ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 2)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ 

สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก

สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา

สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร

หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

เราจะมาดูว่า มูลเหตุทั้งหกนี้มีรายละเอียดอย่างไร และเป็นจริงมากน้อยเพียงไร

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  คราวที่แล้วได้กล่าวถึงหลักฐานเกี่ยวกับภัยคอมมิวนิสต์ไปบ้างแล้ว จะขอกล่าวต่อไป

จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476”  ของนิคม จารุมณี (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2519) ได้กล่าวว่า  การที่รัฐบาลคณะรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ได้ประกาศแต่งตั้งให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล “ได้สร้างความรู้สึกไม่พอใจแก่บรรดาพระราชวงศ์และขุนนางเก่าทั้งหลายเป็นอย่างมาก ด้วยเกรงว่าจะเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ด้วยอิทธิพลและอำนาจทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม จึงทำให้คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งตัดสินใจเริ่มลงมือดำเนินการทันที  โดยมีความเชื่อบนพื้นฐานที่ว่า ‘พวกเราทำการปฏิวัติซ้อน แล้วแย่งอำนาจคืนกลับมา หนทางเดียวเท่านั้นที่จะเป็นการป้องกันมิให้ประเทศไทยกลายเป็นคอมมิวนิสต์’

หลักฐานสำคัญที่ยืนยันย้ำให้เห็นถึงความหวั่นเกรงภัยคอมมิวนิสต์คุกคามประเทศไทย จนถึงต้องลงมือทำการนั้น คือ หนังสือของพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม ที่มีไปถึงรัฐบาลในตอนบ่ายวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 อันมีใจความสำคัญว่า

….คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาเพื่อดำเนินการแบบคอมมิวนิสต์ต่อไป  จึงขอให้กราบถวายบังคมลาออกจาตำแหน่งภายใน 1 ชั่วโมง ถ้ามิฉะนั้นจะใช้กำลังบังคับ และจะเข้ายึดการปกครองชั่วคราว จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งไม่มีนายทหารประจำการเข้าเกี่ยวข้อง….’ “ (อ้างอิง เรื่องคำขอหรือคำขาดและคำแถลงการณ์หรือใบปลิวของพวกกบฏ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ ๓๙/๑๖๓)

สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก

จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476”  ของนิคม จารุมณี (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2519) ได้กล่าวว่า  “นับตั้งแต่วาระแรกที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พวกเจ้าถูกก้าวร้าวเสียดสีป้ายร้ายมาก และเมื่อรัฐบาลเรียกตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับประเทศไทย  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถูกหนังสือพิมพ์บริภาษแทบไม่เว้นวัน รวมทั้งเจ้านายก็ถูกเสียดสีก้าวร้าวเช่นกัน”

หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2476 ได้ลงพิมพ์บทความตอบโต้ว่า

“ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองมาดูเหมือนเจ้าเป็นบุคคลจำพวกหนึ่งที่ถูกบริภาษมากกว่าใครๆหมด ทั้งๆที่รัฐบาลมีนโยบายจะสมานคนทุกชั้นให้มีความกลมเกลียวสามัคคีกัน แท้จริงตามรัฐธรรมนูญของเราเป็นรอยัลลิสต์ เพราะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ แต่เราก็พากันจงเกลียดจงชัง และปล่อยให้หนังสือพิมพ์บริภาษเจ้าอยู่ทุกวี่ทุกวัน รัฐธรรมนูญของเราจะมิจอมปลอมไปหรือ เมื่อเราเขียนไว้อย่างหนึ่ง แต่ทำกันอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้จะโปรดว่าอะไร หรือจะเปลี่ยนกันให้เป็นรีปัปบลิคกันแท้ๆ ก็ว่ากันออกมาเสียให้ชัดแจ้งเถิด ดีกว่าจะมามัวทำกริยาปากว่าตาขยิบกันอยู่ทำไมเล่า”

(เสาวรักษ์ (นามแฝง) ตัวตายแต่ชื่อยัง หน้า 284 อ้างใน วิชัย สุวรรณรัตน์, “การปฏิวัติ รัฐประหารและกบฏภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ใน ชัยอนันต์ สมุทวนิชและผู้อื่น, สัตว์การเมือง หน้า 94)

“การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำลายพระมหากษัตริย์มิได้กระทำด้านเดียวเฉพาะแพร่ข่าวทางหนังสือพิมพ์ นอกจากโจษจรรด้วยปากแล้ว ยังอาศัยศาลสถิตยุติธรรมทำการโฆษณาล่วงละเมิดและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกด้วย  เหตุการณ์นั้นคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเรียกว่า สมุดปกขาว มีข้อความตอนหนึ่งว่า

‘…..เรื่องกรรมกรรถรางที่ผู้เขียนอ้างว่าเป็นการแสดงข้อหนึ่งถึงความระส่ำระสายอันนี้นั้น ข้าพเจ้าขอตอบได้ว่า การที่กรรมกรรถรางหยุดงานั้น หาใช่เพราะความเดือดร้อนจริงจังอันใดไม่ ที่เกิดเป็นดังนั้น เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้ตั้งสมาคมคนงานและตนจะได้เป็นหัวหน้า ได้รับเงินเดือนสบายๆเท่านั้น....’ (อ้างอิง เลื่อน ศราภัยวาณิช, ฝันร้ายของข้าพเจ้า)

พระบรมราชวินิจฉัยนี้ได้กลายเป็นเหตุให้นายถวัติ ฤทธิเดช เลขานุการสมาคมกรรมกรรถรางเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อศาลพระราชอาญาว่าหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2476 ซึ่งนายประสิทธิ์ ณ พัทลุง ได้เขียนเรื่อง ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ ลงในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับประจำวันที่ 27 กันยายน 2489 มีข้อความตอนท้ายว่า

‘…..พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้อาภัพ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพระมหากษัตริย์องค์เดียวที่ถูกฟ้องในคดีอาญา (และคดีแพ่งด้วย เมื่อทรงสละราชบัลลังก์แล้ว)  โดยกล่าวหาว่า พระองค์ทรงร่วมมือกับเจ้าคุณมโนปกรณ์นิติธาดาในทางการเมือง ทำผิดวิถีทางรัฐธรรมนูญในครั้งเจ้าคุณมโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่เกรียวกราวกันในปี พ.ศ. 2476 และในตอนหลังโจทก์ได้ไปขอพระราชทานอภัยโทษที่สงขลา เรื่องจึงเงียบไป แต่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดบางคนคงจะทราบเรื่องดีว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นคนธรรมดา แต่ผู้ที่ช่วยเกลาสำนวนฟ้องให้นั้นเป็นคนสำคัญเพียงใด...’  (อ้างอิง เลื่อน ศราภัยวาณิช, ฝันร้ายของข้าพเจ้า)

การฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ ทำให้เป็นที่สงสัยกันว่า ลำพังพลเมืองสามัญไม่กล้าจะกระทำการได้ถึงเพียงนั้น จะต้องมีคนสำคัญในวงการรัฐบาลสนับสนุนรู้เห็นเป็นใจ หรือชักใยอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น คนทั้งหลาย ซึ่งปฏิเสธหลักการของคอมมิวนิสต์จึงพากันเจ็บร้อน จับกลุ่มปรึกษา ปรารภ ด้วยหวั่นเกรงว่ารัฐบาลคงจะใช้นโยบายเศรษฐกิจ (ระบบนารวม/ผู้เขียน) ของนายปรีดี พนมยงค์เป็นแน่นอน  โดยมากได้แสดงความเห็นไปในทางหักหาญ ทำนองเมื่อฝ่ายเขาปฏิวัติซ้อนได้ ฝ่ายเราก็ปฏิวัติบ้าง หลักความคิดนี้แพร่สะพัดไปทั่วประเทศ”

----- (ผู้เขียน: ข้อความที่ว่า “ทำนองเมื่อฝ่ายเขาปฏิวัติซ้อนได้” หมายถึง การทำรัฐประหารวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 หลังจากที่ทำรัฐประหารครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475)

--------

“บุคคลที่ถูกสงสัยว่า เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังการฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม โดยมีความมุ่งหวังจะแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น หาได้มีความสำคัญแต่อย่างใดไม่ เป็นความต้องการจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั่นเอง และที่สำคัญคือ ศาลอาญาได้ประทับรับคำฟ้องของนายถวัติ ฤทธิเดชไว้ด้วย อันเป็นการกระทำที่ลบหลู่พระบรมเดชานุภาพ และผิดรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมากในครั้งนั้น (อ้างอิง สัมภาษณ์พลโทประยูร ภมรมนตรี วันที่ 12 กันยายน 2518) และในบทนำของหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ฉบับวันที่ 21 กันยายน 2476 ได้ตีพิมพ์ว่า

‘….ความเอิกเกริก อื้อฉาวอย่างสามานย์ที่นายถวัติ คิดขึ้นคราวนี้ ต้องมีมูลเหตุเนื่องมาแต่อะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะค้นคว้า เพราะอย่างไรก็ดี นายถวัติและพรรคพวกคงไม่โง่พอที่จะคิดว่าจะฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้คล่องๆ นอกจากนายถวัติแกล้งทำขึ้น เพื่อที่จะทำลายพระราชกิติคุณ เนื่องมาแต่พระราชวิจารณ์โครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นการประจบในขณะที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกำลังเดินทางกลับมาในประเทศสยาม เช่นนี้ เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า ในกาลข้างหน้า นายถวัติจะทำอะไรประจบหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอีก และเราก็ควรเริ่มระวังป้องกันเสียแต่บัดนี้ อย่าปล่อยให้ตะวันสายบ่ายจัดจนเสียการงาน ดังที่เป็นมาแล้ว....” (หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์)\

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ

นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันจุดยืนรัฐบาล ไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุก