ข้อพึงสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 (ตอนที่ 1)

 

ในตอนก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้ชวนให้ผู้อ่านตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 คือ         

ผู้ริเริ่มให้มีการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 คือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ข้อพึงสังเกตคือ การที่ผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์ริเริ่มให้มีการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นนั้น ถือเป็นการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่ ?

ถ้าถือว่าเป็นการแทรกแซงและเป็นสิ่งที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือพระมหากษัตริย์ไม่สมควรทำ  ทำไมนักวิชาการในปัจจุบันที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่แทรกแซงทางการเมือง ถึงไม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของนายปรีดี พนมยงค์ ?

ถ้าไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงและเป็นสิ่งที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือพระมหากษัตริย์พึงกระทำได้  ก็แปลว่า การกระทำดังกล่าวของนายปรีดี พนมยงค์ได้สร้างบรรทัดฐาน-แบบแผนการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2488  และถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย  ซึ่งหมายความว่า พระมหากษัตริย์หลัง พ.ศ. 2488 จนถึงปัจจุบันทรงมีพระราชอำนาจที่จะริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

หากประเด็นนี้ ยังไม่สามารถตอบชัดเจนว่า การกระทำดังกล่าวของนายปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์ถูกหรือผิด  สมควรหรือไม่ที่จะนำประเด็นการกระทำของนายปรีดี พนมยงค์มาตั้งเป็นโจทย์ในการหารือถกเถียงว่าเป็นการกระทำที่ทำได้ สมควรทำหรือไม่ เพื่อวางบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต  หรือแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต     

-------

มาคราวนี้ ผู้เขียนอยากจะชวนให้ผู้อ่านตั้งข้อสังเกตต่อว่า หลังจากการริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยนายปรีดี พนมยงค์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีได้นำแถลงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 โดยเขาได้แถลงว่า 

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช 2475 นี้ พระมหากษัตริย์พระราชทานประชาชนชาวไทยมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 นับจากวันที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นต้นมาจนถึงบัดนี้เป็นเวลาถึง 13 ปีเศษแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมากและการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยนี้ก็ได้นำความเจริญมาสู่ประเทศนับเป็นอเนกประการ อย่างไรก็ตาม บัดนี้ รัฐบาลมีความรู้สึกว่า ประชาชนชาวไทยได้ซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์      ในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยหลังๆนี้ ประชาชนได้มีความกระตือรือร้นขึ้นเป็นลำดับ ฉะนั้น รัฐบาลจึงเห็นสมควรที่จะได้มีการสังคายนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช 2475 อีกสักครั้ง หนึ่ง อาทิ จะถึงเวลาสมควรพิจารณายกเลิกบทเฉพาะกาลเมื่อใด ควรมีสองสภาหรือสภาเดียว มาตราใดควรยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้โดยสมบูรณ์เยี่ยงอารยะประเทศ” [1]

นอกจากคำแถลงของนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีแล้ว  ในหนังสือเรื่อง ความเป็นมาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย เล่ม 1 โดยผู้ที่ใช้นามแฝงว่า “วิเทศกรณีย์” ได้กล่าวว่า “ต่อมาได้มีผู้นำพลเรือนที่สำคัญชี้แจงเพิ่มเติมว่า จากประเด็นต่างๆเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องราวที่สร้างความขมขื่นหม่นหม่องอย่างยิ่งให้แก่ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย เพราะนอกจากจะสร้างความขมขื่นให้กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 แล้ว ยังมีบุคคลอื่นๆที่เห็นว่า คณะราษฎรผูกขาดอำนาจการเมืองการปกครองโดยไม่ยอมให้อำนาจอธิปไตยที่แท้จริงแก่ประชาชน ความขมขื่นเหล่านี้ได้นำไปสู่ความเสียพระทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 อันเป็นเหตุให้ทรงสละราชสมบัติในที่สุด นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การกบฏอีกหลายครั้ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช 2475” [2]

คำชี้แจงถึงเหตุผลที่สมควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรของทั้งสองแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด   สำหรับ นายควง เห็นว่า หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2475 มาเป็นเวลา 13 ปีเศษ สิ่งที่ได้เกิดขึ้นคือ

1. การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยนี้ก็ได้นำความเจริญมาสู่ประเทศนับเป็นอเนกประการ 

2. ประชาชนชาวไทยได้ซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์      ในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้    แทนราษฎรในสมัยหลังๆนี้ ประชาชนได้มีความกระตือรือร้นขึ้น

3. สมควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้โดยสมบูรณ์เยี่ยงอารยะประเทศ  ซึ่งหมายความได้สองอย่าง อย่างแรกคือ ที่ผ่านมาเป็นประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์   อย่างที่สอง ที่ผ่านมาไม่เป็นประชาธิปไตยนัก สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 

แต่ในคำชี้แจงของ “ผู้นำพลเรือนที่สำคัญ”  เห็นว่า ที่ผ่านมา 13 ปีเศษ 

1. เป็นเรื่องราวที่สร้างความขมขื่นหม่นหม่องอย่างยิ่งให้แก่ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย เพราะเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

1.1 สร้างความขมขื่นให้กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 แล้ว

1.2 นอกจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่ทรงเล็งเห็นว่า รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2475 นำไปสู่การผูกขาดอำนาจทางการเมืองโดยคณะราษฎรแล้ว ยังมีบุคคลอื่นๆเห็นเช่นนั้นด้วย รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2475 ไม่ยอมให้อำนาจอธิปไตยที่แท้จริงแก่ประชาชน ความขมขื่นเหล่านี้ได้นำไปสู่ความเสียพระทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 อันเป็นเหตุให้ทรงสละราชสมบัติในที่สุด

1.3 จากเงื่อนไขการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การกบฏอีกหลายครั้ง   การกบฏที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เข้าใจว่าน่าจะมีสาเหตุต้องการแก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ให้คณะราษฎรผูกขาดอำนาจทางการเมือง

2.  13 ปีเศษที่ผ่านมา การเมืองการปกครองไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

3. สมควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเมืองการปกครองไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

หากความเห็นของ “ผู้นำพลเรือนที่สำคัญ” เป็นจริงที่ว่า 13 ปีเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 เอื้อให้คณะราษฎรผูกขาดอำนาจทางการเมือง  ข้อควรสังเกตคือ ผู้ริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้คณะราษฎรผูกขาดอำนาจทางการเมืองคือ นายปรีดี พนมยงค์ (ขณะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) และผู้ที่รับเรื่องมาดำเนินการต่อคือ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี 

บุคคลทั้งสองนี้เป็นสมาชิกคณะราษฎร มิใช่หรือ ?  ถ้าเขาทั้งสองต้องการที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้คณะราษฎรผูกขาดอำนาจการเมือง อาจตีความได้สามอย่าง คือ

1. ทั้งสองมีเจตนาดี และไม่ต้องการมีส่วนในการผูกขาดอำนาจทางการเมืองต่อไป แม้ว่าทั้งสองจะเป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎร และแม้ว่าทั้งสองได้ประโยชน์จากการผูกขาดอำนาจทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475  แต่ก็ยอมที่จะสละการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของตนและคณะราษฎร และแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดให้กลุ่มหรือคณะบุคคลอื่นๆได้มีโอกาสเข้าสู่อำนาจทางการเมือง           

2. การกล่าวว่า “คณะราษฎรผูกขาดอำนาจทางการเมือง”  คำว่า คณะราษฎรมิได้หมายรวมถึงนายปรีดี พนมยงค์และนายควง อภัยวงศ์  แต่หมายถึงบุคคลกลุ่มอื่นในคณะราษฎร

2.1 แต่ถ้าภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ทำให้บุคคลกลุ่มอื่นในคณะราษฎรผูกขาดอำนาจทางการเมืองได้ตลอดระยะเวลา 13 ปีเศษ  ทำไมนายควง อภัยวงศ์ถึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ?

2.2 โดยหลักการของระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ  ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ย่อมจะต้องไม่มีอำนาจทางการเมือง  ดังนั้น การที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือการผลักให้นายปรีดี พนมยงค์ออกไปจากพื้นที่ของการเมือง

2.3 และด้วยเหตุนี้ 2) และ 2.2)  ใช่หรือไม่ที่ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ต้องใช้สถานะของการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยการริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475  ถ้าใช่ นายควง อภัยวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 จะได้อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ตนสามารถขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ?

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


[1] แผนกเก็บเอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, “รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งพิเศษ/2488,” 2 กรกฎาคม 2488. เรื่องการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช 2475 อ้างใน ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2530,  หน้า 54-55.

[2] ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2530,  หน้า 55.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปิยบุตร' ดักคอพรรคจ้องดูด สส.งูเห่า เอาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมนัดแรก

'อนาคตไกล' คลี่ปม 'ลุงชาญ' กรณีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

“อนาคตไกล” คลายปม “ชาญ พวงเพ็ชร”การสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นดุลพินิจของศาล คำชี้ขาดคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ผูกพันองค์กรอื่น

'บิ๊กป้อม' เปิดบ้านป่ารอยต่อ คุย สส.พปชร. ย้ำทำหน้าที่ กมธ.งบ 68 อย่างรอบคอบ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยแกนนำคนสำคัญ อาทิ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค, นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค

'นิกร' ชี้เดินหน้าดีกว่าล้มกระดาน สว.ชุดใหม่ แนะรอ ส.ส.ร. แก้ไขกติกาให้ดีขึ้น

นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่าย อาทิ บุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านการเมือง และผู้สมัครที่ไม่ผ่านการคัดเลือกสว.มีความพยายายามดำเนินการ ให้มีการระงับยับยั้ง

'อนาคตไกล' ชี้ตัวแปรทำ 'ชาญ' ชนะเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุมธานี

“อนาคตไกล” ชี้ตัวแปร ทำให้ชาญ ชนะการเลือกตั้ง นายกอบจ.ปทุมธานี แม้ ปปช.ชี้มูลและศาลประทับรับฟ้อง ก็ไม่ขาดคุณสมบัติสมัครนายกอบจ.