(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า
“รัฐบาล ตั้งแต่เดือนที่แล้วเป็นต้นมา สถานะของรัฐบาลก็ยังไม่มั่นคง มีความแตกแยกภายในสภาผู้แทนราษฎร การอภิปรายเป็นไปอย่างตึงเครียดและเกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่ม
1. กลุ่มพระยาพหลพลพยุหเสนา-พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นกลุ่มที่ทำรัฐประหาร แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม
2. กลุ่มพระยาราชวังสัน หัวหน้ากลุ่มนี้เพิ่งเดินทางกลับมายังสยามเมื่อ 2 เดือนก่อน หลังจากการประชุมที่กรุงเจนีวา เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทันที และเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดูเหมือนว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งความหวังไว้กับเขาอย่างยิ่ง แต่ขณะนี้ พระยาราชวังสัน ผู้มีพี่ชายเป็นคอมมิวนิสต์ตัวยง ดูเหมือนจะทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนตน
3. กลุ่มที่น่าจะมีพระยาอธิกรณ์ประกาศ อดีตผู้บัญชาการตำรวจ เป็นหัวหน้าลับๆ กลุ่มนี้น่าจะได้รับการสนับสนุนจากกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอ แต่คงมาจากเหล่าพ่อค้าชาวจีนที่ร่ำรวยด้วย (พระยาอธิกรณ์ประกาศมีเชื้อสายจีน) ทำให้เรื่องนี้จริงจังมากขึ้น
4. กลุ่มหลวงประดิษฐ์มูนธรรม-พระยาทรงสุรเดช กลุ่มนี้เป็นพวกหัวก้าวหน้ามากและเอนเอียงสู่ความเป็นคอมมิวนิสต์อย่างแน่วแน่ และกลุ่มนี้เองที่จุดประกายให้เกิดบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ที่เป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง เป็นองค์กรกึ่งทางการของรัฐบาลชุดใหม่ที่สนับสนุนให้นำวิธีการแบบรัสเซียมาใช้ในสยาม (อ้างอิง จากรายงานสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับที่ 32 หน้า 8)
ดูเหมือนในสถานการณ์เช่นนี้ กลุ่มของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะขยายอิทธิพลออกไปทุกขณะ และจะกลายเป็นกลุ่มที่อันตรายภายในเวลาอันรวดเร็วไม่เพียงต่อสยามเท่านั้น แต่ต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วย ถ้าไม่มีอะไรมาหยุดยั้งกิจกรรมต่างๆของพวกเขาไว้ในวันข้างหน้า แต่โชคร้ายที่เรายังมองไม่เห็นว่าปฏิกิริยาต่อต้านจะมาจากทางไหน
สามเดือนมาแล้วที่ทั้งกองทัพ ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป และคนที่ถูกปลดจากตำแหน่งจำนวนมาก ต่างก็เฉื่อยชาลงในท้ายที่สุด อย่างที่เราชาวยุโรปแทบไม่เข้าใจ ดูเหมือนสิ่งที่ปรากฏให้เห็นคือ การยอมจำนนเต็มรูปแบบตามปรัชญาศาสนาพุทธ
เมื่อสองเดือนที่แล้ว หลายคนนึกถึงพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และมองว่าพระองค์จะกลายเป็นผู้นำเผด็จการในวันข้างหน้า ปรากฏว่า การไม่ปรากฎพระองค์ทำให้ทรงสูญเสียสถานะลงไปทีละเล็กละน้อยทุกวัน พระองค์ไม่ได้แสดงบทบาทแบบเผด็จการตามที่ควรจะเป็นและเกือบถูกลืมเสียด้วยซ้ำ
รัฐบาลชุดใหม่เอง นอกจากนำขบวนรถหุ้มเกราะติดปืนกลมาร่วมฉาก และใช้ถ้อยคำรุนแรงในหนังสือกราบบังคมทูล ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ก็ดูจะไม่มีแสนยานุภาพอันใดอีก
เมื่อสองสามวันที่แล้ว รัฐบาลยกเลิกการใช้รถถังคุมสถานการณ์บริเวณสี่แยกที่มุ่งหน้าไปยังที่ทำการของคณะราษฎร นี่ไม่ใช่เพราะรัฐบาลรู้สึกมั่นใจมากขึ้นแล้ว แต่เพราะการใช้รถถังคุมสถานการณ์เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ในทางกลับกัน รัฐบาลเพิ่งสั่งซื้อรถบรรทุกจำนวน 60 คันเพื่อใช้ขนปืนกล มี 13 คันมาประจำการอยู่ที่นี่ ซึ่งในจำนวนนี้มียี่ห้อซีตรอง 2 คัน อีก 7 คันยังมาไม่ถึง และอีก 40 คันสั่งมาจากสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสั่งปิดหนังสือพิมพ์ภาษาสยาม 5 ฉบับ ซึ่งถึงอย่างไร ก็ไม่อาจนับว่าเป็นความสามารถของรัฐบาล แต่รัฐบาลเสียเวลาไปกับการถกเถียง การปฏิรูปที่ไม่มีความหมาย และการสัญญาว่าจะทำให้ประชาชนมีความสุข ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะในบรรดาคณาจารย์ เกิดความขัดแย้งกันรุนแรง อธิการบดีมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องลาออก เนื่องจากมีการชุมนุมหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้เขาลาออก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการเพื่อให้เกิดความสงบ แต่เมื่อสมาคมครูก่อตั้งขึ้น จึงเสี่ยงที่จะควบคุมไม่ไหวในอีกไม่ช้า อีกประการหนึ่ง สมาคมครูดังกล่าว ซึ่งว่ากันตามนิยามแล้ว ประกอบด้วยปัญญาชนหัวก้าวหน้ามากๆ และดูเหมือนต้องการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนอกกรอบการเมืองของรัฐบาล แต่ในเรื่องนี้ ดูจะเป็นความคิดเชิงทำลายมากกว่าสร้างสรรค์
เมื่อสองสามวันก่อน ชาวจีนคนหนึ่งที่ขายระเบิด ‘อานุภาพทำลายล้างสูง’ ถูกจับกุม วันนั้น พบลูกระเบิดถึง 20 ลูก โดยขายลูกละ 8 บาท เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
สองสามวันก่อนนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งตั้งคำถามต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเรื่องการรวมตัวของกองทหารอังกฤษที่สิงคโปร์ ท่านรัฐมนตรีจำเป็นต้องปฏิเสธข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว มีข่าวการระดมพลในอินโดจีนอีก และมีการสอบถามเรื่องนี้อย่างไม่เป็นทางการกับสถานอัครราชทูตฝรั่งเศส ดูเหมือนว่า ในระหว่างนั้น เรือฝรั่งเศส 5 ลำ และเรืออังกฤษ 3 ลำ แล่นสวนกันบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วนวันจันทร์ที่ผ่านมา นายพีเจน (M. Pegen) บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์ (Siam Observer) มาถามข้าพเจ้าว่า จริงหรือไม่ที่ชาวฝรั่งเศสทุกคนในบางกอกถูกเรียกระดมพล ข่าวลือเหล่านี้ดูจะไม่สมจริงนัก แต่ก็สมควรต้องรายงาน เพราะต้นตอของข่าวนี้ไม่น่าจะมาจากประชาชนที่เฉยเมยอย่างที่สุด แต่ต้องมาจาจากแวดวงของรัฐบาลเอง
ดูเหมือนว่า รัฐบาลชุดใหม่มีความตั้งใจจริงมากกว่าความสามารถ บางครั้งมีความตั้งใจอย่างมากที่จะทำความดี ด้วยเหตุนี้ จึงดูเหมือนรัฐบาลตัดสินใจที่จะไม่สั่งสินค้าจากบริษัทแบร์โรว์ โบรน (Barrow-Braun) ของอังกฤษแล้ว บริษัทนี้ก็ดูจะติดสินบนเพื่อให้ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากรัฐบาลชุดเก่ามากเกินไป เรื่องนี้จำเป็นต้องยุติลง บริษัทจะปฏิบัติงานต่อจนหมดสัญญา แต่จะไม่มีการต่อสัญญาใหม่อีก (บริษัทนี้เป็นผู้เจรจาซื้อขายยุทโธปกรณ์ต่างๆของบริษัทฝรั่งเศสชื่อเอ็ดการ์ บรันดต์ (Edgar Brandt) ให้กองทัพสยาม)
ค่าเงินบาทตกต่ำ สามอาทิตย์มาแล้วที่มีข่าวลือหนาหูเรื่องค่าเงินบาทอ่อนตัวลงครั้งใหม่ เวลานี้คงตัวอยู่ที่ 11 บาทต่อ 1 ปอนด์สเตอร์ลิง อาทิตย์ที่แล้ว ธนาคารต่างๆพากันแลกเปลี่ยนเงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมากๆ
ในเอกสารราชการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 19 เดือนที่แล้ว รัฐบาลออกแถลงการณ์ปฏิเสธ ‘ข่าวลือที่เกิดขึ้น’ แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่า ต้องนำปัญหาเรื่องค่าเงินบาทตกต่ำครั้งใหม่มาพิจารณาอย่างจริงจังอีกครั้ง บางคนพูดว่า ชาวสยามไม่กล้าทำอะไรก่อนที่ที่ปรึกษาชาวอังกฤษคนใหม่จะมาถึงในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ แต่อีกพวกกลับพูดในทางตรงกันข้ามว่า พวกเขาอยากจะจัดการให้สิ่งที่เป็นอยู่นี้สำเร็จลุล่วงไปได้ ถ้าเป็นอย่างที่ผู้คนพูดกันว่า เก็บภาษีได้น้อย และถ้าเงินในท้องพระคลังใกล้จะหมด ค่าเงินบาทตกต่ำก็มีความเป็นไปได้มาก ก่อนจะนำเงินเก็บที่เป็นเงินตราต่างประเทศออกมาใช้เป็นวิธีการสุดท้าย รัฐบาลอาจตัดสินใจลดค่าเงินบาทเพื่อเพิ่มจำนวนเงินบาทที่จะได้จากเงินตราต่างประเทศเหล่านี้ มาตรการนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง สยามที่พึ่งพาตัวเองเป็นหลักจะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการลดค่าเงินบาทและความมั่งคั่งชนิดชั่วคราวแต่มีอยู่จริงไม่ได้ ซึ่งประชาชนจะรับรู้ถึงผลกระทบเหล่านี้ได้ก็แต่ในระยะยาว ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลอยากทำในขณะนี้คือ การซื้อเวลา
ท้ายที่สุด เรื่องนี้อาจมีวิธีการทางอ้อมอย่างอื่นและเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยเช่นกันคือ การให้ที่ปรึกษาชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งลาออกด้วยความสมัครใจ จ่ายเงินให้เป็นเงินบาทโดยไม่ชดเชยส่วนต่างที่สูญไปจากอัตราการแลกเปลี่ยน และความเป็นไปได้นี้คงทำให้ปัญญาชนสยามจำนวนหนึ่งพอใจ (ข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้ในรายงานฉบับที่ 23/A ลงวันที่ 1 กรกฎาคม หน้า 13 ว่า การลดค่าเงินบาทเป็นวิธีที่ชาวสยามจำนวนหนึ่งคิดจะนำมาใช้เพื่อจัดการกับที่ปรึกษาชาวต่างชาติ)
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องภายในของสยาม มาตรการนี้ก็ทำให้เราอยู่เฉยๆไม่ได้ นอกจากเราจะได้รับผลกระทบทั้งการสูญเสียสถานะและอิทธิพลแล้ว แต่ยังเผชิญภาวะขาดดุลจากการลดค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาในตลาดค้าข้าวด้วย และจะทำให้ตลาดค้าข้าวของโคชินจีนทั้งหมดได้รับผลกระทบอย่างมากจากเรื่องนี้”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย. ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 138-139, 141, 144-145).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง
ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง
พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย
ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง