(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม เรื่อง เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองหลวงของสยาม
“สืบเนื่องจากรายงานฉบับที่ 22/A ลงวันที่ 24 มิถุนายนฉบับที่แล้วของข้าพเจ้า (ดูตอนที่ 5/ผู้เขียน) ว่าด้วยการยึดอำนาจโดยทหารในบางกอกเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะรายงานให้ท่านทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบางกอกหลังจากวันก่อการปฏิวัติ 1 สัปดาห์
เรื่องที่จะรายงาน ได้แก่
เรื่องที่ 1 – พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับคำขาดที่ได้รับทูลเกล้าฯถวายและทรงยอมรับรัฐบาล ‘คณะราษฎร’
เรื่องที่ 2 – การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน (แนบฉบับแปลมา ณ ที่นี้ด้วย)
เรื่องที่ 3 – การแต่งตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่
1.ท่าทีของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหาร
ในส่วนของ “พระมหากษัตริย์และท่าที่ของพระบรมวงศานุวงศ์และข้อสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่”, “ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ในช่วงที่การปฏิวัติก่อตัวขึ้น” และบางส่วนของ “บทสรุป” ผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว ต่อไปจะได้กล่าวถึง “บทสรุป” ต่อไป
“การให้คำมั่นสัญญาเกินจริงกับประชาชนเป็นเรื่องเสี่ยงเสมอ (คำประกาศของคณะราษฎร/ผู้เขียน) วันหนึ่ง ขุนนางเวียดนามคนหนึ่งบอกข้าพเจ้าว่า ‘ก่อนที่นายก (ข้าหลวงใหญ่แห่งอินโดจีนท่านหนึ่ง) จะมาถึง พวกเราไม่ได้คิดอะไรเลย เขาต่างหากที่สัญญาจะให้เดือนให้ดาวแก่เรา (ในเอกสารฝรั่งเศส ใช้คำว่า promettre la lune a quelqu'un หมายถึง การให้สัญญาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้- ผู้แปล) แต่ถึงตอนนี้ เขายังไม่ได้ให้เราแม้เพียงเสี้ยวเดียว’ เรื่องนี้คงจบไม่ดีแน่ และยังไม่ทันไรก็เริ่มเสียแล้ว
เราไว้ใจชาวสยามได้เรื่องความไม่กระตือรือร้น เนื่องจากเราเพิ่งมีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน แต่ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องจับตามองในขณะนี้ ในบางกอก ไม่ได้มีแต่ประชากรชาวสยามเท่านั้น อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรในเมืองเป็นชาวจีนที่ยังคงดำเนินชีวิตแบบจีนแท้ๆ พวกเขากุมชะตากรรมของเมืองในเรื่องการค้าขาย ครัวเรือน แรงงาน โรงงาน ทุกสิ่งอย่างล้วนอยู่ในกำมือของชาวจีน อีกประการหนึ่ง ชาวจีนไม่เกรงกลัวการถูกลงโทษ พวกเขาชอบความเสี่ยงและความวุ่นวาย ธรรมนูญฉบับใหม่มิได้ลิดรอนหน้าที่พลเมืองของพวกเขาแต่อย่างใด ด้วยความใจแคบ รวมทั้งวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา หากไม่มีมาตรการบังคับใช้ ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่สยามจะตกอยู่ในความครอบครองของพวกเขาในไม่ช้า
ทุกสิ่งเกี่ยวกับสยามที่ข้าพเจ้ากล่าวถึง อาจทำให้เรารู้สึกเฉยๆ ถ้าเราไม่มีดินแดนในอินโดจีนและไม่ต้องเป็นเพื่อนบ้านกับประเทศนี้ องค์ประกอบในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ดูจะเป็นหลักประกันความสงบและเสถียรภาพในระดับหนึ่ง แต่รัฐบาลใหม่มิได้เอียงซ้ายดอกหรือ ในเมื่อมีทนายความและนักศึกษาจำนวนมากอยู่ในคณะรัฐบาลหรือใกล้ชิดกับคณะรัฐมนตรี สยามเป็นหนึ่งในประเทศกบดานของบรรดานักเคลื่อนไหวชาวเวียดนาม แต่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่า รัฐบาลสยามตั้งใจจริงที่จะอนุญาตให้เราจับกุมผู้มีบทบาทสูงสุดในการเคลื่อนไหว แต่อนาคตจะยังคงเป็นเช่นนี้หรือไม่ เป็นเรื่องง่ายมากสำหรับบรรดารัฐมนตรีชุดใหม่ที่ไม่สลักสำคัญอันใด ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือที่ไม่มั่นคงถาวรแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ยังไม่กระตือรือร้นที่จะส่งตัวคนกลุ่มนี้ให้พวกเรา หรือพูดง่ายๆว่า การทำงานที่เชื่องช้านี้ช่วยให้คนเหล่านี้หลบหนีไปได้
ทั้งนี้ จำเป็นต้องคำนึงถึงประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเราหรือทางตะวันออกของประเทศจีน เพื่อเข้าใจจุดยืนของอาณานิคมขนาดใหญ่ของเรา ซึ่งรายล้อมด้วยกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ประสบความยุ่งยากเหล่านั้น เนื่องจากดินแดนของเราเองก็ค่อยๆประสบความยุ่งยากเช่นกัน
ท้ายสุด คือ เรื่องที่เพื่อนร่วมชาติชาวฝรั่งเศสมาแจ้งให้ทราบถึงบทบาทหน้าที่อันยากลำบากในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายของสยาม ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้ว มีข่าวลือหนาหูว่า รัฐบาลใหม่ประสงค์จะยุติการลดจำนวนที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือนักกฎหมายชาวสยามรุ่นใหม่ที่เรียนจบสาขาเดียวกันจากประเทศฝรั่งเศสและมั่นใจในศักยภาพของตัวเองจะมีจำนวนไม่เพียงพอ ?
สนธิสัญญาที่ทำกับประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกับประเทศมหาอำนาจยุโรปอื่นๆน่ะหรือ ใม่ต้องสงสัยเลย แต่การเปลี่ยนสัญญาเป็นเรื่องง่าย สัญญาที่ทำกับรัฐบาลสยามและข้าราชการระบุให้จ่ายเงินเดือนเป็นเงินบาท โดยไม่มีหลักประกันการแลกเปลี่ยนใดๆล่วงหน้า ชาวฝรั่งเศสถูกเรียกเก็บภาษีเช่นเดียวกับชาวสยาม และการลดค่าเงินบาทก็ทำให้เงินเดือนของข้าราชการฝรั่งเศสลดลงมากกว่าหนึ่งในสี่ ถ้าค่าเงินบาทยังคงลดลงอีก และเหล่าที่ปรึกษาเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ในประเทศนี้ต่อไป ก็จะขอออกจากประเทศไปเอง
ข้าพเจ้าต้องขออภัยในความยาวของรายงานฉบับนี้ ทว่าวัตถุประสงค์ในการเขียนก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยามและข้าพเจ้าเข้าใจดีถึงผลกระทบที่จะมีต่อผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในสยาม สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันในครั้งนี้
ตั้งแต่สัญญาณบ่งชี้แรกๆ เริ่มปรากฏ นายโรเฌ่ร์ โมกราส์ (Roger Maugras) อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยามและข้าพเจ้าได้ติดต่อสอบถามข้อมูลกันทุกวัน การติดต่อประสานงานระหว่างเราตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนเป็นต้นมา นับวันยิ่งใกล้ชิดมากขึ้นจนอาจเรียกว่าถาวรก็ว่าได้ และด้วยเหตุนี้ หลังจากข้าพเจ้าส่งโทรเลขฉบับที่ 1 ของหน่วยงานข่าวกรอง (สิ่งที่แนบมาด้วย) รายงานข่าวเรื่อง ‘การปฏิวัติ’ ที่เพิ่งเกิดขึ้นให้ท่านทราบแล้ว โทรเลขอื่นๆทุกฉบับที่ตามมาของข้าพเจ้า ท่านอัครราชทูตเป็นผู้ดำเนินการส่งให้ โดยได้รับความกรุณาจากกระทรวงการต่างประเทศส่งต่อมาถึงท่านอีกทีหนึ่ง ข้าพเจ้าคงไม่จำเป็นต้องกล่าวเสริมว่า ความร่วมมือของเราทั้งสองจะยังคงแน่นแฟ้นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต
อองรี รูซ์”
--------------------
ต่อไปเป็นรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
“เกือบจะ 3 สัปดาห์แล้วหลังจากเหตุการณ์ปฏิวัติ แต่ก็ยังไม่สามารถระบุให้ชัดเจนว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นไรต่อไป แต่กระนั้น ก็พอจะมองเห็นจุดสำคัญบางจุดที่ดูค่อนข้างแน่ชัด
เรื่องที่ 1 พระมหากษัตริย์ ดูเหมือนพระองค์จะไม่ประหลาดพระทัยเรื่องการปฏิวัติที่เกิดขึ้น จากข้อมูลที่ข้าพเจ้ารายงานไว้ในรายงานฉบับที่ 22/A และ 23/A ลงวันที่ 24 มิถุนายน และ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 ที่ผ่านมา มีเพิ่มเติมดังนี้
ตั้งแต่วันที่เกิดปฏิวัติด้วยซ้ำ ที่ดูเหมือนว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงส่งโทรเลขในตอน 11 นาฬิกา จากสถานที่พักตากอากาศที่พระองค์ประทับอยู่ว่าเกิดการปฏิวัติขึ้นที่บางกอก แต่ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ โทรเลขดังกล่าวน่าจะถูกส่งไปยังกรุงวอชิงตัน กรุงปารีส และกรุงลอนดอน แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ตรวจสอบได้ง่าย และหากเป็นความจริง ก็ทำให้เชื่อได้ว่าพระองค์ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็คร่าวๆ
พระองค์ทรงไม่พอพระทัยมากกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่พระองค์ได้รับในการปฏิบัติในวันแรก และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระนคร พระองค์ก็ทรงแสดงความไม่พอพระทัยคนสนิทของพระองค์ เพราะรัฐบาลชุดใหม่สถาปนาการปกครองใหม่โดยไม่ให้พระองค์มีบทบาทอันใด ทั้งที่พระองค์มีพระราชดำริไว้ก่อนนานแล้ว ทำให้ทรงรู้สึก ‘เสียหน้า’ อันเป็นสิ่งร้ายแรงเสมอมาในภูมิภาคตะวันออกไกล”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย. ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 50-52, 87-88).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เผยเบื้องหลัง 'คนดังต้านระบอบทักษิณ' รวมตัว ประเดิมงานแรกลุย ป.ป.ช.
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เพื่อประเทศชาติและความยุติธรรม
'วรงค์' เซ็งเสียเวลา 1 ชั่วโมง อุตส่าห์ตั้งใจฟัง 'อิ๊งค์' แถลงผลงาน
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า#แถลงนโยบายไม่ใช่ผลงาน
'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ
เอาแล้ว! เปิดชื่อ 'บิ๊กเนม' รวมตัวก่อการโค่นระบอบทักษิณ3?
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า ”นัดกินข้าวคุยกัน
นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันจุดยืนรัฐบาล ไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุก