(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า
“กองทัพบกและกองทัพเรือ บรรดารถถังที่คุ้มกันวังปารุสกวันที่ทำการของรัฐบาลชุดใหม่ เป็นที่ประจักษ์ว่าไร้ประสิทธิภาพ จึงมีคำสั่งให้ถอนกำลังออกไป เหลือแต่ทหารเรือที่ดูแลอยู่ ดูเหมือนรัฐบาลจะให้นักเรียนนายร้อยจำนวน 500 นายมาเป็นองครักษ์ และพวกเขาได้รับการดูแลอย่างดี ได้เปลี่ยนเครื่องแบบใหม่ เมื่อสวนกันตามถนนหนทาง เราจะแยกพวกเขาออกได้จากเครื่องแบบใหม่เอี่ยม ผ้าเนื้อดี และตัดเย็บอย่างพิถีพิถัน ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือดูจะยังไม่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น
บทสรุป สถานการณ์ของรัฐบาลชุดใหม่ดูจะยังไม่มั่นคง กลุ่มคอมมิวนิสต์ขยายตัว มีความจำเป็นจะต้องพิจารณาเรื่องการลดค่าเงินบาทครั้งใหม่อย่างจริงจัง ปัญญาชนตื่นตัว แต่ชาวทั่วไปยังคงเฉยเมยและไม่มีการเกาะกลุ่มกันแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ถึงปฏิกิริยาต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบันของบรรดาข้าราชการ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อรัฐบาลไม่มีเงินพอจ่ายเงินเดือนและค่าจ้าง แต่ข้อสังเกตที่เห็นเด่นชัดมากและดูคล้ายเป็นความโกลาหลที่สร้างความหวาดกลัวต่อคนพวกหนึ่ง แต่เป็นความปรารถนาของคนอีกพวกหนึ่ง คือการแทรกแซงของมหาอำนาจต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษ”
---------------------
รายงานวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475)
“ข้าพเจ้าไม่ได้ส่งรายงานเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน เนื่องจากไม่มีเหตุการณ์สำคัญอันใด ช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดก็แผ่วลงไปในเวลาไม่นาน
แต่บัดนี้ สามารถสรุปสถานการณ์ได้แล้ว 2 เดือนหลังการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการอันตึงเครียดและการต่อสู้อย่างไม่ลดราวาศอกระหว่างกรรมการราษฎรของ ‘คณะราษฎร’ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่สุด รัฐธรรมนูญของรัฐบาลชุดใหม่ก็ถูกประกาศใช้ ซึ่งคงไม่ใช่ฉบับถาวร มาตรการต่างๆทั้ง 69 มาตราที่คณะกรรมการราษฎรนำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯถวายต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงยอมรับนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการแปรญัตติของรัฐสภา และอาจมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนรายละเอียดเท่านั้น (ด้วยเหตุนี้ จึงจะขอศึกษารัฐธรรมนูญที่จะยกร่างขึ้นใหม่นี้ในรายงานฉบับหน้า)
เพื่อให้เข้าใจวิธีการทำงานของคณะกรรมการราษฎร จึงใคร่ขอเรียนว่าเมื่อยกร่างเสร็จแล้ว มิใช่ว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะถูกนำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่หลังยกร่างเสร็จ จะนำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวายแต่ละมาตราไปเรื่อยๆ วิธีการทำงานเช่นนี้ ย่อมสมเหตุสมผลมากกว่าอย่างแน่นอน
รายงานฉบับลงวันที่ 24 กันยายนของข้าพเจ้าไม่ค่อยเป็นไปในทางบวก ช่วงนี้กลุ่มหัวก้าวหน้า ซึ่งประกอบด้วยปัญญาชนคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะที่เพิ่งเดินทางกลับจากยุโรปขยายตัวมากขึ้นและดูพร้อมจะช่วงชิงอำนาจ แต่เนื่องจากความเฉื่อยชา ความไม่กระตือรือร้น และการขาดความสามารถที่จะกระทำการ อันเป็นลักษณะเฉพาะของชนชาวสยาม จึงดูเหมือนว่า พวกเขาปล่อยให้โอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนักหลุดมือไป ตั้งแต่วันนั้น เหตุการณ์ต่างๆดูจะเป็นไปในทิศทางที่สงบเรียบร้อยอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลชุดใหม่และกลุ่มอำนาจเก่าดูจะกลับมาเปิดสัมพันธไมตรีต่อกันอีกครั้ง ถ้าพูดตามสำนวนที่ข้าราชการชั้นสูงชาวสยามพูดกับข้าพเจ้า ก็ต้องบอกว่า ‘บรรดาลูกๆเชื่อฟังพ่อ’
โดยสรุป สถานการณ์ของพระมหากษัตริย์ที่ดูจะสั่นคลอนอยู่มากเมื่อ 2 เดือนก่อน กลับมั่นคงขึ้นได้ในสถานการณ์ที่หมดหวัง แม้แต่ในสายตาของผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผ่านการต่อสู้มาได้ในฐานะผู้ชนะอย่างแท้จริง เรื่องนี้ยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อเราศึกษารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันนี้ ข้าพเจ้าจะพอพูดเพียงว่า พระมหากษัตริย์จะยังคงเป็นเจ้าเหนือหัวในราชอาณาจักรสยามที่ไม่มีใครคัดค้านได้ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลา 10 ปีของการส่งผ่านอำนาจ การที่พระองค์ทรงแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภากึ่งหนึ่ง ทำให้มั่นพระทัยได้ว่า อย่างไรเสีย พระองค์ย่อมจะได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ (แต่ในที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ก็ได้ให้อำนาจแก่คณะรัฐมนตรีในการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่สอง ทำให้อำนาจอยู่ในมือของคณะราษฎรเป็นเวลากว่า 10 ปี/ผู้เขียน)
ในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากฝ่ายสงฆ์ ต้องไม่ลืมว่า ในสยามก็เช่นเดียวกับจีนสมัยก่อนและอินโดจีนในปัจจุบัน ที่พระมหากษัตริย์อวตารมาจากสวรรค์ ทรงเป็นสื่อกลางระหว่างอำนาจสวรรค์ที่ปกป้องคุ้มครองอาณาจักรและพสกนิกร ทรงประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญทั้งมวลด้วยพระองค์เองหรือผ่านผู้แทนพระองค์ และหากไม่มีกษัตริย์หรือผู้แทนที่กษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้ง สยามจะต้องเผชิญหายนะใหญ่หลวง เมื่อพระสงฆ์เข้าใจว่า สถานะทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ถูกคุกคาม และเมื่อทราบข่าวลือเรื่องการสละราชสมบัติที่แพร่สะพัด พระสงฆ์ต่างเริ่มรณรงค์ด้วยความตื่นตัวและความอดทนอย่างที่สุด ไม่เพียงเพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น และรวมถึงพระราชอำนาจทั้งปวงของพระองค์ด้วย พระสงฆ์จำนวน 300,000 รูปในสยามร่วมอุทิศตนต่องานนี้ ในประเทศที่ความศรัทธาทางศาสนาดำรงอยู่อย่างลึกซึ้งและผูกพันกับขนบประเพณี ขบวนการพระสงฆ์ดังกล่าวย่อมประสบความสำเร็จด้วยดี อันที่จริง เหล่าพระสงฆ์คือผู้ชนะตัวจริง เราพอจะคาดคะเนได้ว่า หากปราศจากพระสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงขาดทั้งพระบุคลิกภาพและพระพลานามัยอันจำเป็นต่อการรับมือกับการต่อสู้ที่เพิ่งเกิดขึ้น คงจะไม่ได้รับประโยชน์มากเท่ากับที่ทรงได้รับในคราวนี้
นอกจากนี้ ทัศนคติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงหลังการปฏิวัติก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง
ในรายงานฉบับก่อนๆ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสกล่าวถึงแล้วว่า ปัญหาเรื่อง ‘หน้าตา’ มีอิทธิพลต่อการกระทำของบุคคลสำคัญในประเทศแห่งนี้อย่างมาก พระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในระยะหลังนี้ ทั้งแสดงออกและยืนยันเรื่องของการเสียหน้าอย่างชัดเจน
หลังการรัฐประหาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเก็บพระองค์ ไม่มีใครสามารถเข้าถึงพระองค์ได้ เว้นแต่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการสองสามคนที่รัฐบาลชุดใหม่ส่งมา พระองค์ทรงละทิ้งผู้คนที่พระราชวังใหม่ ซึ่งถูกลบหลู่จากการนำกองทหารที่เข้าร่วมการรัฐประหารมาตั้งประจำ พระองค์เสด็จฯ กลับไปประทับในพระราชวังเก่าที่ไม่สะดวกสบาย แล้วย้ายไปประทับในพระตำหนักที่เล็กกว่า เมื่อถึงช่วงปลายฤดูฝนในแต่ละปี ซึ่งมีงานเทศกาลต่างๆ และพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องเสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานในพิธี พระองค์ทรงรับสั่งว่า ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เทศกาลต่างๆ จะต้องเรียบง่ายที่สุด จะไม่มีขบวนเสลี่ยงแห่ผ่านตัวเมือง จะไม่มีขบวนเสด็จทางชลมารคในแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งและเรือยนต์พระที่นั่ง ส่วนในวันคล้ายวันพระราชสมภพวันที่ 9 พฤศจิกายน (ที่จริงแล้ว วันคล้ายวันพระราชสมภาพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2436/ผู้แปล) ซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่สุดของปี พระองค์ทรงตัดสินพระทัย ‘ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ’ เช่นเดียวกันว่าจะงดการแสดง งดการประดับประดาใดๆ ทั้งสิ้น ตลอดช่วงนี้ พระองค์จะปรากฎพระองค์ต่อสาธารณชนเพียงโอกาสเดียวเท่านั้น คือ เมื่อมีการแข่งขันกีฬารักบี้ระหว่างทีมชาวอังกฤษที่พำนักอยู่ในสยามและทีมฝรั่งเศสที่มาจากไซ่ง่อน การเสด็จออกของพระองค์นั้น แน่นอนว่าเป็นเพราะเห็นแก่มหาอำนาจยุโรป 2 ประเทสที่ขนาบข้างสยาม นอกจากนี้ พระองค์เสด็จฯ มาโดยไม่มีพิธีรีตอง ฉลองพระองค์ด้วยผ้านุ่ง เสื้อนอกสีขาว ไม่ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สวมพระมาลาสักหลาด
อย่างไรก็ตาม จากการรบเร้าของคณะกรรมการราษฎร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงยอมเปลี่ยนพระทัย โดยทรงยอมรับหลักการในการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ 9 พฤศจิกายน แต่แน่นอน เป็นเพราะขณะนั้น มาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญร่างเสร็จสิ้นแล้ว และพระองค์ทรงแน่พระทัยว่า สามารถ ‘กู้หน้า’ กลับมาได้แล้ว…..”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย. ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 149, 159-162).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง
ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง
พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย
ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง