รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ
หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์
สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก
สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา
สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร
หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
เราจะมาดูว่า มูลเหตุทั้งหกนี้มีรายละเอียดอย่างไร และเป็นจริงมากน้อยเพียงไร ผู้เขียนได้กล่าวถึง มูลเหตุที่หนึ่งถึงมูลเหตุที่หก โดยมูลเหตุที่หก คือ การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร และพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร ซึ่งได้กลาวไปบ้างแล้ว ในตอนนี้จะขอกล่าวต่อไป
จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476” ของนิคม จารุมณี (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2519) กล่าวว่า
“…เหตุการณ์ที่นับว่าเป็นจุดชนวนให้พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงตัดสินพระทัยเข้าร่วมกับคณะทหารหัวเมือง เพื่อใช้กำลังเข้าล้มล้างรัฐบาลก็คือ การที่บุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลขณะนั้น 2 คน คือ พันโทหลวงพิบูลสงครามกับนาวาโทหลวงศุภชลาศัยได้มีหนังสืออันมีลักษณะข่มขู่ไปยังพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ดังความตอนหนึ่งว่า
‘….ในการยึดอำนาจการปกครองทั้ง 2 คราว คณะผู้ก่อการได้ยึดหลักปฏิบัติไปในทางละมุมละม่อมเสมอ เพื่อเห็นแก่ความสงบของบ้านเมือง และอิสรภาพของชาติไทย แต่บัดนี้ ปรากฏข่าวตามทางสืบสวนว่า ท่านได้มีการประชุมและคิดอยู่เสมอในอันที่จะให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลเป็นกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารบ้านเมืองไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร จะเป็นในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอีก คณะก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรง และจะถือเอาความสงบของบ้านเมืองเท่านั้นเป็นกฎหมายอันสูงสุดในการกระทำแก่ท่าน ที่กล่าวมานี้ มิใช่การขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาเพื่อความหวังดี….’
เมื่อทรงได้รับหนังสือดังกล่าวเช่นนี้ พระองค์ถึงกับทรงตรัสแก่บรรดานายทหารทั้งหลายที่บ้าน พระยาไชเยนทรฤทธิรงค์ว่า ‘ตั้งใจจะเป็นพลเมืองที่สงบ แต่เขาไม่ให้สงบ และรัฐบาลจะทำการล้มราชบัลลังก์ แล้วดำเนินการปกครองอย่างลัทธิคอมมิวนิสต์ อันผิดจากรัฐธรรมนูญ’ หนังสือทำนองดังกล่าวนี้ได้มีไปถึงบุคคลอื่นๆอีกหลายคน อาทิเช่น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์ปกรณ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ หม่อมเจ้าไขแสงระพีพัฒน์ หม่อมเจ้าโสภณภาราไดย์ พลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ พันโทประยูร ภมรมนตรี นาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒน์ เป็นอาทิ
หนังสือดังกล่าว นอกจากจะสร้างความไม่พอใจให้แก่บรรดาขุนนางและพระราชวงศ์รุ่นเก่าแล้ว ยังเป็นการสร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสองให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะนั้น แม้แต่หนังสือพิมพ์ก็ตำหนิการการกระทำของนายทหารทั้งสองนี้มาก ดังเช่นบทนำของหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ฉบับประจำวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2476 ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับจดหมายพันโทหลวงพิบูลสงคราม และนาวาโทหลวงศุภชลาศัย ดังความตอนหนึ่งว่า
‘….เป็นที่โจ่งแจ้งแก่ประชาชนทั่วไปว่า คุณหลวงทั้งสองที่กล่าวนามมานั้น ได้แลเห็นความหยาบคายในอันที่จะต้องมีจดหมายทูล และแจ้งไปยังเจ้านายและข้าราชการรุ่นเก่า เตือนผู้ที่ได้รับจดหมายนั้นๆว่าอย่าได้ทำลายการดำเนินงานของรัฐบาล….’
ความรู้สึกขัดแย้งในอุดมการณ์และวิถีทางในทางการเมืองระหว่างพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชกับคณะราษฎรขณะนั้น นับวันจะความรุนแรงมากขึ้นทุกที.
ทางด้านพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามนั้น ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ก็อยู่ในสภาพคล้ายหุ่นให้คณะราษฎรเชิดเล่นตามใจชอบ ทั้งที่เคยมีส่วนรู้เห็นในการก่อการปฏิวัติครั้งนั้นด้วย แต่เนื่องจากเป็นผู้ตัดสินใจช้า คณะราษฎรก็รีบชิงก่อการปฏิวัติเสียก่อน เมื่อการณ์สำเร็จแล้ว พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนายังได้เชื้อเชิญให้พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามเข้าร่วมทำงานช่วยเหลือคณะราษฎรด้วย แต่พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามปฏิเสธคำเชิญนั้น ด้วยไม่พอใจที่คณะราษฎรบางคนใช้วิธีการรุนแรงในการยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เช่น กรณีนายพลตรี พระยาเสนาสงครามถูกยิงในวันยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พลโทประยูร ภมรมนตรีได้เล่าถึงพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามไว้ตอนหนึ่งว่า
‘…สำหรับท่านพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามนั้น ข้าพเจ้าได้พบที่กรุงปารีสพร้อมกับพันเอกพระยาทรงสุรเดช ขณะนั้น ข้าพเจ้าได้ก่อหวอดเริ่มคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองกันขึ้นอยู่กับท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ข้าพเจ้าจึงได้ปรารภเรื่องการเมืองกับท่านเจ้าคุณทั้งสอง เจ้าคุณทรงสุรเดชสนใจเป็นพิเศษ และตกปากรับคำในวาระแรก และเร่งให้ข้าพเจ้ากลับเพื่อลงมือกันเลย ส่วนพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามนั้น ข้าพเจ้าใช้เวลาติดตามรับใช้วิพากษ์วิจารณ์การเมืองกับท่านเป็นเวลาปีเศษ ท่านจึงตกลงร่วมมือ แต่มีเงื่อนไขขอดูตัวบุคคลชั้นผู้ใหญ่ที่จะร่วมมือเสียก่อน ต่อมา เมื่อพันเอก พระยาศรีสิทธิสงครามทราบว่า พันเอกพระยาทรงสุรเดชกับพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนามาร่วมมือด้วย ก็ขอถอนตัว โดยรับปากว่าจะไม่เปิดเผยความลับที่ได้รู้เห็นมาและจะติดตามดูอยู่วงนอกเท่านั้น....’
ครั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว พันเอกพระยาทรงสุเดชไม่พอใจพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามที่ถอนตัวออกไปเสียจากคณะราษฎร ก่อนการลงมือปฏิวัติ จึงได้สั่งย้ายไปประจำกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นการลงโทษทางอ้อมนั่นเอง
เหตุการณ์ด้านทหารในคณะราษฎรเริ่มปั่นป่วนวุ่นวายมากขึ้น เมื่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเกิดขัดใจอย่างรุนแรงกับพันเอกพระยาทรงสุรเดชในเรื่องที่พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า ไม่ได้ทราบเรื่องการประกาศยุบสภา และถูกหลอกให้เซ็นชื่อ แต่ที่ถึงขั้นแตกหักนั้น เกิดจากพันเอกพระยาทรงสุรเดชได้ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งพันเอกพระยาพหลฯในหน้าที่ผู้บังคับการทหารบกบางฉบับถึงกับใช้มีดไล่ฟันกัน
ต่อมา พันเอกพระยาทรงสุรเดชได้ชักชวนพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์กับพันโทพระประสาทพิทยายุทธ ร่วมใจกันลาออกจากตำแหน่งต่างๆทางราชการทั้งหมด เป็นผลให้พันเอกพระยาพหลฯจำต้องพลอยลาออกด้วย ทำให้ตำแหน่งสูงๆทางทหารของคณะปฏิวัติว่างลง ในการนี้ หลวงพิบูลสงครามได้ให้พันโทประยูร ภมรมนตรีเป็นทูตไปติดต่อเชิญพลตรี พระยาพิชัยสงคราม และพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และเสนาธิการทหารบก ส่วนตัวพันโทหลวงพิบูลสงครามนั้นก็ขอดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ความคิดนี้ พันเอกพระยาพหลฯเห็นชอบด้วย และได้มีการเจรจาตกลงกันที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อได้ชี้แจงความจำเป็นและให้คำมั่นสัญญากันเรียบร้อยแล้ว พันโทหลวงพิบูลสงครามก็ให้คำรับรองกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตีในขณะนั้นว่า ได้ทำการตกลงกับคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารเรียบร้อยแล้ว และให้พันโทประยูร ภมรมนตรี เสนาธิการคณะรัฐมนตรี นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย โดยพันโทประยรูฯ ได้กราบถวายคำรับรองเรื่องการแต่งตั้งพันโทหลวงพิบูลฯเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก โดยขอเอาชีวิตเป็นประกันจนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางพระทัย โดยตรัสว่า ‘ฉันก็จะยอมเชื่อแกสักครั้ง’ แล้วทรงลงพระปรมาภิไธยเปลี่ยนแปลงและแต่งตั้งนายทหารระดับสูงในวันที่ 18 มิถุนายน 2476
ครั้นพอถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2476 พันเอก พระยาพหลฯ พันโทหลวงพิบูลฯ และนาวาโทหลวงศุภชลาศัยก็ทำการรัฐประหารขับไล่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยพันโท หลวงพิบูลฯได้อ้างเหตุผลในการทำการครั้งนี้กับพันโทประยูร ภมรมนตรี ว่า “ประยูร จำเป็นต้องทำ ไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามเล่นไม่ซื่อหักหลัง เตรียมสั่งย้ายนายทหารผู้คุมกำลังทั้งกองทัพ พวกก่อการจะถูกตัดตีนตัดมือและถูกฆ่าตายในที่สุด”
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พันเอก พระยาศรีสิทธิสงครามโกรธแค้พันโทหลวงพิบูลฯมาก ดังที่พลโทประยูร ภมรมนตรีเล่าไว้ว่า
‘….ต่อมาอีก 2-3 วัน ท่านเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามมาหาข้าพเจ้าที่บ้านบางซื่อ หน้าเหี้ยมเกรียม ตาแดงก่ำเป็นสายเลือด นั่งกัดกรามพูดว่า หลวงพิบูลสงครามเล่นสกปรก หลอกเอาท่านมาทำลายป่นปี้เพื่อสร้างตนเอง ท่านจะต้องจำกัด จะต้องฆ่าหลวงพิบูลสงคราม แต่จะต้องดูเหตุการณ์ไปก่อน ถ้าหลวงพิบูลล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินเมื่อใด ท่านเป็นลงมือเด็ดขาด...’”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ดร.เสรี ซูฮก ‘ทักษิณ’ ใหญ่จริงๆไม่มีใครกล้าทำอะไร
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่าฟังปร
'จิรายุ' ตีปาก 'สส.โรม' อย่าพูดให้ประเทศเสียหาย ปมยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจาก พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีมีอดีต สส. ของกัมพูชา ถูกยิงเสียชีวิตในประเทศไทยแล้ว
นายกฯ ยันไร้แผนปรับครม. ตอนนี้พรรคร่วม-รมต.ไม่มีใครดื้อ ไม่เสียใจ 'ทักษิณ' พูดนำก่อน
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายปรับลดค่าไฟตรงนี้ถือเป็นหลักประกันเก้าอี้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานด้วยหรือไม่ ว่า อันนี้ไม่ทราบเลยว่าทำไม