รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ
หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์
สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก
สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา
สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร
หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
เราจะมาดูว่า มูลเหตุทั้งหกนี้มีรายละเอียดอย่างไร และเป็นจริงมากน้อยเพียงไร ผู้เขียนได้กล่าวถึง มูลเหตุที่หนึ่งและสองไปแล้ว และได้กล่าวอธิบายถึงมูลเหตุที่สามไปบางส่วน จะขอกล่าวต่อไปถึง ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา ต่อไป
จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476” ของนิคม จารุมณี (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2519) กล่าวว่า
“..ในทางปฏิบัติ..คณะรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เป็นผู้ผูกขาดอำนาจการปกครองไว้เองเป็นอย่างน้อยถึง 20 ปี และแม้ในการจัดดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามกฎหมายเลือกตั้ง ก็เป็นการดำเนินการเพื่อพวกพ้องของคณะรัฐบาลเอง หรืออย่างน้อยก็เป็นคนซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลเองทั้งสิ้น จึงเป็นหนทางให้เกิดความขมขื่น และเป็นการสร้างปฏิกิริยาทางใจแก่บรรดาข้าราชการ และขุนนางรุ่นเก่าทั้งหลายที่มุ่งหวังจะเห็นประเทศชาติภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จะได้ดำเนินการตามกระบวนการประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องเสียทีนั้น แต่การณ์กลับเป็นไปตามอำนาจและความพึงพอใจของคณะบุคคลที่กำลังมีอาวุธหนุนอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น โดยมิได้คำนึงถึงความชอบธรรมแต่อย่างใด
การเลือกตั้งผู้แทนประจำตำบลได้มีขึ้นในเดือนกันยายนต่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 นั้น มีสิ่งที่น่าสนใจอันจะนำมาพิจารณาต่อไปคือ ในตำบลที่ราษฎรเอาใจใส่ในการเลือกตั้งมากที่สุด ซึ่งหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์รายงานไว้ดังนี้
‘….สภาพของการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตำบลนครชัยศรี จะเป็นส่วนเปรียบเทียบได้ดีกว่าแห่งอื่น เพราะเป็นตำบลที่อุดมไปด้วยนักการเมือง และเป็นตำบลที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากที่สุดในกรุงสยาม ตำบลนี้มีผู้มีสิทธิออกเสียง ๕๐๙๒ คน แต่ไปออกเสียงเพียง ๘๓๔ คนเท่านั้น ที่ไม่ไปตั้ง ๔๒๕๘ คน เป็นอันว่าที่ใฝ่กิจในการเลือกตั้งเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายแดง เสถียรบุญโรจน์ได้คะแนนสูงสุด ๑๓๒ คะแนน ส่วนผู้ที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ นายสนั่น บุญยรัตนผลิน ได้ ๘ คะแนน ในหัวเมืองต่างๆ นอกจากกรุงเทพนั้น ผลการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประจำตำบลได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เจ้าเมืองชี้ตัวให้สมัครรับเลือกตั้งเกือบเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีใครสมัครเข้ารับเลือกตั้งแข่งขันกัน บุคคลที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอสนับสนุนและกำหนดตัวเอาไว้ ผลการเลือกตั้งอันไม่เป็นตามวิสัยประชาธิปไตยได้เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งให้เกิดการกบฎปี ๒๔๗๖ นั้น เพราะเมื่อฝ่ายรัฐบาลได้ปิดทางที่จะต่อสู้กันตามวิถีทางของประชาธิปไตยให้เป็นทางตันเสียแล้ว ก็ย่อมจะต้องต่อสู้กันด้วยอาวุธ ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าต่อสู้เพื่อประชาชนด้วยกัน ฝ่ายใดจะแพ้ชนะก็ตามที แต่ชาติบ้านเมืองและประชาชนต้องเป็นผู้เสียหายด้วยทุกครั้งไป วิธีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทุกๆจังหวัดก็ใช้วิธีการกำหนดตัวของข้าราชการฝ่ายปกครอง เช่นเดียวกับการกีดกัน สนับสนุนผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนประจำตำบลเหมือนกัน พวกข้าราชการรุ่นเก่าที่ปรีชาฉลาด ไม่สามารถเปลี่ยนจิตใจและวางตัวให้เข้ากับการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีขึ้นได้...’ (บันทึกส่วนตัวเล่มที่ 1 ของร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์, [พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๖])
แม้ในพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ของสภาผู้แทนราษฎร ได้ทรงกล่าวว่า
‘…การตักเตือนของข้าพเจ้าไร้ผล เพราะคณะผู้ก่อการยืนยันในความประสงค์ที่จะยึดอำนาจไว้ในมือของคณะตนให้จงได้อย่างน้อยเป็นเวลา ๑๐ ปี ข้าพเจ้ารู้สึกในขณะนั้นว่า ถ้าจะโต้เถียงกันต่อไป การร่างรัฐธรรมนูญก็จะชักช้าไม่รู้จักแล้ว และอาจเป็นการแตกหักร้ายแรงเสียยิ่งกว่าจะยอมรับให้การณ์เป็นไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการ จึงได้ยอมให้เป็นไปตามนั้น ต่อมา ข้าพเจ้าก็ได้ยินคำติเตียนหลักการอันนั้นในรัฐธรรมนูญมากขึ้น และหลักการอันนี้เป็นเหตุให้มีคนไม่พอใจในคณะรัฐบาลเป็นอย่างมาก จนมีการเริ่มคิดที่จะล้มรัฐบาลเสียโดยพลการ เพื่อแก้ไขหลักการข้อนี้ ตั้งแต่ก่อนทำพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ และยังมีอยู่เนืองๆในกาลต่อมา การที่พระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาศรีสิทธิสงครามหาพวกพ้องได้มากมายจนถึงกับได้ยกกองทัพมาประชิดพระนคร ทำให้เกิดมีการฆ่าฟันกันเองในระหว่างคนไทย ก็ได้หยิบยกเอาการตั้งสมาชิกประเภท ๒ นี้ขึ้นอ้างเป็นข้อสำคัญที่เห็นควรทำลายรัฐบาลเสียโดยกำลัง เพราะโดยกฎหมายไม่มีทางทำได้...’ (บันทึกส่วนตัวเล่มที่ 1 ของร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์, [พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๖])
เหตุการณ์สำคัญดังกล่าวแล้ว ผนวกกับความรู้สึกไม่พอใจที่คณะปฏิวัติไม่เปิดโอกาสทางการเมืองแก่คณะบุคคลอื่นๆได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย กล่าวคือ ภายหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว ทั้งๆที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองตามกฎหมาย แต่คณะราษฎรก็ได้รวมตัวเข้าด้วยกัน มีการประชุมในรูปของพรรคการเมือง ดังนั้น จึงทำให้มีคณะบุคคลอื่นพยายามเอาเยี่ยงอย่าง เพื่อก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เพื่อแข่งขันกับคณะราษฎร และเพื่อจะขอเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเมืองใหม่นี้ด้วย คณะบุคคลดังกล่าวมีพระยาโทณวณิกมนตรีกับพวกได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาล ขอจดทะเบียนสมาคมการเมืองชื่อ ‘สมาคมคณะชาติ’ หรือ ‘คณะชาติ’….แต่ในขณะที่พระยาโทณวณิกมนตรีกับคณะยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมาคมการเมืองนั้น รัฐบาลไม่อนุญาตให้จัดตั้ง และในเวลาต่อมา คณะราษฎรก็ยุบตัวเอง คงไว้แต่สโมสรที่วังสราญรมย์ เพื่อให้สมาชิกพบปะกัน แต่ความจริงแล้ว สโมสรดังกล่าวมีพฤติกรรมเป็นรูปพรรคการเมืองทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าต่อมาได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่งได้เสนอร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมืองขึ้นมาบ้างในรัฐสภา อย่างไรก็ดี รัฐบาลซึ่งมีสมาชิกประเภทที่สองหนุนหลังอยู่มากในขณะนั้น ก็ไม่ยอมรับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของสมาชิกประเภทที่หนึ่งไว้พิจารณาก่อนสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ การที่คณะราษฎรใช้อิทธิพลในทางรัฐสภาปิดกั้นมิให้กลุ่มอื่นๆ ได้มีโอกาสในทางการเมืองเช่นนี้ กลุ่มคณะชาติเองเมื่อไม่มีโอกาสต่อสู้กับคณะราษฎรในทางการเมืองได้ ก็มีอยู่หนทางเดียว คือการใช้กำลังเข้าช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเสียเท่านั้น (Virginia Thomson, Thailand: The New Siam (New York: Macmillan Company, 1941)) ดังจะเห็นได้ในเวลาต่อมา บุคคลสำคัญๆของคณะชาติเกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดชอยู่ด้วยหลายคน
จริงอยู่ คณะราษฎรได้ประกาศว่าจะให้มีเสรีภาพ สิทธิ เสมอภาคและความสมบูรณ์พูนสุขแก่ราษฎร แต่เพราะความไม่บริสุทธิ์แก่ตัวเอง โดยอยากจะกอบโกยแสวงหาอำนาจ และมัวเมาด้วยตำแหน่ง ยศและรักพวกรักพ้องนี่แหละ จึงทำให้ประชาธิปไตยที่คนคิดมาจากมหานครปารีสไม่บริสุทธิ์พอ (พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์, อนุสรณ์ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ วันถึงแก่อนิจกรรมครบ ๑๐ ปี ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๓) จึงเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา จนถึงกับต้องใช้กำลังเข้าช่วงชิงประหัตประหารกันเองในที่สุดด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้อีกประการหนึ่ง”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง
ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง
พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย
ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง