จากปีที่ 1 ถึงปีที่ 91 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง: ต้นแบบการสืบทอดอำนาจในรัฐธรรมนูญไทย ที่ให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. (ตอนที่ 6: รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489)

 

ในตอนที่ 1-4  ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้อำนาจบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง  (ทางอ้อม ในปี พ.ศ. 2476 และเลือกทางตรงตั้งแต่ พ.ศ. 2480)      แต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ว่านี้ คือ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี มีอำนาจเลือกคณะรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี)  ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่ง  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองมีอำนาจเลือกคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ได้กำหนดให้จำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่ง

จากเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจยาวนานจนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ได้สิ้นสุดลงหลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489   และในตอนที่ 5 ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นอีกว่า แม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 แทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 และจะยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีมาเป็นสมาชิกพฤฒสภา และตามมาตรา 17 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 กำหนดไว้ว่า  “รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทน..” และมาตรา 66 กำหนดให้  “พระมหากษัตริย์ทรงตั้งรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อยสิบคน อย่างมากสิบแปดคน  ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานพฤฒสภาและประธานสภาผู้แทนเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ...” จากมาตรา 66 จะเห็นได้ว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการลงคะแนนเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่จะต้องมาจากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกพฤฒสภาด้วย

แม้ว่า มาตรา 24 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จะกำหนดให้ “พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งจำนวน 80 คน สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนเสียงทางอ้อมและลับ”   แต่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 มาตรา 90 ได้กำหนดไว้ว่า “ในวาระเริ่มแรก พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาเป็นผู้เลือกตั้งภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้”  ดังนั้น ในความเป็นจริง สมาชิกพฤฒสภาชุดแรกจึงยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของราษฎร  แต่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น แม้ว่าจะยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่เลือกโดยคณะรัฐมนตรีและเปลี่ยนมาเป็นสมาชิกพฤฒสภา   แต่สมาชิกพฤฒสภาก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทางตรงโดยประชาชนอยู่ดี  แต่มาจากการลงคะแนนเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น กลุ่มการเมืองใด ได้ ส.ส. เป็นจำนวนมากในสภาผู้แทนราษฎร ก็มีแนวโน้มค่อนข้างแน่ชัดว่า จะได้สมาชิกพฤฒสภาเป็นพวกของตน และมีแนวโน้มอย่างยิ่งที่จะได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จึงยังคงเข้าข่ายให้ ส.ว. (สมาชิกพฤฒสภา)  มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.  (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร)

และเป็นที่น่าสังเกตและน่าแปลกใจว่า ในบทความเรื่อง “24 พฤษภาคม 2489 – เลือกตั้ง ‘พฤฒสภา’ หรือวุฒิสภา เป็นครั้งแรก”  ที่เขียนขึ้นโดย The Standard Team เผยแพร่วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 (https://thestandard.co/onthisday-24052489/)  กลับเขียนว่า                     

“....ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 73 ปีที่แล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 โดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่า ‘พฤฒสภา’  หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ไทยได้เลือกรูปแบบการปกครองโดยมีเพียง ‘สภาเดี่ยว’ หรือสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ก่อนจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 โดยเปลี่ยนจากระบบสภาเดี่ยวมาเป็นสภาคู่ ทำให้เกิดพฤฒสภาหรือสภาสูง โดยระบุในมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญว่า  ‘พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งจำนวน 80 คน สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนเสียงทางอ้อมและลับ’   สำหรับการเลือกสมาชิกพฤฒสภา 80 คนแรก มีจำนวนมากที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยถูกแต่งตั้งมาก่อนหน้านั้น และอีกจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งหลังการเลือกตั้งได้มีการประชุมพฤฒสภาเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ในวันที่ 3 มิถุนายน 2489 โดยที่ประชุมได้เลือก วิลาศ โอสถานนท์ เป็นประธานพฤฒสภา และ ไต๋ ปาณิกบุตร เป็นรองประธานพฤฒสภา ทั้งนี้ พฤฒสภาชุดนั้นมีอายุการทำงานเพียง 1 ปี 5 เดือน 16 วัน เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ถูกยกเลิกจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ต่อมาจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 โดยเปลี่ยนชื่อ ‘พฤฒสภา’ เป็น ‘วุฒิสภา’ และรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา จนถึงปัจจุบันก็ไม่ปรากฏคำว่า ‘พฤฒสภา’ อีกเลย”

ข้อความข้างต้นในบทความดังกล่าวของ the Standard  ย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปว่า สมาชิกพฤฒสภา 80 คนแรกที่ประชุมกันเป็นครั้งแรกในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 มาจากการเลือกตั้งของราษฎรตามมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายไปข้างต้นโดยชี้ให้เห็นถึงมาตรา 90 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489

นอกจากบทความดังกล่าวของ  the Standard แล้ว ในบทความ  “ ‘รธน. 2489’ แม่แบบการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง” ของ อิทธิพล โคตะมี ที่เผยแพร่ในเวปไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์ (วันที่ 26 ตุลาคม 2564 https://pridi.or.th/th/content/2021/10/878) ก็กล่าวในทำนองเดียวกันที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปว่า สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังข้อความที่ว่า  “ปรีดีเสนอว่า หัวใจสำคัญคือการต้องทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตย ความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านั้น คือ ปรีดีเห็นว่าพฤฒสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทน ต้องเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา ตามที่ปรากฏใน มาตรา 24 …...”

โดยละเลยที่จะกล่าวถึงมาตรา 90 ในบทเฉพาะกาลที่กำหนดไว้ว่า “ในวาระเริ่มแรก พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งองค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาเป็นผู้เลือกตั้งภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้”

ขณะเดียวกัน ในบทความ  “ ‘รธน. 2489’ แม่แบบการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง” อิทธิพล โคตะมี ต้องการสื่อว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เป็นแม่แบบการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง

ซึ่งจริงๆแล้ว ควรจะกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้แยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง มากกว่าจะกล่าวว่าเป็น “แม่แบบ”

จริงอยู่ที่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดกำหนดให้แยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง ดังปรากฏในมาตรา 24,  29 และ 66 ที่ไม่ให้สมาชิกพฤฒสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีเป็นข้าราชการประจำ

แต่แม่แบบหรือต้นแบบทางความคิดที่ต้องการให้แยกข้าราชการประจำออกจากการเมืองเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 และผู้ริเริ่มให้มีการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมืองก็หาใช่ปรีดี พนมยงค์ไม่ อีกทั้งปรีดีก็มิได้มีท่าทีแข็งขันสนับสนุนความคิดที่ให้มีการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมืองแต่อย่างใด ดังที่ผู้เขียนจะได้นำข้อความในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 58 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2476  มาให้ผู้อ่านได้เห็นเป็นประจักษ์ในตอนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปิยบุตร' ดักคอพรรคจ้องดูด สส.งูเห่า เอาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเสถียรภาพรัฐบาล

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมนัดแรก

'อนาคตไกล' คลี่ปม 'ลุงชาญ' กรณีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

“อนาคตไกล” คลายปม “ชาญ พวงเพ็ชร”การสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นดุลพินิจของศาล คำชี้ขาดคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ผูกพันองค์กรอื่น

'บิ๊กป้อม' เปิดบ้านป่ารอยต่อ คุย สส.พปชร. ย้ำทำหน้าที่ กมธ.งบ 68 อย่างรอบคอบ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยแกนนำคนสำคัญ อาทิ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค, นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค

'นิกร' ชี้เดินหน้าดีกว่าล้มกระดาน สว.ชุดใหม่ แนะรอ ส.ส.ร. แก้ไขกติกาให้ดีขึ้น

นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่าย อาทิ บุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านการเมือง และผู้สมัครที่ไม่ผ่านการคัดเลือกสว.มีความพยายายามดำเนินการ ให้มีการระงับยับยั้ง

'อนาคตไกล' ชี้ตัวแปรทำ 'ชาญ' ชนะเลือกตั้งนายกอบจ.ปทุมธานี

“อนาคตไกล” ชี้ตัวแปร ทำให้ชาญ ชนะการเลือกตั้ง นายกอบจ.ปทุมธานี แม้ ปปช.ชี้มูลและศาลประทับรับฟ้อง ก็ไม่ขาดคุณสมบัติสมัครนายกอบจ.