ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 9: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475)  ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม เรื่อง เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองหลวงของสยาม

“สืบเนื่องจากรายงานฉบับที่ 22/A ลงวันที่ 24 มิถุนายนฉบับที่แล้วของข้าพเจ้า (ดูตอนที่ 5/ผู้เขียน) ว่าด้วยการยึดอำนาจโดยทหารในบางกอกเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะรายงานให้ท่านทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบางกอกหลังจากวันก่อการปฏิวัติ 1 สัปดาห์ 

เรื่องที่จะรายงาน ได้แก่                   

เรื่องที่ 1 – พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับคำขาดที่ได้รับทูลเกล้าฯถวายและทรงยอมรับรัฐบาล ‘คณะราษฎร’

เรื่องที่ 2 – การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน (แนบฉบับแปลมา ณ ที่นี้ด้วย)

เรื่องที่ 3 – การแต่งตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่

1.ท่าทีของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหาร ในส่วนของพระมหากษัตริย์และท่าที่ของพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว  ต่อไปจะได้กล่าวถึงรายงานเกี่ยวกับ “ข้อสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่” ต่อไป

“องค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการราษฎร

สภาผู้แทนราษฎรพร้อมสมาชิก 70 คน ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 29 มิถุนายนเมื่อวานนี้ ประกอบด้วยพลเรือ 53 คน และทหารอีก 17 นาย ส่วนคณะกรรมการราษฎรประกอบด้วยพลเรือน 8 คน ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีและทหารอีก 7 นาย  สังเกตได้ว่าในบรรดาทหาร 7 นายนี้ มีพันเอก 3 นายที่เคยลงนามในหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รวมทั้งนาวาเอก พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ ซึ่งมีเชื้อสายเวียดนาม อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากประเทศฝรั่งเศส

ตามความคิดของที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศสที่พำนักอยู่ในสยามมาเป็นเวลานาน และรู้จักสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐบาลชุดใหม่ เราไม่อาจคาดหวังถึงความสงบของประเทศได้มากไปกว่านี้ และตามคำกล่าวของที่ปรึกษากฎหมายคนหนึ่ง อย่างน้อยเราก็ยังพอมีเวลาหายใจ สำหรับประธานคณะกรรมการราษฎร คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา สมาชิกคณะกรรมการยกร่างกฎหมายของที่ปรึกษาด้านการศึกษากฎหมาย และประธานศาลอุทธรณ์ ดูเป็นคนใจเย็น รอบคอบ แต่ไม่ค่อยมีความคิดก้าวหน้านัก

ส่วนพระยาศรีวิศาลวาจา ที่ปรึกษาคนสำคัญ ตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการราษฎรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ เป็นคนอ่อนโยน ใจเย็น ฉลาดเฉลียว และเรียนจบจากฝรั่งเศส (เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญที่บางกอก)…...”                                       

------------

ตรงนี้ ผู้เขียนเห็นว่า นายพันโทอองรี รูซ์ น่าจะเข้าใจผิดที่กล่าวว่า พระยาศรีวิศาลวาจา “เรียนจบจากฝรั่งเศส”  เพราะหลังจากที่จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญ พระยาศรีวิศาลวาจาได้ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษโดยทุนส่วนตัวที่โรงเรียนอินเตอร์เนชัลแนล คอลเลช (The International College) เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนดัลลิช (Dulwich College) ในปีสุดท้ายของการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ โรงเรียนได้จารึกชื่อ T.L. Hoon ไว้ในหอประชุม ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติในฐานะที่เป็นนักเรียนสอบได้ที่ 1 ตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 ได้รับทุนของวิทยาลัยลินคอล์น (Lincoln College, Oxford University) เป็นเวลา 4 ปี และสอบได้ปริญญา B.A. ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด โดยได้เกียรตินิยมอันดับ 1 (School of Jurisprudence) เมื่อปี พ.ศ. 2462 ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 ในการสอบเพื่อรับปริญญา B.C.L. ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และในปลายปีนั้นเอง ท่านได้สอบผ่านภาคสุดท้ายของการสอบเนติบัณฑิต โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 (English Barrister at Law, Middle Temple) ทั้งนี้ โดยมีเวลาเตรียมสอบเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2463-2464 ท่านได้ฝึกงานด้านกฎหมายกับ เซอร์ ฮิว เฟรเซอร์ (Sir Hugh Fraser) ในกรุงลอนดอน และปี พ.ศ 2466 ได้กลับไปรับปริญญา B.C.L. และรับปริญญา M.A. จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เนื่องจากตามกฎของมหาวิทยาลัย ผู้ที่สอบได้ปริญญานี้จะได้รับปริญญาก็ต่อเมื่อได้มีชื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วเป็นเวลา 7 ปี (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า)

ดังนั้น ผู้อ่านรายงานของเจ้าหน้าที่การทูตต่างประเทศที่รายงานเรื่องราวในประเทศไทยกลับไปยังรัฐบาลของตนต้องพึงตระหนักว่า ข้อมูลในรายงานดังกล่าวไม่จำเป็นจะต้องถูกต้องเสมอไป และในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า นายพันโทอองรี รูซ์มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในบางเรื่องมาแล้ว

---------------------

กลับมาที่รายงานของนายพันโทอองรี รูซ์ต่อ       

“ส่วนพระยาศรีวิศาลวาจา ที่ปรึกษาคนสำคัญ ตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการราษฎรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ เป็นคนอ่อนโยน ใจเย็น ฉลาดเฉลียว และเรียนจบจากฝรั่งเศส (เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญที่บางกอก) ทั้งยังเป็นมิตรกับชาวฝรั่งเศสด้วย ในบรรดาสมาชิกคนสำคัญของสภาผู้แทนราษฎร เราต้องไม่ลืมกล่าวถึงพลตรี พระยาอินทรวิชิต อดีตผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 1 และมณฑลทหารที่ 1 ซึ่งข้าพเจ้าเคยกล่าวถึงเมื่อไม่นานมานี้ ว่าได้รับแต่งตั้งเป็นจเรทหารเมื่อวันที่ 1 เมษายน ‘ดังนั้น จึงไม่มีบทบาทอะไร’ นายทหารผู้นี้จบการศึกษาด้านการทหารจากประเทศเยอรมนี และเป็นที่รู้กันว่าไม่ชอบเพื่อนทหารที่จบจากประเทศฝรั่งเศส

ข้อสังเกตเกี่ยวกับสภาวการณ์ในช่วงที่การปฏิวัติก่อตัวขึ้น

เหตุการณ์ปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่ทำให้เชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์สำคัญทางทหารในเวลาอีกไม่นาน หลังจากได้รับแจ้งข่าวเมื่อเวลา 8 นาฬิกา 30 นาที ข้าพเจ้าจึงรีบไปยังพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นจุดรวมตัวของกองทหาร (รายงานของข้าพเจ้าฉบับที่ 22/A ลงวันที่ 24 มิถุนายน) เวลา 9 นาฬิกา ข้าพเจ้าเห็นรถหุ้มเกราะติดปืนกลจำนวน 10 คันนำขบวน และรถที่บรรทุกทหารเต็มคันแล่นออกมา มุ่งหน้าไปยังพระบรมมหาราชวังหรือไม่ก็กระทรวงกลาโหม ขณะนั้น ถนนสายใหญ่หน้าพระบรมมหาราชวังร้างผู้คน บริเวณลานพระราชวังเต็มไปด้วยรถบรรทุกทหาร นอกจากเสียงปืนสองสามนัดที่ดังขึ้นภายในวังของกรมพระนครสวรรค์วรพินิตและกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ในช่วง 9-10 นาฬิกา ที่ดูเหมือนการยิงปืนขึ้นฟ้า ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอย่างที่สุด เวลา 11 นาฬิกา ดูเหมือนจะยังไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย ตอนบ่าย ข้าพเจ้ากลับมาที่กองบัญชาการ ข้าราชการที่นั่นก็ยังคงทำงานอยู่ ยกเว้นพระบรมวงศานุวงศ์ พันเอกหัวหน้าแผนกที่ 3 บอกข้าพเจ้าว่า เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่แน่นอนว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อถือคำยืนยันนั้น

เมื่อกลับมาที่กองบัญชาการในเช้าวันเสาร์ ข้าพเจ้าต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้พบทหารสองสามนายที่เรียนจบวิชาการทหารจากฝรั่งเศส ข้าพเจ้าจึงไว้วางใจพวกเขาได้ หนึ่งในนั้นคือ พันเอกพระยาศราภัยพิพัฒ ผู้บังคับการแผนกที่ 3 และทหารราชองครักษ์ ซึ่งเคยศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส และเคยรับราชการในกองทหารแห่งหนึ่งของเมืองแรงส์ (Reims)  เขาบอกข้าพเจ้าด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาและเพื่อนๆพร้อมจะต่อสู้เพราะมีปืนกล ปืนใหญ่ และอาวุธยุทธภัณฑ์จำนวนพอประมาณที่กองบัญชาการ  สำหรับใช้ที่โรงเรียนเสนาธิการทหาร (ตอนนี้ปืนกลถูกติดตั้งไว้ในลานพระราชวังและบนหลังคา)  แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะคาดหวังกับใครได้  เพราะกองทหารที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นในลานพระราชวังก็ไม่สามารถไว้ใจได้

ขณะกลับออกไป ข้าพเจ้าก็สังเกตเห็นรถหุ้มเกราะติดปืนกลจอดคุมสถานการณ์อยู่ที่กรมราชองครักษ์ที่ 1 บริเวณหน้าประตูทางเข้า ห่างจากกองบัญชาการที่ถูกพวกเขากบฏยึดราว 150 เมตร และพันเอกผู้นั้นก็ถูกจับตัวไปในคืนแรกของการปฏิวัติ

นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้ากลับไปที่กองบัญชาการทุกวัน กองทหารกบฏยังคงไม่สนใจทั้งกองบัญชาการและกระทรวงกลาโหมมาตั้งแต่เริ่มการปฏิวัติ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย.   ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 36, 38).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปิยบุตร' ดักคอพรรคจ้องดูด สส.งูเห่า เอาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมนัดแรก

'อนาคตไกล' คลี่ปม 'ลุงชาญ' กรณีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

“อนาคตไกล” คลายปม “ชาญ พวงเพ็ชร”การสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นดุลพินิจของศาล คำชี้ขาดคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ผูกพันองค์กรอื่น

'บิ๊กป้อม' เปิดบ้านป่ารอยต่อ คุย สส.พปชร. ย้ำทำหน้าที่ กมธ.งบ 68 อย่างรอบคอบ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยแกนนำคนสำคัญ อาทิ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค, นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค

'นิกร' ชี้เดินหน้าดีกว่าล้มกระดาน สว.ชุดใหม่ แนะรอ ส.ส.ร. แก้ไขกติกาให้ดีขึ้น

นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่าย อาทิ บุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านการเมือง และผู้สมัครที่ไม่ผ่านการคัดเลือกสว.มีความพยายายามดำเนินการ ให้มีการระงับยับยั้ง

'อนาคตไกล' ชี้ตัวแปรทำ 'ชาญ' ชนะเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุมธานี

“อนาคตไกล” ชี้ตัวแปร ทำให้ชาญ ชนะการเลือกตั้ง นายกอบจ.ปทุมธานี แม้ ปปช.ชี้มูลและศาลประทับรับฟ้อง ก็ไม่ขาดคุณสมบัติสมัครนายกอบจ.