ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 13: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม                 

“เกือบจะ 3 สัปดาห์แล้วหลังจากเหตุการณ์ปฏิวัติ แต่ก็ยังไม่สามารถระบุให้ชัดเจนว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นไรต่อไป แต่กระนั้น ก็พอจะมองเห็นจุดสำคัญบางจุดที่ดูค่อนข้างแน่ชัด

เรื่องที่ 1 พระมหากษัตริย์ ดูเหมือนพระองค์จะไม่ประหลาดพระทัยเรื่องการปฏิวัติที่เกิดขึ้น จากข้อมูลที่ข้าพเจ้ารายงานไว้ในรายงานฉบับที่ 22/A และ 23/A ลงวันที่ 24 มิถุนายน และ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 ที่ผ่านมา มีเพิ่มเติมดังนี้

ตั้งแต่วันที่เกิดปฏิวัติด้วยซ้ำ ที่ดูเหมือนว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงส่งโทรเลขในตอน 11 นาฬิกา จากสถานที่พักตากอากาศที่พระองค์ประทับอยู่ว่าเกิดการปฏิวัติขึ้นที่บางกอก แต่ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ โทรเลขดังกล่าวน่าจะถูกส่งไปยังกรุงวอชิงตัน กรุงปารีส และกรุงลอนดอน แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ตรวจสอบได้ง่าย และหากเป็นความจริง ก็ทำให้เชื่อได้ว่าพระองค์ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็คร่าวๆ

พระองค์ทรงไม่พอพระทัยมากกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่พระองค์ได้รับในการปฏิบัติในวันแรก และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระนคร พระองค์ก็ทรงแสดงความไม่พอพระทัยคนสนิทของพระองค์ เพราะรัฐบาลชุดใหม่สถาปนาการปกครองใหม่โดยไม่ให้พระองค์มีบทบาทอันใด ทั้งที่พระองค์มีพระราชดำริไว้ก่อนนานแล้ว ทำให้ทรงรู้สึก ‘เสียหน้า’ อันเป็นสิ่งร้ายแรงเสมอมาในภูมิภาคตะวันออกไกล ตั้งแต่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระนคร ก็ดูเหมือนจะทรงเรียกพระเกียรติยศคืนมาได้บางส่วน พระองค์ทรงคัดค้านกระแสความคิดที่ก้าวหน้าเกินไปของรัฐบาลชุดใหม่ ทรงไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนกับการยึดทรัพย์เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ แม้จะเพียงบางส่วนก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าเป็น ‘วิธีของพวกบอลเชวิก’ ซึ่งพระองค์ย่อมจะไม่ทรงเห็นด้วย แต่พระองค์ก็น่าจะมีพระราชดำริให้นำทรัพย์ส่วนพระองค์มาเติมให้งบประมาณที่ขาดดุลอยู่ประมาณ 20 ล้านบาท

พระองค์ยังคงประทับที่วังศุโขทัยในบางกอกเช่นเดิม และไม่ทรงพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ใดเข้าเฝ้าฯเลย นอกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่และพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว คงมีเพียงพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร อดีตอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์มา 6 เดือนแล้วเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย บรรทมไม่ค่อยหลับ จำเป็นต้องประทับอยู่บนพระแท่นเป็นเวลาหลายวัน แต่อย่างไรเสีย พระองค์ยังมีความหวังว่าจะกลับมาควบคุมรัฐบาลชุดใหม่ได้อย่างเป็นผล และพระองค์ทรงหวังจะได้เป็น ‘กษัตราธิราชที่ยิ่งใหญ่ภายใต้รัฐธรรมนูญ’

เรื่องที่ 2 พระบรมวงศานุวงศ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระบรมเชษฐาในพระบาทสมเด็จพระปกเล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถูกเชิญให้ออกนอกประเทศ พระองค์เสด็จออกจากบางกอกกรุงเทพเพื่อไปยังมาเลเซียเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมด้วยครอบครัวและผู้ติดตามอีก 15 คน โดยรถไฟขบวนพิเศษ มีทหารติดตามไปคุ้มกันจนถึงชายแดนด้วย 4 นาย  ปัจจุบัน ทรงพำนักอยู่ที่เมืองปีนังในฐานะอาคันตุกะของนายข่าน โย ตก (Khan Yoo Tok) ดูเหมือนมีพระราชประสงค์จะเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้านต่างๆเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนจะเสด็จไปประทับที่เยอรมนีอย่างถาวร  บางคนคิดว่า กรมพระนครสวรรค์วรพินิตหวังว่าในช่วง 6 เดือนนี้ พระองค์จะสามารถเก็บเงินเพื่อเดินทางไปยังยุโรปได้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน)  อดีตเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ประทับที่วังของพระองค์ ซึ่งมีทหารเฝ้าอยู่ ‘คณะกรรมการเฉพาะกิจ’ ถูกตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนมูลความผิดร้ายแรงที่พระองค์ถูกกล่าวหาเช่นเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการชุดนี้มีพลโท อินทรวิชิต ซึ่งจบการศึกษาวิชาทหารจากประเทศเยอรมนีเป็นประธาน  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงย้ายบุคคลผู้นี้จากตำแหน่งในแผนกควบคุมทางทหาร พลโท อินทรวิชิตเข้าร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ในช่วงแรกๆของการปฏิวัติ หลังการสอบสวนของเขาสิ้นสุดลง ซึ่งไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงบริสุทธิ์หรือจะต้องนำตัวไปฟ้องศาลก็ตาม พลโท อินทรวิชิตก็จะได้รับตำแหน่งอัครราชทูตในต่างประเทศ อาจจะไม่ได้ไปรับตำแหน่งแทนหม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร ณ กรุงปารีส แต่อาจจะไปประจำ ณ กรุงเบอร์ลิน ซึ่งกลับมามีตำแหน่งอัครราชทูตอีกครั้งหนึ่ง

บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ส่วนใหญ่ต่างสูญเสียหน้าที่การงาน แต่ทว่าบางพระองค์ที่พระชนมายุยังน้อย หรือเข้าร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ ยังคงรักษาตำแหน่งหน้าที่ไว้ได้ เช่น ร้อยเอก หม่อมเจ้าพิศิษฐ์ดิศพงษ์ ดิศกุล พระโอรสในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พันเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ข้าหลวงเมืองนครปฐม เป็นต้น  กองทัพ กองทัพก็มีความเปลี่ยนแปลงมากเช่นกัน นายทหารทั่วไปหรือนายทหารระดับสูงจำนวน 76 นาย ถูกปลดออกจากราชการโดยได้รับบำนาญ  หรืออาจจะถูกปลดออกทันทีในวันที่ 1 สิงหาคมที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยน โยกย้ายนายทหารอื่นๆอีกจำนวน 920 นาย ส่วนยศพลเอกและพันเอกจะถูกยุบ ยกเว้นยศนายพลตำแหน่งเดียวที่ยังคงไว้ คือ ผู้ช่วยเสนาธิกองทัพประจำกระทรวงกลาโหม คือ พลตรี ประเสริฐสงคราม กรมถูกยุบลงเป็นหน่วย แต่ในความเป็นจริงกลายเป็นกอง การเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะมีเป้าหมายเพื่อทำให้กองทัพสยามมีการบริหารจัดการใกล้เคียงกับกองทัพสวิตเซอร์แลนด์

ในการโยกย้ายต่างๆ ที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม มีการแต่งตั้งร้อยเอก 3 นายให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรม ดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดใหม่ยังคงไม่ว่างเว้นจากการแต่งตั้งคนในสังกัดเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆโดยเฉพาะ

ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้กล่าวว่า การเลื่อนตำแหน่งในกองทัพยุคใหม่น่าจะมาจากเสียงสนับสนุนของเพื่อนร่วมงาน

ดูเหมือนรัฐบาลชุดใหม่จะเห็นว่า การรักษาสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจต่างๆเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้บัญชากองร้อยทหารม้า หม่อมเจ้าลักษณเลิศ ชยางกูร ผู้ประสานงานประจำแผนกที่ 2 ของผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศสถูกปลดประจำการ จึงได้มีการแต่งตั้งพันตรี หลวงสุระรณชิต ศิษย์เก่าโรงเรียนเสนาธิการทหารบกฝรั่งเศส ซึ่งเคยพำนักอยู่ในฝรั่งเศสนานถึง 13 ปี มาดำรงตำแหน่งแทน ในการโยกย้ายครั้งนี้ สยามแสดงมิตรไมตรีต่อผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศสกับเพื่อนร่วมงานชาวสยามของเขา

ส่วนบรรดาพันเอกที่ถูกยุบตำแหน่ง ไม่ได้ถูกปลดเป็นข้าราชการบำนาญไปเสียทุกคน บางคนได้รับตำแหน่งสำคัญๆนอกกองทัพ หนึ่งในนั้นได้เป็นหัวหน้าฝ่ายพิธีการทูตที่กระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ ทหารอีกนายทำงานให้กระทรวงมหาดไทย และอีกหลายนายทำงานใน ‘หน่วยสอบสวนพิเศษ’ จะเห็นได้ว่า ในสยาม อย่างน้อยทหารก็สามารถทำงานได้เกือบทุกอย่าง

รัฐบาลชุดใหม่ มี 2 แนวโน้มที่ปรากฏเด่นชัดในรัฐบาลชุดนี้ตั้งแต่เริ่มแรก คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหาร ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งหัวก้าวหน้ากว่า ประกอบด้วย ‘ปัญญาชน’ น่าจะมีหัวหน้าคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม อาจารย์โรงเรียนสอนกฎหมายบางกอก ในช่วงนี้ บรรดานายทหารยังกุมบังเหียนอยู่ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์พระมหากษัตริย์

จำเป็นต้องระบุว่า บัดนี้ ทัศนคติของรัฐบาลชุดใหม่ที่มีต่อองค์พระมหากษัตริย์เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด  เอกสารราชการทุกฉบับจะระบุว่า (..ได้รับความเห็นชอบจากองค์พระมหากษัตริย์) (..ไม่ได้รับความเห็นชอบจากองค์พระมหากษัตริย์)

หนังสือพิมพ์ประจำวันที่ 13 กรกฎาคมฉบับต่างๆ นำพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากหนังสือพิมพ์อเมริกันขณะประทับบนราชบัลลังก์ และกำลังพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินให้ชาวนาสยามคนหนึ่งมาตีพิมพ์ใหม่ พร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า (ไม่ใช่วันนี้…แต่เป็นวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1931 [พ.ศ. 2474/ผู้เขียน] ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่สหรัฐอเมริกา) 

สรุปแล้ว ดูเหมือนว่าขณะนี้ รัฐบาลชุดใหม่เข้าใจว่า รัฐบาลจะอ่อนแอเพียงใด ถ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย รัฐบาลยังคงไร้เสถียรภาพ เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์มาแล้วที่สมาชิกรัฐบาลชุดใหม่ไม่กล้าอออกนอกเขตพระราชวังดุสิต  ซึ่งพวกเขาใช้เป็นที่ทำการ และบัดนี้ ยังคงสั่งให้นักเรียนลูกเสือและนักเรียนนายร้อยมาเฝ้าทั้งวันทั้งคืน ดูเหมือนว่า การรักษาความปลอดภัยจะกินเวลาถึง 6 เดือน ทำให้เยาวชนเหล่านี้ออกไปเที่ยวไม่ได้ อีกทั้งไม่สามารถรับจดหมายที่ไม่ผ่านการตรวจสอบก่อนได้”   

(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย.   ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 88, 90, 95-97).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ

นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันจุดยืนรัฐบาล ไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุก