ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ 

สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก

สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา

สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุ

ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร

หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

เราจะมาดูว่า มูลเหตุทั้งหกนี้มีรายละเอียดอย่างไร และเป็นจริงมากน้อยเพียงไร

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไปแล้ว ประเด็นที่สองคือ สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก

ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วส่วนหนึ่ง คราวนี้จะขอกล่าวต่อไป

จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476”  ของนิคม จารุมณี (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2519) กล่าวว่า “….ความเอิกเกริก อื้อฉาวอย่างสามานย์ที่นายถวัติ คิดขึ้นคราวนี้ ต้องมีมูลเหตุเนื่องมาแต่อะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะค้นคว้า เพราะอย่างไรก็ดี นายถวัติและพรรคพวกคงไม่โง่พอที่จะคิดว่าจะฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้คล่องๆ นอกจากนายถวัติแกล้งทำขึ้น เพื่อที่จะทำลายพระราชกิติคุณ เนื่องมาแต่พระราชวิจารณ์โครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นการประจบในขณะที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกำลังเดินทางกลับมาในประเทศสยาม เช่นนี้ เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า ในกาลข้างหน้า นายถวัติจะทำอะไรประจบหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอีก และเราก็ควรเริ่มระวังป้องกันเสียแต่บัดนี้ อย่าปล่อยให้ตะวันสายบ่ายจัดจนเสียการงาน ดังที่เป็นมาแล้ว....” (หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์)\

การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถูกฟ้องร้องในคดีอาญาเช่นนี้ ได้สร้างความสะเทือนใจให้แก่ประชาชน และข้าราชการที่ยังจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก โดยเฉพาะในหมู่พระราชวงศ์และขุนนางรุ่นเก่าทั้งหลายนั้น มีความรู้สึกเกลียดชังคณะราษฎร และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นพิเศษ ประชาชนทั้งหลายรู้สึกเศร้างสลดใจในพฤติการณ์ดังกล่าวมาก และรัฐบาลก็มิได้ดำเนินการอย่างใดในอันที่จะปกป้ององค์พระมหากษัตริย์ให้พ้นจากการถูกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดังปรากฎชัดเจนในบทความของหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ประจำวันที่ 21 กันยายน 2476 ที่ได้แสดงความเห็นตำหนิรัฐบาลไว้ว่า

‘….ตั้งแต่เรื่องนายถวัติ ฤทธิเดชฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในคดีอาญาฐานเป็นจำเลย ปรากฏแก่พลเมืองไทยคนหนึ่งได้หยามและหมิ่นหลู่ดูแคลนพระบรมเดชานุภาพอย่างเหลือที่จะทนทานได้ เพราะเหตุว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ซึ่งมีความว่า ‘องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้’  และเมื่อราษฎรสยามผู้หนึ่งได้กระทำการอันอุกอาจหยาบหยามเช่นนี้ ก็เท่ากับรัฐธรรมนูญอันเป็นที่เคารพนับถือของเรา ได้ถูกเริ่มต้นย่ำยีแล้ว เรานิ่งดูมาหลายวันแล้วว่า รัฐบาลจะได้ปฏิบัติการอย่างใดแก่นายถวัติ และพรรคพวกผู้ร่วมคิด เพราะรัฐบาลนี้ถึงความในจะถือกันอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงย่อมปรากฎเปิดเผยแก่พวกเราและชาวต่างประเทศว่าเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อผู้เป็นประมุขของชาติได้ถูกเหยียบย่ำไม่มีชิ้นดีเช่นนี้ เราทนนิ่งต่อไปไม่ได้

ที่จริงหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ประพันธ์เรื่องราวต่างๆเป็นทำนองเสียดสีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ตลอดจนเจ้านายผู้ใหญ่บางพระองค์มาช้านานแล้ว ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ก็ไม่เห็นมีผู้ใดยื่นมือเข้าไปห้ามปรามว่ากล่าว แม้เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้เก็บพระราชบัญญัติ สมุดเอกสาร และความกำเริบเสิบสานเหล่านี้เป็นมูล ทำให้ขุนนางบางพวกเอาพระปรมาภิไธยผู้เป็นธงชัยคู่กับธงชาติของเรามาเหยียบย่ำเล่นตามความพอใจ  ส่วนเราสิ พอตำหนิติเตียนรัฐบาล ซึ่งเป็นธรรมดาทั่วโลกแห่งลักษณะประชาธิปไตย เขาตำหนิติเตียนรัฐบาลกันได้ ก็ถูกประณามอย่างสาดเสียเทเสีย ถึงเป็นผู้ทรยศต่อชาติ เมื่อลักษณะโครงการของรัฐบาลดำเนินอยู่เช่นนี้ที่เรียกว่าประสานงานทุกชิ้นให้กลมเกลียวกันนั้น น่าคิดมาก เราได้เจียมตัวมาหนักหนาแล้วที่จะระงับการติเตียนรัฐบาลโดยตรงๆ เพราะเกรงภัยดังที่ได้ประสบมาแล้ว แต่คราวนี้ทนไม่ไหวจริงๆ เพราะรัฐธรรมนูญที่เราได้เทอดไว้ยังไม่ทันเมื่อยศีรษะ ก็มีคนมากระชากลงมากระทืบเช่นนี้ ผู้ใดที่ทนได้นั้น เราต้องถือว่าผู้นั้นรักรัฐธรรมนูญก็แต่เฉพาะข้อที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเท่านั้น

‘เจ้าประคุณทูลกระหม่อมแก้ว แม้ถูกบริภาษเมื่อคราวเปลี่ยนแปลงลักษณะปกครองก็พอดูอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรได้ เป็นชะตาของบ้านเมือง จะต้องหมุนเวียนปริวรรตไปเช่นนั้น แต่แม้กระนั้น ก็ได้ทรงโอนอ่อนผ่อนตามอัธยาศัยของผู้ยึดอำนาจ  จนอุบัติรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ ซึ่งที่แท้ก็เป้นพระราชประสงค์จำนงหมายแต่เดิม นับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ยังไม่ถึงขวบปีดี พระองค์ผู้เป็นที่เคารพสักการะที่เรายกย่องไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นได้ถูกมือคนไทยเอาน้ำสกปรกสาดอย่างแปดเปื้อน ถ้าจะว่าไปแล้ว คนไทยทุกคนที่รักรัฐธรรมนูญจะต้องมีส่วนถูกน้ำโสโครกนั้นด้วยทุกคน

รัฐบาลที่กอร์ปด้วยรัฐมนตรีที่น่าเคารพบางคน ท่านจะนิ่งดูดายไปถึงไหนกัน แม้แต่ผู้เป็นประมุขของชาติ เขายังช่วยกันย่ำยีบีทาเล่นอย่างไม่ปราณีแล้ว ท่านจะอยู่ไปได้กี่น้ำ ถ้าจะพูดเป็นคำสมมติแล้ว หมวกของท่าน เขายังเอาลงมากระทืบเล่นได้ ทำไมเขาจะไม่ช่วยกันถอดรองเท้าของท่านขว้างท่านเข้าสักวันหนึ่งเล่า...’

บทความหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ดังกล่าว นับว่ามีส่วนกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังรัฐบาลในขณะนั้นอย่างถึงที่สุด และทำให้คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งตัดสินใจแน่วแน่ในอันที่จะดำเนินการกู้บ้านกู้เมืองทันที เพื่อปกป้องพระบรมเดชานุภาพไว้”

ต่อมา ประการที่สาม การตีบตันทางการเมใองในระบบรัฐสภาของบรรดานายทหารและขุนนางรุ่นเก่า อันสืบเนื่องมาจากที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาปิดสภาผู้แทนราษฎรและประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา  แล้วต่อมา พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันโทหลวงพิบูลสงคราม และนาวาโทหลวงศุภชลาศัย ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 และประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นในวันรุ่งขึ้น  โดยมีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี การเข้ามามีอำนาจของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากทหารบก อันมีพันโทหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้นำ ฝ่ายทหารเรือมีนาวาโทหลวงศุภชลาศัยเป็นผู้นำ นับว่าเป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการใช้กำลังอาวุธเข้ามาบังคับเอาตามใจชอบ ถึงแม้ว่าคณะรัฐประหารจะใช้เหตุผลว่า เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญเป็นข้ออ้างก็ตาม แต่ในความรู้สึกทั่วๆไปของประชาชนนั้น ไม่นิยมชมชอบกับวิธีการของรัฐบาลใหม่ เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ก็เพราะคณะราษฎรเกรงจะถูกปราบปราม โดยคณะเจ้าจึงชิงลงมือเสียก่อน

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ดังปรากฏในหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม 2476 ความตอนหนึ่งว่า

‘….ทั้งๆที่เราจะยกปัญหาเรื่องการยึดอำนาจอันไม่เป็นธรรมครั้งหลังออกนอกประเด็นเสีย และหันมาพูดถึงการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แล้วจะเห็นว่า พวกยึดอำนาจนี้ได้ผูกขาดการปกครองไว้เป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด 10 ปี เพราะตามกฎหมายเลือกตั้ง พวกก่อการครึ่งหนึ่งย่อมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยอ้างพระบรมราชโองการ แต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้น ก็ย่อมเป็นการบ่งชัดว่า การเลือกตั้งนั้นย่อมต้องแล้วแต่คณะผู้ก่อการปฏิวัติจะมีความคิดเห็นพึงพอใจใคร ก็ให้เลือกตั้งขึ้นมาเป็นผู้แทนราษฎร เพราะเหตุที่ไม่ใช่มวลราษฎรเลือกตั้งเข้ามา หากแต่เป็นเรื่องของผู้แทนตำบล ซึ่งขึ้นอยู่กับอิทธิพลของเจ้าบ้านผ่านเมือง ราษฎรนั้นคงอยากจะเลือกคนที่เขาเห็นสมควรขึ้นมาเป็นผู้แทนราษฎรบ้าง แต่ตามลักษณะวิธีการของการเลือกตั้งระบบนี้ (คือให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนตำบล แล้วผู้แทนตำบลซึ่งโดยมากเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของทางราชการ จะเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกครึ่งหนึ่ง)  ราษฎรย่อมไม่มีหนทางที่จะเลือกตั้งตามใจชอบได้ เพราะฉะนั้น ถ้าผลของการเลือกตั้งดังว่านี้ จะมีผู้แทนราษฎรจริงๆของราษฎรสัก 10 คน เข้าไปนั่งในสภาสำเร็จแล้วไซร้ ก็จักเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุด…’

จะเห็นว่า นอกจากการยึดอำนาจโดยไม่ชอบธรรมดังคำวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์ดังกล่าวแล้ว การดำเนินการทางรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475 ก็มิได้เป็นไปอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแต่ประการใดไม่ ทั้งๆที่คณะรัฐประหารเองก็ได้ใช้เหตุผลในการทำรัฐประหารครั้งนี้โดยประกาศชี้แจงแก่ประชาชนว่า

‘…ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และงดให้รัฐธรรมนูญเป็นอันมาก คณะทหารบก ทหารเรือและพลเรือน จึงได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ….’                                     

แต่ในทางปฏิบัตินั้น คณะรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 นั่นเองเป็นผู้ผูกขาดอำนาจการปกครองไว้เองเป็นอย่างน้อยถึง 20 ปี…..”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพจพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ปลื้ม ‘คนคุณภาพประชาธิปัตย์’ ได้เป็นขรก.การเมือง

เฟซบุ๊กเพจ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ครม. เห็นชอบ แต่งตั้ง “คนคุณภาพประชาธิปัตย์” เป็นข้าราชการการเมือง สังกัด ทส. และ สธ.

'เทพไท' เรียกร้องนิรโทษกรรมทุกกลุ่ม รวมคดี 112 ด้วย

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "พรบ.นิรโทษกรรม:ปรองดองจริงหรือ?" ระบุว่ากรณีนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.

ดร.เสรี ถามลั่น มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เกิดขึ้นกี่โมง?

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาอดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ทำงานไม่เป็น ไม่เห็นผลงานเชิงประจักษ์ใดๆ ที่หาเสียง

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 45: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร