง ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ พระยาศรีวิศาลวาจา และ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ บุคคลเหล่านี้นอกจากจะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์และซื่อตรงไม่ด่างพร้อยแล้ว ในการรับรู้และความเข้าใจของอังกฤษ บุคคลเหล่านี้ยังเป็นผู้ที่ ‘หัวไม่รุนแรง’ จึงอาจคาดหวังให้เป็นพลังที่จะเหนี่ยวรั้งกลุ่ม ‘หัวรุนแรง’ ในคณะราษฎรได้ อุปทูตอังกฤษกล่าวถึงบุคคลทั้ง 3 ในคณะกรรมการราษฎรไว้ดังนี้
….พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเคยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และขณะนี้ดำรงตำแหน่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย เขามีชื่อเสียงว่าเป็นผู้ที่มั่นคงซื่อสัตย์และรักชาติ
และได้รับการยอมรับนับถือทั่วไปโดยชาวยุโรปและชาวสยาม ข้าพเจ้าได้ยินมาเป็นการ
ส่วนตัวว่า เขาได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพราะเป็นผู้ที่มีความ
มั่นคงเข้มแข็ง (strong) ข้าพเจ้ารู้จักเขามากว่า 20 ปี และก็ต้องกล่าวเลยว่า ไม่เคยเห็นเขา
หวั่นเกรงที่จะแสดงความคิดเห็นของตนออกมาและยืนหยัดในความคิดนั้น กรรมการอีก
ผู้หนึ่ง คือ พระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นปลัดทูลฉลองและขณะนี้ดำรงตำแหน่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่าน [รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ] อาจจะรู้จักแล้วในส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมเรื่องฝิ่นที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นาน
มานี้ และเขาผู้นี้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เกี่ยวกับบุคคลนี้ เราสามารถกล่าวได้ด้วยว่า
เป็นผู้ที่มีความสามารถ ซื่อสัตย์และรักชาติ...ในบรรดากรรมการที่เป็นนายทหารนั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา....ซึ่งได้ปรากฏมาโดยตลอดว่าเป็นผู้นำขบวนการ เป็นผู้ที่ข้าพเจ้าได้รับการบอกกล่าวมาว่า อยู่ในวัยกลางคน สงบสุขุม หัวไม่รุนแรง และมีพื้นฐานครอบครัวดี จึงเป็นที่หวังได้ว่า เขาจะมีอิทธิพลเหนี่ยวรั้งพวกคนที่หนุ่มกว่าและใจร้อนหุนหันพลันแล่นกว่า [ในขบวนการ]
ในการรับรู้และความเข้าใจของอุปทูตอังกฤษนั้น ชาวสยามจำนวนไม่น้อย รวมทั้งเจ้านายระดับล่างและข้าราชการทั้งระดับสูงและระดับล่าง ต่างก็รู้สึกมาระยะหนึ่งแล้วว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย สยามจึงควรมีรัฐธรรมนูญรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นรากฐานการปกครอง อุปทูตอังกฤษระบุด้วยว่า ได้รับรู้มาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชดำริเช่นนี้อย่างจริงจัง แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การปฏิรูปจากเบื้องบน แต่มาจากการยึดอำนาจ ทำให้แม้กระทั่งผู้ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเพราะไม่อาจทนรับ ‘ระบอบการปกครองโดยเจ้านาย’ (regime of princes) ก็ยังมีความกังวลว่า ผู้นำเช่นที่กล่าวถึงข้างต้นจะเหนี่ยวรั้งคนหนุ่มหัวรุนแรง แต่ไม่มีประสบการณ์ในขบวนการ ไม่ว่าจะในสายทหารหรือพลเรือนก็ตาม ได้หรือไม่ เมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากที่รออยู่ข้างหน้า”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง
ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง
พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย
ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง