รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ
หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์
สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก
สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา
สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478 โดยมี สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
ความเป็นมาเป็นไปของกบฏนายสิบนี้ ผู้เขียนจะอาศัยงานที่ชื่อว่า ความเป็นมาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย (ตีพิมพ์ พ.ศ. 2511) ของผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า “วิเทศกรณีย์ (สมบูรณ์ คนฉลาด)”
วิเทศกรณีย์ได้เล่าเหตุการณ์กบฏนายสิบไว้ในบทที่ 41 อันเป็นบทที่เขาตั้งชื่อตรงๆเลยว่า “กบฏนายสิบ” ไว้ว่า “กลิ่นไอของกบฏบวรเดชยังมิทันที่จะจางไป การสละราชสมบัติของพระปกเกล้าฯ ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ ทั้งในด้านหนังสือพิมพ์และประชาชน ยังมิทันที่มันจะสิ้นสุดยุติลงไป ก็กลับปรากฏว่า บรรดาหนังสือพิมพ์ได้เสนอข่าวเกรียวกราวเอิกเกริกไปในทำนองว่า รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้เข้าทำการจับกุมบรรดานายทหารชั้นประทวนจากกรมกองทหารต่างๆในพระมหานคร โดยข้อกล่าวหาของทางราชการตำรวจในบัดนั้นว่า มีแผนการสังหารโหดบุคคลสำคัญๆของรัฐบาล.... นอกจาแผนการสังหารโหดต่อบุคคลสำคัญๆอันน่าสยดสยองแล้ว นายทหารชั้นประทวนกลุ่มสังหารโหดนี้ ยังได้วางแผนการที่จะยึดเอากระทรวงกลาโหมเป็นกองบังคับการชั่วคราว เพื่อตั้งเป็นกองบัญชาการอำนวยการยึดอำนาจอีกด้วย
นอกจากแผนการทั้งสองประการดังได้กล่าวนี้แล้ว คณะนายทหารชั้นประทวนผู้นี้มีแผนการสังหารโหด จะยังได้มีแผนการที่จะเปิดกรุนักโทษการเมือง ผู้เป็นอริศัตรูกับระบบประชาธิปไตย คือ นักโทษการเมืองรุ่นพระองค์เจ้าบวรเดชออกทั้งสิ้น เพื่อมาร่วมมือกันกวาดล้างอ้ายพวกคณาธิปไตยที่ได้เถลิงถวัลย์อำนจอธิปัตย์อยู่ ณ กาลบัดนั้น ให้มหาประลัยแหลกราณไปตามแผนการสังหารโหด เมื่อได้ยึดอำนาจการปกครอแผ่นดินจากพวกคณาธิปไตยไว้ได้แล้ว เจตน์จำนงของกลุ่มนายทหารชั้นประทวนที่ตั้งความมุ่งหมายไว้นั้นก็คือ จะได้อัญเชิญเจ้าฟ้าราชันย์ผู้นิราศ ซึ่งได้สละราชสมบัติเพื่อราโชบายบางประการของพระองค์ แต่ราโชบายนั้น รัฐสภาและรัฐบาลกลับปฏิเสธเสียสิ้น จนเจ้าฟ้าราชันย์ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นต่อไปมิได้ จึงได้สละราชสมบัติเสีย ให้ขึ้นครองราชย์ดำรงอำนาจรัฎฐาธิปัตย์เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์สืบต่อไป”
ซึ่งสาเหตุและเป้าหมายของ “กบฏนายสิบ” ที่วิเทศกรณีย์ได้กล่าวไว้ ก็ตรงกับข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า นั่นคือ การยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่แผนการของคณะผู้ก่อการได้รั่วไหลออกไป เนื่องจาก “บุคคลในกลุ่มเดียวกันเกิดเป็นหนอนบ่อนไส้” เพราะไม่เห็นด้วยกับแผนการสังหารโหดที่รุนแรงเกิดไป อีกทั้งไม่เห็นด้วยที่จะกลับไปเป็น สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเมื่อพันเอก หลวงพิบูลสงครามทราบเรื่อง
“จึงได้สั่งให้ผู้บังคับบัญชา..ติดตามการเคลื่อนไหวของนายทหารชั้นประทวนเหล่านั้นอย่างกระชั้นชิด โดยบุคคลกลุ่มนั้นไม่ทราบถึงการหักหลังทรยศจากเพื่อนกันเอง
ใกล้ๆ กับการปฏิวัติ และการสังหารโหดจะได้เปิดฉากขึ้นนั่นเอง นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีคำสั่งลับ-ด่วน ไปยังผู้บังคับกองพันทหารต่างๆ...นอกจากนั้น..ยังได้ส่งให้ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 และกองพันอื่นๆ เข้าดำเนินการจับกุมโดยทั่วถึงกัน
การจับกุมได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยตามแผนการทุกประการ ไม่มีการต่อสู้...ทุกคนยอมจำนนโดยดุษณีภาพ...การกวาดล้างจับกุมนายทหารชั้นประทวนนั้น ได้เริ่มกระทำกันตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 เวลา 12.30 น. และ..เรื่อยมาจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม....” โดยมีผู้ถูกจับกุมรวมทั้งสิ้น 21 นาย นำไปสู่การตั้งศาลพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาคดี
ซึ่งวิเทศกรณีย์ได้เขียนเรื่อง “ศาลพิเศษ” ไว้เป็นอีกบทหนึ่งต่างหาก โดยเขาได้เล่าว่า
“เมื่อได้กวาดล้างจับกุมคณะนายทหารชั้นประทวนผู้มีแผนสังหารโหด ได้โดยปราศจากเลือด ปราศจากการต่อสู้แล้ว ต่อจากนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีก็เตรียมแผนการณ์จะจัดการกับบุคคลกลุ่มนี้ทันที โดยได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษขึ้น พระราชบัญญัติศาลพิเศษนี้ ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปโดยง่ายดาย เกือบไม่มีฮีโรคนใดในสภาฯ ลุกขึ้นต่อสู้และคัดค้านการจัดตั้งศาลพิเศษนั้น เป็นการลงโทษกันอย่างรุนแรง ปราศจากการต่อสู้อย่างใดๆทั้งสิ้น พระราชบัญญัติการจัดตั้งศาลพิเศษ ไม่น่าจะมีขึ้นในประเทศที่ยึดหลักประชาธิปไตยเป็นหลักการปกครองประเทศ เพราะการปฏิวัตินั้น ทั่วโลกถือว่า มิใช่เป็นการร้ายแรงอะไร ในทรรศนะทางการเมืองนั้นเราถือว่า บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิเสรีภาพ จะนับถือหรือไม่นับถือ จะนิยมหรือไม่นิยมในลัทธิทางการเมือง และลัทธิในทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ เพราะไม่มีลัทธิใดในโลกจะไม่เป็นประโยชน์แก่สังคม ดังนั้น การจัดตั้งศาลพิเศษของเจ้าคุณพหลฯ ก็เท่ากับสร้างสรรค์รอยริ้วแห่งความหม่นหมองในระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง
.....หลังจากที่รัฐบาลได้นำเอาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการ จนที่สุด ได้ประกาศออกเป็นกฎหมาย ใช้บังคับต่อพวกกบฏและก่อการจลาจล แล้วต่อจากนั้น ทางรัฐบาลก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศาลพิเศษขึ้น...เมื่อได้จัดตั้งคณะกรรมการศาลพิเศษเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีกบฏและก่อการจลาจลนี้แล้ว คณะกรรมการศาลพิเศษชุดนี้ ก็ได้เริ่มทำการสอบสวนคดีนี้อย่างเร่งรีบ การสอบสวนกว่าจะเสร็จสิ้นลงไป ก็กินเวลาร่วมปี ที่สุด การพิจารณาคดีได้เสร็จสิ้นลง....”
คณะตุลาการศาลพิเศษอ่านคำพิพากษาว่า ให้ประหารชีวิต สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด นอกนั้นให้จำคุกตลอดชีวิตและมีหนึ่งรายให้จำคุก 16 ปี
ข้อมูลจากคุณโรม บุนนาค ในคอลัมน์ “เรื่องเก่า เล่าสนุก” (MGR ONLINE) ได้เล่าว่า
“ผู้ที่ริเริ่มคิดเรื่องนี้ (การยึดอำนาจ/ผู้เขียน) ก็คือ สิบเอกถม เกตุอำไพ แห่งกองพันทหารราบที่ ๒ ซึ่งตั้งอยู่ที่วังจันทร์เกษม ซึ่งเป็นกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน และได้ขยายความคิดไปยังเพื่อนร่วมกองพันอีก ๗ คน ต่อมาได้ขยายวงต่อไปยังหน่วยอื่นๆด้วย ส่วนใหญ่ของนายสิบเหล่านี้ แม้ไม่ได้มีหน้าที่คุมกำลัง แต่ก็เป็นผู้คุมคลังแสงของกองพัน จึงวางแผนจะนำรถถังออกไปข่มขวัญ จากนั้นจะใช้พลทหารที่คุ้นเคยใกล้ชิดกัน กระจายกันออกไปควบคุมตัวเป้าหมาย แต่การจะใช้ความรุนแรงถึงขั้นสังหารบุคคลสำคัญในระดับสูงนั้น ทำให้บางคนเกิดความกลัว จึงนำความไปเปิดเผยต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งได้รายงานไปยัง พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ต่อมาเป็นที่เปิดเผยต่อมาว่า นายสิบกลุ่มนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวเรื่องการรัฐประหารของนายสิบในคิวบา เมื่อเดือนกันยายน 2476 ซึ่งยึดอำนาจได้สำเร็จ เลื่อนยศตัวเองขึ้นเป็นนายพลกันเป็นแถว และมีอำนาจปกครองประเทศ.....สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด คนเดียวที่ไม่ยอมรับสารภาพ ถูกตัดสินประหารชีวิต…...”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป
ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ
“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ
'วรชัย' ชี้ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่ได้รับความเป็นธรรม บอกกลับไทยตามกระบวนการไม่มีสิทธิพิเศษ
นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาบอกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กกต. มั่นใจเลือกตั้ง นายกอบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ระหว่างไปตรวจเยี่ยมการรับมอบวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเ
เลขาฯกกต.ยันคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างปกครองฯ ที่ศาลรธน.ยกคำร้องไม่เกี่ยว กกต.
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ข้อกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ว่า ศาล