(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า
“พระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าเคยกล่าวว่า ตามความเห็นของข้าพเจ้า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีวันที่จะพระราชทานอภัยโทษให้รัฐบาลที่ทำให้พระองค์เสียหน้าเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างรุนแรง ถึงแม้จะทรงปฏิบัติต่อคณะราษฎรด้วยดี แต่ความรู้สึกไม่พอพระทัยยังมีอยู่ และความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับรัฐบาลชุดใหม่ก็ยังห่างไกลจากความเป็นมิตร แน่นอนว่า คงยากจะทราบได้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างที่ผู้แทนของคณะราษฎรเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มีสิ่งบ่งชี้ภายนอกบางอย่าง ทำให้เราพอจะเดาได้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างการสนทนานั้น”
----------------
เกิดอะไรขึ้นในระหว่างการสนทนา ? มีสมาชิกของคณะราษฎรได้บันทีกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในการสนทนานั้น อันได้แก่ บันทึกของประยูร ภมรมนตรีและบันทึกของปรีดี พนมยงค์
โดยในบันทึกของประยูร ภมรมนตรี กล่าวว่า
“หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ทรงตั้งพระทัยพิจารณาอย่างจริงจัง แต่ครั้นแล้วก็มีข้อความหลายตอนที่ข้องพระทัยยิ่งนัก จึงตรัสถามพระยาทรงสุรเดชว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญมาก่อนหรือเปล่า ซึ่งพระยาทรงสุรเดชก็กราบทูลว่า ไม่ได้อ่าน แล้วหันมาถามข้าพเจ้าว่าได้อ่านหรือเปล่า ข้าพเจ้าก็ตอบว่า ไม่ได้อ่านเช่นกัน เพราะไม่ใช่หน้าที่ และท่านเจ้าคุณ (พระยาทรงสุรเดช) ก็ได้กำชับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมแล้วว่าให้ร่างตามแบบอังกฤษ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรับสั่งว่าต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น แต่นี่เรื่องอะไรกันถึงจะต้องใช้คำเสนาบดีว่า ‘คณะกรรมการราษฎร’ ซึ่งเป็นแบบรัสเซีย แบบคอมมิวนิสต์ ทรงไม่เข้าใจว่านี่มันอะไรกัน
พระยาทรงสุรเดชรู้สึกตะลึงอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วลุกขึ้นถวายคำนับว่า ‘ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานสารภาพผิด ข้าพระพุทธเจ้ามิได้อ่านมาก่อน ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานอภัยและขอถวายสัตย์ว่า จะไปร่างใหม่ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ’
สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงนิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง น้ำพระเนตรขุ่น รู้สึกอัดอั้นพระทัยเป็นอย่างยิ่ง น้ำพระเนตรไหลแล้วรับสั่งว่า
‘ถ้าพระยาทรงสุรเดขรับรองว่า จะเอาไปแก้ไขกันใหม่ ฉันก็จะยอมเชื่อพระยาทรง แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมเซ็น’ แล้วขอให้เป็นวันที่ ๒๗ คือต่อจากนั้นไปอีกสองวัน แล้วก็เสด็จขึ้น
พวกเราทุกคนต่างตะลึงพรึงเพริด ทยอยกันออกไปยืนที่ลานหน้าพระราชวัง
พระยาทรงฯชี้หน้าหลวงประดิษฐ์ว่า ‘คุณหลวงทำฉิบหายป่นปี้ ไม่ทำตามที่บอกกล่าวกันไว้ ทำอะไรไปนอกเรื่อง’ พระยาทรงพูดอย่างเคืองแค้น แล้วรีบเดินไปขึ้นรถ
เป็นอันว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง พ.อ. พระยาทรงสุรเดช กับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้แตกร้าวลงไปอย่างไม่มีทางที่จะประสานกันได้ตั้งแต่วาระนั้น”
ส่วนบันทึกของปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงตอนที่น้ำพระเนตรพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไหลว่า
“ข้าพเจ้าจำภาพประทับใจในวันเข้าเฝ้านั้นได้ว่า ทรงตรัสด้วยน้ำพระเนตรคลอ เมื่อชี้พระหัตถ์ไปยังพระยาศรีวิศารวาจาที่ไปเฝ้าด้วยในวันนั้นว่า ‘ศรีวิศาร ฉันส่งเรื่องไปให้แกพิจารณา แกก็บันทึกมาว่ายังไม่ถึงเวลา แล้วส่งบันทึกของสตีเวนส์ (ที่ปรึกษาการต่างประเทศ เป็นชาวอเมริกัน) มาด้วยว่า เห็นพ้องกับแก’”
จากบันทึกของท่านทั้งสอง พบว่า น้ำพระเนตรไหล แต่สาเหตุต่างกัน
---------------------
รายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์เกี่ยวกับ พระมหากษัตริย์ (ต่อ)
“เมื่อหนึ่งเดือนก่อน มีการตกลงจะจัดการแข่งขันฟุตบอลครั้งใหญ่ระหว่างสองสถาบัน อัครราชทูตของประเทศมหาอำนาจต่างๆล้วนได้รับเชิญด้วย ดูเหมือนว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงทราบในตอนเช้าของวันแข่งขันนั้นเอง เนื่องจากมีประกาศอย่างเป็นทางการว่าพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร ทำให้ทรงไม่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ทรงพิโรธมากและทรงปฏิเสธที่จะไปร่วมทอดพระเนตรการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ การแข่งขันจึงถูกเลื่อนไปเป็นสัปดาห์ถัดมา ถึงแม้พระองค์จะเสด็จฯมาทอดพระเนตรการแข่งขัน แต่ก็เสด็จฯด้วยความไม่พอพระราชหฤทัย
วันเสาร์ที่แล้ว มีการแข่งขันกีฬารักบี้ระหว่างทีมอังกฤษกับทีมไซง่อนที่รอยัลสปอร์ตคลับ (Royal Sports Club) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯมาทอดพระเนตรในฉลองพระองค์ธรรมดาสามัญ คือ ผ้านุ่งสีเทา เสื้อราชปะแตนสีขาวติดกระดุมทุกเม็ด ไม่ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สวมพระมาลาสักหลาด พระองค์เสด็จฯ มาในสายฝน พร้อมด้วยพระบรมราชินีและข้าราชบริพารอีกสองสามคน โดยมีชาวอังกฤษผู้หนึ่งถือร่มรับเสด็จ พระองค์ไม่ได้ทอดพระเนตรฝูงชนทั้งขณะเสด็จฯไปและกลับ และฝูงชนเองก็มิได้แสดงความกระตือรือร้นแต่อย่างใด
อีกสิบห้าวัน จะมีงานเทศกาลกฐินอันยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับในกัมพูชา ซึ่งบ่งบอกถึงการสิ้นสุดฤดูฝน และในช่วงเทศกาลนี้ พระมหากษัตริย์จะเสด็จฯไปตามวัดวาอารามต่างๆ และถวายผ้าพระกฐินแด่พระสงฆ์ มีประกาศทางการออกมาว่า งานปีนี้จะจัดด้วยขั้นตอนเรียบง่าย กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง มิได้ประทับบนเสลี่ยง และจะเสด็จฯ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรถยนต์ ส่วนเรือพระที่นั่งต่างๆเก็บไว้ในอู่เรือ
ระหว่างการสนทนาเมื่อเร็วๆนี้ที่ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร อดีตอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส และปัจจุบันเป็นราชองครักษ์ เขาบอกข้าพเจ้าว่า เขาทำสุดความสามารถเพื่อให้ทุกอย่างขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี และด้วยความพยายามนี้เองที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระยาพหลพลพยุหเสนาดำเนินไปด้วยดีความสมควร ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ปรารถนาให้พระองค์พระราชทานอภัยโทษต่อความบ้าบิ่นของเขาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนนั้น ว่ากันว่า ในรัฐบาลชุดใหม่ เขาเป็นผู้จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างที่สุด
ท้ายที่สุด ตลอดการสนทนาเดียวกันนี้เอง พลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรบอกกับข้าพเจ้าคำหนึ่ง ซึ่งดูจะแสดงความวิตกกังวลอย่างหนักต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและผู้ใกล้ชิดพระองค์ว่า ‘อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ถ้าเกิดความวุ่นวายขึ้นในสยาม ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฝรั่งเศสและอังกฤษจะไม่วางเฉย และจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ’
อนึ่ง เมื่อสองสามวันก่อน พลเอก พระยาเทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้ากองทหารสยามที่ไปร่วมรบในฝรั่งเศสช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้ขอพระราชทานวโรกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บุตรชายออกจากโรงเรียนนายร้อยไปประกอบอาชีพอื่น เนื่องจากขณะนี้ กองทัพมิได้พร้อมด้วยเกียรติและสิทธิประโยชน์มากเท่าเมื่อก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตามที่ขอ
พระบรมวงศานุวงศ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตยังคงอยู่ที่ไหนสักแห่งบนเกาะชวา พระองค์คงจะสั่งให้นำส่งของมีค่าที่สุดออกจากวังเพื่อส่งไปยังต่างประเทศ และให้นำเอาสิ่งของมีค่าอีกจำนวนหนึ่งออกขาย ดูจะเป็นความจริงที่ว่า พระองค์มีเส้นสายอยู่ในสยาม พระยาอธิกรณ์ประกาศคงจะเป็นคนของพระองค์ โดยเรือเอก พระยาศราภัยพิพัฒน์ ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่จับตามองอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว น่าจะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อความสัมพันธ์นี้
ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นๆ ก็พำนักอยู่ที่วังของตน พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ซึ่งเคยถูกหนังสือพิมพ์โจมตีอย่างรุนแรง และถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้น เป็นพระองค์เดียวที่ออกมาปรากฎพระองค์ในที่ประชุมส่วนตัวต่างๆ และสัญจรไปมาตามถนนหนทาง”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย. ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 145-147, 149).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ดร.เสรี ซูฮก ‘ทักษิณ’ ใหญ่จริงๆไม่มีใครกล้าทำอะไร
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่าฟังปร
'จิรายุ' ตีปาก 'สส.โรม' อย่าพูดให้ประเทศเสียหาย ปมยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจาก พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีมีอดีต สส. ของกัมพูชา ถูกยิงเสียชีวิตในประเทศไทยแล้ว
นายกฯ ยันไร้แผนปรับครม. ตอนนี้พรรคร่วม-รมต.ไม่มีใครดื้อ ไม่เสียใจ 'ทักษิณ' พูดนำก่อน
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายปรับลดค่าไฟตรงนี้ถือเป็นหลักประกันเก้าอี้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานด้วยหรือไม่ ว่า อันนี้ไม่ทราบเลยว่าทำไม